3 ก.ค. 2020 เวลา 00:23 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เราจะควบคุมตั๊กแตนทะเลทรายได้อย่างไร?
โดยไม่ใช้กระทะและแม็กกี้
„Schwarm der Wanderheuschrecke“ (ที่มา By Emil Schmidt - https://www.oldbookillustrations.com/wp-content/high-res/1900/locusts-rawscan.jpg, Public Domain)
ในช่วงที่ผ่านมา เราอาจจะได้ยินข่าวของการระบาดของตั๊กแตนทะเลทราย [Schistocerca gregaria] ที่นอกจากจะมีจำนวนมากแล้ว ยังสามารถอพยพได้อย่างรวดเร็ว โดยเริ่มระบาดจากทวีปแอฟริกาในช่วงต้นปีที่ผ่านมา (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563) แล้วไม่กี่วันมานี้ตั๊กแตนชนิดนี้เริ่มมีการแพร่ระบาดมายังประเทศในเอเชียใต้ เช่น ปากีสถาน และอินเดีย และวันนี้ (30 มิถุนายน พ.ศ. 2563) ยังมีข่าวการแพร่ระบาดของตั๊กแตนในประเทศลาวอีก
หรือว่าจริงๆ ก็ตั๊กแตนนี้ก็บินผ่านประเทศไทยไปแล้ว?
ขอสรุปสั้นๆ จากข่าวข้างล่างนี้นะครับ ตั๊กแตนที่ระบาดในประเทศลาวเป็นคนละชนิดกับตั๊กแตนทะเลทรายที่ระบาดในอินเดียตอนนี้ ชนิดที่ระบาดในลาวชื่อว่า ตั๊กแตนไผ่ [Ceracris kiangsu] ครับ ที่มีการแพร่กระจายในมณฑลเสฉวน หูเป่ย เกียงสู หูหนาน เกียงสี ฝูเจียน และกวางตุ้งของจีน ต่อมาพบการระบาด รุนแรงในปี พ.ศ. 2478-2489 และประเทศไทยพบตั๊กแตนไผ่ เมื่อปี พ.ศ. 2512 แต่ยังไม่เคยมีการแพร่ระบาดรุนแรง โดยตั๊กแตนไผ่จะสร้างความเสียหายให้แก่พืชเกษตร อาทิ พืชตระกูลไผ่ พืชตระกูลหญ้า พืชตระกูลปาล์ม ข้าว และข้าวโพด
แต่ถ้าประเทศไทยมีการระบาดของตั๊กแตนรุนแรงเหมือนตั๊กแตนทะเลทราย เราจะควบคุมตั๊กแตนเหล่านี้ได้อย่างไร?
ข่าวดีคือ ทั้งระยะทาง และข้อจำกัดทางสภาพแวดล้อม ทำให้ทั้งตั๊กแตนทะเลทราย และตั๊กแตนไผ่ยังไม่ระบาดในประเทศไทย
โดยปกติตั๊กแตนทะเลทรายนี้จะระบาดเฉพาะในแถบแอฟริกา แต่อาจจะมีการแพร่กระจายมายังคาบสมุทรอาหรับถึงเอเชียใต้บ้างอย่างเช่นในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี โดยตั๊กแตนกลุ่มนี้จะมีความแตกต่างจากตั๊กแตนกลุ่มอื่นๆ คือ จะมี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบปกติไม่อพยพ (Non-migratory หรือ Solitary form) ซึ่งจะอยู่อย่างเดี่ยวๆ ไม่รวมกลุ่ม ปีกสั้น วางไข่เยอะ แต่ปัจจัยสิ่งแวดล้อมอาจจะทำให้ตั๊กแตนทะเลทรายบางรุ่นเปลี่ยนเป็นรูปแบบอพยพ (Migratory หรือ Gregariuos form) ที่รวมเป็นกลุ่ม ปีกยาว และสามารถบินได้ไกลได้ และทำการระบาดก่อความเสียหายในพื้นที่ต่างๆ
ตัวอ่อนสองรูปแบบของตั๊กแตนทะเลทรายทั้งแบบไม่อพยพ (บน) และอะยพ (ล่าง) (ที่มา By Compton Tucker, NASA GSFC - An Insect’s Alter Ego, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=526037)
ตั๊กแตนทะเลทรายสามารถกินพืชได้หลายชนิด รวมทั้งพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวบาเล่ย์ อ้อย ไม้ผล พืชผัก ซึ่งกินได้ทุกส่วนของพืช ในการอพยพตั๊กแตนทะเลทรายบินตามกระแสลมด้วยความเร็วประมาณ 16-19 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และบินได้นานสูงสุด 10 ชั่วโมงต่อครั้ง (เฉลี่ย 2 ชั่วโมง) และสามารถเดินทางได้ไกลสุดถึงประมาณ 150 กิโลเมตรในหนึ่งวัน
การควบคุมตั๊กแตนทะเลทรายนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีของข้อจำกัดในการกำจัดแมลงโดยใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งตั๊กแตนชนิดนี้มีลักษณะการระบาดของตั๊กแตนนี้เป็นกลุ่มใหญ่ จำนวนกว่า 4 หมื่นล้านตัว ปกคลุมพื้นที่กว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร โดยทำลายพืชอาหารปริมาณที่เลี้ยงคนได้กว่า 200 ล้านคน
เนื่องจากตั๊กแตนรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ทำให้การใช้สารเคมีในการควบคุมแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาจากการใช้สารเคมีปริมาณมหาศาลในการฉีดพ่นตั๊กแตน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของผู้ฉีดและผู้คนโดยรอบ และปัญหาของสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม
เราจะมีทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าการใช้สารเคมีกำจัดแมลงไหม?
นักวิทยาศาตร์จึงเกิดความคิดที่จะใช้เชื้อราชนิด [Metarhizium acridium] ในการควบคุมตั๊กแตนกลุ่มนี้ โดยเชื้อรานี้มีประสิทธิภาพในการทำลายสูง เมื่อฉีดออกไปเชื้อราจะทำลายตั๊กแตนลงไปถึง 70% - 90% ภายใน 10 - 20 วัน แต่มีข้อเสียคือ มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ายาฆ่าแมลงทั่วไป ส่วนข้อดีของมันคือ ปลอดภัยต่อมนุษย์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และนก และยังมีความจำเพาะเจาะจงสูงกับตั๊กแตนกลุ่มนี้ คือ เชื้อรายังสามารถมีการคงอยู่ในธรรมชาติ สามารถเพิ่มจำนวนและกลับมาโจมตีโฮสต์อีกครั้งได้ (Recycling in the field) และเชื้อที่ไม่ได้โจมตีตั๊กแตนก็ไม่ได้หายไปไหน แต่ยังหลงเหลือในพื้นที่ที่ฉีดพ่นนั้น (Fungus reserviour) ถ้ามีตั๊กแตนระบาดรอบใหม่เชื้อก็สามารถกลับมาโจมตีตั๊กแตนได้
ตั๊กแตนแดงที่ถูกโจมตีโดยเชื้อรา [Metarhizium acridium] โดยเห็นสปอร์มีสีเขียว (ที่มา By Christiaan Kooyman - Own work, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=596052)
การใช้เชื้อราในการควบคุมตั๊กแตนโดยชีววิธีนี้ก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการควบคุมตั๊กแตนอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อมนุษย์ได้ครับ
ถ้าสนใจเรื่องการควบคุมโดยชีววิธีในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ สามารถตามไปอ่านการควบคุมผักตบชวาโดยชีววิธีได้ครับ
เอกสารอ้างอิง
2. "FAO and partners stress urgent need on Desert Locust Response". www.fao.org.
5. Hajek, A. (2004). Natural Enemies: An Introduction to Biological Control. Cambridge: Cambridge University Press. doi:10.1017/CBO9780511811838

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา