23 ก.ค. 2020 เวลา 14:24 • ปรัชญา
อิคิไก (Ikigai) : กลมกลืน ลื่นไหล และสร้างสรรค์ (ตอนที่ 4)
คุณอาจได้พบกับความสุขอันอิ่มเอิบหัวใจ ผ่านสภาวะการ “ละทิ้งตัวตนและลื่นไหล” ในบริบทของ “อิคิไก” สิ่งรอบตัวหมายรวมถึงหน้าที่การงานอันน่าเบื่อหน่ายในระหว่างวันคงกลายเป็นเรื่องสนุกสนาน จนกระทั่งคุณรู้สึกว่าไม่จำเป็นที่ใครจะต้องมารับรู้ถึงผลงานหรือความพยายามอย่างหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบของคุณ คุณอาจจะไม่อยากมองหารางวัลตอบแทนใดๆ และไม่แสวงหาความพึงพอใจแบบฉาบฉวย ลองมาวิเคราะห์ถึงสภาวการณ์เช่นนี้ไปด้วยกันครับ
cr. Bordee Budda
มิฮาลี ชิคเซนมิฮาย (Mihaly Csikszentmihalyi) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน-ฮังกาเรียน ได้เสนอแนวคิด “ความลื่นไหล” (Flow) คือช่วงขณะที่เรากำลังจอจ่ออยู่กับกิจกรรมบางอย่างโดยหลงลืมหรือตัดขาดจากสภาพแวดล้อมรอบตัว นี่อาจเป็นวิธีที่จะทำให้คุณค้นหาความสุขจากการทำงานได้ เหตุเพราะหน้าที่การงานได้กลายเป็นจุดหมายในตัวมันเอง ไม่ใช่การอดทนฝืนใจทำ เพราะงานได้กลายเป็นหนทางซึ่งพาไปสู่ผลลัพธ์อื่น คุณไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน อย่างน้อยที่สุด “เงินก็ไม่ใช่เป้าหมายแรก” ที่คุณยังทำงานอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะคุณมีความสุขที่ได้ลงมือทำ และรายได้ที่เข้ามาคือกำไรชีวิต
มิฮาลี ชิคเซนมิฮาย (Mihaly Csikszentmihalyi) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน-ฮังกาเรียน, cr. Mihaly Csikszentmihalyi
“การละทิ้งตัวตน” คือการละทิ้งภาระ เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของความลื่นไหล มันเชื่อมโยงกับเสาหลักห้าประการของอิคิไก (กล่าวถึงในตอนที่1) ว่าด้วยเรื่อง “การปลดปล่อยตัวเอง” ในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งการเอาตัวรอดและทำในสิ่งที่ตนต้องการนั้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ แต่หากคุณต้องการจะเข้าไปให้ถึง “สภาวะลื่นไหล” คุณคงต้องละทิ้ง “อัตตา” หรือตัวตนของคุณไปก่อน และเผ้ามองเรื่องราวต่างๆรอบตัวในทัศนคติที่แตกต่าง เช่นในเรื่องเกี่ยวกับงาน คุณไม่ใช่ผู้เชียวชาญ แต่งานนั้นๆจะช่วยขัดเกลาส่งเสริมฝีมือของคุณ สภาวะลื่นไหลจะช่วยทำให้คุณและงานอันน่าเบื่อหน่ายนั้นผสานเกื้อกูลกัน การมีทัศนคติว่า “ชีวิตเป็นเรื่องของการกลมกลืนและสอดคล้องกับสิ่งอื่น” จะช่วยทำให้เรามองเห็นเป้าหมายในชีวิต และกำหนดทิศทางเพื่อเดินไปสู่ความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ
ศิลปินญี่ปุ่นในยุคโบราณไม่ได้สร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นมาเพื่ออ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของผลงานชิ้นนั้น พวกเขาเพียงแค่ลงมือทำและไม่คาดหวังอะไรมากไปกว่าการมีคนเห็นคุณค่าของมัน ความลื่นไหลและการละทิ้งตัวตนจะแสดงออกมาให้เห็นในรูปของผลงานที่มีคุณภาพ ไม่ว่าตอนนี้คุณกำลังประกอบอาชีพอะไรก็ตาม
ในปัจจุบัน “อนิเมะญี่ปุ่น” (Anime) ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เป็นที่รู้กันดีว่าสิ่งที่ไม่ได้แตกต่างไปจากในประเทศไทยก็คือ นักวาดการ์ตูนมีรายได้ที่ไม่มากมายนัก เรียกได้ว่าไม่พอเลี้ยงชีวิต ถึงอย่างนั้นก็ตามงานวาดการ์ตูนยังคงเป็นงานในฝันของเด็กๆรุ่นใหม่เสมอมา ทั้งๆที่พวกเขารู้อยู่เต็มอกว่างานประเภทนี้ไม่มีวันทำให้เขาร่ำรวย
ฮายาโอะ มิยาซากิ (Miyazaki Hayao), cr. Daniela Fontanesi
“การสร้างอนิเมะเป็นงานหนักและยาวนาน” ฮายาโอะ มิยาซากิ (Miyazaki Hayao) แห่งสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli Inc.) ผู้สร้างภาพยนตร์อนิเมะ Spirited Away และ My Neighbor Totoro ไม่ขยับตัวลุกออกจากเก้าอี้และเขียนภาพร่างเป็นพันๆภาพเพื่อสร้างตัวละครและออกแบบฉาก เขามีชื่อเสียงและได้รับรางวัลมากมาย ความจริงใจของเขาส่งผ่านสู่บรรดาเด็กๆที่เป็นแฟนคลับหนังของเขาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น สภาวะลื่นไหลและความอิ่มเอิบใจของเขาแสดงออกมาผ่านผลงาน สภาวะลื่นไหลกล่าวอีกนัยหนึ่งคือความใส่ใจ “การอยู่ตรงนี้ และตอนนี้” ความสุขของมิยาซากิดำรงอยู่กับปัจจุบัน การอยู่กับปัจจุบันเป็นทัศนคติที่สำคัญต่องานสร้างสรรค์
Spirited Away (มิติวิญญาณมหัศจรรย์) พ.ศ.2544
My Neighbor Totoro (โทโทโร่เพื่อนรัก) พ.ศ.2531
ทัศนคติของคนญี่ปุ่นต่อเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหน้าที่การงานและตัวตนนั้นมีความเฉพาะตัวเป็นอย่างมาก การทำงานเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวมันเอง ทัศนคติเกี่ยวกับการเกษียณอายุของคนญี่ปุ่นจึงแตกต่างออกไป พวกเขายังคงมองหาบางสิ่งให้ตนเองได้ทำ ถึงแม้จะเลยกำหนดการเกษียณอายุของพวกเขาแล้วก็ตาม แต่ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขาไม่มีอะไรจะทำ ผู้คนจำนวนมากยังคงมีความสุขกับการทำงานต่อไปแม้จะก้าวเข้าสู่วัยชรา อย่างลื่นไหลและมีความสุข
การจดจ่ออยู่กับกิจกรรมใดๆอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องคำนึงถึงรางวัลตอบแทนหรือชื่อเสียงอย่างทันทีทันใด “การอยู่ตรงนี้ ตอนนี้” คือส่วนประกอบที่สำคัญของแนวคิดเกี่ยวกับอิคิไก สภาวะลื่นไหลทำให้งานของคุณน่ารื่นรมย์ แต่ ณ เวลาเดียวกันนั้นความใส่ใจในรายละเอียดยังคงต้องมีอยู่เพื่อพัฒนาคุณภาพและผลลัพธ์ที่ดีของผลงาน การดำดิ่งและมีความสุขอยู่กับปัจจุบันขณะ และจดจ่อในรายละเอียดเล็กๆถือเป็นแก่นสำคัญของการจัดพิธีชงชา (Tea Ceremony) น่าแปลกเหมือนกันที่ เซน โนะ ริคิว (千利休 : Senno Rikyu, 1522-1591) ที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 16 เข้าถึงแก่นแท้ของอิคิไกผ่านพิธีดังกล่าว
3
เซน โนะ ริคิว (千利休 : Senno Rikyu, 1522-1591), cr. Japan Reference
ในศตวรรษที่ 16 ร้านน้ำชาชื่อว่า “ไทอัน” (Tai An Tea House) ซึ่งออกแบบโดย เซน โนะ ริคิว เป็นร้านเล็กๆที่มีขนาดเพียงพอสำหรับแค่คนชงชาและแขกผู้มาเยือนเพียงไม่กี่คน เพื่อให้บรรดาเหล่าซามูไรซึ่งเป็นลูกค้าหลักของพิธีชงชาได้นั่งสนทนากันอย่างใกล้ชิดโดยต้องฝากดาบไว้ตั้งแต่ทางเข้าร้าน ร้านน้ำชาไทอันถูกออกแบบมาอย่างจงใจให้มีพื้นที่จำกัด ถึงขนาดที่นักรบซามูไรต้องเอี้ยวตัวและก้มโค้งเพื่อเข้ามาในบริเวณร้าน
ร้านน้ำชา “ไทอัน” (Tai An Tea House), cr. interactiongreen.com
อิจิโก อิจิเอ (一期一会 : Ichigo-Ichie) คือแนวคิดญี่ปุ่นที่หากแปลศัพท์แบบตรงตัวแล้วจะได้ความว่า “ครั้งเดียวในชีวิต” ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากพิธีชงชาอันมีมุมมองในการชื่นชมทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สิ่งของ หรือเหตุการณ์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป สรรพสิ่งที่ได้พบเจอกันล้วนไม่จีรังยั่งยืน เราจึงต้องยิ่งให้ความสำคัญกับช่วงเวลานั้น ชีวิตถูกเติมเต็มด้วยสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ทุกโอกาสจึงล้วนพิเศษ การตระหนักถึง “ช่วงเวลาครั้งหนึ่ง” อย่างมีความสุขนั้นก็ยังเป็นรากฐานแนวคิดอิคิไกเช่นกัน อาจกล่าวได้ว่านี่คือศูนย์กลางของปรัชญาชีวิตชาวญี่ปุ่น คือเหตุผลว่าเพราะเหตุใดคนญี่ปุ่นจึงจริงจังและใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันราวกับว่ามันเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย
cr. Path Of Cha
กิจกรรมปลีกย่อยในพิธีชงชายังคงมีเสน่ห์ดึงดูดมาจนถึงทุกวันนี้ เสาหลักทั้งห้าประการของอิคิไกนั้นผสานรวมกันอยู่ในพิธีชงชา ผู้จัดพิธีเตรียมเครื่องประดับตกแต่งห้องโดยใส่ใจในทุกรายละเอียด (การเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ) ความอ่อนน้อมถ่อมตนของผู้เข้าร่วมพิธี (การปลดปล่อยตัวเอง) ภาชนะที่ใช้ในการชงชาที่เก่าแก่กว่าหลายทศวรรษล้วนถูกคัดเลือกมาอย่างดีให้สอดคล้องกับภาชนะชิ้นอื่นๆ (ความกลมกลืนและยั่งยืน) แม้จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากแต่เป้าหมายสูงสุดของพิธีชงชาก็เพื่อการผ่อนคลายและมีความสุขกับรายละเอียดอันละเมียดละไมในห้องพิธีการ (ความสุขกับสิ่งเล็กๆ) และ สร้างสภาวะแห่งสติปัญญา (การอยู่ตรงนี้ ตอนนี้)
cr. Viator
Cr. Japan info
cr. youinjapan.net
การมีชีวิตอยู่อย่างสอดคล้องกลมกลืนกับผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ส่วนหนึ่งของอิคิไก การสร้างสรรค์มักเกิดจากการแลกเปลี่ยนความคิดอย่างอิสรเสรี การชื่นชม เคารพ ให้เกียรติต่อผู้คนรอบๆตัวเรา การรับรู้และเอาใจใส่ต่อรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันมีส่วนสำคัญในการช่วยปรับสมดุลชีวิตและหน้าที่การงานไปสู่ความเป็นเลิศในด้านที่คุณต้องการ
“Est” คือชื่อของบาร์ขายวิสกี้แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในย่านยูชิมะ (Yushima) ใจกลางกรุงโตเกียว มีเจ้าของร้านชื่อว่า “อาคิโอะ วาตานาเบะ” (Akio Watanabe) ภายในร้านตกแต่งด้วยข้าวของเครื่องใช้แบบบาร์ญี่ปุ่นทั่วไป แทรกด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมไอริชและสก็อตติช มีขวดวิสกี้ รัม ยิน วางเรียงรายอยู่บนชั้นวาง บรรยากาศสงบนิ่งภายในร้าน ลีลาการผสมค็อกเทลของวาตานาเบะ ผนวกกับวิธีการพูดคุยและรับฟังลูกค้าของเขาสร้างสภาพแวดล้อมที่แสนพิเศษ ความลับของวาตานาเบะก็คือ “การพัฒนาคุณภาพอย่างไม่มีวันสิ้นสุด” ความยึดมั่น การจดจ่ออยู่กับสิ่งเล็กๆโดยไม่ได้มานั่งคิดว่าจะมีใครสังเกตเห็นเขาหรือไม่ เขาไม่ได้ปิดร้านเพื่อออกไปเที่ยวพักผ่อนมานานหลายปีแล้ว ยกเว้นช่วงเทศกาลปีใหม่ เขายืนประจำที่อยู่หลังเคาน์เตอร์บาร์เจ็ดวันต่อสัปดาห์ตลอดทั้งปี เขาเอาจริงเอาจังกับเครื่องดื่มที่เสิร์ฟในบาร์ทุกแก้ว บาร์ของเขามีชื่อเสียงได้รับการกล่าวถึงในแวดวงสังคมมากมาย แต่แน่นอนว่าวาตานาเบะไม่เคยแสวงหาชื่อเสียงเหล่านั้น เขาหลีกหนีการออกสื่ออยู่ตลอดเวลา นี่คือตัวอย่างของคนๆหนึ่งที่ลงมือกระทำบางสิ่งบางอย่างโดยไม่ได้มุ่งหวังการรับรู้
“อาคิโอะ วาตานาเบะ” (Akio Watanabe), cr. KAYOKO AKABORI
อาคิโอะ วาตานาเบะ” (Akio Watanabe), cr. KAYOKO AKABORI
เมื่อคุณมีสมาธิจดจ่อจนเข้าถึงสภาวะแห่งความสุข การถูกรับรู้จากภายนอกก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น คุณมีความสุขกับตรงนี้ ตอนนี้ จากนั้นก็ทำงานของคุณต่อไป บางครั้งการจัดลำดับความสำคัญในชีวิตของคนเราก็อาจผิดพลาด เรามักทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งรางวัล เมื่อไม่เป็นดังที่หวังไว้ เราก็ผิดหวัง ล้มเลิกความมุ่งมั่นตั้งใจ ซึ่งนี่อาจเป็นวิธีการทำงานที่ผิด เราคงต้องทำความเข้าใจถึง “ช่องว่างระยะเวลา” ระหว่างการกระทำและผลตอบแทน แม้ว่าคุณจะรับผิดชอบภาระหน้าที่ในงานของคุณได้ดีเพียงใด รางวัลก็อาจจะยังไม่ได้มากองรอคุณอยู่ตรงหน้า การถูกตอบแทน ถูกยอมรับ ถูกรับรู้ เป็นปัจจัยภายนอก เป็นเพียงการคาดเดาของเราเอง ในชีวิตคนๆหนึ่งยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้
แก่นสำคัญของแนวคิดนี้อยู่แค่เพียงว่าหากคุณสามารถทำให้ “กระบวนการแห่งความพยายาม” กระบวนการระหว่างทาง ได้กลายเป็นต้นตอของความสุข เพียงเท่านี้คุณคงได้บรรลุถึงสิ่งที่ท้าทายที่สุดในชีวิตแล้ว การเล่นดนตรีโดยไม่มีใครฟัง การต้อนรับลูกค้าอย่างนอบน้อมโดยไม่ได้รับคำขอบคุณ การเขียนบทความโดยไม่มีใครอ่าน ความสุขที่เกิดขึ้นภายใน และความพึงพอใจในตัวเองก็มากมายเกินพอแล้วที่จะทำให้คุณมีชีวิตอยู่ต่อไป หากคุณสามารถคิดและรู้สึกเช่นนี้ได้ คุณคือยอดฝีมือแห่งการ “อยู่กับปัจจุบัน”
Cr. Bordee Budda
แล้วเรามาร่วมกันค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ในตอนต่อไปครับ
บางส่วนจากหนังสือ
The Little Book of Ikigai (อิคิไก : ความหมายของการมีชีวิตอยู่) เขียนโดย เคน โมงิ (Ken Mogi) แปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
สำนักพิมพ์ Move Publishing
โฆษณา