2 ต.ค. 2020 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ผีเสื้อหนอนคูนธรรมดา ผีเสื้ออพยพในประเทศไทย
ในบทความก่อนหน้านี้ผมได้เขียนเกี่ยวกับการอพยพที่น่ามหัศจรรย์ของผีเสื้อโมนาร์ชไปแล้ว หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่า ในประเทศไทยนั้นมีการอพยพของผีเสื้อแบบผีเสื้อโมนาร์ชนี้หรือไม่
ผีเสื้อหนอนคูนธรรมดาเป็นตัวอย่างหนึ่งของการอพยพของผีเสื้อในประเทศไทย หลายคนอาจจะเคยสังเกตเห็นการอพยพของผีเสื้อเหล่านี้ผ่านพื้นที่ต่างๆ เป็นฝูงใหญ่ๆ โดยบางครั้งผีเสื้อเหล่านี้จะอพยพข้ามผ่านถนนและถูกชนโดยรถได้ วันนี้ผมจะมาเขียนเรื่องผีเสื้อหนอนคูนธรรมดาให้อ่านกันครับ
ผีเสื้อหนอนคูนธรรมดา [Catopsilia pomona] หรือชื่อสามัญภาษาอังกฤษคือ Lemon emigrant butterfly เป็นผีเสื้อกลางวันที่จัดอยู่ในวงศ์ผีเสื้อหนอนกะหล่ำ (Family Pieridae) โดยผีเสื้อชนิดนี้สามารถเห็นได้โดยทั่วไปในประเทศไทย พบได้ตาม ในเมือง สวนสาธารณะ บริเวณป่าโปร่งและป่าละเมาะ นอกจากนี้ยังพบในประเทศศรีลังกา อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย
ลักษณะของผีเสื้อหนอนคูนธรรมดาเป็นผีเสื้อที่มีขนาดกลางเมื่อกางเต็มที่วัดจากปลายปีกคู่หน้าทั้งสองข้างมีความยาวประมาณ 5.5-8.0 เซนติเมตร โดยส่วนหัว ส่วนอกและส่วนท้องด้านบนมีสีเทาเข้มเกือบดำ ส่วนด้านล่างจะมีสีเหลือง พื้นปีกทั้งสองคู่มีสีเหลือง เขียวอ่อนหรือสีขาว มุมปลายปีกคู่หน้าจะมีสีดำ
ผีเสื้อหนอนคูนธรรมดามีลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่แตกต่างกันออกไปหลายรูปแบบจนบางครั้งเราอาจจะคิดว่าเป็นผีเสื้อคนละชนิดกัน โดยผีเสื้อชนิดนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 8 รูปแบบ (Form หรือ f.) โดยแต่ละฟอร์มจะเป็นเพศหนึ่งเพศใดโดยเฉพาะ ถ้าเห็นลายบนปีกของผีเสื้อชนิดนี้จะสามารถบอกเพศของผีเสื้อได้เลย โดยฟอร์ม [hilaria] และ [alcmeone] เป็นฟอร์มของเพศผู้ และฟอร์ม [pomona], [jugurtha], [crocale], [catilla] และ [nivescens] เป็นฟอร์มของเพศเมีย และฟอร์ม [florella] ที่พบได้ในฤดูแล้ง เป็นฟอร์มที่พบได้ทั้งสองเพศ
ผีเสื้อหนอนคูนธรรมดาเพศผู้ ฟอร์ม [alcmeone] มีขอบสีดำบางๆ บนปีกบน
ผีเสื้อหนอนคูนธรรมดาเพศเมียฟอร์ม [catilla]
ผีเสื้อหนอนคูนธรรมดาเพศผู้ ฟอร์ม [hilaria]
ผีเสื้อหนอนคูนธรรมดาเพศเมียฟอร์ม [pomona]
ผีเสื้อหนอนคูนธรรมดาเพศเมียฟอร์ม [jugurtha]
ผีเสื้อหนอนคูนธรรมดาจะวางไข่สีขาว รูปร่างรีมีขนาดเล็กมากเป็นฟองเดี่ยวๆ มักพบติดที่ขอบใบอ่อนของต้นพืชอาหารที่เป็นไม้ยืนต้นของพืชวงศ์ถั่ว เช่น คูนหรือราชพฤกษ์ [Cassia fistula] ขี้เหล็ก [Senna siamea] ชุมเห็ดเทศ [Senna alata] ซึ่งจะมีระยะเวลาประมาณ 4-6 วัน จากนั้นจะฟักเป็นตัวหนอน โดยตัวหนอนจะอาศัยกินใบของพืชอาหารจนหมดต้นในกรณีที่เกิดการระบาด เมื่อถึงระยะของตัวหนอนจะใช้เวลาประมาณ 10-15 วันจึงจะเข้าดักแด้สีเขียวอ่อนห้อยอยู่ที่ใต้ใบแก่ที่เหลืออยู่หรือที่ก้านใบ ในระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 7-14 วันจึงจะพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย ในบางพื้นที่ดักแด้ของผีเสื้อชนิดนี้สามารถนำมาใช้เป็นอาหารได้ โดยการคั่ว ทำให้บางครั้งเราสามารถพบเห็นคนมาเก็บดักแด้ของผีเสื้อชนิดนี้จากต้นคูนที่ปลูกตามข้างทางได้
หนอนของผีเสื้อหนอนคูน
ดักแด้ของผีเสื้อหนอนคูนที่ถูกเก็บมาเป็นอาหาร
มีการรายงานการอพยพของผีเสื้อหนอนคูนธรรมดาในหลายพื้นที่ เช่น ในประเทศออสเตรเลีย พบการอพยพในฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน หรือในประเทศอินเดียมีผู้สังเกตเห็นการอพยพของผีเสื้อไม่น้อยกว่า 6 พันตัว โดยในกลุ่มนั้นมีผีเสื้อหนอนคูนธรรมดา [Catopsilia pomona] อพยพรวมกับผีเสื้อหนอนคูนลายกระ [Catopsilia pyranthe] และผีเสื้อหนอนมะนาว [Papilio demoleus] โดยผีเสื้อส่วนใหญ่อพยพไปในทิศทางเดียวกัน บินตามกันเป็นสาย
ในประเทศไทยมีการสังเกตเห็นการอพยพในหลายพื้นที่ เช่น ในเขตจังหวัดขอนแก่น ในเขตอำเภอเมือง มีการสังเกตเห็นการอพยพของผีเสื้อชนิดนี้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 เช่นกัน โดยผีเสื้อมีการบินแบบมีทิศทางจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือมายังทิศตะวันตกเฉียงใต้ในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนและในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายนผีเสื้อมีการบินกลับจากทิศตะวันตกเฉียงใต้มายังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และมีการสังเกตเห็นการอพยพในทิศตะวันออก-ตะวันตกอีกในหลายๆ ปีต่อๆ มา อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่ได้มีการศึกษาว่าผีเสื้อหนอนคูนธรรมดาเหล่านี้บินมาจากไหน จะบินไปที่แห่งไหน หรือบินได้ไกลเท่าใด ซึ่งก็อาจจะต้องมีการทำการศึกษาต่อไป
ถ้าอยากอ่านความมหัศจรรย์ของการอพยพของผีเสื้อโมนาร์ช สามารถอ่านได้ที่นี่ครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Ek-Amnuay, P. (2012). Butterflies of Thailand (2nd ed). Baan Lae Suan, Amarin Printing and Publishing Bangkok. 941 pp.
2. เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์. (2558). คู่มือผีเสื้อ. กรุงเทพฯ: สารคดี.
3. Dingle, H., Zalucki, M.P., and Rochester, W.A. (1999). Season-specific directional movement in migratory Australian butterflies. Australian Journal of Entomology, 38, 323–329.
4. Bharos, A.M.K. (2000). Large Scale Emergence and Migration of the Common Emigrant Butterflies Catopsilia Pomona (Family: Pieridae). Journal of the Bombay Natural History Society, 97(2), 301.
5. Khoosakunrat, S., and Chaianunporn, T. (2016). Population Dynamics of the Lemon Emigrant (Catopsilia pomona) in Ban Bueng Niam, Khon Kaen Province. The National and International Graduate Research Conference 2016 Graduate School: Khon Kaen University, 501-509.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา