4 ส.ค. 2020 เวลา 00:10 • การศึกษา
ว่ากันว่า “มนุษย์เงินเดือน” มีความมั่นคงมากกว่าคนที่ทำอาชีพอิสระ หรือ นักธุรกิจทั่วไป เพราะมีรายได้ที่แน่นอน โอกาสตกงานก็มีน้อย ความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างก็ต่ำ แถมถ้าลาพักร้อน ลาป่วย ลากิจ ก็ยังมีรายได้เหมือนเดิม แสดงถึงการมีความเสี่ยงที่ต่ำ
แต่ในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ คำกล่าวข้างต้น อาจจะไม่ค่อยถูกต้องแล้ว เพราะปัจจุบันมีเหตุการณ์ที่บริษัทเจ๋ง และปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงานมาให้เห็นนักต่อนักแล้ว แต่ก็ยังจัดว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่ากลุ่มอื่นอยู่ดี
การทำงานก็เหมือนกับการลงทุน “ถ้าความเสี่ยงต่ำ โอกาสได้รับผลตอบแทนก็จะต่ำไปด้วย” ดังนั้น กว่าจะมั่งคั่งก็คงต้องใช้เวลามากกว่าคนที่ทำอาชีพอิสระ หรือ นักธุรกิจ
ดังนั้นถ้า “ทำงานความเสี่ยงต่ำ” เช่นมนุษย์เงินเดือนแล้ว ก็ควรให้เงินทำงานหนักแทนเราด้วยการ “ลงทุนความเสี่ยงสูง” เช่น ลงทุนในกองทุนรวมหุ้น หรือหุ้นพื้นฐานดี เงินจะได้งอกเงย เพิ่มค่าทันกับเงินเฟ้อ หรือให้พอใช้ในยามเกษียณได้
แต่ถ้าทำงานความเสี่ยงต่ำ แล้วยังไปลงทุนความเสี่ยงต่ำอีก เช่น การฝากเงินกับธนาคาร แบบนี้โอกาสที่เงินจะเติบโต เห็นทีจะใช้เวลานานแสนนานเลยทีเดียว
ปัจจุบันมีวิธีการลงทุนแบบหนึ่งที่เรียกว่า DCA ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นวิธีการลงทุนที่สะดวก เหมาะกับผู้ที่ทำงานประจำหรือมนุษย์เงินเดือน และผู้ที่มีความสนใจ จะลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง แต่ยังไม่มีความรู้เรื่องการจับจังหวะตลาดที่มากพอ ไม่มีเวลาในการติดตามราคา และอาจจะยังไม่พร้อม ที่จะลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ได้
DCA คืออะไร
DCA หรือ Dollar Cost Average คือ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย เป็นวิธีการหนึ่งในการออมเงินผ่านตลาดหุ้น จากแต่ก่อนที่มักจะออมเงินผ่านเงินฝากธนาคารที่รอครึ่งปีหรือสิ้นปีก็รับดอกเบี้ย แต่ด้วยสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างจะต่ำเตี้ยเรี่ยดินมากๆ ก็อาจจะหันมาออมเงินผ่านตลาดหุ้นแทน เพราะว่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็มีบริษัทดีๆ ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าทั้งในด้านผลกำไร และเงินปันผล ซึ่งโดยรวมแล้วการออมในหุ้น DCA จึงมักจะดีกว่าการออมผ่านธนาคาร แต่ด้วยตลาดหุ้นที่มีความผันผวนค่อนข้างมาก จึงมีการแบ่งการลงทุนเป็นงวดๆ อย่างสม่ำเสมอ เราจะไม่ได้ราคาที่ต่ำที่สุด และจะไม่ได้ราคาที่สูงที่สุด แต่จะได้ราคากลางๆ ที่เกิดจากการเฉลี่ยนั่นเอง จึงเรียกว่า Dollar Cost Average
โดยการ DCA เป็นแนวทางลงทุนที่ใช้วินัยและความอดทนเป็นหลัก เพื่อลดปัจจัยด้านอารมณ์เกี่ยวกับราคาและความผันผวนในตลาด เป็นวิธีการลงทุนในหลักทรัพย์แบบสม่ำเสมอ
เช่น เราตั้งไว้ว่าทุกวันที่ 1 ของเดือน ให้ระบบหักเงินไปซื้อหุ้นหรือกองทุนจำนวน 2,000 บาท โดยไม่สนใจว่าราคาจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งถ้าเดือนไหน ราคาหุ้นสูงขึ้นเราก็ซื้อได้จำนวนน้อยหน่อย ถ้าราคาหุ้นลดลงเราก็ซื้อได้จำนวนมากขึ้น
ก่อนเริ่มลงทุน เราควรทำความเข้าใจลักษณะการลงทุนแบบ DCA ให้ดีและลองสำรวจตัวเองดูว่า เราเหมาะกับการลงทุนด้วยวิธีนี้หรือไม่ โดยการลงทุนแบบ DCA มีลักษณะที่ควรรู้ดังต่อไปนี้
🎗 เป็นการลงทุนแบบระยะยาว เช่น 5 ปี 10 ปี เป็นต้น
🎗 มีความสามารถในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอได้หรือไม่
🎗 มีการกำหนดช่วงเวลาการลงทุนไว้อย่างแน่นอนเป็นงวดๆ เช่น ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกไตรมาส เป็นต้น
🎗 มีการกำหนดจำนวนเงินที่ต้องใช้สำหรับการลงทุน เป็นจำนวนคงที่เท่าๆ กัน ในแต่ละงวด
🎗 ต้องมีวินัยในการลงทุน ไม่หวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะการลงทุนที่เกิดขึ้นในตลาด
ขั้นตอนการลงทุน แบบ DCA
สามารถลงทุน DCA ได้ทั้งในหุ้นและกองทุนรวม โดยทั่วไปจะมีวิธีการดังนี้
🧨 เลือกทรัพย์สินที่จะลงทุน
🧨 กำหนดวันที่จะลงทุน อาจจะเป็นวันที่ 2, 12, 22 (แล้วแต่โบรกเกอร์) หรือจะกำหนดเองก็ได้
🧨 กำหนดจำนวนเงินที่จะลงทุนในแต่ละเดือน เช่น 1,000 5,000 10,000
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านอาจจะมองว่าน่าสนใจ แต่ในความน่าสนใจนั้น ก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วน เพราะทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงเสมอ แต่จะเสี่ยงมาก หรือน้อย ขึ้นอยู่กับการยอมรับได้ของแต่ละบุคคลด้วยค่ะ
ทั้งนี้ผู้เขียนก็ได้ไปศึกษาแนวการทำ DCA มาจากหลายๆ ที่ ก็พอจะมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการเลือกหุ้น DCA มาฝากผู้ที่สนใจ ดังนี้ค่ะ
1) ไม่ทำ DCA ที่ตลาดหุ้น หมายถึง ไม่ทำผ่านกองทุน Index Fund กองทุนรวม SET50, SET100 แต่ให้ทำที่อุตสาหกรรมแทน
2) ต้องเป็นหุ้น DCA ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ชนะตลาดได้ และเป็นบริษัทที่กำลังเติบโต
3) กระจายความเสี่ยงเป็น 2 ขา เช่น เมื่อคัดหุ้นที่ชนะตลาดมาได้แล้ว ก็ควรแบ่งลงทุนเป็น 2 ตัว ไม่ลงทุนไปเต็มๆ เพียงหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง เพื่อเป็นการสำรองหากเกิดผิดทางขึ้นมา
4) ไม่ทำ DCA ผ่านกองทุน เพราะมีค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายค่อนข้างสูง ได้แก่
🧨 ค่าธรรมเนียม Front end Back end / Switching (คิดต่อครั้ง)
🧨 ค่าธรรมเนียมซื้อขาย 0.08% (คิดต่อครั้ง)
🧨 ค่าธรรมเนียมจัดการ 0.60% (คิดต่อปี)
🧨 ค่าดูแลผลประโยชน์ 0.03% (คิดต่อปี)
🧨 ค่าธรรมเนียมอื่น 0.01% (คิดต่อปี)
3
💥แต่ถ้าเราทำเองกับโบรคเกอร์ จะเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 0.07 – 0.25% ต่อครั้ง
เปรียบเทียบผลต่างค่าธรรมเนียม
5) ต้องปรับสะท้อนตามเงินเฟ้อ เพราะเงินจะด้อยค่าลง และปรับฐานะการเงินให้เข้ากับความสามารถในการหารายได้ของเราเองด้วย
ทั้งนี้ DCA เป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการลงทุนเท่านั้น อาจจะไม่ใช่วิธีที่ทำให้เราได้ผลตอบแทนดีที่สุด แต่อาจเป็นวิธีที่ทำให้สามารถใช้วินัยและความอดทนเพื่อสะสมทรัพย์สินได้ดีขึ้น โดยได้ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจในระยะยาวได้
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมิได้มีเจตนาชี้ชวนให้ลงทุนแต่อย่างใด เพียงนำเสนอช่องทางในการที่จะเพิ่มโอกาสในการลงทุนสำหรับผู้ที่สนใจเท่านั้น และเนื่องจาก “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการตัดสินใจลงทุนนะคะ”
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ 😊😊

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา