11 ก.ย. 2020 เวลา 00:07 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ผักเบี้ยใหญ่ และแพรเซี่ยงไฮ้ ญาติสนิทของกระบองเพชร
กระบองเพชร (Cactus) เป็นพืชที่มีความโดดเด่น ทั้งความเป็นพืชอวบน้ำ และใบที่มีการลดรูปไปเป็นหนาม และแตกต่างจากพืชชนิดอื่นๆ แล้วพืชที่ใกล้ชิดกับกระบองเพชรที่ไม่ได้เป็นกระบองเพชรคืออะไร? หน้าตาเป็นอย่างไร?
ญาติสนิทที่สุดของกระบองเพชรพืช คือ พืชในวงศ์ผักเบี้ยที่เป็นพืชที่เราอาจจะเคยเห็นและอาจจะคุ้นเคยกันดีเพราะพืชกลุ่มนี้ถูกนำมาปลูกเป็นไม้ประดับและพืชที่เป็นอาหารอย่างแพร่หลายทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยด้วย พืชกลุ่มนี้ที่นิยมนำมาปลูกกันสองชนิด ได้แก่ แพรเซี่ยงไฮ้ [Portulaca grandiflora] และผักเบี้ยใหญ่ [Portulaca oleracea]
แผนภาพแสดงความสัมพันธ์ของกระบองเพชรกับพืชในวงศ์ผักเบี้ย (ที่มา Walker et al., 2018)
วันนี้เราจะมาทำความรู้จักพืชทั้งสองชนิดนี้กันครับ
แพรเซี่ยงไฮ้ [Portulaca grandiflora] และ ผักเบี้ยใหญ่ [Portulaca oleracea] เป็นพืชในวงศ์ผักเบี้ย (Family Portulacaceae) พืชในวงศ์นี้มีสกุลเดียวคือ [Portulaca] พืชในวงศ์นี้เป็นพืชอวบน้ำ (Succulent) มีทั้งสิ้นประมาณ 100 ชนิด โดยต่างจากกระบองเพชรที่พบเฉพาะในทวีปอเมริกา พืชในวงศ์ผักเบี้ยนี้สามารถพบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก แต่ส่วนมากจะพบในซีกโลกใต้ในพื้นที่กึ่งแล้งในทวีปแอฟริกา ออสเตรเลีย และอเมริกาใต้ และเชื่อกันว่าพืชกลุ่มนี้ที่แพร่กระจายในทวีปอเมริกาใต้นี้เองเป็นบรรพบุรุษของกระบองเพชร
ผักเบี้ยใหญ่ [Portulaca oleracea] พบแพร่กระจายในธรรมชาติเป็นวงกว้างในโลก โดยพบตั้งแต่แอฟริกาเหนือ ยุโรปใต้ ตะวันออกกลาง อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงออสเตรเลีย โดยสันนิษฐานว่าเนื่องจากมนุษย์สามารถกินพืชชนิดนี้เป็นอาหารได้ มนุษย์อาจจะเป็นตัวช่วยแพร่กระจายพืชชนิดนี้ด้วย
1
ดอกของผักเบี้ยใหญ่ (ที่มา By jacilluch - https://www.flickr.com/photos/70626035@N00/23559906595/, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=74302755)
ผักเบี้ยใหญ่ถูกใช้เป็นอาหารแพร่หลายในประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ โดยพบเมล็ดของผักเบี้ยใหญ่ในแหล่งโบราณคดีตั้งแต่เมื่อกว่า 2,000 ปีก่อนในประเทศกรีซ ในปัจจุบันผักเบี้ยใหญ่ถูกนำมาใช้เป็นผักสลัด ผักต้มหรือเป็นผัดผัก ตัวผักมีคุณสมบัติที่ทำให้ข้นเหนียวจึงนิยมนำมาใช้ทำซุปข้นได้ โดยใบ ลำต้นและดอกตูมสามารถนำมากินได้ โดยนิยมรับประทานในแถบยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชีย และเม็กซิโก
ตัวผักยังมีรสเปรี้ยวจากกรดออกซาลิคและกรดมาลิคที่เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์แสงแบบพิเศษคือ แบบ CAM (Crassulacean acid metabolism) ที่ทำให้พืชสามารถตรึงคาร์บอนไดออกไซด์เก็บไว้ในรูปของกรดออกซาลิคและกรดมาลิคไว้ในเซลล์ในตอนกลางคืน และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาใช้ในเซลล์ในตอนกลางวันเพื่อลดการเสียน้ำในพื้นที่ที่แห้งแล้ง ทำให้พืชเปิดปากใบเพื่อรับคาร์บอนไดออกไซด์เฉพาะในเวลากลางคืน และไม่ต้องเปิดปากใบในตอนกลางวัน
ผักเบี้ยใหญ่ที่นำมาใส่ในสลัดกรีก (ที่มา By Lemur12 - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4608547)
แพรเซี่ยงไฮ้หรือคุณนายตื่นสาย* [Portulaca grandiflora] เป็นพืชที่นิยมมาปลูกเป็นไม้ประดับ ตกแต่งตามสถานที่ต่างๆ โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาใต้ ตั้งแต่ประเทศอาร์เจนตินา ตอนใต้ของบราซิล และอุรุกวัย เป็นพืชอวบน้ำเช่นเดียวกันกับผักเบี้ยใหญ่ ชอบแสงแดดจัดและพื้นที่ที่น้ำไม่ขัง สามารถขึ้นได้ดีแทบในทุกสภาพ แม้แต่ในซอกหิน ส่วนต่างจากผักเบี้ยใหญ่ คือ แพรเซี่ยงไฮ้ไม่สามารถกินเป็นอาหารได้เนื่องจากมีรสขม
แพรเซี่ยงไฮ้ถูกคัดเลือกให้มีสีสันต่างๆ รวมทั้งกลีบดอกเดี่ยว และกลีบดอกซ้อนเพื่อเป็นไม้ประดับในหลากหลายรูปแบบ
1
แพรเซี่ยงไฮ้ (ที่มา By Ping an Chang - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=80001825)
แพรเซี่ยงไฮ้แบบกลีบดอกซ้อน (ที่มา Ton Rulkens / CC BY-SA (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0))
*ในภาษาไทย บางเว็บไซต์ระบุว่าคุณนายตื่นสายคือพืชชนิด [Portulaca oleracea] แต่เมื่อผมเปรียบเทียบลักษณะแล้วพบว่า คุณนายตื่นสายน่าจะเป็นชนิดเดียวกันกับแพรเซี่ยงไฮ้ คือ [Portulaca grandiflora] มากกว่า เนื่องจากลักษณะของคุณนายตื่นสายจะตรงกับ [Protulaca grandiflora] มากกว่า โดย [Portulaca oleracea] จะมีดอกขนาดไม่เกิน 6 มิลลิเมตร ในขณะที่ [Portulaca grandiflora] มีขนาดดอกได้ถึง 2.5 - 3 เซนติเมตร
จากผักเบี้ยมีวิวัฒนาการไปเป็นกระบองเพชรได้อย่างไร อยู่ในบทความนี้ครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Walker, J. F., Yang, Y., Feng, T., Timoneda, A., Mikenas, J., Hutchison, V., Edwards, C., et al. 2018. From cacti to carnivores: Improved phylotranscriptomic sampling and hierarchical homology inference provide further insight into the evolution of Caryophyllales. American Journal of Botany 105( 3): 446– 462.
3. Walters, Michele & Figueiredo, Estrela. (2011). Portulacaceae.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา