16 มิ.ย. 2020 เวลา 14:00 • การเมือง
ทำไมเข้าร่วม CPTPP ยาในประเทศไทยถึงจะแพงขึ้นได้ (3 / 5)
CPTPP และความเสี่ยงสาธารณสุข
จากความเดิมตอนที่ 1 การจะเข้าร่วม CPTPP เงื่อนไขนึงคือประเทศสมาชิกต้องยกระดับมาตรฐานความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และหนึ่งในนั้นเป็นประเด็นเรื่อง สิทธิบัตรยา และ CPTPP ใช้ข้อตกลงส่วนใหญ่มาจาก TPP ซึ่งประเด็นสิทธิบัตรยา บางข้อได้ถูกยกเลิกไปเมื่อมาเป็น CPTPP พร้อมกับที่อเมริกาได้ถอนตัวออกไป แต่ยังคงเหลือบางประเด็นที่แอบแฝงทิ้งท้ายไว้อยู่ อ่านตอนที่ 1 ได้ที่ https://www.facebook.com/TleWoraphop/posts/3350702514940495
บางข้อกำหนดของ CPTPP ที่ยังเหลืออยู่ กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ยาในประเทศไทยแพงขึ้นได้ โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็นคือ Patent Linkage การเชื่อมข้อมูลสิทธิบัตรยา และ การใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา หรือ CL
ท้าวความก่อนว่า ยาที่วางขาย แบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ยาต้นแบบ (Original Drug) คือยาที่ยังมีสิทธิบัตรคุ้มครองอยู่ 20 ปี และ ยาสามัญ (Generic Drug) คือยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว และบริษัทผู้ผลิตยาสามัญสามารถผลิตยาตามสูตรยาต้นแบบมาขายแข่ง และโดยทั่วไป ยาต้นแบบมักจะมีราคาแพงเพราะต้นทุนยาส่วนมากคือต้นทุนการวิจัยเพื่อพัฒนายาใหม่ ดังนั้นเมื่อยาสามัญวางขายในตลาด อาจจะทำให้ราคายาสามัญที่มีสูตรยาเดียวกัน ราคาถูกลงมากกว่า 90% ของยาต้นแบบได้เลย
ประเด็นแรก คือการที่ข้อกำหนด 18.53 ของ CPTPP กำหนดให้ประเทศสมาชิก ต้องมีมาตรการคุ้มครองการวางตลาดยา อธิบายง่ายๆ เจตนาของข้อนี้คือ ต้องการคุ้มครองเจ้าของสิทธิบัตรยามากขึ้น และทำให้การวางขายยาสามัญทำได้ยากขึ้น ถ้าประเทศไทยจะเข้าร่วม อย.ไทยจะมีทางเลือก 2 ทาง
ทางที่หนึ่ง คือ อย.ไทย ต้องมีระบบแจ้งเตือนเจ้าของสิทธิบัตรยา ว่ามีบุคคลอื่นพยายามจะวางตลาดยาที่ยังอยู่ในระยะคุ้มครองสิทธิบัตร เพื่อให้เจ้าของสิทธิบัตรรู้ตัวก่อนและใช้มาตรการต่างๆเช่น สิทธิทางศาล ซึ่งโดยปกติบริษัทผลิตยาสามัญจะยื่นขอจดทะเบียน อย. ล่วงหน้าก่อนหมดอายุสิทธิบัตรยา เพื่อจะสามารถวางขายยาสามัญได้ทันทีเมื่ออายุสิทธิบัตรยาหมดอายุ ทางเลือกนี้ทำให้บริษัทผู้ผลิตยาต้นแบบสามารถใช้มาตรการอื่นๆ ขัดขวางการจดทะเบียนยาสามัญให้ล่าช้าออกไปได้ และนั่นหมายถึงยาสามัญราคาถูกจะวางตลาดได้ช้าและคนไทยจะต้องเสียเงินซื้อยาต้นแบบราคาแพงยาวไปอีก และยังเป็นการเพิ่มงานให้ อย.กลายเป็นทำหน้าที่แทนเสมียนของบริษัทยา เพราะต้องคอยมานั่งแจ้งเตือนเมื่อมีความพยายามจะวางตลาดยาแข่ง
ทางเลือกที่สอง คือ อย.ไทย ห้ามใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยาที่ อย.มีอยู่กับ บุคคลอื่น หรืออธิบายง่ายๆว่า ห้ามอย.ใช้ข้อมูลผลการทดลอง ทดสอบยาต้นแบบ ที่มีอยู่ใช้อนุมัติยาสามัญที่จะมาจดทะเบียนยากับ อย. ทั้งๆที่ ยาสามัญจะเป็นสูตรยาตัวเดียวกับยาต้นแบบทุกอย่างอยู่แล้วและเป็นเรื่องที่อย.ไทยปฏิบัติมานาน ทำให้บริษัทยาสามัญต้องลงทุน ทดลองทดสอบผลการใช้ยาใหม่อีกครั้งนึง และทำให้ยาสามัญวางตลาดใหม่ได้ยากขึ้นไปด้วย
ประเด็นที่สอง คือเรื่อง การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing, CL) ของประเทศไทย ขออธิบายสิทธิ CL ง่ายๆ คือสิทธิที่รัฐบาลไทยจะละเมิดสิทธิบัตรยาเพื่อใช้รักษาคนในประเทศด้วยยาที่เหมาะสมที่สุด
สิทธิ CL นี้เป็นสิทธิที่รับรองโดยข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศใหญ่ๆคือ ข้อตกลง TRIPS ขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งมาตรา 31 ของ TRIPS รับรองการใช้สิทธิ CL ไว้ 3 อย่างคือ 1.ภาวะฉุกเฉินระดับชาติ 2.สถานการณ์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน 3.การใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะที่มิใช่เชิงพาณิชย์
แต่ข้อกำหนด CPTPP ข้อ 18.6 รับรองให้ประเทศสมาชิกใช้มาตรการทางสาธารณะสุข เพียง 2 ข้อ คือ 1.ภาวะฉุกเฉินระดับชาติ 2.สถานการณ์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ไม่ระบุเหตุผล ข้อ 3 คือด้านการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะที่มิใช่เชิงพาณิชย์ ที่เป็นเหตุผลส่วนใหญ่ที่ประเทศไทยใช้สิทธิ CL ยามาโดยตลอด
ยกตัวอย่างเช่น ยาต้านมะเร็ง ที่รัฐบาลไทยเคยใช้สิทธิ CL ยา อาจจะไม่สามารถอ้างว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน หรือ สถานการณ์ความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อใช้สิทธิ CL ยา มารักษาชีวิตคนไทยได้เหมือนเดิมอีกต่อไป และนั่นหมายถึงถ้าประเทศไทยอยากจะใช้ยา ก็ต้องไปซื้อยาต้นแบบ จากบริษัทยาต่างชาติในราคาที่แพงขึ้นกว่าเดิม และมันหมายถึงความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะใช้สิทธิ CL ยา กับยาในอนาคตอีกด้วย
และถ้าประเทศไทย ฝืนจะใช้สิทธิ CL ยา ก็จะเสี่ยงถูกบริษัทยาต่างชาติฟ้องผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการได้ง่ายขึ้น โดยกลไกอนุญาโตตุลาการ เสมือนคือการที่บริษัทเอกชนฟ้องรัฐบาลไทย ผ่านศาลระหว่างประเทศ ไม่ใช่ผ่านศาลไทยปกติ ซึ่งประเทศไทยมักจะมีประสบการณ์เสียค่าโง่ผ่านอนุญาโตตุลาการมาหลายครั้ง ตั้งแต่ ค่าโง่ทางด่วน, คลองด่าน ฯลฯ
เพราะข้อตกลง CPTPP เปิดช่องให้ บริษัทยาฟ้องรัฐบาลไทยด้วยกลไกอนุญาโตตุลาการ แต่ในขณะที่ ข้อตกลง TRIPS ให้เป็นการฟ้องระหว่างรัฐบาลและรัฐบาลเท่านั้น
ข้อกำหนดแบบนี้ใน CPTPP ทั้งประเด็น Patent-Linkage และ CL ยามองเป็นเจตนาได้ว่า CPTPP มีความต้องการให้ประเด็นเรื่องยา ใช้ข้อตกลงเฉพาะใน CPTPP และไม่ตามข้อตกลงสากลอย่าง TRIPS ของ WTO ทั้งหมด
ทิ้งท้ายว่า CPTPP เปิดช่องให้เอกชนต่างชาติ ฟ้องรัฐบาลไทย ผ่านอนุญาโตตุลาการได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่บริษัทเอกชนจะสามารถฟ้องอนุญาโตตุลาการได้เฉพาะการลงทุนทางตรง Foreign Direct Investment (FDI) เท่านั้น ตามความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน Bilateral Investment Treaties (BITs) ที่ประเทศไทยเคยทำไว้ กลายเป็นการลงทุนที่รวมถึง การลงทุนทางอ้อน เช่น หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร ด้วย หมายถึง ขอเพียงเป็น ผู้ถือหุ้นต่างชาติในบริษัทตลาดหลักทรัพย์ ถ้ารัฐบาลมีนโยบายใดกระทบต่อผลประโยชน์ของบริษัทตลาดหลักทรัพย์ ก็เสี่ยงที่รัฐบาลไทยจะถูกฟ้องอนุญาโตตุลาการได้ง่ายขึ้น
ซึ่งทำให้ถ้าประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP จะมีความเสี่ยงค่าโง่ในรูปแบบใหม่มากขึ้น ทั้งจากการใช้สิทธิ CL หรือ การลงทุนทางอ้อม และกลายเป็นข้อจำกัดนโยบายสาธารณะของรัฐบาลไทย ถ้าจะกระทบกับผลประโยชน์ของบริษัทเอกชนต่างชาติ ก็เสี่ยงที่รัฐบาลไทยจะถูกฟ้องอนุญาโตตุลาการได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
#ก้าวไกล #CPTPP #NoCPTPP
ตอน 1 CPTPP 101 ประโยชน์และผลกระทบเขตการค้าเสรี https://www.blockdit.com/articles/5ee4eccc3d014a0ca35c8661
ตอนที่ 2 CPTPP และ UPOV ปล้นเกษตรกรจริงหรือไม่ https://www.blockdit.com/articles/5ee788a7c366ea2717756277

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา