17 มิ.ย. 2020 เวลา 07:55 • ศิลปะ & ออกแบบ
ทำความเข้าใจ Brand และ Ci (ตอน1)
คลายข้อสงสัย Brand กับ Ci แตกต่างกันอย่างไร
ทฤษฏีต้นไม้ ที่ว่าด้วย Brand และ Ci
หากเปรียบเทียบ “ธุรกิจ” เป็นดั่ง “ต้นไม้” Brand คงเปรียบเหมือน “ราก” อันเป็นเสาหลักที่สำคัญส่วน Ci เป็นเหมือนดั่ง “ลำต้น” ที่ผลิดอกออกใบอันสวยงาม ให้เติบโต เบ่งบาน อันเป็นผลลัพธ์ของการแสดงออก ถึงความเป็นตัวตนของ ธุรกิจ ให้คนภายนอกได้รับรู้ และเข้าใจ
ทำให้เป็นที่มาของเหตุผลที่ว่า เพราะเหตุใด Brand กับ Ci ทั้งสองอย่างนี้ จึงไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง นั่นก็เพราะว่า ทั้งสองสิ่งเหล่านี้ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ขาด Brand ที่เป็นรากไป สารอาหารก็ไม่สามารถไปถึง Ci ที่เป็นลำต้นได้ กลับกันหากขาด Ci ที่เป็นลำต้นไป ก็คงไม่มีใครสามารถรับรู้ แล้วเข้าใจการมีอยู่ของ “ราก” ได้เช่นกัน
แต่ก่อนอื่น ก่อนที่เราจะไป เจาะลึกถึงหน้าที่ของ Brand และ Ci … อยากจะถามว่าคุณเข้าใจ 2 สิ่งเหล่านี้กันดีหรือยัง … ? เพราะถ้ายังละก็ บอกได้เลยว่ามันไม่ใช่ปัญหา และคุณมาถูกทางแล้ว นั่นก็เพราะว่า ในวันนี้เราพาคุณทำความรู้จัก และชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของทั้ง 2 สิ่งนี้กันแบบชัด ๆ ราวกับความละเอียด HD 1080P กันเลยทีเดียว เอาเป็นว่าสำหรับใครที่ยังมึนงง หรือยังไม่เข้าใจเรื่อง Brand และ Ci มากพอที่จะแยกความแตกต่างของทั้ง 2 สิ่งนี้ได้ บทความต่อไปนี้ล่ะ คือคำตอบสุดท้าย และเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด ที่คุณไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง
“Brand” รากไม้ใหญ่ที่สำคัญ กับหน้าที่เบื้องหลังที่เป็นได้มากกว่าเพียงชื่อธุรกิจ
เมื่อพูดถึงคำว่า Brand ภาพจำในหัวของใครหลาย ๆ คน คงหนีไม่พ้นกับการเป็น “ตราสินค้า” แต่ถ้าเจาะลึกไปดูความหมายของมันจริง ๆ แล้ว Brand ไม่เป็นเพียงแค่ชื่อสินค้า ไม่ใช่เป็นเพียง Logo หรือ ไม่ใช่เป็นแค่เพียงโฆษณา หากแต่หมายถึง “ความรู้สึก หรือ ความประทับใจโดยรวมต่อสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นภายในจิตใจของผู้บริโภค”
ซึ่งที่ไปที่มาของความรู้สึก และความประทับใจต่อสินค้า และบริการนั้น ก็มาจากหลายส่วนประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา ประสบการณ์การใช้งานสินค้า/บริการ และภาพลักษณ์ขององค์กร เป็นต้น โดยหน้าที่หลักของแบรนด์มีอยู่ 2 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้
.
1. กำหนดตำแหน่ง หรือทิศทางการตลาดของสินค้า (Positioning)
อย่างที่เคยได้บอกไปข้างต้น ว่า Brand เปรียบเป็นเหมือนรากไม้ ดังนั้น การที่จะทำให้ส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ อุดม สมบูรณ์ได้ ก็ต้องมาจากรากไม้ที่แข็งแกร่ง และแข็งแรง แต่ที่มากไปกว่านั้น รากก็ต้องมีความสามารถในการหาน้ำมาเลี้ยงต้นให้ได้ และนั้นก็คือหน้าที่ของ Brand เช่นกัน ที่ต้องมีการวางแผนด้านการตลาดให้เฉียบคม เฉียบแหลม เพื่อจะ ได้หาแหล่งน้ำมาหล่อเลี้ยง อันเป็นเงินกำไรไปสู่ลำต้นนั่นเอง ซึ่งในวงการของการทำธุรกิจ คำว่าอ่อนแอก็แพ้ไป เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ จริง ๆ เพราะหากคุณไม่สามารถหาแหล่งน้ำได้มากพอ นอกจากจะทำหน้าที่ของรากบกพร่องแล้ว ก็ยังจะนำไปสู่การที่ ทำให้ต้นไม้ตายลงอย่างช่วยไม่ได้อีกด้วย เรียกง่าย ๆ ว่า “เจ๊ง” นั่นเอง ซึ่งคุณคงไม่อยากให้กรณีนี้ เกิดขึ้นกับการทำธุรกิจของคุณหรอก ใช่มั้ย !?
.
2. การสร้างความแตกต่างทางด้านความรู้สึก และอารมณ์ (Differentiation)
ถึงแม้ว่าจะเป็นรากเหมือนกัน แต่ใช่ว่าจะเหมือนกันไปทั้งหมดทุกส่วน !
ดังนั้น Brand ก็ต้องหาวิธี สร้างความรู้สึกแตกต่างทางด้านความรู้สึก และอารมณ์แก่ผู้บริโภคให้ได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากเปรียบธุรกิจคุณเป็นเหมือนกับต้นองุ่น ซึ่งต้นของคุณ ก็อยู่ท่ามกลางไร่องุ่นที่เต็มไปด้วยต้นอื่น ๆ อีกมากมาย หน้าที่ของ Brand ที่เป็นราก ก็คือ จำเป็นต้องหาวิธี ที่จะต้องทำอย่างไรก็ได้ เพื่อเกิดการสร้างความแตกต่าง ที่เน้นย้ำว่า ต้องเป็นความแตกต่างที่โดดเด่นมากพอที่จะดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาหาเราได้ เช่น คุณอาจจะมีการพัฒนาสายพันธุ์ตัวเอง จากองุ่นทั่วไป เป็นองุ่นไร้เมล็ด หรือองุ่นสีสันต่าง ๆ เป็นต้น
โดยหน้าที่หลักเหล่านี้ หากสามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ก็จะพลอยทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี มากพอจะหล่อเลี้ยงให้ลำต้นที่เป็น Ci ให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย และจงจำไว้เสมอว่า ก่อนที่จะทำให้ให้ลำต้นสวยงาม น่าดึงดูด น่าสนใจได้ Brand ก็ต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เต็มความสามารถเช่นเดียวกัน
เพราะ “ลำต้น” จะงามได้ ใช่ว่าจะงามได้จากทางใบได้ทั้งหมด แต่ลำต้นจะงดงามได้อย่างยั่งยืน ก็ต้องพึ่งรากเป็นสำคัญนั่นเอง“
“Corporate Identity Brand“ (Ci) สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ลำต้น“ ตัวตนที่บ่งบอกได้ถึงอัตลักษณ์ และภาพจำของตัวธุรกิจ
การที่ผู้คนจะรู้จัก หรือจดจำธุรกิจของเราได้ คงไม่มีใครดูรากหรอกว่ามั้ย เพราะส่วนใหญ่เขาดูกันที่ลำต้นทั้งนั้น !
และสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง ที่เป็นหน้าที่หลัก ๆ ของ Corporate Identity หรือ Ci อย่างที่เคยบอกไปในข้างต้น การมองรากองุ่น แล้วไม่รู้ว่าเป็นต้นอะไร มันไม่ใช่เรื่องผิด แต่การมองต้นองุ่น แล้วไม่รู้ว่ามันคือต้นองุ่นนี้แหละ คือเรื่องใหญ่แล้วล่ะ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นหน้าที่ และโจทย์ที่ Ci ต้องมองให้ออก ตีโจทย์ให้แตก แล้วนำเสนอออกมาให้ผู้บริโภคเข้าใจ และจดจำธุรกิจให้ได้
โดยเบื้องหลังของการสร้างภาพจำของธุรกิจของ Ci คือการจัดวางการนำเสนอของธุรกิจ ในทุก ๆ บริบทให้อยู่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น การใช้งานกราฟิกต่าง ๆ ภาษาเขียนที่ใช้นำเสนอ รวมไปถึงกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับการทำ Social Media และ Promotion ดังนั้นแล้ว Ci จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่โลโก้อย่างเดียว อย่างที่อาจจะเคยเข้าใจกันมาก่อน
Ci คือทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้ผู้บริโภค และคนทั่วไปจดจำคุณได้ในฐานะของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ในรูปแบบที่คุณอยากให้คนเหล่านั้นรู้จัก ซึ่งโดยทั่วไป และส่วนใหญ่แล้ว คนทั่วไปมักจะรู้จักธุรกิจผ่านทาง 3 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้
.
1. โลโก้ (Logo) หรือ เครื่องหมายการค้า
ลำต้นขององุ่น จะให้โชว์ไปรูปของทุเรียนก็ใช่เรื่อง เช่นเดียวกันกับ ที่จะทำให้คุณรู้จัก และจดจำธุรกิจของคุณได้ง่ายมากยิ่งขึ้น รูปแบบของการนำเสนอโลโก้ ก็ต้องถูกออกแบบ และสามารถสื่อไปในทิศทางเดียวกันกับตัวธุรกิจด้วย โดยขอแนะนำ และเน้นย้ำว่า การออกแบบโลโก้ธุรกิจที่ดี หนึ่งต้องจดจำง่าย และสองคือต้องไม่ซ้ำใคร เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำได้ยาก … แต่ว่าสามารถทำได้ !
.
2. สี (Color) ตัวหลักในการกำหนด Mood&Tone ของธุรกิจ
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า หน้าที่ของสีนั้น มีคุณสมบัติในการสร้างอารมณ์ และความรู้สึกได้เป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงทำให้การเลือกสีหลักของธุรกิจ เป็นสิ่งที่ต้องมองให้ลึกลงไปมากกว่าความสวยงาม หากแต่ต้องมองไปถึงความหมายของสีที่ใช้อีกด้วย เช่น สีแดง ที่มองแล้วเกิดความรู้สึกสนุก น่าตื่นเต้น กลับกันที่มองไปยัง สีขาว หรือดำ ที่ให้ความรู้สึก เงียบ สุขุม เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น สีก็ยังเป็นอีกหนึ่งส่วนหลัก ที่จะกำหนดคาแรกเตอร์ให้กับธุรกิจได้ แต่ !!! สีที่เลือกนั้นก็ต้องเข้ากันธุรกิจด้วย เช่น ธุรกิจต้นองุ่น ที่คงต้องเลือกโทนสีม่วง มากกว่าโทนสีเหลืองอยู่แล้ว … ว่ามั้ย !?
.
3. รูปแบบตัวอักษร (Font)
การเลือกใช้ Font ก็เป็นหนึ่งส่วนที่สำคัญ โดยเฉพาะกับการกำหนดเลือกใช้ Font ใด Font หนึ่งเป็นหลักในธุรกิจนั้น ๆ ที่จะโยงมาถึงการใช้เพื่อสำหรับการทำกราฟิกอีกด้วย แนะนำให้กำหนด Font ที่ใช้ในธุรกิจไม่เกิน 2–3 รูปแบบก็เพียงพอแล้ว อย่าเยอะไปมากกว่านี้ เพราะมันจะสร้างความไม่สม่ำเสมอของการนำเสนอธุรกิจได้ จนจะก่อให้เกิดความสับสน และความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของธุรกิจได้ง่าย ๆ และจงจำไว้เสมอว่า อย่าเปลี่ยน Font บ่อย ๆ โดยเด็ดขาด ! เพราะนั่นเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลัก ที่ทำให้ผู้บริโภค จดจำธุรกิจของคุณไม่ได้สักที
"น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่าฉันใด Brand และ Ci ก็ต้องพึ่งพากัน และกันฉันนั้น !"
เพราะธุรกิจจะรอดได้ Brand ก็เป็นต้องทำหน้าที่ให้อย่างเต็มที่ ครบครัน และการที่คนจะจดจำธุรกิจได้นั้น Ci ก็ต้องมีทักษะ รูปแบบในการนำเสนอที่ดี และโดดเด่นด้วย … ถึงเวลาแล้ว ที่จะมาทำให้ต้นไม้ใหญ่ อันเป็นธุรกิจของคุณ เติบโตขึ้นไปได้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็น ด้วยการจัดการ และวางระบอบของ Brand และ Ci ให้ดีมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ติดตามอ่านตอนแรกได้ที่ : ทำความเข้าใจ Brand และ Ci (ตอน 2)
ติดตามอ่านบทความสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ และ แบ่งปันทริคง่าย ๆ
ผ่านบทความ การสร้างแบรนด์ ธุรกิจ ดีไซน์ เพิ่มเติมได้ที่ :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา