21 ส.ค. 2020 เวลา 09:16 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ปล่อยปลาให้พินาศ - ตัวอย่างจากการปล่อยปลากระพงแม่น้ำไนล์ลงในทะเลสาบวิคตอเรีย
ภาพดัดแปลงมาจาก By Daiju Azuma - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=71758200
จากกระแสการโต้เถียงกันที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เกี่ยวกับการทำบุญปล่อยปลาและสัตว์อื่นๆ อย่างไรให้ถูกต้อง เราควรจะปล่อยปลาต่างถิ่นที่นิยมเลี้ยงกัน ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติหรือไม่? บทความนี้ผมเลยอยากจะยกตัวอย่างให้ดูว่าการที่เราปล่อยปลาที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นลงในแหล่งน้ำธรรมชาติจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้มากขนาดไหนครับ จากตัวอย่างของปลากระพงแม่น้ำไนล์ที่ถูกนำไปปล่อยในทะเลสาบวิคตอเรีย
ทะเลสาบวิคตอเรีย เป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา และเป็นทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ทะเลสาบอยู่ตรงรอยต่อของประเทศสามประเทศ ได้แก่ ประเทศเคนยา ประเทศอูกันดา และประเทศแทนซาเนีย หนึ่งในสิ่งมีชีวิตเด่นในทะเลสาบวิคตอเรียคือ ปลาในวงศ์ปลาหมอสี ที่ดั้งเดิมคาดว่ามีปลาในวงศ์นี้มากกว่า 500 ชนิดที่พบเฉพาะในทะเลสาบวิคตอเรียเท่านั้น
ตำแหน่งของทะเลสาบวิคตอเรีย ที่ติดกับชายแดนของสามประเทศที่เคนยา อูกันดา และแทนซาเนีย (ดัดแปลงมาจาก https://www.loc.gov/item/97687550/)
ปลากระพงแม่น้ำไนล์ [Lates niloticus] ซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่ โตเต็มที่ได้ถึงเกือบ 2 เมตร และหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม เป็นปลาผู้ล่าที่กินทุกอย่างทั้งปลา (รวมทั้งปลาชนิดเดียวกัน) กุ้ง และแมลง ดั้งเดิมนั้นปลาชนิดนี้พบแพร่กระจายในแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำไนล์ แม่น้ำคองโก แม่น้ำเซเนกัล และทะเลสาบ เช่น ทะเลสาบชาด ทะเลสาบทัวกานา ในทวีปแอฟริกา แต่ไม่เคยพบในทะเลสาบวิคตอเรีย
ในช่วงปี 1950 ปลากระพงแม่น้ำไนล์ได้ถูกนำไปปล่อยในทะเลสาบวิคตอเรียด้วยวัตถุประสงค์ที่ดีต่อคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่คือ เพื่อที่จะให้ปลาชนิดนี้มาเป็นอาหารของคนพื้นเมืองที่มีฐานะยากจน และอาจจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศแถบนี้คือ ปลากระพงแม่น้ำไนล์จะได้กลายเป็นปลาที่จะนำมาตกเชิงกีฬาในทะเลสาบวิคตอเรีย และอาจจะนำปลาชนิดนี้ส่งออกให้เป็นรายได้เข้าประเทศได้ ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านจากนักวิทยาศาสตร์ว่าปลากระพงแม่น้ำไนล์อาจจะทำลายระบบนิเวศดั้งเดิมของทะเลสาบวิคตอเรีย แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งหน่วยงานของรัฐบาลในการปล่อยปลาชนิดนี้ได้
ปลากระพงแม่น้ำไนล์ (ที่มา By Daiju Azuma - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=71758200)
30 ปีหลังจากนั้น ในประมาณปี ค.ศ. 1980 เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในทะเลสาบวิคตอเรียนั่นคือ ผลผลิตจากการประมงเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าจากการจับปลากระพงแม่น้ำไนล์ ดึงดูดผู้คนให้มาเข้าสู่อุตสาหกรรมการประมงจับปลาชนิดนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน จำนวนชนิดของปลาพื้นถิ่นในทะเลสาบวิคตอเรียลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง
ในมุมมองทางด้านระบบนิเวศ การปล่อยปลากระพงแม่น้ำไนล์นี้ส่งผลเสียอย่างมากต่อระบบนิเวศในทะเลสาบวิคตอเรีย เนื่องจากปลากระพงแม่น้ำไนล์ได้ล่าและกินปลาพื้นถิ่นของทะเลสาบวิคตอเรียที่ส่วนใหญ่เป็นปลาในวงศ์ปลาหมอสี (Family Cichlidae) ซึ่งปลากลุ่มนี้ส่วนใหญ่พบเฉพาะในทะเลสาบแห่งนี้เท่านั้น (Endemic species) ทำให้ปลาพื้นถิ่นจำนวนหลายร้อยชนิดในทะเลสาบวิคตอเรียมีจำนวนลดลงมาก จนบางชนิดสูญพันธุ์หรือใกล้สูญพันธุ์ และเมื่อปลากระพงแม่น้ำไนล์กินปลาในทะเลสาบจนเกือบหมด ปลากระพงแม่น้ำไนล์ก็เปลี่ยนไปกินกุ้งและปลาขนาดเล็กอย่างปลาซิวแทน
