28 ส.ค. 2020 เวลา 09:16 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
กระเทียม พืชสร้างพีระมิด
กระเทียม [Allium sativum] เป็นพืชที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในโลกของเรา ทั้งใช้เป็นอาหาร เครื่องเทศ และยา โดยกระเทียมนั้นถูกรู้จักกันมาตั้งแต่โบราณหลายพันปี วันนี้เรามาสำรวจที่มาและบทบาทของกระเทียมในประวัติศาสตร์ของมนุษย์กันครับ
กระเทียมเป็นพืชในวงศ์พลับพลึง (Family Amaryllidaceae) โดยมีชนิดพันธุ์ใกล้ชิดได้แก่ หอมใหญ่ (Onion) หอมแดง (Shallot) กระเทียมต้น (Leek) และหอมต้นเดี่ยว (ต้นหอม - Scallion) โดยกระเทียมน่ามีจุดกำเนิดในเอเชียกลางบริเวณตั้งแต่ฝั่งตะวันตกของประเทศจีนในปัจจุบันแถบเทือกเขาเทียนซาน ไปจนประเทศคาซัคสถาน และเคอร์กิสถาน
แต่เราจะไม่พบกระเทียมที่เรากินกันในธรรมชาติ แต่กระเทียมที่เป็นอาหารนั้นน่าจะมีถูกคัดเลือกพันธุ์มาจากพืชธรรมชาติชนิดอื่น ได้แก่ [Allium longicuspis], [Allium tuncelianum], [Allium macrochaetum] หรือ [Allium truncatum] ที่พบแพร่กระจายในเอเชียกลางจนถึงตะวันออกกลาง
ภาพวาดต้นและหัวกระเทียม (ที่มา By Lyman, Henry M. (Henry Munson), 1835-1904 - https://digital.sciencehistory.org/works/bv73c1191, Public Domain)
กระเทียมน่าจะถูกใช้เป็นอาหารและยารักษาโรคมากว่า 7,000 ปี และชนชาติสุเมเรียนที่อาศัยอยู่ตอนใต้ของเมโสโปเตเมีย (ตอนใต้ของอิรักในปัจจุบัน) เป็นชนชาติแรกที่มีหลักฐานว่าเพาะปลูกกระเทียม และใช้กระเทียมเป็นยาสมุนไพร ตั้งแตเมื่อกว่า 4,000 ปีก่อน และเชื่อว่ากระเทียมจากที่นี่ถูกนำไปยังเอเชียตะวันออกไปยังอารยธรรมจีนตั้งแต่โบราณ จนทำให้นักประวัติศาสตร์บางท่านมีความเชื่อว่ากระเทียมมีจุดกำเนิดในประเทศจีน โดยในจีนกระเทียมถูกใช้เป็นอาหาร และยาสมุนไพรสำหรับช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องเสีย และถ่ายพยาธิ
แผ่นสลักอักษรรูปลิ่มของชาวสุเมเรียน (ที่มา By MbztOwn work, CC BY 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=25834613)
ในทางตะวันตก กระเทียมแพร่ไปในอารยธรรมอียิปต์ กระเทียมถูกใช้งานหลากหลายทั้งเป็นยาสมุนไพร อาหาร และเครื่องเทศ และที่สำคัญคือ กระเทียมกลายเป็นอาหารและยาสำหรับคนยากจน รวมทั้งเป็นอาหารสำหรับกลุ่มของทาส ชาวอียิปต์เชื่อว่ากระเทียมมีฤทธิ์ทำให้ทาสแข็งแรงขึ้น และทำงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มทาสที่ถูกเกณฑ์มาสร้างพีระมิด โดยปกติทาสที่ถูกเกณฑ์มาสร้างพีระมิดนั้นจะได้รับอาหารเป็นซุปต้มใสๆ ให้พลังงานน้อย แต่การที่ทาสได้กินกระเทียม ทำให้กระเทียมกลายเป็นอาหารเสริมที่สำคัญให้กับเหล่าทาส ทำให้ได้วิตามินให้เพียงพอและลดความหิวโหยของเหล่าทาสลง และมีแรงจะลากก้อนหินก้อนยักษ์มาสร้างพีระมิดได้
หมู่พีระมิดแห่งกีซา (ที่มา By Ricardo Liberato - All Gizah Pyramids, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2258048)
ความนิยมในกระเทียมนั้นทำให้ชาวอียิปต์สร้างรูปปั้นที่มีรูปกระเทียมอยู่ นอกจากนั้นใน Ebers papyrus ที่มีอายุกว่า 3,000 ปีที่มีการบันทึกสูตรยาสมุนไพรของอียิปต์ ก็มีบันทึกไว้ว่า กระเทียมสามารถรักษาโรคได้ถึง 32 โรค รวมทั้งกระเทียมยังถูกค้นพบในสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมนอีกด้วย
Ebers Papyrus ที่มีการบันทึกสรรพคุณของกระเทียมไว้ (ที่มา By PEbers_c41.jpg: Einsamer Schützederivative work: Photohound (talk):, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=18511551)
กระเทียมกระจายต่อไปยังบริเวณแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสู่ชาวกรีกโบราณ โดยชาวกรีกใช้กระเทียมเป็นอาหารของกองทัพ รวมถึงเป็นยาโด๊บสำหรับนักกีฬาโอลิมปิกโบราณ รวมถึงของขวัญให้แก่พระเจ้าด้วย นอกจากนั้นเช่นเดียวกับอารยธรรมอื่นๆ ชาวกรีกก็ใช้กระเทียมเป็นยารักษาโรคด้วยเช่นกัน ทั้งในการกำจัดหนอนพยาธิ แก้ปวดท้อง ปรับประจำเดือน แก้เมาเรือ รวมถึงยาแก้พิษงู (โดยดื่มผสมกระเทียมกับไวน์) และแก้พิษสุนัขบ้า (โดยเอากระเทียมไปโปะแผลโดยตรง)
กระเทียมแพร่กระจายต่อไปยังชาวโรมัน กลายเป็นหนึ่งในอาหารและเครื่องเทศหลักของชาวโรมัน ที่ประกอบด้วยกะหล่ำ หัวหอม และกระเทียม รวมทั้งเป็นยาสมุนไพรด้วย โดยนักธรรมชาติวิทยาและหมอชาวโรมันที่ชื่อว่า พลินี ผู้อาวุโส หรือ Pliny the Elder (มีชีวิตอยู่ใน ค.ศ. 23–79) กล่าวว่า กระเทียมเป็นยาสมุนไพรที่รักษาได้ทุกอย่าง ในยุคต่อมากระเทียมก็แพร่กระจายไปทั่วทั้งทวีปยุโรปและเอเชีย และถูกใช้เป็นทั้งอาหารและยาสมุนไพรในแทบๆ จะทุกอารยธรรม
อนุสาวรีย์ของ Pliny the Elder ที่โบสถ์ Cathedral of S. Maria Maggiore ในเมือง Como (ที่มา By Wolfgang Sauber - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=3443931)
แล้วกระเทียมมีฤทธิ์ทางยาจริงหรือไม่?
กระเทียมสดที่ยังไม่ปอกจะมีกลิ่นอ่อนๆ แต่เมื่อกระเทียมถูกทำให้แตกจะทำให้เกิดกลิ่นรุนแรงขึ้นมาจากสารกลุ่มที่มีกำมะถัน (Sulfur) เป็นส่วนประกอบ โดยตัวหลักมีชื่อว่า Allicin ซึ่งทำให้เกิดรสเผ็ดร้อนในกระเทียม เมื่อเซลล์กระเทียมแตกจากการสับหรือบด เซลล์ของกระเทียมจะปล่อยเอนไซม์ที่อยู่ในแวคิวโอในเซลล์ออกมา เปลี่ยนสารเคมีในเซลล์ให้กลายเป็นสารที่มีกลิ่นและรสรุนแรง โดยสารจากกระเทียมนี้มีวิวัฒนาการมาเพื่อป้องกันกระเทียมจากการถูกสัตว์กิน เช่น นก แมลง และหนอน แต่เนื่องจากสาร Allicin นี้จะสลายตัวลงเมื่อถูกความร้อง เมื่อเรานำกระเทียมไปผ่านความร้อนจึงทำให้รสและกลิ่นของกระเทียมเจือจางลง
การศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์พบว่า Allicin และสารประกอบกำมะถันอื่นๆ ในกระเทียมมีฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ กระเทียมยังมีฤทธิ์ในการลดคลอเรสเตอรอล ไขมัน และความดันเลือด และลดความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจลงไปด้วย กระเทียมยังมีฤทธิ์ในการลดสารอนุมูลอิสระ ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้
โครงสร้างทางเคมีของสาร Allicin (ที่มา By Jü - Own work, CC0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=27747864)
พริกอ่านคู่กับกระเทียมไหมครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Petrovska BB, Cekovska S. Extracts from the history and medical properties of garlic. Pharmacogn Rev. 2010;4(7):106-110. doi:10.4103/0973-7847.65321
2. Meriel G. Jones, Jill Hughes, Angela Tregova, Jonothan Milne, A. Brian Tomsett, Hamish A. Collin, Biosynthesis of the flavour precursors of onion and garlic, Journal of Experimental Botany, Volume 55, Issue 404, August 2004, Pages 1903–1918, https://doi.org/10.1093/jxb/erh138

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา