18 ก.ย. 2020 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ก.ย. 15 สามารถกันยุงได้อย่างไร
(บทความนี้ไม่ได้รับสปอนเซอร์จาก ก.ย. 15 หรือยาฉีดกันยุงยี่ห้ออื่นๆ แต่อย่างใด)
พอวันที่ 15 กันยายนของทุกปี เราอาจจะคิดถึงยาทากันยุงยี่ห้อหนึ่งที่ทำตลาดมายาวนาน และมีกลิ่นฉุนๆ เป็นเอกลักษณ์ นั่นคือ ก.ย. 15 วันนี้ผมก็เลยจะมาเขียนให้อ่านกันว่า ยาทากันยุง รวมถึงสารใช้กันยุงอื่นๆ สามารถกันยุงกัดได้อย่างไร
ใน ก.ย. 15 นั้นมีสารสำคัญในการใช้กันยุงคือ สารที่มีชื่อว่า DEET(N,N-Diethyl-meta-toluamide) ถึงแม้จะชื่อคล้ายกับ DDT แต่ก็เป็นสารคนละตัวกัน DEET เป็นสารที่ถูกสังเคราะห์มาในปี ค.ศ. 1944 โดย Samuel Gertler โดยวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อการใช้ในการทหาร แต่ต่อมาก็ถูกนำมาใช้กับคนทั่วไปเช่นกัน สารชนิดนี้มีลักษณะเป็นน้ำมัน สีเหลือง ที่นอกจากจะใช้กันยุงได้แล้วยังสามารถใช้ป้องกันเห็บ หมัด ทาก ไร และแมลงรำคาญอื่นๆ ได้
โครงสร้างทางเคมีของ DEET (ที่มา By User:Calvero - Selfmade with ChemDraw., Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1131044)
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นคือ DEET มีผลต่อเซลล์ประสาทที่ใช้รับกลิ่น (Olfactory receptor neuron) ของยุง แต่ผลของสารเคมีอาจจะแตกต่างกันไปตามชนิดของยุง
ในยุงรำคาญ [Culex quinquefasciatus] สาร DEET นี้มีผลในการไล่ยุงได้ โดย DEET จะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทรับกลิ่นบนหนวดของยุง และทำให้ยุงรำคาญรู้สึกรำคาญและหนีไปถึงแม้ว่า DEET จะไม่ได้ผสมกับกลิ่นตัวของมนุษย์ก็ตาม
ในขณะที่ในการศึกษาในยุงก้นปล่อง [Anopheles gambiae] พบว่า สาร DEET ไม่ได้มีผลไล่ยุงโดยตรง แต่สาร DEET จะลดการระเหยของสารส่งกลิ่นที่ออกจากตัวมนุษย์ที่ออกมากับเหงื่อหรือลมหายใจ ซึ่งสารส่งกลิ่นเหล่านี้เองที่เป็นตัวดึงดูดให้ยุงมากัด เมื่อสารส่งกลิ่นเหล่านี้ระเหยน้อยลง ก็จะทำให้ยุงหาเราเจอยากขึ้น แต่ DEET ไม่ได้มีฤทธิ์ทำให้ยุงก้นปล่องหนีไป
นอกจากนั้นในการศึกษาในแมลงหวี่ยังพบว่า DEET ยังส่งผลต่อเซลล์ประสาทรับรสชาติได้ด้วย ทำให้รสชาติของอาหารเปลี่ยนไป และทำให้แมลงหวี่เกิดพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการกินอาหาร ทำให้คาดว่า DEET ยังมีผลเช่นเดียวกันในยุง คือ ทำให้เลือดมีรสชาติเปลี่ยนไป เช่น จากเลือดที่มีหอมหวาน อาจจะเปลี่ยนเป็นรสขมได้ และทำให้ยุงลดการกัดลง
ยุงรำคาญตัวผู้ (ซ้าย) และตัวเมีย (ขวา) (ที่มา Emil August Goeldi (1859 - 1917). - E. A. Goeldi (1905) Os Mosquitos no Pará. Memorias do Museu Goeldi. Pará, Brazil. )
ในขณะที่น้ำมันตะไคร้หอม (Citronella oil) ก็มีสารออกฤทธิ์หลายตัวที่มีผลกระตุ้นระบบการรับกลิ่นและรสของยุงได้ โดยสารออกฤทธิ์ของน้ำมันตะไคร้หอม เช่น citronellal, citronellol และ geraniol สารเหล่านี้จะไปจับกับเซลล์ประสาทรับกลิ่นของแมลง และทำให้เกิดพฤติกรรมหลีกเลี่ยงสารจากน้ำมันตะไคร้หอม นอกจากนั้นกลิ่นฉุนของสารนี้ยังช่วยลดกลิ่นของสารระเหยจากร่างกาย เช่น กลิ่นจากกรดแลคติก ที่ยุงใช้ในการหาตัวมนุษย์ และทำให้ยุงหาตัวมนุษย์ได้เจอยากขึ้น และน้ำมันตะไคร้หอมยังมีผลต่อเซลล์ประสาทรับรสของแมลงได้เช่นกัน ทำให้เกิดการรับรสที่เปลี่ยนไป
ข้อดีของน้ำมันตะไคร้หอมคือ มีความเป็นพิษต่ำ แต่ว่าจะออกฤทธิ์สั้นกว่า DEET โดยควรจะใช้ทุกๆ 30-60 นาที ในขณะที่ DEET จะมีฤทธิ์ได้ยาวนานกว่า แต่ก็อาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นแผล และอาจจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงอื่นๆ เช่น หายใจลำบาก แสบตา หรือ ปวดหัวได้
น้ำมันตะไคร้หอม (ที่มา By Feen - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=16959556)
สารออกฤทธิ์ในน้ำมันตะไคร้หอม (ที่มา By Ultimatrone - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=90594574)
ยุงกัดได้อย่างไร อ่านได้จากบทความก่อนหน้านี้ครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Joseph C. Dickens, Jonathan D. Bohbot, Mini review: Mode of action of mosquito repellents, Pesticide Biochemistry and Physiology, Volume 106, Issue 3, 2013, Pages 149-155

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา