14 ม.ค. 2021 เวลา 04:59 • ปรัชญา
อิคิไก (Ikigai) : ยอมรับตัวเอง อย่างที่เป็น (ตอนที่ 6)
โทมิโซ ยามากุจิ (Tomizo Yamaguchi) ครูสอนทำขนมหวานและเจ้าของร้านซุเอโทมิ (Suetomi) ร้านทำขนมสำหรับใช้ในพิธีชงชาและโอกาสพิเศษต่างๆ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1893 ตั้งอยู่ในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น (Kyoto, Japan) ยามากุจิ เคยพูดไว้ว่า “ขนมหวานคือตัวแทนของดอกไม้ พวกมันต่างถูกสร้างมาให้แตกต่างกัน”
เหตุของความแตกต่างในรูปทรงและสีสันเล็กๆน้อยๆนั้นไม่ใช่เพราะความผิดพลาด หรือความบกพร่องทางทักษะฝีมือของผู้สร้างงาน ความเป็นจริงแล้วผลผลิตที่ออกมาไม่เหมือนกันคือ “เจตนาสร้างสรรค์ผลงานแบบชิ้นต่อชิ้น” ด้วยเพราะว่า “ความเหมือนโดยสมบูรณ์แบบนั้นไม่มีอยู่จริง เช่นดอกไม้ท่ามกลางธรรมชาติ”
วิธีคิดของกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (Mass Production) เชื่อว่าผลิตภัณฑ์หรือสินค้าต้องถูกผลิตออกมาโดยคำนึงถึงรูปแบบ ความแม่นยำ และคุณภาพที่สม่ำเสมอราวกับถูกถอดแบบกันมา ซึ่งวิธีการและวิธีคิดเช่นนี้ใช้ไม่ได้กับธรรมชาติ รวมถึงความเป็นมนุษย์ ผู้คนที่ล้อมรอบตัวเราล้วนแตกต่างกัน บุคลิกแตกต่างกัน หากคุณเพียงตั้งข้อสังเกต คุณจะเห็นความแตกต่างของแต่ละปัจเจกบุคคลได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
โทมิโซ ยามากุจิ (Tomizo Yamaguchi) เจ้าของร้านทำขนม ซุเอโทมิ (Suetomi) ที่มา: Gade Marumura
ยามากุจิ เชื่อว่า “ความผันแปร” คือหนึ่งในความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ การทำขนมทุกชิ้นให้แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยนั้นจึงสิ่งที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด มนุษย์นั้นแสดงออกถึงความผันแปรเสียยิ่งกว่าดอกไม้ซะอีก เพราะเราต้องสวมบทบาทต่างๆนาๆที่ถูกกำหนดโดยสังคม วัฒนธรรม และการเรียนรู้ ความพยายามที่จะทำตัวเราให้เหมือนคนอื่นจึงไม่ใช่เรื่องดี เราควรจะผ่อนคลาย “เพียงแค่เป็นตัวของตัวเอง”
บริเวณด้านหน้า และภายในร้านทำขนมซุเอโทมิ (Suetomi) ที่มา: kyoto-suetomi official website
มีสุภาษิตญี่ปุ่นที่กล่าวว่า “จูนิน โทอิโร” (Juunin Toiro : 十人十色) แปลอย่างตรงตัวว่า “สิบสี สำหรับสิบคน” มีนัยความหมายว่า “มนุษย์นั้นมีความแตกต่างหลากหลาย” ทั้งบุคลิกภาพ ความรู้สึก ระบบคุณค่าที่แต่ละคนยึดถือ คนเราเปรียบเสมือนสีสันที่แตกต่างกันออกไป การแสวงหา “อิคิไก” ของคุณนั้นเพียงแค่คุณเป็นตัวของตัวเองตามธรรมชาติ ให้มากเท่าที่ตัวคุณเองต้องการ
ที่มา: Instagram suetomi.kyoto
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านอาจจะคิดว่าการชื่นชมในความแตกต่างหลากหลายนั้นขัดแย้งกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของญี่ปุ่นไม่มากก็น้อย ประเทศแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรมและเชื้อชาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คุณคงจะเคยเห็นภาพของมนุษย์เงินเดือนชาวญี่ปุ่นอัดแน่นอยู่ภายในขบวนรถไฟ โดยมีพนักงานประจำสถานีพยายามบีบอัดฝูงชนเข้าไปในขบวนผ่านตามสื่อต่างๆ ภาพเหล่านี้คงดูห่างไกลจากความเคารพใน “ปัจเจกภาพ” ในญี่ปุ่นนั้นยังมีอีกหลายวัฒนธรรมที่น่ากังขา เช่น การแต่งงานและชีวิตครอบครัว หรือการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อเพศสภาพ คนญี่ปุ่นเองมักคิดว่าพวกเขาเป็นชาติที่สมัครสมานสามัคคี มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ว่าโลกเราจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดก็ตาม อย่างไรก็ตามคำอธิบายถึงข้อคัดแย้งในประเด็นนี้อาจสามารถมองผ่านการทำความเข้าใจถึงการแสดงออกอย่างปัจเจกภาพของคนญี่ปุ่นที่มีความลึกซึ้งมากกว่าที่เรามองเห็น
ที่มา: David Tesinsky
คนญี่ปุ่นมีอุปนิสัยเล็กๆน้อยๆที่สามารถรักษาปัจเจกภาพของตนเอาไว้ ในระหว่างชีวิตประจำวันที่จำเป็นต้องออกไปสานสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม เช่นหากย้อนเวลาทางประวัติศาสตร์ไปในยุคสมัยเอโดะ (เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1603) จนถึงก่อนเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ในยุคฟื้นฟูเมจิ (ค.ศ.1867) “โชกุนโตคุกาวา” (Tokugawa bakufu) ได้ออกคำสั่งพิเศษเพื่อธำรงความมั่นคงทางสังคมขึ้นมามากมาย หนึ่งในคำสั่งนั้นคือ “ให้หลีกเลี่ยงความหรูหราฟุ่มเฟือย” ด้วยเพราะเศรษฐกิจเอโดะในช่วงนั้นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว พ่อค้าต่างๆหาเงินในมากมายและใช้เงินกันอย่างมือเติบ โชกุนโตคุกาวา เชื่อว่า การแสดงออกถึงความหรูหราฟุ่มเฟื่อยนั้นจะส่งผลเสียต่อความมั่นคงทางสังคมและความเท่าเทียมระหว่างชนชั้น
พวกพ่อค้าที่ร่ำรวยเงินทองนั้นยอมทำตามคำสั่งของโชกุนที่มิอาจปฏิเสธและโต้เถียงได้ แต่ก็เพียงแค่ภายนอก พวกเขาได้แอบซุกซ่อนความหรรษาของความร่ำรวยไว้แบบลับๆ วิธีการหนึ่งคือการเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุราคาแพง โดยซุกซ่อนอยู่ภายใต้เสื้อผ้าด้านนอกที่ดูสงบเสงี่ยมเจียมตัว การรักษาภาพลักษณ์ภายนอกให้ดูยากจน และหันเหความสนใจมาสร้างตัวตนภายในให้เบ่งบานนั้นถูกบ่มเพาะมานานหลายร้อยปี มันคงเหมาะสมกับสภาพสังคมอื่นๆที่มีปัญหาเรื่องการจับจ้อง จับผิด วิพากษ์วิจารณ์กัน สังคมที่มีแรงกดดันสูง
ที่มา: Kawai Atsushi
วิธีการที่คนญี่ปุ่นใช้รักษาเอกลักษณ์ของปัจเจกบุคคล และในขณะเดียวกันก็รักษาภาพลักษณ์ภายในให้ดูสงบเสงี่ยม สงวนท่าที นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียในบริบทของสังคมสมัยใหม่ ข้อเสียหนึ่งคือ นวัตกรรมใหม่ๆที่มีกระบวนการรื้อทำลายสิ่งเก่านั้นยากที่จะเข้ามาบ่มเพาะและพัฒนาไปสู่จุดสูงสุดภายใต้วัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น คนที่มีบุคลิกดื้อรั้น หัวก้าวหน้าอย่าง สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) หรือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) นั้นไม่ค่อยได้รับการยอมรับในดินแดนแห่งนี้ บริการรูปแบบใหม่ๆที่จะเข้ามาปะทะกับธุรกิจเก่าแก่ที่วางรากฐานมาอย่างยาวนาน เช่น อูเบอร์ (Uber) และแอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ก็ยังต้องใช้เวลาอย่างค่อยเป็นค่อยไปกว่าที่จะได้รับการยอมรับในญี่ปุ่น การศึกษาในระบบโรงเรียนของญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มไปในทิศทางที่เน้นการรักษาสิ่งเดิมไว้มากกว่าการพยายามสร้างความแตกต่างหลากหลาย สภาพสังคมที่มีความเป็นไปเช่นนี้จึงส่งผลให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เลือกที่จะตามหาอิคิไกในพื้นที่ส่วนตัวของตนเอง วิธีการดำรงชีวิตแบบสงวนท่าทีอาจไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตามเราอาจกล่าวได้ว่ามันก็เป็นวิธีที่น่าสนใจทีเดียว
ที่มา: Michael Hoffman
มนุษย์เงินเดือนอาจดูเหมือนๆกันไปหมด แต่ภายใต้ความจำเจที่ห่มคลุมตัวตนพวกเขาอยู่ เขาอาจจะซุกซ่อนความชื่นชอบในอนิเมะหรือมังงะ (Anime & Manga) หรืออาจเป็นนักร้องนำวงดนตรีร็อกสมัครเล่น เสรีภาพแบบปัจเจกบุคคลนั้นถูกบ่มเพาะลึกลงไปอีกหลายชั้น ซึ่งอาจไม่เคยเปิดเผยออกสู่ระดับบนเลย “เอกลักษณ์ของปัจเจก” เป็นอะไรที่คุ้มค่าแก่การพยายามค้นหา การกำหนดอิคิไกของตนเองในฐานะปัจเจกที่สอดคล้องกับสังคมวงกว้างนั้นช่วยลดความตึงเครียดจากการแข่งขันและเปรียบเทียบลงไปได้มาก คุณไม่จำเป็นต้องเรียกร้องเพื่อให้ใครมาสนใจ บางครั้งคุณสามารถทำแค่เพียงกระซิบเบาๆให้กับตัวเอง
ที่มา: REUTERS
ทาเครุ ยามาชิตะ (Takeru Yamashita) คนทำเต้าหู้ที่อาศัยอยู่แถบชานเมืองโตเกียว (Tokyo, Japan) อาจเป็นนักปรัชญาที่เร้นกายอยู่ท่ามกลางผู้คนทั่วไป เขาสามารถนั่งอธิบายถึงความหลากหลายของเมล็ดถั่วอันเป็นวัตถุดิบสำคัญหนึ่งเดียวในการทำเต้าหู้ ราวกับกำลังพูดถึงจิตวิญญาณของมนุษย์ ท่าทางแปลกๆของยามาชิตะในเวลาที่เขาอธิบายถึงวิธีการทำเต้าหู้นั้นเป็นเอกลักษณ์ที่คุณสามารถพบเห็นได้เฉพาะในคนที่มีอิคิไกเฉพาะตัว โดยเฉพาะในประเทศที่การแสดงออกถึงปัจเจกไม่จำเป็นต้องทำตัวให้ดูหวือหวาเสมือนการเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น “อิคิไกและความสุขนั้นเกิดจากการยอมรับตัวเอง” ส่วนการถูกยอมรับจากผู้อื่นนั้นถือว่าเป็นของแถมหรือกำไร ข้อควรระวังคือการใช้วิธีการเช่นนี้ในบริบทผิดๆ มันจะกีดขวางสิ่งสำคัญที่สุดของการยอมรับตัวเอง อย่างที่ยามากุจิได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อตอนกล่าวถึงวิธีการรังสรรค์ขนมหวานในเกียวโตว่าทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติล้วนแตกต่าง มนุษย์เราแต่ละคนก็ล้วนแตกต่างกันออกไป มีความสุขในสิ่งที่คุณเป็นกันเถอะ
ที่มา: matcha-jp.com
หากคุณพยายามมองตัวคุณเองเสมือนเป็นผู้สังเกตการณ์จากภายนอก และคุณพยายามสำเร็จ คุณก็คงเดินทางมาถึงจุดที่สามารถยอมรับข้อบกพร่องหรือสิ่งที่ขาดหายไปของตัวเอง ความเข้าใจอันถ่องแท้และสดใหม่สามารถเกิดขึ้นได้จากจุดนั้น คุณอาจเกิดความกลัวที่จะเผชิญหน้ากับภาพที่แท้จริงของตนเอง ซึ่งมันอาจเป็นภาพที่เราไม่พิสมัยนัก ความลับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งของอิคิไกคือ “การยอมรับตัวเอง” ซึ่งไม่สำคัญว่าคุณคือใคร มันไม่มีเส้นทางหลักเพียงเส้นทางเดียวที่จะนำพาคุณไปสู่อิคิไก เราต้องค้นหาเส้นทางของตัวเอง แต่จงอย่าลืมที่จะมีความสุขระหว่างการเดินทางเพื่อค้นหาความหมายแห่งชีวิตครั้งนี้ มีความสุขในวันนี้ และในทุกๆวัน
Tokyo, Japan, 2018 ที่มา: บดี บุดดา
แล้วเรากลับมาร่วมกันค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่อีกครั้ง ในบทความตอนที่ 7 ซึ่งคงจะเป็นตอนสุดท้ายแล้วครับ ฝากติดตามด้วยนะครับ แล้วพบกันใหม่ :)
บางส่วนจากหนังสือ
The Little Book of Ikigai (อิคิไก : ความหมายของการมีชีวิตอยู่)
เขียนโดย เคน โมงิ (Ken Mogi) แปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
สำนักพิมพ์ Move Publishing
โฆษณา