9 ต.ค. 2020 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จุดกำเนิดอันน่าสงสัยของตาลโตนด
ตาลโตนด [Borassus flabellifer] เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวในวงศ์หมาก-มะพร้าว (Family Arecaceae) พบได้ทั่วไปในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย ลาว พม่า และไทย
ลักษณะการกระจายทางพันธุกรรมของตาลโตนด โดยสีแดงแสดงกลุ่มทางพันธุกรรมของตาลกลุ่มที่ 1 ที่เข้ามาทางภาคใต้ ส่วนสีน้ำเงินกลุ่มที่ 2 ที่มาจากภาคอีสาน (ที่มา Pipatchartlearnwong et al., 2017)
ตาลโตนดเป็นพืชที่มีขนาดใหญ่ ต้นสูงได้ถึง 40 เมตร และเมื่อโตเต็มที่สามารถวัดผ่ากลางได้ถึงประมาณ 60 เซนติเมตร และตาลจะแยกเพศกันอยู่คนละต้น ต้นเพศผู้จะออกดอกขนาดเล็กไม่เกิน 1 เซนติเมตรเป็นช่อและไม่ติดผล ในขณะที่ต้นเพศเมียจะมีดอกขนาดประมาณลูกกอล์ฟ อยู่เดี่ยวๆ และเมื่อได้รับการผสมจะติดผลได้ โดยจะเกิดเป็นผลที่มีเนื้อและมีเมล็ด 1-3 เมล็ด (คือลูกตาลที่เราทานกันนั่นเอง) โดยตาลจะเริ่มออกช่อดอกภายในเวลา 12 - 20 ปี และไม่สามารถระบุเพศโดยลักษณะภายนอกก่อนที่ดอกจะออกได้
ผลของตาล (ที่มา By Rameswaramrafi - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=18244552)
แม้ว่าในปัจจุบันเราจะพบตาลโตนดแพร่กระจายอยู่เฉพาะในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ชนิดพันธุ์ใกล้เคียงของตาลโตนดอีก 3 ชนิดกลับพบเฉพาะในทวีปแอฟริกา และเกาะมาดากัสการ์ ได้แก่ African palmyra palm [Borassus aethiopum], [Borassus akeassii] และ [Borassus madagascariensis] ยกเว้น [Borassus heineanus] ที่พบบนเกาะนิวกินี ทำให้เกิดสมมติฐานว่า ตาลโตนดอาจจะไม่ได้มีต้นกำเนิดในบริเวณเอเชียใต้หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ว่ามีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา
เนื่องจากตาลโตนดนั้นมีความหลากหลายทางพันธุกรรมต่ำมาก ในขณะที่ตาลชนิดอื่นในแอฟริกากลับมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง ทำให้เชื่อว่า ตาลโตนดถูกคัดเลือกมาจากตาลอีกชนิดหนึ่งนั่น คือ African palmyra palm [Borassus aethiopum] แล้วถูกนำเข้ามายังเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยผ่านการนำเข้ามาโดยมนุษย์ผ่านทางเส้นทางการค้า โดยถูกนำเข้ามายังอินเดียก่อนเมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อน และถูกนำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อน เพื่อนำมาใช้ในการผลิตน้ำตาลและแอลกอฮอล์
หลักฐานสนับสนุนการเข้ามาของตาลเมื่อ 1,500 ปีก่อนคือ การเจอรูปสลักในยุคทวาราวดีเป็นรูปคนปีนต้นตาลในภาคกลางของประเทศไทย และการพบละอองเกสรของต้นตาลอายุประมาณ 1500 ปีในจังหวัดสงขลา นอกจากนั้นยังมีการพบละอองเกสรของตาลในตอนใต้ของประเทศกัมพูชา อายุ 1,400 - 1,500 ปี และเอกสารโบราณในประเทศลาวอายุ 1,500 ปี
จากหลักฐานทางโมเลกุลพบว่า ตาลโตนดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เพาะปลูกในภาคใต้ ซึ่งน่าจะเข้ามาในประเทศไทยผ่านทางการค้าในช่องแคบมะละกา และอีกกลุ่มหนึ่งถูกนำเข้ามาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านทางประเทศลาว เวียดนามหรือกัมพูชา ทั้งสองกลุ่มยังมีการผสมกันน้อย โดยกลุ่มทางภาคใต้ก็ยังพบปลูกในภาคใต้ ภาคกลางตอนล่าง ส่วนกลุ่มที่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็พบปลูกในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนบน โดยแนวของเทือกเขาที่กั้นตลอดแนวภาคตะวันออกเฉียงเหนือน่าจะเป็นตัวแยกทำให้ตาลสองกลุ่มนั้นไม่ได้เข้ามาผสมกัน
ลักษณะการกระจายทางพันธุกรรมของตาลโตนด โดยสีแดงแสดงกลุ่มทางพันธุกรรมของตาลกลุ่มที่ 1 ที่เข้ามาทางภาคใต้ ส่วนสีน้ำเงินกลุ่มที่ 2 ที่มาจากภาคอีสาน (ที่มา Pipatchartlearnwong et al., 2017)
นอกจากนั้นตาลโตนดในประเทศไทยนั้นมีความหลากหลายทางพันธุกรรมต่ำ และทำให้เชื่อได้ว่า ตาลโตนดทั้งสองกลุ่มที่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในช่วงเริ่มแรกเพียงไม่กี่ต้น คือ ประมาณ 3-4 ต้น ต่อกลุ่ม ทำให้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมน้อย และเนื่องจากตาลโตนดเป็นพืชที่แยกเพศ ทำให้ตอนแรกเริ่มอาจจะต้องมีการนำเข้ามาอย่างน้อย 3-4 ต้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้ต้นเพศผู้และเพศเมียเพื่อมาปลูกในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งทำให้เห็นว่า การแพร่กระจายของตาลโตนดที่เข้ามาในประเทศไทยเกิดขึ้นโดยมนุษย์มากกว่าเกิดจากการแพร่กระจายโดยธรรมชาติ ตาลโตนด 3-4 ต้นนี้ถูกเพาะขยายพันธุ์ต่อจนกลายเป็นต้นตาลที่เราพบกันอยู่ทั่วประเทศในปัจจุบัน
ผลของตาล (ที่มา By Rameswaramrafi - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=18244552)
ถ้าบทความนี้มีความหวานไม่พอ เรื่องอ้อยก็ยังมีอ่านต่อได้นะครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Pipatchartlearnwong, K., Swatdipong, A., Vuttipongchaikij, S. et al. Genetic evidence of multiple invasions and a small number of founders of Asian Palmyra palm (Borassus flabellifer) in Thailand. BMC Genet 18, 88 (2017). https://doi.org/10.1186/s12863-017-0554-y
2. Aman, Ankita & Rajan, Rajni & Sinha, Suparna. (2018). The Palmyrah Palm (Borassus flabellifer L.): Overview of Biology, Uses, and Cultivation. Biomolecule Reports

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา