30 ต.ค. 2020 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
บัวหลวงและบัวสายพืชคล้ายกันที่ไม่ได้ใกล้ชิดกัน
บัวหลวงและบัวสายเป็นพืชสองชนิดที่มีความคล้ายคลึงกันในลักษณะภายนอก ซึ่งทั้งสองชนิดเป็นพืชน้ำที่มีดอกเดี่ยวสวยโดดเด่นเช่นเดียวกัน แต่หลักฐานทางโมเลกุลทำให้เราทราบว่า ถึงแม้พืชทั้งสองชนิดจะมีลักษณะที่คล้ายกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นญาติที่ใกล้ชิดกัน แต่การที่พืชทั้งสองมีลักษณะที่คล้ายกัน เกินจากกระบวนการวิวัฒนาการแบบลู่เข้า (Convergent evolution) ที่ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้มีความใกล้ชิดกัน แต่มาอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกัน มีวิวัฒนาการให้มีลักษณะที่คล้ายกัน เช่นเดียวกับการที่ครีบของปลา ครีบของวาฬที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และครีบของนกเพนกวินมีลักษณะคล้ายกัน ถึงแม้ว่าสัตว์ทั้งสามจะเป็นสัตว์คนละกลุ่มกันเลยก็ตาม
ภาพดัดแปลงมาจาก By T.Voekler - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=8142220
บัวหลวง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Nelumbo nucifera] มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชีย โดยมีการแพร่กระจายที่กว้างตั้งแต่ประเทศอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนไปถึงประเทศจีนทางตอนเหนือ บัวหลวงมีการปรับตัวได้ดีให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่น้ำท่วมบริเวณใกล้กับแม่น้ำที่ไหลช้า และปากแม่น้ำ โดยบัวหลวงจะทำการปล่อยเมล็ดจำนวนมากลงในดินตะกอนของแหล่งน้ำเพื่อเป็นการสืบพันธุ์ เมล็ดเหล่านี้บางส่วนจะสามารถงอกออกมาได้ทันที ในขณะที่บางส่วนจะสามารถจำศีลได้เป็นเวลานาน แม้ว่าแหล่งน้ำเหล่านี้จะแห้งขอดก็ตาม โดยมีการพบเมล็ดบัวหลวงจากตะกอนดินในประเทศจีนที่มีอายุมากกว่า 1,300 ปีที่เมื่อนำมาเพาะ ก็ยังสามารถงอกกลับขึ้นมาได้
1
บัวหลวง มีลำต้นใต้ดินแบบเหง้า และไหล ใบเมื่อยังอ่อนจะลอยปริ่มน้ำ เมื่อใบแก่จะโผล่พ้นน้ำ ก้านใบ ก้านดอกมีหนาม ดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ชูสูงพ้นผิวน้ำ มีทั้ง สีขาว ชมพู หรือเหลือง ดอกบัวมีขนาดใหญ่นิยมนำมาไหว้พระ รากบัว และไหลบัวสามารถกินเป็นอาหารได้ และเมล็ดบัวก็สามารถกินได้
บัวหลวงอยู่ในวงศ์บัวหลวง (Family Nelumbonaceae) ซึ่งเป็นกลุ่มของพืชใบเลี้ยงคู่ โดยวงศ์นี้มีพืชอยู่เพียงสองชนิด คือ [Nelumbo nucifera] ที่พบแพร่กระจายในทวีปเอเชีย และ [Nelumbo lutea] ที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ ในอดีตนักอนุกรมภิธานคิดว่าบัวหลวงมีความใกล้ชิดกับบัวในวงศ์ของบัวสาย เนื่องจากพืชทั้งสองมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน และแตกต่างจากพืชชนิดอื่นๆ แต่เมื่อมีการใช้เทคนิคทางโมเลกุลเข้ามาช่วยในการพิจารณา ก็พบว่า บัวหลวงไม่ได้เป็นญาติที่ใกล้ชิดกันกับบัวสาย แต่กลับมีญาติเป็นพืชในวงศ์ Platanaceae ที่มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นที่อยู่บนบก ในขณะที่บัวหลวงเป็นพืชน้ำที่มีเหง้าหรือไหล ทำให้เชื่อว่าบัวหลวงมีวิวัฒนาการมาในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างจากพืชชนิดอื่นๆ จนเกิดเป็นพืชที่มีลักษณะแตกต่างจากพืชที่เป็นชนิดพันธุ์ใกล้ชิดกัน
ดอกของบัวหลวง [Nelumbo nucifera] (ที่มา By T.Voekler - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=8142220)
พืชในวงศ์ Plantanaceae ที่ใกล้ชิดกับบัวหลวงที่สุด (ที่มา By Lokal_Profil - Own work, CC BY-SA 2.5, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1649239)
หลักฐานทางฟอสซิลก็มาช่วยสนับสนุนว่า พืชที่มีลักษณะคล้ายกับบัวหลวงนั้นสามารถพบมาตั้งแต่เมื่อ 100 ล้านปีก่อน ในตอนกลางของยุคครีเทเชียส และในช่วง 100 ล้านปีที่ผ่านมา ลักษณะของบัวหลวงแทบจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเลย
ในขณะที่บัวสายมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Nymphaea lotus] มีการแพร่กระจายตั้งแต่ทวีปแอฟริกาจนถึงทวีปเอเชีย โดยพืชชนิดนี้เป็นพืชในวงศ์บัวสาย หรือ Family Nymphaeaceae พืชในวงศ์นี้ชนิดอื่นๆ ได้แก่ บัวผัน และบัวเผื่อน ซึ่งทั้งหมดเป็นพืชน้ำเช่นเดียวกับบัวหลวง มีลำต้นใต้ดินเป็นหัว หรือเหง้า ใบและดอกเกิดจากตาหรือหน่อที่เจริญขึ้นมาที่ผิวน้ำด้วยก้านส่งใบและยอด บางชนิดมีใบใต้น้ำ ใบเป็นใบเดี่ยว ดอกเป็นดอกเดี่ยวมีสีสันหลากหลายแตกต่างกันไป
ดอกของบัวสาย [Nymphaea lotus] (ที่มา By xmatt - https://www.flickr.com/photo_zoom.gne?id=398390464&context=set-72157594549571030&size=o, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1874002)
พืชในวงศ์นี้มีประมาณ 70 ชนิด และสิ่งที่น่าสนใจของพืชในวงศ์นี้คือ พืชกลุ่มนี้มีดอกที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของพืชโบราณ โดยมีหลักฐานทางโมเลกุลสนับสนุนว่า พืชกลุ่มนี้และพืชอื่นๆ ในอันดับเดียวกัน (Order Nymphaeales) เป็นพืชดอก (Angiosperms) กลุ่มแรกๆ ที่มีวิวัฒนาการมาก่อนและแยกออกจากพืชดอกกลุ่มอื่นๆ โดยพืชดอกชนิดแรกมีวิวัฒนาการมาเมื่อ 140 ล้านปีก่อน ในขณะที่วงศ์บัวสายนี้มีวิวัฒนาการมาหลังจากนั้นไม่นาน คือ เมื่อ 112 ล้านปีก่อน
โดยพืชในวงศ์บัวสายนี้มีการแยกออกมาจากพืชดอกกลุ่มอื่นๆ ก่อนที่พืชดอกอื่นๆ จะมีวิวัฒนาการแยกออกมาเป็นพืชใบเลี้ยงคู่และพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเสียอีก ในขณะที่บัวหลวงที่เหมือนบัวสายมาก แต่กลับเป็นพืชที่มีวิวัฒนาการมาทีหลังมาอยู่ในกลุ่มของพืชใบเลี้ยงคู่
ดอกของบัวเผื่อน [Nymphaea nouchali] (ที่มา By J.M.Garg - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=5924286)
บัวหลวง
บัวแดง ในวงศ์ของบัวสาย
ไหนๆ ก็พาลงน้ำแล้ว ลองอ่านเรื่องผักตบชวาต่อไหมครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Xue, Jian-Hua & Dong, Wenpan & Cheng, Tao & Zhou, Shiliang. (2012). Nelumbonaceae: Systematic position and species diversification revealed by the complete chloroplast genome. Journal of Systematics and Evolution. 50. 477-487. 10.1111/j.1759-6831.2012.00224.x.
2. Magallón, S. and Castillo, A. (2009), Angiosperm diversification through time. American Journal of Botany, 96: 349-365. doi:10.3732/ajb.0800060
3. Shen-Miller; Mudgett, M. B.; William Schopf, J.; Clarke, S.; Berger, R.; et al. (1995). "Exceptional seed longevity and robust growth: Ancient sacred lotus from China". American Journal of Botany. 82 (11): 1367–1380.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา