17 ก.ค. 2020 เวลา 00:23 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วิธีการกำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกา
หอยทากยักษ์แอฟริกา [Achatina fulica] เป็นหอยทากชนิดหนึ่งที่เราสามารถพบได้ทั่วในที่ต่างๆ โดยสามารถแพร่ระบาดได้ดีในเขตเมือง โดยพบในสวน ในบ้านหลายๆ หลัง หอยทากชนิดนี้ไม่ได้มีจุดกำเนิดในประเทศไทย แต่เป็นชนิดพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศและแพร่ระบาดจนกลายเป็นชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่น (Invasive species) ในหลายๆ ประเทศในโลกรวมทั้งในประเทศไทยด้วย จนถูกจัดเป็นหนึ่งในร้อยชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่นที่ร้ายแรงที่สุดในโลก
1
หอยทากยักษ์แอฟริกา (ที่มา By Alexander R. Jenner, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=15400154)
หอยทากชนิดนี้สามารถทำลายพืชได้หลากหลายชนิดโดยสามารถกินพืชได้หลากหลายชนิด โดยมีรายงานมากกว่า 500 ชนิด เช่น สาเก มันสำปะหลัง โกโก้ มะละกอ ถั่วลิสง และถั่วชนิดต่างๆ แตงกวา และแตงโม และยังมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้ดี นอกจากหอยทากชนิดนี้จะทำลายพืชแล้วหอยชนิดนี้ยังอาจแข่งขันกับสิ่งมีชีวิตพื้นถิ่น ทำให้สิ่งมีชีวิตพื้นถิ่นมีจำนวนลดลง และยังสามารถเป็นพาหะนำโรคในคนได้ด้วย โดยอาจจะมีพยาธิตัวกลมชนิด [Angiostrongylus cantonensis] ในตัวได้
โดยดั้งเดิมแล้วหอยชนิดนี้มีการกระจายอยู่ในชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา แถบประเทศเคนย่าและแทนซาเนีย และถูกนำไปแพร่กระจายในพื้นที่ต่างๆ โดยเริ่มต้นจากในทวีปแอฟริกาตั้งแต่ในช่วงปี ค.ศ. 1800s และกระจายมายังอินเดียตั้งแต่ปี ค.ศ. 1847 และพื้นที่อื่นๆ ในเอเชียในเวลาต่อมา โดยหอยทากนี้ถูกนำไปในพื้นที่ต่างๆ จากถิ่นกำเนิดเพื่อเป็นอาหารสำรอง เช่น โดยกองทัพอเมริกันในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ด้วยความสามารถในการสืบพันธุ์ที่สามารถวางไข่ได้กว่า 1,000 ฟองในช่วงชีวิต และจากไข่เจริญเป็นตัวเต็มวัยในเวลา 6 เดือน เพราะฉะนั้นถ้าไม่ระวังมีหอยทากหลุดมาเพียงไม่กี่ตัว หอยทากนี้สามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วในเวลาไม่นาน
ไข่ของหอยทากยักษ์แอฟริกา พบตามพื้นดินใกล้ๆ ที่พบหอยทาก (By Timur V. Voronkov, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=14794424)
การควบคุมที่ง่ายที่สุดคือการเก็บหอยทากนั้นมา ซึ่งไม่ยาก เพราะหอยทากเหล่านี้ไม่วิ่งหนีไปไหน และลักษณะก็เด่นสะดุดตา แต่ปัญหาคือ จะกำจัดหอยทากอย่างไรต่อไป ในบางประเทศอาจจะมีการใช้เครื่องพ่นไฟ (Flamethrower) ในการกำจัดหอยทากชนิดนี้ อาจจะต้องนำไปแช่แข็ง แช่ในแอลกอฮอล์ หรือการใช้เกลือ อีกวิธีหนึ่งคือใช้กากชาจากชาที่ชงแล้วมาใส่บนตัวหอยทาก
นอกจากนั้นอาจจะใช้วิธีการใช้หอยทากยักษ์แอฟริกานี้มาเป็นอาหารเหมือนสัตว์หลายๆ ชนิด แต่อาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดเพราะว่าหอยชนิดนี้สามารถเป็นพาหะนำพยาธิในคนได้ และถ้าคนนิยมมากๆ อาจจะทำให้หอยชนิดนี้แพร่กระจายได้มากขึ้น นอกจากนั้นปัจจุบันหอยทากยักษ์ชนิดนี้ยังเป็นชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาเพาะเลี้ยงเพื่อเก็บเมือกมาใช้เป็นครีมบำรุงผิวได้
1
ถ้าการระบาดอยู่ในระดับที่รุนแรงมากๆ อาจจะใช้สารเคมีในการควบคุมได้ โดยการใช้สารเคมีกำจัดหอย ได้แก่ เมทอัลดีไฮด์ (Metaldehyde) และ เมทิโอคาร์บ (Methiocarb) โดย เป็นสารกำจัดหอยทากออกฤทธิ์ในทางสัมผัสและกินตาย แต่สารเคมีเหล่านี้อาจจะมีผลกระทบกับหอยพื้นถิ่นชนิดอื่นๆ เช่นกัน
ในการควบคุมโดยชีววิธีที่ใช้สิ่งมีชีวิตในการควบคุม อาจทำได้โดยใช้หอยทากชนิดอื่น ได้แก่ หอยทากหมาป่าสีกุหลาบ (predatory rosy wolf snail [Euglandina rosea]) ที่มาจากสหรัฐอเมริกา และหนอนตัวแบนนิวกินี [Platydemus manokwari] จากประเทศนิวกินีก็มีรายงานว่าสามารถนำมาใช้ควบคุมหอยทากยักษ์แอฟริกาได้สำเร็จ แต่เนื่องจากสัตว์ทั้งสองชนิดนี้มีความจำเพาะเจาะจงต่ำ ทำให้ทั้งคู่ล่าหอยทากชนิดอื่นๆ กินเป็นอาหารด้วย และส่งผลต่อชนิดพันธุ์ท้องถิ่นได้ และหนอนตัวแบนนิวกินีก็มีการรายงานว่ามีเข้ามาในประเทศไทยแล้วด้วย
หอยทากหมาป่าสีกุหลาบ (predatory rosy wolf snail [Euglandina rosea]) หนึ่งในหอยผู้ล่าของหอยทากยักษ์แอฟริกา(ที่มา By Dylan Parker - Flickr, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=5087491)
หนอนตัวแบนนิวกินีที่กินหอยทากยักษ์แอฟริกาเป็นอาหาร ซึ่งปัจจุบันพบรุกรานมาในประเทศไทยด้วย (ที่มา By Shinji Sugiura, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=8472666)
ในต่างประเทศมีการผลิตกับดักเพื่อดักหอยทากชนิดนี้ แต่จะได้ผลดีเฉพาะการใช้ร่วมกับการเก็บด้วยมือ และการใช้สารเคมีกำจัดหอยร่วมกันเท่านั้น เพราะหอยทากสามารถหนีออกจากกับดักออกไปได้ง่าย การทดลองอีกการทดลองหนึ่งพบว่าน้ำมันมะละกอสังเคราะห์สามารถดึงดูดหอยทากยักษ์แอฟริกาในระยะ 1 เมตร เข้ามาในกับดักอย่างจำเพาะเจาะจง และไม่ดึงดูดสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น หอยทากและทากชนิดอื่นๆ และผึ้ง ผีเสื้อ ทำให้หอยทากถูกสารเคมีกำจัดหอยได้ ก็ถือว่าเป็นวิธีการกำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกาที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง
ตัวอย่างกับดักที่มีขายในต่างประเทศ (ที่มา Roda A, Yong Cong M, Donner B, Dickens K, Howe A, Sharma S, et al. (2018) Designing a trapping strategy to aid Giant African Snail (Lissachatina fulica) eradication programs. PLoS ONE 13(9): e0203572)
สนใจชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน ลองอ่านเรื่องคางคกอ้อยดูได้ครับ
เอกสารอ้างอิง
3. Roda A, Millar JG, Jacobsen C, Veasey R, Fujimoto L, Hara A, et al. (2019) A new synthetic lure for management of the invasive giant African snail, Lissachatina fulica. PLoS ONE 14(10): e0224270. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0224270
4. Roda A, Yong Cong M, Donner B, Dickens K, Howe A, Sharma S, et al. (2018) Designing a trapping strategy to aid Giant African Snail (Lissachatina fulica) eradication programs. PLoS ONE 13(9): e0203572.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา