15 มิ.ย. 2020 เวลา 14:41 • การเมือง
ถ้าประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP และ UPOV เหมือนเกษตรกรจะถูกปล้น จริงหรือไม่ วันนี้ผมอยากจะขอเล่ารายละเอียดเพื่อขยายความให้เข้าใจมากขึ้นครับ (2 / 5 )
จากความเดิมตอนที่ 1 การจะเข้าร่วม CPTPP เงื่อนไขนึงคือประเทศสมาชิกต้องยกระดับมาตรฐานความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และหนึ่งในนั้นคือ ต้องยอมรับ อนุสัญญาระหว่างประเทศ UPOV (UPOV Convention 1991) ที่เป็นข้อตกลงในด้านเมล็ดพันธุ์หรือพันธุ์พืชใหม่ อ่านตอนที่ 1 ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5ee4eccc3d014a0ca35c8661
ซึ่งทำให้กลายเป็นข้อสงสัยว่าแล้ว UPOV 1991 มันจะส่งผลกระทบอะไรกับเกษตรกรด้านเมล็ดพันธุ์บ้าง
UPOV คือ ความตกลงร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกในภาคี UPOV เพื่อคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ หรือถ้าอธิบายอีกแบบนึงมันคือ สิทธิบัตรของเมล็ดพันธุ์ นั่นเอง ซึ่งประเด็นเมล็ดพันธุ์มีรายละเอียดที่ไม่เหมือนสิทธิบัตรทั่วไป ดังนั้นเลยมีมาตรการคุ้มครองที่แยกต่างหาก
เจตนาของข้อตกลง UPOV คือ คุ้มครองเจ้าของสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์ หรือ นักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ ให้ได้รับประโยชน์จากการลงทุน วิจัย พัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ เพื่อให้คุ้มค่าการลงทุนวิจัย และมีแรงจูงใจในการวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ต่อยอดไปเรื่อยๆได้
แต่ในอีกมุมนึง การเพิ่มสิทธิเจ้าของเมล็ดพันธุ์ คือการลิดรอนสิทธิและวิถีชีวิตดั้งเดิมของเกษตรกรที่มีมาแต่นานแล้ว และในเมื่อประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีการลงทุนและวิจัยในเมล็ดพันธุ์มานาน ทำให้มีแต่บริษัททุนใหญ่และต่างชาติไม่กี่รายที่จะได้ประโยชน์เต็มๆ และกระทบกับเกษตรกรมากกว่าประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้ในภาพรวม ถ้าเข้าร่วม UPOV โดยไม่คิดถึงประเด็นนี้
พื้นฐานของ UPOV คือ เจตนาจะคุ้มครองสิทธิเฉพาะพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งหลักการจะคล้ายกับสิทธิบัตร คือ พันธุ์พืชใหม่ที่จะถูกคุ้มครองหรือจดสิทธิบัตรได้ ต้องเป็นพันธุ์พืชที่เป็นนวัตกรรม คือเป็นของใหม่ ที่ไม่ใช่พันธุ์พืชเดิมหรือพันธุ์พืชพื้นเมืองที่มีอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น
ดังนั้นหลักการพื้นฐานอย่างแรกเลยคือ UPOV กำหนดว่า ถ้าพันธุ์พืชใหม่ใดที่ถูกคุ้มครองแล้ว (จดสิทธิบัตรแล้ว) ห้ามมิให้คนอื่น ผลิต เลียนแบบ หรือ ขายเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ แข่งกับนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่หรือเจ้าของสิทธิบัตร เพราะแน่นอนว่าจะไม่ยุติธรรมกับนักปรับปรุงพันธุ์ที่อุตส่า ลงทุนลงแรง วิจัยพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ขึ้นมา
ประเทศไทยเองก็มี กฎหมาย คุ้มครองหลักการนี้อยู่แล้วคือ พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับ UPOV Convention 1978 ที่ให้สิทธิคุ้มครองพื้นฐานประเด็นนี้ เพียงแต่ UPOV 1991 มีการขยายสิทธิความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ให้กว้างกว่าเดิมมาก ทำให้ยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่ยอมรับ UPOV ฉบับ 1991
แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่ๆของเมล็ดพันธุ์ที่ไม่เหมือนสิทธิบัตรทั่วไปคือ การที่เกษตรกรสามารถใช้วิธีทางธรรมชาติในการขยายพันธุ์ได้เรื่อยๆ เช่น เมล็ดข้าว 1 เมล็ด เมื่อปลูกจะได้รวงข้าว 20 รวง และกลายมาเป็นเมล็ดข้าวใหม่ได้ถึง 2,400 เมล็ด ทำให้วิถีชีวิตธรรมชาติ กลายมาเป็นข้อจำกัดของผลประโยชน์ที่นักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่จะได้รับ
ทำให้ UPOV 1991 เริ่มขยายความคุ้มครองมาถึงประเด็นว่า ห้ามเกษตรกร เก็บเมล็ดพันธุ์พืชใหม่มาปลูกรอบถัดไป หรือ ถ้าเกษตรกรฝืนทำ จะถูกนักปรับปรุงพันธุ์พืชฟ้องร้องทางแพ่งได้ เจตนาคือ ถ้าเกษตรกรต้องการปลูกพันธุ์พืชใหม่ที่ถูกคุ้มครองอยู่ ต้องมาซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่เพื่อปลูกทุกครั้ง เพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ (Article 14.2)
ต้องเข้าใจว่าภาคการเกษตรในประเทศตะวันตกเหมือนเป็นอุตสาหกรรมมากกว่า คือมักจะเป็นเกษตรแปลงใหญ่มาก ทำให้ถ้าไม่คุ้มครองตรงนี้ ปล่อยให้เกษตรแปลงใหญ่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูก เพาะขยายพันธุ์ได้เอง นักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่จะเสียหายได้และไม่มีใครมาลงทุนวิจัยพันธุ์พืชใหม่อีกเลย
แต่ประเทศไทยและในอีกหลายประเทศกำลังพัฒนาไม่ใช่แบบนี้ ที่เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย UPOV เลยมีข้อยกเว้นแบบกว้างๆ ว่าประเทศสมาชิก UPOV สามารถอนุญาตให้เกษตรกรรายย่อยยังคงมีสิทธิในการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อเพื่อขายผลผลิตได้อยู่ แต่ก็ยังมีทิ้งท้ายไว้ว่า ต้องอนุญาตอย่างมีข้อจำกัดและคำนึงถึงผลประโยชน์ของนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่อย่างเพียงพอ (Article 15.2)
UPOV 1991 ยังคงให้สิทธิเกษตรกรพื้นฐานคือ การเก็บเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ มาปลูกเพื่อกินเองและมิใช่การค้า (Article 15.1) แต่การจะเก็บเมล็ดพันธุ์พืชใหม่เพื่อขายเมล็ดพันธุ์หรือแลกเปลี่ยนกันเองในหมู่เกษตรกรจะทำไม่ได้
การคุ้มครองเกษตรกรรายย่อยต่อการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชใหม่มาปลูกเพื่อขายผลผลิต เลยเป็นคำถามว่า แล้วประเทศสมาชิก UPOV จะเลือกคุ้มครองได้แค่ไหน ถึงจะไม่ขัดต่อหลักการของ UPOV ในกลุ่มประเทศ EU เคยมีการคุยกันว่าจะให้ความคุ้มครองต่อเกษตรกรรายย่อย ทีผลิตธัญพืชไม่เกิน 92 ตัน ซึ่งอาจจะถือไว้ว่าเป็นเกษตกรรายใหญ่สำหรับประเทศไทย ในขณะที่ประเทศเวียดนามเขียนไว้ว่า ถ้าเป็นเกษตรกรที่ผลิตในรูปแบบครัวเรือนจะคุ้มครองให้เก็บเมล็ดพันธุ์พืชใหม่มาปลูกเพื่อขายผลผลิตได้
UPOV แนะนำให้ประเทศสมาชิกอนุญาตเกษตรกรรายย่อยเก็บเมล็ดไปปลูกเพื่อขายผลผลิตได้เฉพาะเมล็ดเล็กหรือพืชไร่ เช่น ข้าว ข้าวโพด ฯลฯ แต่สำหรับ พืชยืนต้น ผลไม้, ดอกไม้ หรือ พืชผัก UPOV ไม่แนะนำ เลยกลายเป็นข้อจำกัดของประเทศไทยว่า ถ้าจะเข้าร่วม UPOV วิถีชีวิตเกษตรกรไทยจะได้รับผลกระทบขนาดไหน สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่แม้แต่เกษตรกรรายย่อยก็จะไม่สามารถทำตามวิถีชีวิตดั้งเดิมได้
คำถามสำคัญต่อมาคือ แล้วถ้าประเทศไทยเข้าร่วม UPOV จะคุ้มครองเกษตรกรรายย่อยรูปแบบไหน และ UPOV จะยอมรับต่อมาตรการกฎหมายไทยหรือไม่
เพราะรัฐบาลไทยเคยมีความพยายามที่จะพาประเทศไทยเข้าร่วม UPOV 1991 มาแล้วในสมัยรัฐบาล คสช. และเตรียมยกร่างพ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช 2560 แต่ถูกคนต่อต้านจำนวนมาก จนต้องยอมถอยร่างกฎหมายฉบับนี้ไป
ซึ่งในฐานะที่ผมลงมือศึกษา UPOV 1991 มาด้วยตนเอง และเมื่อเปรียบเทียบกับร่างพ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช 2560 นั่น ต้องยอมรับว่า ร่างปี 2560 นั้นถือได้ว่า “เลวร้ายมาก” มีเจตนาที่จะไม่เลือกคุ้มครองเกษตรกรเลย เลือกที่จะอยู่ข้างนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ หรือ บริษัททุนเมล็ดพันธุ์ อย่างเห็นได้ชัดเจน
ตั้งแต่ไม่คุ้มครองให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกเพื่อขายผลผลิตได้ ยังจะกำหนดให้เป็นอำนาจรัฐมนตรี สามารถกำหนดจำกัดเกษตรกร ต่อการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ใดไปปลูกแทน ซึ่งถ้ามองผ่าน จะกลายเป็นช่องทางให้รัฐมนตรีสามารถเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทเมล็ดพันธุ์ เพื่อออกข้อจำกัดกับเกษตรกรรายย่อยแทนได้
และร่าง ปี 2560 ยังขยายความคุ้มครองไปถึง ผลิตภัณฑ์ ซึ่งหมายถึงหลังจากแปรรูปจาก ผลิตผล เป็น ผลิตภัณฑ์แล้ว ถึงแม้ว่า UPOV 1991 จะไม่บังคับให้ประเทศสมาชิกต้องขยายความคุ้มครองไปถึงผลิตภัณฑ์เลย
ประเด็นปัญหาใหญ่ต่อมา คือ หลักการของ UPOV ที่ขยายความคุ้มครองไปถึง อนุพันธุ์พันธุ์พืชใหม่ (Essentially Derived Varieties, EDVs) เจตนาคือ ป้องกันไม่ให้มีผู้หยิบพันธุ์พืชใหม่ มาดัดแปลงหรือผสมพันธุ์เพิ่มนิดหน่อย แล้วไปผลิตเลียนแบบแข่งกับเจ้าของสิทธิพันธุ์พืชใหม่เดิม เลยกำหนดให้ขยายความคุ้มครองไปถึงพันธุ์พืชที่มีสารพันธุกรรมสำคัญของพันธุ์พืชใหม่ด้วย
ซึ่งหลักการนี้ ขัดแย้งกับความเป็นจริงทางธรรมชาติ ที่ว่าพันธุ์พืชมักจะมีการผสมพันธุ์ไปมาตามธรรมชาติเองอยู่แล้ว ตัวอย่างง่ายๆเช่น นาข้าวสองแปลงอยู่ติดกัน แปลงนึงใช้พันธุ์พืชใหม่ อีกแปลงไม่ได้ใช้ ลมหรือแมลงก็จะพัดทำให้เกิดพันธุ์พืชผสมได้เองอยู่แล้ว และพันธุ์พืชผสมยังไงก็จะมีสารพันธุกรรมของพันธุ์พืชใหม่แน่นอน
สิ่งที่จะเกิดขึ้น หลังจากไทยเข้าร่วม UPOV 1991 คือ เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์พืชใหม่มาปลูกเพื่อขายผลผลิต จะถูกบริษัทเมล็ดพันธุ์ฟ้องแพ่งได้ เกษตรกรขายผลผลิตที่มีพันธุ์พืชผสมที่มีสารพันธุกรรมของพันธุ์พืชใหม่ จะถูกบริษัทเมล็ดพันธุ์ฟ้องแพ่งได้ และหลักฐานการซื้อเมล็ดพันธุ์จะกลายเป็นยันต์ป้องกันจากการถูกฟ้องแพ่งนั่นเอง
ถ้าประเทศไทยไม่คุ้มครองเกษตรกรรายย่อยเพียงพอ จะมีช่องโหว่ทางกฎหมายในการบังคับใช้จริง จะกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุน ใช้เป็นเครื่องมือ ฟ้องร้อง ข่มขู่เกษตรกรได้ง่ายๆ เพื่อให้เกิดความกลัว กังวล ไม่อยากเสี่ยงถูกฟ้อง จะได้หันมาซื้อเมล็ดพันธุ์พืชใหม่จากบริษัทเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งให้จบเรื่องไป
นี่ยังไม่นับว่ากฎหมายไทย มักจะกำหนดโทษหนักกว่าผลการกระทำ ใช้โทษอาญาพร่ำเพรื่อ เช่น การขายเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ กลายเป็นโทษอาญาจำคุกไม่เกินสองปี อันนี้หมายถึง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ด้วย ทั้งที่ในความเป็นจริง เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของเกษตรกรรายย่อยอยู่แล้ว ว่าถ้ามีเมล็ดพันธุ์เหลือก็จะนำไปแลกหรือไปขายเพื่อเป็นรายได้เพิ่มเติม
ยิ่งถ้าขยายความคุ้มครองไปถึงพันธุ์พืชผสมแล้ว จะยังมีเกษตรกรรายไหนอยากจะเสี่ยงคุกขายเมล็ดพันธุ์อีก เพราะจะไปรู้ได้อย่างไรว่าเมล็ดพันธุ์ที่ตัวเองมีเหลือมันจะมีสารพันธุกรรมของพันธุ์พืชใหม่หรือไม่ กลายเป็นข้อจำกัดการหารายได้ของเกษตรกรไปอีก
ทั้งๆที่ ถ้ามีใครละเมิดสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชใหม่เลียนแบบ ทำเป็นธุรกิจใหญ่โต การกำหนดเป็นโทษแพ่งเพื่อเรียกร้องชดเชยความเสียหายทางธุรกิจ และไม่ให้มีการเอาเปรียบ ก็ยุติธรรมเพียงพอแล้วแล้ว
ดังนั้นถ้าจะสรุปว่า การเข้าร่วม CPTPP และ UPOV โดยไม่มีความคุ้มครองต่อเกษตรกรรายย่อยไว้เลย จะเป็น “การปล้น” เกษตรกรแน่นอน จากทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทเมล็ดพันธุ์
เงื่อนไขของ UPOV 1991 ทำให้หลายประเทศทั้งพัฒนาแล้ว เช่น อิตาลี นอร์เวย์ ยังไม่ยอมเข้าร่วม UPOV 1991 เลย และประเทศกำลังพัฒนาอีกส่วนใหญ่ก็ไม่อยากเข้า เช่น จีน อินเดีย บราซิล อาร์เจนติน่า ก็เลือกที่จะไม่เข้า (แต่เป็นภาคี UPOV 1978) รวมถึงมาเลเซีย เพื่อนบ้านและประเทศร่วมก่อตั้ง CPTPP เองที่วันนี้ก็ยังไม่ยอมเข้าร่วม UPOV 1991 เลย
UPOV 1991 อาจจะไม่ใช่คำตอบเดียวสำหรับประเทศไทย แต่สิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมแน่นอนคือ ประเทศไทยต้องทำการลงทุนวิจัย พัฒนาพันธุ์พืชใหม่ อย่างจริงจัง
เพราะหนีไม่พ้นความจริงที่ว่า ประเทศไทยต้องพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ตลอดเวลา ให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ให้มีพันธุ์พืชใหม่เป็นของตัวเองที่ตอบโจทย์ความต้องการตลาด ในต้นทุนที่แข่งขันได้ในโลกทุนนิยม ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยอยู่ที่ 460 กก./ไร่ ลำดับที่ 7 จาก 8 ประเทศในอาเซียนด้วยกัน และน้อยกว่าเวียดนามเกือบเท่านึงที่ 875 กก./ไร่ ซึ่งเมล็ดพันธุ์ก็คงจะไม่ใช่เป็นสาเหตุทั้งหมด
คนในภาคเกษตรรู้ดีว่าประเทศไทยกำลังเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันทางเกษตรลงเรื่อยๆ เพราะผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าคู่แข่งที่พัฒนาตลอดเวลา และกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทยในอนาคต
บทสรุปที่ดีที่สุดของประเทศไทยคงไม่ใช่ทั้ง รีบเข้าร่วม UPOV หรือ ไม่เข้าร่วม UPOV เลย แต่ประเทศไทยต้องยกระดับ การลงทุน วิจัยพัฒนาพันธุ์พืชใหม่สำหรับภาคเกษตรไทย และให้ความคุ้มครองเกษตรรายย่อยต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับบริบทของประเทศไทย ไม่ใช่ตามมาตรฐานของประเทศตะวันตก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา