23 ต.ค. 2020 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Mimicry - การเลียนแบบของผีเสื้อปีกไข่เมียเลียน
เราอาจจะเคยเห็นผีเสื้อกลางวันที่สีส้มดำ ลายคล้ายๆ กับลายเสือบินอยู่ใกล้ๆ ตัวเรา แต่เราอาจจะไม่เคยสังเกตว่า ผีเสื้อที่เราเห็นนั้นอาจจะไม่ได้มีเพียงแค่ชนิดเดียว และอาจจะเป็นผีเสื้อสองชนิดที่มีลักษณะคล้ายกันมาก และเป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์หนึ่งของสิ่งมีชีวิตที่เราเห็นในตำราเรียนคือ Batesian mimicry อีกด้วย
ในธรรมชาติ เราพบการเลียนแบบ หรือ Mimicry ระหว่างสิ่งมีชีวิตสองชนิดเกิดขึ้นได้ การเลียนแบบเป็นการที่สิ่งมีชีวิตมีวิวัฒนาการไปเหมือนกับสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งชนิด ทั้งทางลักษณะภายนอก พฤติกรรม เสียง กลิ่น หรือตำแหน่ง และการเลียนแบบนี้ช่วยให้สิ่งมีชีวิตที่เลียนแบบเกิดการป้องกันตัวเองได้ดีขึ้น
รูปแบบหนึ่งของการเลียนแบบคือ Batesian mimicry คือการที่สิ่งมีชีวิตที่ไม่มีพิษหรือไม่อันตรายเลียนแบบให้มีลักษณะเหมือนกับสิ่งมีชีวิตที่มีพิษหรือมีอันตราย จนทำให้ผู้ล่าหลีกเลี่ยงสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีพิษไปด้วย เนื่องจากคิดว่าสิ่งมีชีวิตตัวนั้นมีพิษ
ตัวอย่างของ Batesian mimicry เช่น งูที่ไม่มีพิษมีลายเช่นเดียวกับงูที่มีพิษ แมลงวันที่มีลายเหลืองและดำคล้ายกับผึ้ง แต่สัตว์ที่มีการเลียนแบบและเราอาจจะพบเห็นได้ไม่ยากคือ ผีเสื้อปีกไข่เมียเลียน
ผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา [Danaus chrysippus] เป็นผีเสื้อขนาดกลาง พื้นปีกสีน้ำตาลส้ม มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้ามีสีดำ ถัดเข้ามามีแถบสีขาวพาดขวาง ขอบปีกด้านข้างสีดำ มีจุดสีขาวเรียงกัน บนสีดำ ลำตัวเป็นจุดสีขาวดำ ผีเสื้อชนิดนี้จะวางไข่บนต้นรัก [Calotropis gigantea] และหนอนของผีเสื้อชนิดนี้จะกินใบของต้นรักเป็นอาหาร และเนื่องจากในน้ำยางของต้นรักนั้นมีสารแอคคาลอยด์ที่มีพิษ ทำให้ทั้งหนอนและผีเสื้อตัวเต็มวัยจึงมีพิษไปด้วย และผู้ล่าก็จะหลีกเลี่ยงที่จะกินผีเสื้อชนิดนี้เป็นอาหาร เพราะมีรสไม่อร่อย และถ้ากินเข้าไป อาจจะได้รับพิษไปก็ได้
ผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา [Danaus chrysippus]
ดอกและใบของต้นรัก (ที่มา โดย Forest & Kim Starr, CC BY 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=6107637)
ผีเสื้อปีกไข่เมียเลียน [Hypolimnas misippus] เป็นผีเสื้อขนาดกลางใกล้เคียงผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา เพศผู้จะมีปีกสีดำ และมีลายกลมๆ อยู่บนปีก ในขณะที่เพศเมียต่างจากเพศผู้ โดยจะมีลายคล้ายกันกับผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา คือ ปีกสีน้ำตาลส้ม ขอบปีกสีดำ มีแต้มขาว
ชื่อของผีเสื้อชนิดนี้ก็ช่วยให้เราทราบว่าเฉพาะเพศเมียเท่านั้นที่เลียนแบบผีเสื้อชนิดอื่น (ผีเสื้อปีกไข่ “เมียเลียน”)
ผีเสื้อปีกไข่เมียเลียนเพศเมีย (ซ้าย) กับผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา (ขวา)
ผีเสื้อปีกไข่เมียเลียน เพศผู้ (ที่มา By Uajith - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=62753243)
ปีกล่างของผีเสื้อปีกไข่เมียเลียนเพศผู้ (ที่มา By Vikram0905 - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=25349163)
โดยผีเสื้อชนิดนี้จะวางไข่บนพืช เช่น ผักเบี้ยใหญ่ [Portulaca oleracea] ชบา [Hibiscus rosa-sinensis] และพืชในวงศ์เหงือกปลาหมอ (Family Acanthaceae) ที่เป็นพืชที่ไม่มีน้ำยางที่มีพิษ ทำให้ผีเสื้อชนิดนี้จะไม่มีพิษในตัว แต่การที่มันมีลักษณะเหมือนกันกับผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดาที่มีพิษนั้น ทำให้ผู้ล่าหลีกเลี่ยงและเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของผีเสื้อที่เลียนแบบนี้ด้วย
ทำไมจึงมีเพียงผีเสื้อเพศเมียเท่านั้นที่เลียนแบบผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา?
เริ่มต้นเราต้องเข้าใจก่อนว่า จุดเริ่มต้นของการเลียนแบบนี้เกิดจากความบังเอิญ ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของผีเสื้อแต่อย่างใด ผีเสื้อปีกไข่เมียเลียนเพศเมียนั้นบังเอิญ (จากกระบวนการทางพันธุกรรมและการแสดงออกของยีน) ไปมีลายเหมือนกับผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา แต่ความบังเอิญนี้ไม่ได้เกิดในเพศผู้ ทำให้มีเฉพาะเพศเมียที่มีการเลียนแบบ
นอกจากนั้นการที่มีเพียงเพศเมียนั้นที่เหมือนกับผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดาก็มีข้อดีคือ ทำให้ผีเสื้อเลียนแบบไม่มีจำนวนมากเกินไปกว่าผีเสื้อต้นแบบ จนทำให้ผู้ล่าอาจจะเรียนรู้ได้ว่าผีเสื้อลวดลายแบบนี้บางตัวนั้นสามารถกินได้ และเริ่มล่าผีเสื้อที่มีลักษณะคล้ายกับผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา ทำให้การเลียนแบบนั้นไม่ได้ส่งผลดีกับผีเสื้อปีกไข่เมียเลียน
เรื่องราวของผักเบี้ยใหญ่ พืชอาหารของผีเสื้อปีกไข่เมียเลียน
เอกสารอ้างอิง
1. Smith, D., Owen, D., Gordon, I. et al. Polymorphism and evolution in the butterfly Danaus chrysippus (L.) (Lepidoptera: Danainae). Heredity 71, 242–251 (1993). https://doi.org/10.1038/hdy.1993.132

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา