30 ม.ค. 2020 เวลา 23:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
คางคกอ้อย (Cane toad) [Rhinella marinus] สุดยอดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานในออสเตรเลีย
แล้วทำไมคางคกอ้อยถึงไปอยู่ที่ออสเตรเลียได้ ใครเป็นผู้นำเข้าไป และนำเข้าไปเพราะอะไร วันนี้เราจะมาสำรวจเรื่องนี้กัน
(ภาพดัดแปลงจาก By Obsidian Soul - Own work, CC0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=12697585)
หลังจากอ้อยถูกนำไปปลูกทั่วโลก และถูกนำไปผลิตน้ำตาล จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของโลก ในบางพื้นที่ก็เกิดการระบาดสัตว์ที่เป็นศัตรูของอ้อยแพร่ระบาด และทำให้เกษตรกรและนายทุนสูญเสียรายได้จนต้องหาทางมาจัดการศัตรูพืชเหล่านั้นกัน
ศัตรูพืชที่สำคัญชนิดหนึ่งของอ้อยในออสเตรเลีย คือ ด้วงอ้อย ชนิดพันธุ์ [Dermolepida albohirtum] และ ด้วง French's beetle [Lepidiota frenchi] ซึ่งเป็นสัตว์พื้นถิ่นในทวีปออสเตรเลีย โดยด้วงตัวเต็มวัยจะกินใบอ้อยเป็นอาหาร ในขณะที่ตัวอ่อนที่อยู่ในดินจะเข้าทำลายรากของอ้อย ทำให้อ้อยตายหรือหยุดการเจริญเติบโต และทำให้ผลผลิตอ้อยเสียหายได้
ด้วงอ้อย [Dermolepida albohirtum] (ที่มา By Donald Hobern - Flickr: Dermolepida albohirtum, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=28193914)
ผู้ปลูกอ้อยในออสเตรเลียจึงหาวิธีการที่จะควบคุมด้วงอ้อยได้ แต่การที่ด้วงกลุ่มนี้เป็นแมลงปีกแข็ง และตัวอ่อนซ่อนตัวในดิน ทำให้เป็นการยากในการควบคุมด้วงนี้ทั้งในระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัยโดยใช้สารเคมี วิธีการการควบคุมโดยชีววิธี ที่จะใช้สิ่งมีชีวิตมาควบคุมสิ่งมีชีวิตด้วยกัน จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ถูกเลือกมาใช้แทน
แต่ว่าสิ่งมีชีวิตที่จะนำมาควบคุมด้วงอ้อยจะเป็นตัวอะไรดี?
หน่วยงานของประเทศออสเตรเลียที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับน้ำตาล ที่ชื่อว่า Bureau of Sugar Experiment Stations ได้ทำการศึกษา และเลือกที่จะใช้คางคกอ้อยมาเพื่อทำการควบคุมด้วงอ้อยโดยชีววิธี
คางคกอ้อยเป็นสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา ตั้งแต่บริเวณอเมริกากลางจนถึงอเมริกาใต้ เป็นคางคกที่มีขนาดใหญ่ โดยขนาดใหญ่ที่สุดที่มีการบันทึกไว้คือ ระยะจากปลายจมูกถึงช่องเปิดทวารเท่ากับ 24 เซนติเมตร โดยจากการที่นำคางคกอ้อยไปปล่อยในเกาะปวยร์โตรีโก (Puerto Rico) พบว่าคางคกอ้อยสามารถกินด้วงอ้อยได้ดี จึงมีการแพร่กระจายคางคกอ้อยไปยังพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่หมู่เกาะฮาวาย ประเทศฟิลิปปินส์ และจนมาถึงประเทศออสเตรเลีย
คางคกอ้อย 102 ตัวถูกจับจากหมู่เกาะฮาวายมาปล่อยในออสเตรเลียในปี ค.ศ. 1935 และหลังจากที่มีการศึกษาพฤติกรรมการกินอาหารของคางคกชนิดนี้ในออสเตรเลีย ในปี ค.ศ. 1936 จึงมีการปล่อยคางคกอ้อยระลอกใหญ่ในปี ค.ศ. 1937 โดยคางคกขนาดเล็กกว่า 62,000 ตัวถูกปล่อยไปในไร่อ้อย และทำให้ประชากรของคางคกอ้อยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
การศึกษาต่อมากลับพบว่า คางคกอ้อยไม่สามารถควบคุมตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของด้วงในไร่อ้อยได้อย่างประสบผลสำเร็จเนื่องจากด้วงอ้อยอาศัยอยู่บนต้นอ้อย ในขณะที่คางคกอ้อยอาศัยอยู่บนพื้นดิน และไม่สามารถปีนต้นอ้อยได้ดี ทำให้ไม่สามารถกินด้วงอ้อยได้ และคางคกอ้อยก็ไม่สามารถขุดดินไปหาตัวอ่อนของด้วงในดินได้ นอกจากนั้นคางคกไม่ชอบอาศัยในไร่อ้อย เนื่องจากแดดแรงเกินไป และไม่มีร่มเงาเพียงพอ ทำให้คางคกจึงไปหาที่อยู่ที่อื่นแทนไร่อ้อย
คางคกอ้อย (ที่มา By Bidgee - Own work, CC BY 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=3869472)
แต่ถึงตอนนี้ชาวออสเตรเลียก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของคางคกอ้อยได้แล้ว
คางคกอ้อยได้แพร่ระบาดและกลายเป็นชนิดต่างถิ่นที่รุกรานที่สำคัญในประเทศออสเตรเลียโดยคางคกตัวเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้ 8,000–25,000 ฟองต่อการวางไข่หนึ่งครั้ง โดยที่ไข่ ลูกอ๊อดและตัวเต็มวัยก็มีพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต นอกจากนั้นคางคกยังทนต่อสภาพอากาศคืออยู่ได้ตั้งแต่ 10 – 42 °C และสามารถทนความแล้งได้ดี รวมทั้งคางคกกินอาหารได้หลากหลาย โดยกินทั้งพืชและสัตว์ รวมทั้งหนูขนาดเล็ก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พืช อาหารสุนัขและขยะ
คางคกอ้อยได้รุกรานไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ในประเทศออสเตรเลีย โดยสามารถแพร่กระจายได้เป็นระยะทางถึง 60 กิโลเมตรต่อปี ในปัจจุบันมีการประมาณการว่าคางคกอ้อยน่าจะมีมากกว่า 200 ล้านตัวในประเทศออสเตรเลีย
สีดำแสดง การแพร่กระจายของคางคกอ้อยในประเทศออสเตรเลีย ในปี ค.ศ. 1940 เปรียบเทียบกับปี ค.ศ. 1980 (ที่มา ดัดแปลงจาก By Froggydarb, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1056070)
นอกจากที่คางคกชนิดนี้สามารถเพิ่มจำนวนและรุกรานพื้นที่ใหม่ๆ ได้ดี มันยังมีมีผลกระทบในการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ โดยที่ทำให้สัตว์เลื้อยคลานผู้ล่าหลายประเภทลดจำนวนลง เช่น สัตว์เลื้อยคลานในสกุลตะกวด [Varanus] งูและจรเข้บางชนิด เนื่องจากเมื่อผู้ล่าเหล่านี้ได้กินคางคกชนิดนี้เข้าไปเป็นอาหาร จะได้รับพิษจากคางคกชนิดนี้เข้าไปจนทำให้ตายได้
ดังนั้นคางคกอ้อยจึงมีผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพของออสเตรเลียทั้งจากสัตว์ที่ถูกคางคกอ้อยกิน และสัตว์ที่ได้รับพิษเมื่อกินคางคกอ้อยทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเป็นอาหาร
ปัจจุบันจึงต้องมีการควบคุมคางคกอ้อยในออสเตรเลียด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ใช้อาสาสมัครมาจับคางคกอ้อย หรือใช้กับดักเพื่อป้องกันไม่ให้คางคกอ้อยรุกรานไปยังพื้นที่ใหม่ๆ และเพื่อควบคุมประชากรของคางคก เพื่อที่จะลดปัญหาที่เกิดจากคางคกอ้อยลง
ถ้าอยากอ่านเรื่องเกี่ยวกับชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่นที่พบในประเทศไทย เช่น ผักตบชวา สามารถกดอ่านได้ครับ
เอกสารอ้างอิง
5. Hudson CM, McCurry MR, Lundgren P, McHenry CR, Shine R (2016) Constructing an Invasion Machine: The Rapid Evolution of a Dispersal-Enhancing Phenotype During the Cane Toad Invasion of Australia. PLoS ONE 11(9): e0156950. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0156950

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา