5 มิ.ย. 2020 เวลา 14:14 • ปรัชญา
อิคิไก (Ikigai) : เหตุผลของคนตื่นเช้า (ตอนที่ 2)
"อิคิไก" อาจมอบเป้าหมายและความพยายามให้แก่ชีวิตคุณ ดังที่เคยเกิดขึ้นกับ "จิโร่ โอโนะ" เจ้าของร้านซุคิยาบาชิ จิโร่ ที่เราได้กล่าวถึงไปในตอนที่แล้ว หากยังไม่ได้ผ่านตาท่านใดลองเข้าไปอ่านตอนที่ 1 ก่อนได้นะครับ
โอโนะเดินทางผ่านความยากลำบากด้วยความอดทนตลอดช่วงชีวิตอันยาวนานในสายอาชีพของเขา อิคิไกอาจเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เขาคอยฟังเสียงที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตนเองที่บอกว่าให้แสวงหาคุณภาพสูงสุดในหน้าที่การงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ถึงแม้จะไม่มีใครสังเกตเห็น การกระทำอย่างสงบเงียบ ทีละส่วน ทีละน้อย ทุ่มเทด้วยใจรัก นั้นเกิดจากการที่เขาให้ความสำคัญกับการเริ่มต้นเล็กๆ (หมุดหมายประการที่หนึ่งของอิคิไก)
อิคิไกเป็นแนวคิดที่แฝงอยู่ในมรดกทางวัฒนธรรมญี่ปุ่น เพื่อคำอธิบายที่ชัดเจนนั้นเราคงต้องขุดลึกลงไปในจารีต-ประเพณีของชาวญี่ปุ่นและเชื่อมโยงเข้ากับวัฒนธรรมร่วมสมัย “อิคิไกคือศูนย์รวมของการรับรู้และพฤติกรรม” คนญี่ปุ่นโดยทั่วไปมักจะบอกว่าพวกเขาใช้อิคิไกในชีวิตประจำวันอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องรู้ความหมายอย่างแน่ชัด ในประเด็นนี้อาจเป็นเพราะมันถูกปลูกฝังเฉกเช่นการถูกเข้ารหัสไว้ในวัฒนธรรมทางภาษาและเชื้อชาติ
Radio Taiso poster from 1932 (Source: Ritsumeikan University)
อิคิไกอาจใช้อธิบายถึงภูมิปัญญา ท่าทีการปฏิบัติตัวและการตอบสนองอันมีลักษณะเฉพาะของคนญี่ปุ่น แต่ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องเป็นคนญี่ปุ่นถึงจะมีอิคิไกได้ มันเป็นเรื่องของความพึงพอใจส่วนตัว ชีวิตของโอโนะอาจบอกเล่าถึงการแสวงหาความสุขส่วนตัวในชีวิตที่นำไปสู่การได้รับรางวัลทางสังคม แต่ไม่เป็นไรเลยทางคุณไม่ได้ต้องการหนทางเช่นนั้น ไม่เป็นไรเลยหากไม่มีใครเคยเห็นคุณค่าและความพยายามของคุณ “คุณสามารถบ่มเพาะอิคิไกของตัวคุณเอง รอให้มันเติบโตอย่างลับๆ ช้าๆ จนถึงวันที่มันผลิดอกออกผล”
จุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเริ่มต้นค้นหาอิคิไกของคุณเอง อาจเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า “อะไรคือคุณค่าทางจิตใจสูงสุดของคุณ” และ “อะไรคือสิ่งเล็กๆที่ให้ความสุขแก่คุณ”
Tokyo, cr.Bordee Budda, 2018
เหตุผลของคนตื่นเช้า
สำหรับบางคนแล้วการตื่นลุกขึ้นจากเตียงในตอนเช้านั้นเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับบางคนมันช่างเป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกิน และหากคุณเป็นคนประเภทหลัง อิคิไกในบทความตอนที่สองนี้ถูกเขียนมาเพื่อคุณ
บางครั้งอิคิไกก็ถูกใช้ในความหมายเชิงว่า “เหตุผลที่ตื่นขึ้นมาในตอนเช้า” มันคือแรงผลักดันให้คุณได้ดำเนินชีวิตของคุณต่อไป ทำให้คุณกระตือรือร้นที่จะทักทายกับเช้าวันใหม่เรื่อยไปไม่รู้จบ คุณจะสังเกตได้ว่าคนญี่ปุ่นทั่วไปไม่ได้ต้องการแนวคิดที่ยิ่งใหญ่สวยหรูเพื่อมากระตุ้นให้พวกเขาใช้ชีวิตต่อไป แต่พวกเขาใช้ชีวิตอิงแอบอยู่กับกิจกรรมหรือพิธีกรรมเล็กๆน้อยๆระหว่างวันตามปกติ เหตุนั้นแล้วการตื่นเช้าสำคัญมากๆต่อหมุดหมายประการแรกคือ “การเริ่มต้นเล็กๆ”
Tokyo, cr.Bordee Budda, 2018
ฮิโรกิ ฟูจิตะ (Hiroki Fujita) พ่อค้าปลาทูน่าในตลาดปลาสึคิจิ (Tsukiji fish market) ใจกลางเมืองโตเกียว คุ้นเคยกับการตื่นแต่เช้าเป็นอย่างดี กิจวัตรประจำวันของเขาคือการลุกขึ้นจากเตียงนอนตอนตีสองเพื่อเตรียมตัวออกไปทำงานด้วยท่าทีคล่องแคล่วกระฉับกระเฉงอย่างที่เป็นมาตลอดหลายปี เหตุผลที่ฟูจิตะตื่นเช้าแบบนี้ทุกวันเพราะว่าการเป็นนายหน้าค้าปลาทูน่านั้นทำให้เขาไม่สามารถที่จะพลาดโอกาสสำคัญในช่วงเช้ามืด ณ ตลาดปลาแห่งนั้นได้เลย ลูกค้าของฟูจิตะต้องพึ่งพากระบวนการคัดสรรจากเขา
ฟูจิตะต้องพิจาณาปลาทูน่าเป็นสิบเป็นร้อยตัวในพื้นที่พิเศษของตลาดปลาเพื่อค้นหาปลาตัวที่ดีที่สุดเพื่อลูกค้าที่ส่วนใหญ่คือร้านซูชิชั้นนำในโตเกียว แน่นอนว่าร้านซุคิยาบาชิ จิโร่ คือหนึ่งในบรรดาร้านเหล่านั้น ฟูจิตะเพียงแค่ได้สัมผัสของเนื้อปลาบริเวณรอยตัดตรงครีบหาง เขาก็สามารถระบุได้ว่าเนื้อปลาข้างในนั้นใช้ได้แล้วหรือยัง
ตลาดปลาสึคิจิ บริเวณซื้อ-ขาย และประมูลปลาทูน่า ใจกลางกรุงโตเกียว cr.travelience.com
คนทั่วไปมักคิดว่าปลาทูน่าที่เนื้อเป็นสีแดงสดจัดจ้านนั้นดีที่สุด ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย ปลาทูน่ารสเลิศมีท่าทีการแสดงออกมาที่สงบเสงี่ยมกว่านั้น มันมาพร้อมกับรูปทรงของปลาทูน่าบางลักษณะ ซึ่งจะหาได้จากกระบวนการจับปลาแค่บางวิธีเท่านั้น ปลาทูน่าที่ดีที่สุดมีเพียงหนึ่งในร้อย เขาต้องมองหาปลาลักษณะพิเศษเช่นนี้อยู่เสมอ "ฉันมีความคิดวนเวียนในหัว ทุกเช้าที่ลืมตาตื่นขึ้นมา ว่าการออกเดินไปตลาดในเช้าวันนี้ผมจะได้พบกับปลาที่มีลักษณะเช่นนี้ไหม ความคิดนี้แหล่ะที่ทำให้ฉันมีชีวิตต่อไป” เราทุกคนควรโอบกอดยามเช้าเหมือนเช่นฟูจิตะ
หลักการตื่นเช้าฝังอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่ยึดถือคุณค่าของพระอาทิตย์ยามเช้ามาแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นพระราชสาส์นของเจ้าชายโชโทคุ (Shotoku Taishi) ผู้ปกครองญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 7 ที่ส่งถึงจักรพรรดิจีนในช่วงเวลานั้น ซึ่งเจ้าชายโชโทคุเริ่มต้นประโยคแรกของสาส์นดังกล่าวว่า “จากผู้ปกครองดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัย” ซึ่งอิงกับขอเท็จจริงที่ว่าหมู่เกาะญี่ปุ่นนั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจีน ทิศทางที่พระอาทิตย์ขึ้น และคนญี่ปุ่นเรียกประเทศตัวเองว่า “นิปปอน” หรือ “นิฮง” (Nippon, Nihon) แสดงความหมายถึง “ต้นกำเนิดของพระอาทิตย์” ไปจนถึงธงชาติญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ฮิโนะมารุ” (Hinomaru) หมายถึง “วงกลมแห่งพระอาทิตย์” ก็เป็นการแสดงภาพถึงแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน
ธงชาติญี่ปุ่นในปัจจุบัน cr.edarabia.com
ชาวญี่ปุ่นมีพิธีกรรมที่แนบชิดกับพระอาทิตย์และการตื่นเช้าอีกมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะย้อนไปไกลถึงสภาวะเศรษฐกิจในยุคสมัยเอโดะ (Edo, 1603-1868) ภายใต้ระบอบการปกครองโดยโชกุนโตคุกาวา (Tokugawa Ieyasu) ที่ประชากรชาวญี่ปุ่นกว่า 80% เป็นชาวนา การที่จะประสบความสำเร็จในสายอาชีพนี้จำเป็นต้องตื่นเช้า และแนวคิดที่ว่า “การตื่นเช้านั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจ” ถูกถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปมากมายเพียงใด
ในสังคมร่วมสมัยของญี่ปุ่น “เรดิโอไทโซ (Radio Taiso)” รายการวิทยุเพื่อการออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายตามเสียงเพลง เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนว่าญี่ปุ่นนั้นขับเน้นกิจกรรมในยามเช้าให้เป็นเรื่องของคนทุกเพศวัย เริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1928 รัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยนั้นอยากให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เรดิโอไทโซกลายเป็นประเพณีปฏิบัติของชาวญี่ปุ่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การเคลื่อนไหวตามจังหวะเพลงอย่างง่ายๆที่เด็กเล็กๆก็ทำตามได้อย่างไม่ยากเย็น ในท้องถิ่นเวลาปิดเทอมก็มีการนัดพบปะพูดคุยกันเพื่อฝึกเรดิโอไทโซในทุกๆเช้า
เรดิโอไทโซยังถูกนำมาปฏิบัติกันในโรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่งานก่อสร้าง เพื่อเตรียมความพร้อมของสภาพร่างกาย ไปจนถึงพนักงานออฟฟิศก่อนที่จะเริ่มงานในตอนเช้า
cr.jpninfo.com
ในทุกวันนี้ประชากรกลุ่มหลักๆที่ยังฝึกฝนเรดิโอไทโซเป็นประจำทุกเช้าคือกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะเห็นคนชรามาจับกลุ่มกันบริเวณสวนสาธารณะในเขตชุมชนพักอาศัยในเวลาหกโมงครึ่งแบบเป๊ะๆ ทุกคนมายืนประจำตำแหน่งของตนเอง และนั่นคือเวลาที่สถานีวิทยุเอ็นเอชเคเรดิโอวัน (NHK Radio 1) สถานีวิทยุที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นเปิดเพลงเรดิโอไทโซในทุกๆเช้า “นี่คืออิคิไกของพวกเขา”
แล้วมาติดตามกันในบทความตอนต่อไปครับ
Radio Taiso in the 1930s (Source: Japancentre)
ย้อนอ่าน อิคิไก (Ikigai) : ความหมายของการมีชีวิตอยู่ (ตอนที่ 1)
บางส่วนจากหนังสือ
The Little Book of Ikigai (อิคิไก : ความหมายของการมีชีวิตอยู่) เขียนโดย เคน โมงิ (Ken Mogi) แปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
สำนักพิมพ์ Move Publishing
โฆษณา