25 ก.ย. 2020 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ผีเสื้อบินได้ไกลแค่ไหน?
เราอาจจะเคยทราบและทึ่งว่าสัตว์ที่บินได้อย่างนกมีพฤติกรรมการอพยพเป็นระยะไกลเป็นพันกิโลเมตร แต่สัตว์ที่บินได้อย่างอื่นเช่น ผีเสื้อล่ะ มีพฤติกรรมการอพยพหรือไม่ และบินได้ไกลแค่ไหน และถ้าเรารู้ว่า ผีเสื้อบินได้ไกลขนาดไหน เราก็อาจจะทึ่งเหมือนกันก็ได้
(ภาพดัดแปลงมาจาก By Rbreidbrown - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=79922049)
ข้อมูลการอพยพของผีเสื้อที่มีมากที่สุดในปัจจุบันคือ ข้อมูลของผีเสื้อจักรพรรดิหรือผีเสื้อโมนาร์ช [Danaus plexippus] ซึ่งเป็นผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อขาหน้าพู่ (Family Nymphalidae) โดยผีเสื้อชนิดนี้จะพบแพร่กระจายอยู่ในทวีปอเมริกาตั้งแต่ทางตอนใต้ของประเทศแคนาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา จนถึงประเทศเม็กซิโกและตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และมีการกระจายมาถึงประเทศออสเตรเลียและหมู่เกาะใกล้เคียง
ผีเสื้อโมนาร์ชเพศเมีย (ที่มา By Kenneth Dwain Harrelson, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=14917505)
เนื่องจากผีเสื้อชนิดนี้มีพฤติกรรมการอพยพเป็นฝูงใหญ่ๆ ทำให้ผีเสื้อชนิดนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงขอบเขตการแพร่กระจายไปตามฤดูกาล ในทวีปอเมริกาในฤดูหนาวประชากรของผีเสื้อโมนาร์ชจะบินมาอยู่ในประเทศเม็กซิโกและทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา เช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐอาริโซนาและรัฐฟลอริดาเพื่อหลบหนีอากาศหนาว โดยจะเกาะเป็นฝูงใหญ่ๆ อยู่ตามต้นไม้ต่างๆ
พอถึงฤดูใบไม้ผลิในเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ผีเสื้อเหล่านี้จะเริ่มมีพฤติกรรมการอพยพขึ้นทางเหนือ โดยจะบินจากที่อาศัยในฤดูหนาวไปยังรัฐเท็กซัสและโอกลาโฮมา และสืบพันธุ์ที่บริเวณนี้เกิดเป็นผีเสื้อรุ่นที่ 2 และผีเสื้อรุ่นที่ 1 ก็จะตาย และผีเสื้อรุ่นที่ 2 ก็จะบินขึ้นเหนือต่อไป และระหว่างทางก็จะสืบพันธุ์เป็นผีเสื้อรุ่นที่ 3 และ 4 หรืออาจะถึงรุ่นที่ 5 ต่อไปจนไปถึงตอนเหนือของสหรัฐอเมริกาและทางใต้ของแคนาดา จนกระทั่งเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมที่วันเริ่มสั้นลงและอากาศเริ่มเย็นลง ผีเสื้อโมนาร์ชรุ่นที่ 4-5 ก็เริ่มบินอพยพมาทางใต่้เป็นกลุ่มใหญ่กว่า 500,000 ตัว เพื่อกลับมาที่อยู่อาศัยในฤดูหนาวในประเทศเม็กซิโกและทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่อบอุ่นกว่าอีกครั้ง และอาศัยอยู่บริเวณนี้จนถึงเดือนมีนาคมก่อนที่จะมีการอพยพขึ้นไปทางเหนืออีกครั้ง โดยการอพยพนี้ผีเสื้อโมนาร์ชจะใบ้สัญญาณจากดวงอาทิตย์และขั้วแม่เหล็กโลกมาช่วยนำทางให้ไปได้ถึงจุดหมาย
แผนภาพแสดงการอพยพของผีเสื้อโมนาร์ชในทวีปอเมริกา รูป 1-5 คือเส้นทางการอพยพขึ้นเหนือ ของผีเสื้อแต่ละรุ่นและรูปที่ 6 คือเส้นทางอพยพลงใต้ (ที่มา https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=15069837)
ฝูงผีเสื้อโมนาร์ชที่กำลังอาศัยอยู่ในที่อาศัยในฤดูหนาว ในรัฐแคลิฟอร์เนีย (ที่มา By Agunther - Own work, CC BY 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=8376262)
ผีเสื้อรุ่นสุดท้ายที่อพยพลงมาทางใต้บางตัวนี้เป็นผีเสื้อที่ต้องบินในระยะทางที่ไกลมาก คือ กว่า 4,800 กิโลเมตร เพื่อจะมาอาศัยในฤดูหนาว เปรียบเทียบกับระยะทางอากาศของจุดเหนือสุดของประเทศไทยที่จังหวัดเชียงรายถึงจุดใต้สุดของประเทศไทยในจังหวัดนราธิวาสที่เป็นระยะทาง 1,600 กิโลเมตร ก็จะพบว่าผีเสื้อชนิดนี้ตัวหนึ่งสามารถบินได้ระยะทางเป็นสามเท่าของระยะทางนี้เลย
แต่ไม่ใช่ว่าผีเสื้อโมนาร์ชทุกประชากรจะมีการอพยพไกลขนาดนี้ มีหลายประชากรของผีเสื้อชนิดนี้ไม่มีพฤติกรรมการอพยพ เช่น ประชากรบางส่วนในรัฐฟลอริดา และแถบหมู่เกาะคาริบเบียน ในขณะที่ประชากรในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็อพยพเพียงระยะสั้นๆ
ผีเสื้อโมนาร์ชมีขอบเขตการแพร่กระจายมาถึงประเทศฟิลิปปินส์ได้ แต่ยังไม่มีรายงานในการพบประเทศไทย แต่ถ้าคุณเห็นผีเสื้อที่มีลักษณะคล้ายกับผีเสื้อโมนาร์ชในประเทศไทย อาจจะเป็นผีเสื้อคนละชนิด แต่ก็มีความใกล้ชิดกันกับผีเสื้อโมนาร์ช คือ ผีเสื้อหนอนข้าวสารลายเสือ [Danaus genutia]
ผีเสื้อหนอนข้าวสารลายเสือ [Danaus genutia] (ที่มา By Charles J Sharp - Own work, from Sharp Photography, sharpphotography.co.uk, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=65427897)
แล้วถ้าอยากรู้ว่าผีเสื้อมีสีสันที่ปีกได้อย่างไร ต้องอ่านบทความนี้ครับ
เอกสารอ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา