2 ส.ค. 2020 เวลา 08:45 • ปรัชญา
อิคิไก (Ikigai) : ความสอดคล้อง และยั่งยืน (ตอนที่ 5)
ลักษณะสำคัญในแนวคิดอิคิไกของญี่ปุ่นคือ “การควบคุมและสงวนท่าที” โดยยึดถือว่าความกลมกลืนกับผู้อื่นคือสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ด้วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นทั่วทั้งโลกใบนี้ ญี่ปุ่นยังคงรักษาขนบธรรมเนียมในการเป็นชาติที่สงบเสงี่ยมและถ่อมตนเสมอมา แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในอดีตและถือเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปัจจุบันก็ตาม
หากลองสังเกตดูเราจะไม่ค่อยได้เห็นเศรษฐีญี่ปุ่นใช้จ่ายเงินมหาศาลหรือการโอ้อวดตัวเองของคนมีชื่อเสียง อย่างน้อยๆก็ในการรับรู้ของคนทั่วๆไป ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่สงบเงียบซึ่งไม่ค่อยเปิดเผยตัวตนสู่สาธารณะเท่าไรนัก แน่นอนว่าการยับยั้งชั่งใจและการเก็บงำความทะเยอะทะยานของปัจเจก บางทีก็ส่งผลกระทบด้านลบทางเศรษฐกิจเช่นกัน ญี่ปุ่นคงมีความหลากหลายน้อยเกินกว่าจะเป็นมหาอำนาจระดับโลกอย่างแท้จริงและยืนยาว ปัจเจกชนมักไม่ค่อยแสดงออกถึงเสรีภาพและความสำเร็จ การสงวนท่าทีคือคุณค่าอันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ความยั่งยืน”
1
ในระดับปัจเจกนั้น อิคิไกคือโครงสร้างแรงบันดาลใจที่ช่วยให้ชีวิตคุณก้าวต่อไป ช่วยให้คุณอยากลุกจากที่นอนในตอนเช้าเพื่อเริ่มงานอันแสนเหนื่อยล้า ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น อิคิไกหมายรวมถึง “ความสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ผู้คนรอบตัว” กระบวนการทางความคิดแบบญี่ปุ่นถูกพัฒนาขึ้นอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตน หากเราลองพิจารณาความสัมพันธ์กับธรรมชาติแบบญี่ปุ่น ลักษณะสำคัญคือชาวญี่ปุ่นก่อร่างสร้างความยับยั้งชั่งใจต่อความปรารถนาส่วนตนให้อยู่ในรูปแบบ “ศิลปะแห่งการถ่อมตัว” สุนทรียะแห่งระเบียบแบบแผน และความสง่างามอย่างพอเพียง
ในอุดมคติแบบญี่ปุ่นมีความงดงามสงบเงียบที่เรียกว่า “วะบิ ซะบิ” (Wabi-Sabi) เคาร์เตอร์ซูชิทำจากแผ่นไม้ขนาดใหญ่ไม่ลงสีหรือขัดมันนับเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนทีเดียว หรือแม้กระทั่งการใช้ไม้สนหอมอิโนะคิในโรงอาบน้ำสาธารณะ ผสมผสานกับกลิ่นเปลือกส้มยูสุ ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งของความงามแสนยากที่จะบรรยายผ่านตัวอักษร การอาบน้ำกลางแจ้งนั้นเป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะออนเซน (Onsen) มีหลักการนำธรรมชาติเข้ามาไว้ภายในอาคารอย่างเรียบหรูสะดวกสบาย
ภาพจากภาพยนตร์ Midnight Dinner : Tokyo Stories
พิธีชงชา cr. shunkoin
cr. wanderlustchloe
การเดินสูดอากาศในป่า หรือที่เรียกกันว่า “การอาบป่า” (Forest bathing : Shinrin - yoku) เป็นงานอดิเรกที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น อันแสดงถึงความเคารพรักในธรรมชาติ ญี่ปุ่นเป็นประเทศแห่งความยั่งยืนไม่ใช่เพียงแค่ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเท่านั้น แต่หมายรวมถึงกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันและบริบททางสังคม ความเกรงใจและคำนึงถึงผู้อื่น ระลึกถึงผลกระทบจากการกระทำของเราที่มีต่อสังคมในวงกว้าง ในอุดมคติแบบญี่ปุ่นนั้นทุกกิจกรรมทางสังคมต้องยั่งยืน เป็นจิตวิญญาณแบบญี่ปุ่นที่พยายามสร้างมาตรฐานบางอย่างด้วยท่าทีสงบเสงี่ยมและมั่นคง มากกว่าความรวดเร็วหวือหวา หรือความพึงพอใจชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อคนญี่ปุ่นเริ่มต้นเอาจริงเอาจังกับบางสิ่งแล้ว สิ่งๆนั้นก็จะดำเนินต่อไปได้อย่างยาวนาน
cr. medical-wellnesstourism.blogspot
วัฒนธรรมญี่ปุ่นเต็มเปี่ยมไปด้วยการนำอิคิไกมาประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตและทำซ้ำไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาความยั่งยืน “ศาลเจ้าอิเสะ” (Ise grand shrine : Ise Jingu) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องความยั่งยืนแบบญี่ปุ่น กลางป่าใหญ่ในจังหวัดมิเอะ (Mie-ken) ทางตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าอิเสะ สถานที่สำคัญทางศาสนาชินโต อันมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์อิมพีเรียลของญี่ปุ่น เชื่อกันว่าเป็นสถานที่จัดเก็บเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของราชวงศ์ ทัศนคติของคนญี่ปุ่นสมัยใหม่ต่อศาสนาเป็นแบบทางโลก กล่าวคือคนญี่ปุ่นจำนวนมากไปสักการะศาลเจ้าอิเสะ แต่พวกเขาไม่ได้นับถือศาสนาชินโตอย่างลึกซึ้ง พวกเขาไปเยือนศาลเจ้าแห่งนี้เพื่อประสบการณ์ทางวัฒนธรรม
ชินโตไม่ใช่ศาสนาที่มีกฎระเบียบเคร่งครัด นอกเหนือบริบททางศาสนา ความสงบในป่าลึกผสานรวมกับสิ่งปลูกสร้างทางศาสนา ก็ส่งเสริมพลังทางปรัชญาร่วมสมัยของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมขาติ แง่มุมสำคัญที่ส่งเสริมกับการค้นหาอิคิไกคือ “กระบวนการรื้อสร้างศาลเจ้านี้เป็นระยะ ทุกๆรอบ 20 ปี” ศาลเจ้าจะถูกรื้อถอนลงอย่างพิถีพิถัน แล้วก็สร้างอาคารใหม่ที่มีโครงสร้างแบบเดิมเป๊ะๆลงบนพื้นที่ใหม่ ด้วยวัสดุใหม่ (การรื้อสร้างครั้งล่าสุดนั้นเมื่อปี 2013 และครั้งต่อไปคือปี 2033) มีข้อมูลบันทึกไว้ว่าการรื้อสร้างใหม่ทุกๆ20ปีนี้ทำต่อเนื่องสืบกันมา 1,200 ปีแล้ว จะมีเว้นไปบางช่วงก็เพราะสงครามหรือความวุ่นวายในสังคม
บริเวณทางเข้าศาลเจ้าอิเสะ cr. Sayhi Japan
ตัวอาคารศาลเจ้าอิเสะ cr. Wikimedia
การรื้อสร้างศาลเจ้าอิเสะต้องใช้ความเอาใจใส่ ความมุ่งมั่น และการตระเตรียมการอย่างละเอียดรอบคอบมากมายจนกล่าวไม่หมด ตัวอย่างเช่น จะต้องปลูกต้นสนฮิโนะคิไว้ล่วงหน้านานหลายสิบปี เพื่อจะได้ตัดมาใช้เป็นแผ่นไม้สร้างศาลเจ้าซึ่งต้องมีขนาดที่เฉพาะเจาะจง และต้องมาจากต้นสนที่มีอายุมากกว่า 200 ปีเท่านั้น ต้องใช้ช่างผู้เชี่ยวชาญด้านงานไม้ เพราะศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นโดยไม่ได้ใช้ตะปูแม้สักตัวเดียว การเตรียมต้นสนฮิโนะคิและฝึกฝนช่างไม้ให้มีทักษะเพื่อมาทำงานสร้างศาลเจ้าแห่งนี้เป็นส่วนสำคัญในการรักษาความยั่งยืน แนวคิดที่อธิบายว่าเพราะเหตุใดจึงต้องรื้อๆสร้างๆศาลเจ้าอิเสะทุก 20 ปีนั้นก็คือ เพื่อสืบทอดทักษะและประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันมีพระชินโตประมาณ 100 รูป และพนักงานอีกกว่า 500 คน มาทำงานให้กับศาลเจ้าแห่งนี้
ศาลเจ้าท้องถิ่นหลายหมื่นแห่งทั่วประเทศญี่ปุ่นได้รับความเคารพและบำรุงรักษาไว้โดยผู้คนในละแวกพื้นที่นั้น ผู้คนหลากหลายความสามารถและต่างนิสัยใจคอผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ นี่คือความมหัศจรรย์ของศาลเจ้าอิเสะที่ยังคงรักษาสถานะศักดิ์สิทธิ์ไว้ได้นับพันปี พวกเขาเหล่านั้นทำงานอย่างมีสำนึกรับผิดชอบ มีทัศนคติที่ดี มีความสามารถและน่าเชื่อถือ อีกทั้งการสงวนท่าทีและความถ่อมตัวของพนักงานศาลเจ้าอิเสะก็โดดเด่นโดยส่งผ่านออกมาจากผลงานอันยอดเยี่ยม กลไกของความยั่งยืนนี้อยู่ที่ตรงไหน? ในโลกเทคโนโลยีที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว และมนุษย์หมกมุ่นอยู่กับนวัตกรรมใหม่ๆ เราจะรับรู้ความยั่งยืนของวิถีชีวิตแบบอิคิไกได้อย่างไร?
ภาพถ่ายมุมสูงของผืนป่าที่สร้างโดยมนุษย์ โอบล้อมพื้นที่บริเวณศาลเจ้าเมจิ ใจกลางเมืองโตเกียว
ศาลเจ้าเมจิ (Meiji Shrine) ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโตเกียวเป็นอีกกรณีตัวอย่างของ “ความยั่งยืน” ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1920 อุทิศต่อจักรพรรดิเมจิ (Emperor Meiji, 1852-1912) ศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ เป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากต่างชาติต่างภาษา การเดินเล่นบนเส้นทางผ่านผืนป่าไปสู่ศาลเจ้าเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมจากทั้งต่างชาติและคนญี่ปุ่นเอง คุณจะได้สัมผัสลมหายใจของธรรมชาติที่ดำรงอยู่บนพื้นที่แห่งนี้มานานแสนนาน ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าใจกลางกรุงโตเกียวที่สร้างขึ้นด้วยมือมนุษย์ นักพฤกษศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง 3 คน เซโรคุ ฮอนดะ (Seiroku Honda) ทาคาโนริ ฮองโก (Takanori Hongo) และ เคอิจิ อุเอฮาระ(Keiji Uehara) จากพื้นที่แห้งแล้งกันดารพวกเขาค่อยๆเลือกพันธุ์ไม้อย่างพิถีพิถันบนพื้นฐานความเชี่ยวชาญเรื่องระบบนิเวศ การเปลี่ยนแปลงของพืชพันธุ์ต่างๆตามเวลาที่ผ่านพ้นไป ซึ่งถูกออกแบบวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าพื้นที่ป่าไม้ตรงนี้จะมีพัฒนาการไปจนถึงจุดสูงสุดและผ่านไปจนถึงสภาวะคงที่
เสาโทริอิ ด้านหน้าทางเดินสู่ศาลเจ้าเมจิ cr. Kono Toshihiko
เมื่อแผนการสร้างพื้นป่าใจกลางเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่นถูกประกาศสู่สาธารณชน ทางทีมงานก็ได้รับบริจาคต้นไม้กว่า 120,000 ต้น 365 สายพันธุ์ เพื่อร่วมกันทำความเคารพแด่จักรพรรดิผู้ล่วงลับ และเป็นจุดสิ้นสุดของยุคสมัย ผ่านมา 100 ปีพอดิบพอดีจนถึงวันนี้ผลลัพธ์ของการกระทำครั้งนี้คือธรรมชาติอันสงบสุข ทุกๆเช้าเราจะได้เห็นพนักงานช่วยกันทำความสะอาดเก็บกวาดใบไม้ร่วงบนทางเดินที่ทอดยาวตรงเข้าสู่ตัวอาคารศาลเจ้า ทั้งศาลเจ้าอิเสะและศาลเจ้าเมจิเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยซึ่งเป็นแบบอย่างแห่งความยั่งยืน เราจินตนาการได้เลยว่ามันจะถูกเก็บรักษาให้คงสภาพแบบนี้ต่อไปได้ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีกกี่ร้อยปี
อิคิไกของเราจะไม่สามารถยั่งยืนได้เลยหากปราศจากการชื่นชมความทุ่มเทของคนธรรมดา ในปรัชญาญี่ปุ่นอะไรที่ดูกลางๆธรรมดาๆนั้นไม่จำเป็นต้องธรรมดาเสมอไป ญี่ปุ่นเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้ด้วยมนุษย์ทำงานธรรมดาๆนี่เองและมันนำพาพวกเขาไปสู่จุดสมบูรณ์แบบ ระบบคุณค่าแบบรวมศูนย์กลางไว้ที่กลุ่มคนระดับบนเพียงไม่กี่คนนั้นไม่สามารถสร้างความยั่งยืนได้ ปัญหาคือ ธรรมชาติของมนุษย์เรามีระบบคิดในรูปแบบของชนชั้น ผู้ชนะ ผู้แพ้ ผู้นำ ผู้ตาม เหนือกว่า หรือเป็นรอง การศึกษาอิคิไกในบริบทของความยับยั้งชั่งใจและการแสดงออกอยากถ่อมตัวขณะพิจารณาความเป็นไปของวิถีชีวิตอันมีตัวเราเป็นส่วนหนึ่งในนั้น
ทางเดินทอดยาวไปสู่อาคารศาลเจ้าเมจิ ใจกลางกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น cr. cookiecompany
เราคือปัจเจกที่ยังคงเชื่อมโยงและพึ่งพาผู้อื่นเพื่อการเติบโต อิคิไกเป็นเรื่องราวตั้งแต่เกิดจนตายจากไป ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นระหว่างทางก็ตาม ลองจินตนาการว่าคุณอยู่ท่ามกลางผืนป่าอันเงียบสงบ สูดหายใจลึกๆแล้วลองคิดพิจารณาดูว่ามีเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ป่าแห่งนี้ยั่งยืน อิคิไกคือเรื่องราวเล็กๆ ความอดทน สามัญธรรมดา และมุมมองระยะยาว
cr. Bordee Budda
แล้วกลับมาร่วมกันเดินทางค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ในตอนต่อไปนะครับ
บางส่วนจากหนังสือ
The Little Book of Ikigai (อิคิไก : ความหมายของการมีชีวิตอยู่) เขียนโดย เคน โมงิ (Ken Mogi) แปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
สำนักพิมพ์ Move Publishing
โฆษณา