ปลา [Haplochromis thereuterion] หนึ่งในชนิดของปลาที่พบเฉพาะในทะเลสาบวิคตอเรีย (ที่มา By User:Haplochromis - Self-photographed, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=3030008)
นอกจากผลกระทบเชิงนิเวศวิทยา การมาของปลากระพงแม่น้ำไนล์ยังส่งผลในเชิงเศรษฐกิจและสังคมต่อชุมชนรอบๆ ทะเลสาบวิคตอเรียอีกด้วย คือ การลดลงของปลาพื้นถิ่นทำให้ชาวบ้านที่แต่เดิมที่ทำประมงพื้นบ้าน จับปลาพื้นถิ่นกินเป็นอาหาร ต้องกลับมาทำเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในการจับปลากระพงแม่น้ำไนล์เพื่อการแล่เนื้อและส่งออกเป็นหลักแทน เนื่องจากแหที่ใช้ในการจับปลาที่ชาวบ้านใช้นั้นไม่สามารถนำมาจับปลาขนาดใหญ่อย่างปลากระพงแม่น้ำไนล์ได้ และการจับปลาขนาดใหญ่จะต้องใช้เรือขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และใช้แรงงานคนมากขึ้น
นอกจากนั้นปลากระพงแม่น้ำไนล์ที่ถูกจับมาก็มีราคาแพงเกินไปจนชาวบ้านท้องถิ่นไม่สามารถซื้อได้ ทำให้ผลผลิตปลาส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังยุโรปและประเทศอื่นๆ และสร้างรายได้ให้เข้าไปยังนายทุนใหญ่ๆ ที่จับปลาได้เท่านั้น ในขณะที่ชาวบ้านท้องถิ่นจึงได้กินแต่ซากปลาที่เหลือจากการแล่
นอกจากนั้นปลากระพงแม่น้ำไนล์ยังเป็นปลาที่มีสัดส่วนของไขมันเยอะ จึงไม่สามารถตากแห้งเหมือนปลาขนาดเล็กๆ ได้ แต่ต้องทำการเก็บรักษาด้วยการรมควันแทน การรมควันก็ทำให้ชาวบ้านไปตัดต้นไม้ และทำให้พื้นที่ป่ารอบๆ ทะเลสาบวิคตอเรียถูกทำลายเป็นพื้นที่กว้างขึ้น
1
โดยสรุปแล้วการปล่อยปลาต่างถิ่นอย่างปลากระพงแม่น้ำไนล์ลงในทะเลสาบวิคตอเรียส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศของทะเลสาบวิคตอเรีย ทำให้ชนิดพันธุ์พื้นถิ่นสูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อมาทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำประมงพื้นบ้านในรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป เพราะปลาดั้งเดิมได้หายไปหมด ต้องมาเข้าระบบงานการประมงอุตสาหกรรม และโรงงานผลิตปลาและแล่ปลาเพื่อส่งออก ในขณะที่ปลากระพงแม่น้ำไนล์ก็ไม่ได้สร้างรายได้ให้กับคนพื้นถิ่นได้เหมือนที่คิดกัน แต่รายได้มาสู่นายทุนใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะการจับและการจัดการปลากระพงแม่น้ำไนล์มีต้นทุนสูง
2
ถ้าใครสนใจอยากเห็นภาพผลกระทบของการปล่อยปลากระพงแม่น้ำไนล์ลงในทะเลสาบวิคตอเรียต่อระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และสังคม มีสารคดีเรื่องหนึ่งที่ทำเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ เรื่อง Darwin’s Nightmare สามารถไปรับชมกันได้ แต่พอผมดูแล้วทำให้ไม่อยากจะกินปลากระพงแม่น้ำไนล์อีกเลย เพราะเนื้อปลาที่ได้นั้น แลกมากับหลายสิ่งมากมายที่ต้องสูญเสียไป
สารคดีเกี่ยวกับผลกระทบของปลากระพงแม่น้ำไนล์ต่อทะเลสาบวิคตอเรีย เรื่อง Darwin’s Nightmare (ที่มา By Source, Fair use, https://en.wikipedia.org/w/index.php?curid=16170238)
ใครสนใจเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีผลต่อชนิดพันธุ์พื้นถิ่นมีเรื่องนี้อีกครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Robert M. Pringle, The Origins of the Nile Perch in Lake Victoria, BioScience, Volume 55, Issue 9, September 2005, Pages 780–787, https://doi.org/10.1641/0006-3568(2005)055[0780:TOOTNP]2.0.CO;2
2. Pringle, R. (2005). The Nile Perch in Lake Victoria: Local Responses and Adaptations. Africa, 75(4), 510-538. doi:10.3366/afr.2005.75.4.510
3. Balirwa, J.S. (2007), Ecological, environmental and socioeconomic aspects of the Lake Victoria's introduced Nile perch fishery in relation to the native fisheries and the species culture potential: lessons to learn. African Journal of Ecology, 45: 120-129. doi:10.1111/j.1365-2028.2007.00753.x

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา