16 ต.ค. 2020 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จุดกำเนิดของมะพร้าว
มะพร้าว [Cocos nucifera] เป็นพืชยืนต้นชนิดหนึ่ง อยู่ในตระกูลปาล์ม (Family Arecaceae) มะพร้าวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายอย่าง เช่น น้ำและเนื้อมะพร้าวอ่อนใช้บริโภค เนื้อในผลแก่นำไปขูดและคั้นทำกะทิ กะลานำไปประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ รวมถึงเส้นใยสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้
ต้นมะพร้าวสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทราย และทนความเค็มได้ดี ชอบพื้นที่ที่มีแสงแดดและน้ำฝนมากๆ ชอบพื้นที่ที่มีความชื้นสูงๆ ทำให้มะพร้าวสามารถเจริญได้ดีบนเกาะหรือชายหาดริมทะเล แต่ลักษณะของลูกมะพร้าวที่มีขนาดใหญ่ก็ทำให้เกิดข้อจำกัดทำให้มะพร้าวไม่สามารถแพร่กระจายไปได้เองในพื้นที่ที่ไกลจากทะเลโดยไม่ได้มีการช่วยเหลือจากมนุษย์ เพราะไม่มีสัตว์ชนิดใดที่สามารถขนลูกมะพร้าวไปได้ไกลเหมือนมนุษย์
ในทางตรงกันข้ามลูกมะพร้าวนั้นมีความเบา ลอยน้ำได้ และกันน้ำได้ทำให้เชื่อว่า มะพร้าวนั้นมีการปรับตัวให้สามารถอพยพทางน้ำ เพื่อที่จะแพร่กระจายไปทางทะเลและมหาสมุทรได้ ทำให้เราสามารถพบมะพร้าวแพร่กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ที่ติดกับทะเล แต่พื้นที่ใดกันแน่ถึงจะเป็นจุดกำเนิดของมะพร้าว?
การศึกษาทางพันธุกรรมสามารถระบุได้ว่า พื้นที่จุดกำเนิดของมะพร้าวนั้นน่าจะอยู่ในเอเชีย ตั้งแต่บริเวณเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ (ตะวันออกกลาง) ไปจนถึงบริเวณหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย (เมลานีเซีย) เนื่องจากในสองพื้นที่นี้ มะพร้าวมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงที่สุด
แต่การที่มะพร้าวนั้นแพร่กระจายไปตามหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น อาจจะเกิดจากความช่วยเหลือของมนุษย์ โดยชาวออสโตรนิเชียนที่อพยพไปยังหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิคนั้น อาจจะมีการนำลูกมะพร้าวไปด้วยเพื่อนำไปปลูกเพื่อใช้เป็นอาหาร น้ำดื่ม และเชื้อเพลิงในการตั้งถิ่นฐานบนเกาะต่างๆ หลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า มะพร้าวนั้นมีความสัมพันธ์กันกับการอพยพทางทะเลของมนุษย์ คือ คำว่ามะพร้าวในภาษาต่างๆ ที่ใช้กันตามหมู่เกาะในทะเลมีความคล้ายคลึงกัน โดยชาวหมู่เกาะโพลีเนเสียน (Polynesian) และชาวเมลานีเสียน (Melanesian) เรียกมะพร้าวว่า niu ในขณะที่ในภาษาตากาลอก (หมู่เกาะฟิลิปปินส์) และภาษาคาโมร์โร (เกาะกวมและหมู่เกาะใกล้เคียง) เรียกมะพร้าวว่า niyog ในภาษามาเลย์ เรียกมะพร้าวว่า nyiur หรือ nyior การอพยพนำลูกมะพร้าวไปยังหมู่เกาะต่างๆ ก็อาจจะนำคำที่เรียกชื่อมะพร้าวไปด้วย
2
ขอบเขตของการแพร่กระจายของชาวออสโตรนีเชียนในปัจจุบัน (สีฟ้า) (ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Austronesian_peoples)
รูปแบบของเรือที่ใช้ในการอพยพของชาวออสโตรนีเชียน (ที่มา By User: (WT-shared) Dandaka at wts wikivoyage, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=23280185)
แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่ามะพร้าวมีต้นกำเนิดในบริเวณหมู่เกาะแปซิฟิคเหล่านี้จริงๆ หรือไม่ เนื่องจากการศึกษาทางพันธุกรรมแสดงให้เห็นว่ามะพร้าวสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มประชากรย่อย คือ ประชากรบนหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก (กลุ่มแปซิฟิก) และประชากรที่อยู่ทางใต้ของทวีปอินเดีย (กลุ่มอินเดีย-แอตแลนติก) โดยกลุ่มแปซิฟิกแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ต้นมะพร้าวมีลักษณะที่ถูกคัดเลือกมาให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกโดยมนุษย์ เช่น มีลักษณะต้นเตี้ย ผลกลม สามารถผสมในต้นตัวเองได้ (Self pollination) และมีเนื้อเยอะ ในขณะที่ประชากรในกลุ่มอินเดีย-แอตแลนติกไม่มีลักษณะเหล่านี้
ลักษณะทางพันธุกรรมของมะพร้าวในภูมิภาคต่างๆ พบมะพร้าวสองกลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มแปซิฟิก และกลุ่มอินเดีย-แอตแลนติก (Gunn et al., 2011)
และประชากรบนเกาะมาดากัสการ์ มีลักษณะผสมของสองกลุ่มประชากร ซึ่งเป็นไปได้ว่า ประชากรดั้งเดิมบนเกาะนี้เป็นมะพร้าวกลุ่มอินเดีย-แอตแลนติก แต่ชาวออสโตรนิเสียนที่มาตั้งถิ่นฐานบนเกาะมาดากัสการ์ เมื่อ 2,000 - 1,500 ปีก่อนได้นำมะพร้าวกลุ่มแปซิฟิกเข้ามาบนเกาะด้วย และได้ทำการผสมกับมะพร้าวท้องถิ่น กลายเป็นมะพร้าวลูกผสมที่เราพบในปัจจุบัน
1
ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่า มะพร้าวที่กระจายอยู่บนเกาะมาดากัสการ์น่าจะมีกระจายอยู่ก่อนที่มนุษย์มาตั้งถิ่นฐานบนเกาะเหล่านี้อยู่แล้ว
1
แผนภาพแสดงการแพร่กระจายของมะพร้าวโดยมนุษย์ สีเขียวแสดงขอบเขตการแพร่กระจายดั้งเดิมของมะพร้าว (Gunn et al., 2011; https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/4/43/Historical_Introduction_of_Coconuts_%28Gunn%2C_Baudouin%2C%26_Olsen%2C_2011%29.png)
นอกจากนั้นมะพร้าวยังพบอยู่ในทวีปอเมริกาใต้บริเวณชายฝั่งทางมหาสมุทรแปซิฟิกในบริเวณประเทศปานามา ตั้งแต่ก่อนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา ซึ่งมะพร้าวในประเทศปานามานั้นกลับมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับมะพร้าวในหมู่เกาะฟิลิปปินส์มากกว่าในหมู่เกาะอื่นๆ ใกล้เคียงประเทศปานามา ทำให้สามารถสรุปได้ว่า มะพร้าวบนทวีปอเมริกานี้น่าจะถูกนำมาโดยชาวเกาะออสโตรนีเสียนที่เดินทางมาถึงทวีปอเมริกาใต้โดยการล่องเรือ และไม่ได้ล่องลอยมาตามธรรมชาติกับกระแสน้ำ
หลักฐานสนับสนุนจุดกำเนิดของมะพร้าวอีกอย่างหนึ่งคือ หลักฐานทางฟอสซิล โดยมีการค้นพบฟอสซิลของพืชที่คล้ายกับพืชสกุลมะพร้าว [Cocos] ในสองบริเวณคือ ในนิวซีแลนด์ และในอินเดีย ในนิวซีแลนด์ฟอสซิลที่มีลักษณะคล้ายลูกมะพร้าวจนกยุคไมโอซีน (Miocene) อายุประมาณ 23-5 ล้านปีก่อนถูกค้นพบ และมีการค้นพบฟอสซิลที่มีลักษณะคล้ายๆ กันอีกหลายครั้ง ในอินเดียมีการพบฟอสซิลที่คล้ายกันกับผล ใบ และลำต้นของมะพร้าว อายุประมาณ 70-62 ล้านปีก่อน ทำให้ช่วยยืนยันว่า มะพร้าวน่าจะมีจุดกำเนิดในทวีปเอเชียไปจนถึงหมู่เกาะแถบออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
ฟอสซิลของพืชคล้ายมะพร้าวจากนิวซีแลนด์ (ที่มา By Giantflightlessbirds - Whanganui Regional Museum, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=48584272)
อย่างไรก็ตามก็มีทฤษฎีที่ว่า จริงๆ แล้วมะพร้าวไม่ได้มีจุดกำเนิดบนทวีป หรือใกล้กับทวีป แต่จุดกำเนิดของมะพร้าวอยู่ตามหมู่เกาะปะการังที่ห่างไกล และถูกกระบวนการวิวัฒนาการคัดเลือกให้ผลมีลักษณะที่จะสามารถแพร่กระจายระยะไกลได้ โดยการช่วยเหลือของกระแสน้ำทะเล และมาถึงฝั่งทะเลของเกาะและทวีปต่างๆ และแพร่กระจายในพื้นที่ต่างๆ เหมือนในปัจจุบัน
1
พืชที่มีจุดกำเนิดใกล้กันกับมะพร้าวคืออ้อยครับ ลองไปอ่านกันครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Baudouin, Luc & Lebrun, Patricia. (2009). Coconut (Cocos nucifera L.) DNA studies support the hypothesis of an ancient Austronesian migration from Southeast Asia to America. Genetic Resources and Crop Evolution. 56. 257-262. 10.1007/s10722-008-9362-6.
2. Gunn BF, Baudouin L, Olsen KM (2011) Independent Origins of Cultivated Coconut (Cocos nucifera L.) in the Old World Tropics. PLoS ONE 6(6): e21143. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0021143
3. Harries, Hugh C.; Clement, Charles R. (2014). "Long-distance dispersal of the coconut palm by migration within the coral atoll ecosystem". Annals of Botany. 113 (4): 565–570. doi:10.1093/aob/mct293

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา