3 ก.ย. 2020 เวลา 23:06 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นกกระจอกที่หน้าเปลี่ยนไป
ถ้าคุณรู้สึกว่านกกระจอกรอบๆ บ้านหน้าตาเปลี่ยนไปจากสมัยก่อน ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่คุณคิดไปเอง เพราะว่านกกระจอกที่เราเห็นกันในปัจจุบันอาจจะหน้าตาแตกต่างจากเมื่อก่อนจริงๆ
ไม่ครับ ไม่ได้เกี่ยวกับการกลายพันธุ์ ไม่ใช่เพราะกัมมันตภาพรังสี ไม่เกี่ยวกับระเบิดนิวเคลียร์ ไม่เกี่ยวกับเสาสัญญาณโทรศัพท์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ไม่ได้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน แต่เกี่ยวกับอะไรนั้น ลองอ่านดูครับ
นกกระจอกบ้าน [Passer montanus] เป็นนกกระจอกชนิดที่สามารถพบเห็นได้ทั่วประเทศตั้งแต่อดีต โดยนกกระจอกชนิดนี้มีลักษณะเด่นคือ ปากดำ หัวสีน้ำตาลแดงเข้ม แก้มมีสีขาวมีแต้มดำ คอดำ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแดงมีลายดำปีกสีน้ำตาลแดงมีแถบแคบๆ มีสีขาวพาด เวลาร้องจะร้องเสียง "ชิบ-ชิบ" หรือ "ชิชิบ-ชิชิบ" พบทั่วไปทั้งในพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่เมือง
1
นกกระจอกบ้าน [Passer montanus] (ที่มา By Laitche - Tree Sparrow August 2007 Osaka Japan.jpg, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=5872134)
นกกระจอกอีกชนิดหนึ่งที่พบในพื้นที่ประเทศไทยทั่วประเทศ คือ นกกระจอกตาล [Passer flaveolus] แต่ชนิดนี้จะพบเฉพาะในพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่เปิดโล่ง ชายป่า ตัวผู้และตัวเมียจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน
2
โดยเพศผู้หลังจะมีสีน้ำตาลแดงไม่มีลาย หลังตาถึงข้างหัวสีน้ำตาลแดง กลางหัวและหลังตอนบนสีเทา คอดำ แก้มและลำตัวด้านข้างสีเหลืองอ่อน ในขณะที่ตัวเมียหัวและลำตัวมีสีน้ำตาลแกมเทา มีลายสีเหลืองเหนือตาคล้ายคิ้ว ปีกและหลังสีน้ำตาลแกมเหลืองอ่อนและหลังไม่มีลาย นกกระจอกตาลจะร้องเสียงใสว่า “ชิ-รัป” หรือ “ชิ-ริบ”
นกกระจอกตาล เพศผู้ [Passer flaveolus] (ที่มา By Ron Knight from Seaford, East Sussex, United Kingdom - Plain-backed Sparrow Passer flaveolus, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=34313374)
ในอดีตในประเทศไทยจะพบนกกระจอกสองชนิดนี้เป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อไม่นานมานี้มีนกกระจอกอีกชนิดหนึ่งเริ่มมีการขยายถิ่นการแพร่กระจายเข้าในประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากทางภาคเหนือ นกชนิดนั้นคือ นกกระจอกใหญ่ [Passer domesticus]
นกกระจอกใหญ่ เพศผู้ [Passer domesticus] (ที่มา By J.M.Garg - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=3002493)
ในอดีตนกกระจอกใหญ่มีการแพร่กระจายที่จำกัดอยู่ในยุโรป แอฟริกาเหนือและทวีปเอเชียจากเอเชียกลาง จนถึงประเทศอินเดีย และเอเชียตะวันออกแถบประเทศจีนทางเหนือ และประเทศมองโกเลีย
แต่เมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน นักดูนกเริ่มสังเกตเห็นนกกระจอกใหญ่นี้แพร่เข้ามาในประเทศไทยผ่านโดยผ่านทางประเทศอินเดียและเมียนมาร์ โดยเป็นการขยายขอบเขตการแพร่กระจายตามกระบวนการธรรมชาติ ไม่ได้ถูกนำเข้ามาโดยมนุษย์ ซึ่งมีรายงานว่านกกระจอกชนิดนี้มีความสามารถในการแพร่กระจายที่สูง ในบางพื้นที่ นกชนิดนี้สามารถขยายถิ่นการแพร่กระจายได้ถึง 230 กิโลเมตรต่อปี โดยนกกระจอกใหญ่สามารถอาศัยได้ทั่วไปทั้งในแหล่งที่อยู่อาศัยในเขตเมือง พื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่การเกษตร
1
สีเขียวเข้มแสดงขอบเขตการแพร่กระจายของนกกระจอกใหญ่ในปี 2019 ตาม IUCN จะเห็นว่านกกระจอกใหญ่เริ่มรุกเข้ามาทางภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศไทย สีเหลืองคือ ขอบเขตการแพร่กระจายที่เกิดจากการนำเข้าโดยมนุษย์ (ที่มา 5.)
นกกระจอกใหญ่ โดยเฉพาะเพศเมียมีลักษณะคล้ายกับนกกระจอกตาล แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันที่สังเกตได้ โดยนกกระจอกใหญ่เพศผู้จะมี หน้าผากและกระหม่อมเป็นสีเทา หลังตาถึงท้ายทอยสีน้ำตาลแดง แก้มสีขาว คอและอกสีดำกว้างกว่านกกระจอกตาลเพศผู้ หลังสีน้ำตาลแดงมีลายขีดสีดำและเทาต่างจากนกกระจอกตาลที่ไม่มีลายที่หลัง ในขณะที่ตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวเมียของนกกระจอกตาล แต่หลังมีลายขีดสีน้ำตาลจางๆ นกกระจอกใหญ่นี้จะร้องเสียง “ชีรับ ชีรับ ชีรับ” หรือ “ชรีป” นอกจากนี้จุดสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ นกกระจอกใหญ่เป็นนกที่อาศัยในเขตเมืองด้วย ในขณะที่นกกระจอกตาลจะพบเฉพาะในพื้นที่การเกษตร ถ้าเราเจอนกลักษณะแบบนี้ในเขตเมืองส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นนกกระจอกใหญ่
นกกระจอกใหญ่เพศผู้กำลังผสมพันธุ์กับนกกระจอกใหญ่เพศเมีย (ที่มา By J.M.Garg - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2878360)
ปัจจุบันนกกระจอกใหญ่ยังมีรายงานการพบในแทบทุกภาคของประเทศไทยยกเว้นในภาคใต้ตั้งแต่เขตจังหวัดชุมพรลงมา นกกระจอกใหญ่เป็นนกที่ปรับตัวได้ดี และอาจจะส่งผลกระทบกับนกกระจอกดั้งเดิมสองชนิดของไทย เนื่องจากอาศัยในแหล่งที่อยู่อาศัย และใช้ทรัพยากรที่คล้ายกัน เพราะฉะนั้นถ้าคุณกำลังรู้สึกว่านกกระจอกที่เห็นเริ่มมีหน้าเปลี่ยนไปจากเมื่อหลายปีก่อนอาจจะไม่ได้คิดไปเอง แต่เป็นเพราะนกกระจอกบ้านและนกกระจอกตาลที่เราคุ้นเคยอาจจะกำลังถูกแทนที่ด้วยนกกระจอกใหญ่ก็เป็นไปได้
2
นกกระจอกบ้าน (ซ้าย) กับนกกระจอกใหญ่ (ขวา) ถ่ายที่จังหวัดขอนแก่น
อยากรู้ว่านกนับเลขได้ไหม ต้องลองอ่านครับ
เอกสารอ้างอิง
1. จารุจินต์ นภีตะภัฏ, กานต์ เลขะกุล, วัชระ สงวนสมบัติ. 2555. คู่มือศึกษาธรรมชาติหมอบุญส่ง เลขะกุล : นกเมืองไทย. พิมพลักษณ์ กรุงเทพฯ : คณะบุคคลนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล
4. Andrea L. Liebl, Aaron W. Schrey, Samuel C. Andrew, Elizabeth L. Sheldon, Simon C. Griffith, Invasion genetics: Lessons from a ubiquitous bird, the house sparrow Passer domesticus, Current Zoology, Volume 61, Issue 3, 1 June 2015, Pages 465–476, https://doi.org/10.1093/czoolo/61.3.465
5. By SanoAK: Alexander Kürthy - Made with Natural Earth. Free vetor and raster map data @ naturalearthdata.com. Range map from BirdLife International 2019. Passer domesticus (amended version of 2018 assessment). The IUCN Red List of Threatened Species 2019: e.T103818789A155522130. https://dx.doi.org/10.2305/IUCN.UK.2018-2.RLTS.T103818789A155522130.en. Downloaded on 17 March 2020 as visual indicator of distribution., CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=88230585

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา