Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Introverted reader
•
ติดตาม
18 ก.ค. 2020 เวลา 14:41 • ปรัชญา
อิคิไก (Ikigai) : โคดาวาริ และประโยชน์ของการคิดเล็ก (ตอนที่ 3)
นานมาแล้วที่เราทุกคนทราบกันดีว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วโลก หากมองย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อนในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเป็นหลัก เช่น รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สามารถดึงเงินเข้าประเทศได้อย่างมากมายมหาศาล เมื่อเวลาผ่านล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยผลกระทบจากทั้งเทคโนโลยี ระบบอินเตอร์เน็ต และการแข่งขันที่สูงขึ้นจากคู่แข่งนานาประเทศ ทำให้เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นไม่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตอีกแล้ว ทั้งบางช่วงบางตอนยังถึงขั้นถอยหลังติดลบด้วยซ้ำไป
ประเด็นนี้อาจเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันมุ่งเน้นไปให้ความสำคัญกับ “อำนาจอ่อน” หรือ Soft Power มากขึ้น ผ่านโครงการต่างๆมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ยุทธศาสตร์ “Cool Japan” ที่มุ่งมั่นส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การหาหนทางเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งสามารถทำเงินให้กับประเทศทดแทนภาคการส่งออกที่ตนมิใช่มหาอำนาจอีกต่อไปแล้ว นักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือนดินแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ต่างมักกล่าวถึงความประทับใจกับประสิทธิภาพในภาคบริการ การนำเสนอ ความใส่ใจในรายละเอียด การปฏิบัติงานที่ไร้ที่ติ ที่พวกเขาเหล่านั้นต่างเห็นตรงกันว่านี่แหล่ะคือมนต์เสน่ห์ของประเทศญี่ปุ่น
มนต์เสน่ห์ที่สร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวเหล่านี้มักถูกมองข้ามโดยคนญี่ปุ่นเอง ความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ความตรงต่อเวลา ความสมบูรณ์แบบในด้านการใช้งานของข้าวของเครื่องใช้ ร้านค้า จนกระทั่งระบบขนส่งสาธารณะ ไปจนถึงความใจดีของชาวญี่ปุ่นเอง ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เกิดจากความกระตือรือร้นของคนส่วนใหญ่อันพยายามที่จะรักษาระดับมาตรฐานของตน เราอาจสามารถทำความเข้าใจปรากฏการณ์แบบญี่ปุ่นเช่นนี้ได้ผ่านแนวคิด “โคดาวาริ”
cr. MarahuyoGuides
“โคดาวาริ” ไม่สามารถแปลความหมายไปสู่ภาษาอื่นได้อย่างตรงตัว ในภาษาอังกฤษมักแทนด้วยคำว่า “Commitment” (คำมั่น) หรือ “Insistence” (คำยืนยัน) ซึ่งคำเหล่านี้ก็ยังคงไม่สามารถจับใจความที่แท้จริงของแนวคิดที่บ่มเพาะจากบริบททางสังคมอันเฉพาะตัวแห่งนี้ โคดาวาริ หมายถึง “มาตรฐานส่วนตัวที่บุคคลหนึ่งทุ่มเทอุทิศตนให้ โดยยึดถือในวิถีทางในชีวิตอย่างมั่นคงแน่วแน่” โดยส่วนใหญ่จะให้ความหมายไปในเชิงการมีคุณภาพ ความเป็นมืออาชีพที่คนๆหนึ่งยึดถือปฏิบัติ สิ่งนี้คือแก่นสำคัญส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ “อิคิไก”
“โคดาวาริ” มักดำรงอยู่ในตัวตนของบุคคลหนึ่งๆไปตลอดชีวิต โคดาวาริเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ มันแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาเหล่านั้นลงมือทำ กล่าวอย่างกระชับคือ “โคดาวาริเป็นวิถีทางนำไปสู่ความใส่ใจเป็นพิเศษต่อรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ” ในบรรดาหมุดหมายสำคัญห้าประการของอิคิไก (กล่าวถึงในตอนที่1) โคดาวาริเป็นหมุดหมายประการแรกนั่นคือ “การเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ” โดยไม่จำเป็นต้องวัดผลจากแผนการอันยิ่งใหญ่
cr. Bordee Budda
บาร์และร้านอาหารขนาดเล็กจำนวนมากมายในญี่ปุ่นมักมีเจ้าของเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ใช่กิจการที่เป็นร้านสาขาจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่แต่อย่างใด ร้านเหล้านี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและให้ความรู้สึกถึงความเป็นท้องถิ่น มีความเป็นตัวของตัวเองซึ่งแสดงออกถึงรสนิยมส่วนตัวของเจ้าของร้านให้เห็นอย่างเด่นชัด หากคุณมีโอกาสได้เป็นเยือน และสังเกตดูเมนูบนโต๊ะอาหารเหล่านั้นคุณจะได้เห็นเมนูประเภท “โคดาวาริ โนะ อิปปิน” “Kodawari no ippin” หมายถึงเมนูเด่นประจำร้าน ที่เจ้าของภาคภูมิใจนำเสนอ มักผลิตจากวัตถุดิบที่เฉพาะเจาะจงจากแหล่งที่มาในท้องถิ่นนั้นๆ มีความพิถีพิถันในการปรุง ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเกิดความประทับใจทั้งในแง่ของความเฉพาะเจาะจงนี้ รสชาติอาหาร ไปจนถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นครอบครัวหรือชุมชนท้องถิ่น
cr. Bordee Budda
จากตัวอย่างข้างต้นนั้น “การเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ” และลงมือทำอย่างตั้งใจไปทีละขั้นตอนจนไปสู่ความสมบูรณ์แบบ ถือว่าเป็นหลักการทำงานที่เจ้าของกิจการในญี่ปุ่นยึดถือเป็นหลักปฏิบัติร่วมกันโดยทั่วไป ความหมายในตัวมันเองของ “โคดาวาริ” คือ ลักษณะนิสัยที่ไม่ยอมประนีประนอมโดยยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง จนเกือบถึงจุดที่ไม่เปิดยอมรับสิ่งใหม่ใดๆ ตัวอย่างเช่น ภาพจินตนาการของคนญี่ปุ่นนั้นจะมองว่า เจ้าของร้านราเมนที่มีโคดาวาริคือคนที่ขี้หงุดหงิด เข้าถึงได้ยาก และเรียกร้องให้ลูกค้าควรที่จะรู้จักชื่นชมรสชาติอาหารดีๆในมาตรฐานระดับสูงเทียบเท่ากับตน “เจ้าของร้านราเมนจะรู้สึกพึงพอใจมากๆเมื่อเห็นลูกค้าซดน้ำซุปจนเกลี้ยงหมดชาม” ท้ายที่สุดแล้ว โคดาวาริก็คือการสื่อสารระหว่างกัน ผ่านการทำงานเล็กๆ เพื่อมุ่งไปสู่ความสมบูรณ์แบบของราเมนหนึ่งชาม รางวัลส่วนตัวที่ได้รับกลับมาคือรอยยิ้มที่เปื้อนบนใบหน้าของลูกค้านั่นเอง
Kyushu Jangara Ramen, Akihabara, Cr. Tripadvisor
โคดาวาริแพร่หลายอยู่ในหมู่คนธรรมดาทั่วไป ประเทศญี่ปุ่นมีพลเมืองจำนวนมากที่แสดงออกถึงโคดาวาริของตนเอง มีชาวนาชาวสวนระดับยอดฝีมือ ที่อุทิศเวลา แรงกาย และสติปัญญาทั้งชีวิต เพื่อสร้างสรรค์ผลผลิตชั้นเลิศ พวกเขามีการวางแผนการทุกขั้นตอนด้วยความเอาใจใส่ มุ่งมั่นที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างอย่างเข้มแข็ง “เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ”
ปัจเจกบุคคลจากแสวงหาเป้าหมายของตัวเอง ที่อยู่เหนือกว่า ไกลกว่า ความคาดหวังอย่างปกติธรรมดา เกินไปกว่าความสมเหตุสมผลพื้นฐาน พวกเขาไม่หยุดแสวงหาคุณภาพในสิ่งที่ตนเองต้องรับผิดชอบ แถมยังพยายามผลักดันคุณภาพนั้นให้สูงยิ่งขึ้นไป คำว่าดีพอ ไม่เคยดีพอสำหรับพวกเขา คนญี่ปุ่นเก่งในเรื่องการซึมซับ ปรับใช้ จากนั้นก็ครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวอักษรภาษาจีนตั้งแต่ครั้งโบราณ การสร้างสวนแบบอังกฤษ และกีฬาเบสบอลที่นำเข้ามาจากอเมริกาก็ยังถูกพัฒนามาเป็นกีฬาแบบญี่ปุ่นด้วยลักษณะที่แตกต่างออกไป คนญี่ปุ่นบางครั้งก็อุทิศตัวให้การสร้างบางสิ่งด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ พิถีพิถัน จนดูน่าขบขันในบางเวลา เบื้องหลังของการกระทำเหล่านี้คือ “อิคิไก” จากการมีชีวิตอยู่เพื่อโคดาวาริ หากมองโคดาวาริด้วยความนิ่งสงบ บางครั้งเหมือนว่ามันจะนำทางไปสู่วิธีการที่ไม่ยืดหยุ่น เน้นขนบธรรมเนียมมากเกินไป ไม่เปิดรับอิทธิพลจากภายนอก แต่ข้อดีของมันก็คงยังมีอยู่มากมาย พวกเราคงได้สัมผัสกันมาบ้างแล้ว
cr. Bordee Budda
“การเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ” เป็นเครื่องหมายของความเยาว์วัย ตอนคุณยังเด็ก คุณคงไม่สามารถเริ่มต้นทำอะไรที่ใหญ่โตได้ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม คงไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ คุณควรเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆก่อน มีจิตใจที่เปิดกว้าง อยากรู้อยากเห็น คุณสามารถค้นพบความเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างความอยากรู้อยากเห็นกับอิคิไก ความเยาว์วัย จิตใจที่เบิกบาน ความมุ่งมุ่นและความหลงใหลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอิคิไก “มันไม่สำคัญเลยว่าเป้าหมายของคุณคืออะไร”
แล้วเรากลับมาร่วมกันค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ในตอนที่ 4 ครับ ฝากติดตามด้วยนะครับ :)
บางส่วนจากหนังสือ
The Little Book of Ikigai (อิคิไก : ความหมายของการมีชีวิตอยู่)
เขียนโดย เคน โมงิ (Ken Mogi) แปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
สำนักพิมพ์ Move Publishing
115 บันทึก
126
41
95
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อิคิไก (Ikigai) : ความหมายของการมีชีวิตอยู่
115
126
41
95
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย