3 มิ.ย. 2020 เวลา 04:11 • ปรัชญา
อิคิไก (Ikigai) : ความหมายของการมีชีวิตอยู่ (ตอนที่ 1)
1
หมุดหมายห้าประการของอิคิไก
ประการที่หนึ่ง : การเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ
ประการที่สอง : การปลดปล่อยตัวเอง
ประการที่สาม : ความกลมกลืนและยั่งยืน
ประการที่สี่ : ความสุขกับสิ่งเล็กๆ
ประการที่ห้า : อยู่ตรงนี้ และตอนนี้
หมุดหมายทั้งห้าประการข้างต้นนี้คือรากฐานสำคัญที่ทำให้ “อิคิไก” (Ikigai) งอกงามและเบ่งบาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นครบทุกประการ ไม่มีสิ่งหนึ่งสำคัญกว่าอีกสิ่งหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับก่อนหลัง แต่เสาหลักเหล่านี้สำคัญและจำเป็นต่อการทำความเข้าใจเรื่องอิคิไก ให้เสาหลักนี้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์บทความชิ้นนี้แล้วสะท้อนมาสู่ชีวิตจริงของคุณผู้อ่าน มาร่วมเดินทางสำรวจและสัมผัสกับความหมายอันสดใหม่ลึกซึ้งไปพร้อมๆกัน
Tokyo, cr. Bordee Budda, 2018
อิคิไก (Ikigai) คือคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นซึ่งใช้อธิบายถึงความสุขและความหมายของชีวิต อันประกอบขึ้นจากคำสองคำคือ “อิคิ - การมีชีวิต” และ “ไก - เหตุผล”
“อิคิไกคืออะไร”
ร้านซุคิยาบาชิ จิโร่ (Sukiyabashi Jiro : すきやばし次郎) โดย จิโร่ โอโนะ (Jiro Ono) พ่อครัวระดับมิชลินสามดาวที่อายุมากที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในเขตกินซ่า (Ginza) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการผู้เชี่ยวชาญอาหารญี่ปุ่น ขั้นตอนการทำอาหารของโอโนะนั้นเรียบง่ายและชาญฉลาด เขาสามารถพัฒนากระบวนการที่ทำให้มีไข่ปลาแซลมอน (Ikura Salmon) สภาพสดใหม่วางขายได้ตลอดทั้งปี ซึ่งท้าทายภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาของร้านซูชิทั่วไปที่เคร่งครัดว่าไข่ปลาแซลมอนควรกินในฤดูกาลที่เหมาะสมที่สุดคือฤดูใบไม้ร่วงที่ปลาแซลมอนจะว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นมาวางไข่เท่านั้น
นอกจากนี้โอโนะยังคิดค้นการนำเนื้อปลาบางชนิดมารมควันจากฟางข้าวเพื่อสร้างรสชาติแสนพิเศษขึ้นมา หรือแม้กระทั่งการคำนวณจังหวะเวลาในการวางจานซูชิลงต่อหน้าลูกค้าที่กำลังรอคอยผลงานของเขาอย่างจดจ่อ เพื่อที่อุณหภูมิของเนื้อปลาจะเป็นไปตามที่เขากำหนด นำมาซึ่งรสชาติที่ดีที่สุด เราอาจพูดได้ว่าความสำเร็จของโอโนะมาจากความมุ่งมั่นอันเด็ดเดี่ยว ความพยายาม ความเอาใจใส่ ความอุตสาหะ และการไม่หยุดเรียนรู้ในสิ่งที่ตนตั้งเป้าหมายในชีวิต
Jiro Ono, cr.en.wikipedia, 2014
หากกล่าวว่า “โอโนะมีอิคิไก” คงไม่เป็นการพูดเกินความเป็นจริงไปนัก เขาประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งอาชีพการงานและชีวิตส่วนตัว ด้วยเพราะความละเมียดละไมต่อการดำเนินชีวิตบนฐานคิดของคนญี่ปุ่นดังกล่าว
ในภาษาญี่ปุ่นคำว่า “อิคิไก” ถูกใช้ในหลายบริบทตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆในชีวิต ไปจนถึงการประสบสำเร็จอันยิ่งใหญ่ อิคิไกเป็นคำธรรมดาๆที่ผู้คนทั่วไปใช้กันในชีวิตประจำวันโดยไม่ได้ฉุกคิดถึงนัยยะที่แฝงอยู่มากมาย คุณสามารถมีอิคิไกได้โดยไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานก็ได้ แนวคิดดังกล่าวนี้เปิดกว้างและเท่าเทียม ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของชีวิต “อิคิไกสามารถส่งผลให้เกิดความสำเร็จ แต่ความสำเร็จก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นของอิคิไก” มันหลากหลายและเปิดกว้างมากกว่าที่คุณคิด และมันพร้อมที่จะถูกเข้าถึงจากพวกเราทุกคน
จิโร่ โอโนะ เจ้าของร้านซูชิอันโด่งดัง เจ้าของดาวมิชลินและคำชมเชยจากบารัค โอบาม่า (Barack Obama) เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้มาเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.2014 ซึ่งโอบาม่ากล่าวว่า “นี่คือซูชิที่ดีที่สุดที่เขาเคยกินมาในชีวิต”
Sukiyabashi Jiro, cr. Pete Souza, 2014
นับได้ว่าโอโนะมีอิคิไกไม่น้อยเช่นกัน เราไม่ได้หมายถึงการที่เขาได้รับคำชมเชยหรือรางวัลอันยิ่งใหญ่ใดๆ โอโนะอาจค้นพบอิคิไกได้ด้วยการเสิร์ฟปลาทูน่าที่ดีที่สุดในร้านของเขาให้กับลูกค้า หรืออาจจะเป็นแค่ช่วงเวลาของการได้สัมผัสอากาศสดชื่นเย็นสบายยามเช้ามืด เมื่อเขาตื่นขึ้นมาและเตรียมตัวออกไปตลาดปลาสึคิจิ (Tsukiji fish market) อิคิไกอาจเกิดขึ้นแม้ตอนจิบกาแฟร้อนก่อนเริ่มต้นทำงานในแต่ละวัน และอิคิไกอาจถูกค้นพบในแสงแดดที่เล็ดลอดกิ่งก้านใบไม้ทอดยาวลงมาสัมผัสร่างกายระหว่างที่เขากำลังก้าวเดินไปยังร้านซูชิสถานที่ทำงานใจกลางกรุงโตเกียว
1
cr. Kulinarisches Kino, 2011
มีครั้งหนึ่งโอโนะเคยพูดว่า “ฉันหวังว่าจะตายตอนกำลังปั้นซูชิอยู่” เราคงสังเกตได้ว่าอาชีพการงานนี้ทำให้เขาดื่มด่ำไปกับความงดงามแห่งอิคิไก แม้ว่างานที่เขาทำจะเต็มไปด้วยรายละเอียดยิบย่อย ซ้ำซากจำเจ น่าเบื่อหน่ายเพียงใด เช่น เขาต้องนวดหนวดปลาหมึกยักษ์นานนับชั่วโมงเพื่อให้มีรสชาติที่นุ่มนวล หรือการขอดเกล็ดปลาตะเพียนญี่ปุ่น ควักไส้ออก จากนั้นนำไปหมักกับเกลือและน้ำส้มสายชูที่ปรุงรสอย่างพอเหมาะสำหรับการทำเมนูโคฮาดะ (Kohada) “บางทีซูชิคำสุดท้ายที่ฉันปั้นอาจจะเป็นโคฮาดะ”
อิคิไกอยู่ในสิ่งเล็กๆมากมาย อากาศยามเช้า กาแฟแก้วหนึ่ง แสงแดด เสียงฝนพรำ คำชมเชย หรือแม้กระทั่งการนวดหนวดปลาหมึกยักษ์ ทั้งหมดนี้เท่าเทียมกัน คงมีเพียงผู้ที่สามารถรับรู้ถึงความอิ่มเอมหลากหลาย ที่จะชื่นชมและเพลิดเพลินไปกับประสบการณ์เช่นนี้ นี่คือบทเรียนสำคัญของอิคิไก เมื่อปัจจุบันคุณค่าของมนุษย์ทุกคนถูกกำหนดด้วยความสำเร็จ เราอาจอยู่ภายใต้แรงกดดันมากมายที่ไม่จำเป็น คุณอาจเคยรู้สึกว่าระบบคุณค่าทั้งหลายล้วนตัดสินและให้คุณค่ากับบางสิ่งเพียงแค่ว่ามันแปลงไปสู่ความสำเร็จที่จับต้องได้
Tokyo, cr.Bordee Budda, 2018
หากแม้คุณเชื่อว่า คุณสามารถมีอิคิไก “คุณค่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป” โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองในแนวทางนั้น ก็ไม่เชิงเสียทีเดียวว่าคุณจะสามารถค้นพบมันได้โดยง่าย
แล้วเรามาร่วมกันค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ในตอนต่อไปครับ
หากผู้อ่านสนใจและอยากศึกษาวิถีชีวิตของ "จิโร่ โอโนะ" เพิ่มเติมจากบทความชิ้นนี้ ลองศึกษาผ่าน "Jiro Dream of Sushi" ภาพยนตร์เชิงสารคดีที่ออกฉายเมื่อปี ค.ศ.2011 ซึ่งสามารถถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของโอโนะและปรัชญาญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งละเมียดละไม
บางส่วนจากหนังสือ
The Little Book of Ikigai (อิคิไก : ความหมายของการมีชีวิตอยู่) เขียนโดย เคน โมงิ (Ken Mogi) แปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
สำนักพิมพ์ Move Publishing
โฆษณา