ทำไมข้าวไทยไร้ราคา ชาวนาไม่ได้กำไร?
เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงปลายปี “ข้าวและชาวนา” กลายเป็นประเด็นร้อนให้สังคมถกเถียงทุกปี
บ้างเป็นข้อเท็จจริง บ้างเป็นมายาคติของคนกินข้าวที่มีต่อคนปลูกข้าว เพราะนอกจากสิ่งที่ถูกปลูกฝังต่อ ๆ กันมาว่า “ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ” ยังมีมายาคติอีกมากที่ยากจะทำความเข้าใจ หากไม่ได้เข้าไปอยู่ในวังวนของเกษตรกรในไร่นา และอุตสาหกรรมส่งออกข้าว
“รัฐแก้ปัญหาหรือช่วยเหลือชาวนาอย่างไรบ้าง?” ที่ผ่านมา, ทุกรัฐบาล ภาพของชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวเปลือกหรือภัยพิบัติ ทั้ง แล้ง ท่วม และศัตรูพืช ทว่า ปีนี้ชาวนาไทยถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ระบาด ทั้งการขนส่ง – ส่งออกข้าวหยุดชะงัก การบริโภคในประเทศลดน้อยถอยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ราคาข้าวเปลือกกิโลกรัมหนึ่งถูกกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กลายเป็นความทุกข์ร่วมของสังคม พร้อมตั้งคำถามว่าชาวนานั้นได้รับการดูแลจากรัฐอย่างถูกที่ถูกทางหรือไม่?
ขณะเดียวกัน เราก็พอจะได้เห็นภาพของชาวนาและเกษตรกรที่ลืมตาอ้าปากได้ บางคนเป็นชาวนาตัวอย่าง บางคนเป็นชาวนาที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก หลังปรับตัวและได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน แต่ “โมเดล” เหล่านั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะสะท้อนภาพชีวิตของชาวนาที่มีอยู่กว่า 4.5 ล้านครัวเรือนได้ทั้งหมด
จริงอยู่ว่า “ข้าว” เป็น 1 ใน 5 สินค้าเกษตรของไทย ที่ได้รับการประกันราคาสินค้าเกษตรเช่นเดียวกับ ปาล์ม มันสำปะหลัง ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่นอกจากนโยบายด้านราคาแล้ว ที่ผ่านมา ภาครัฐก็มีนโยบายอีกจำนวนมาก เพื่อมุ่งให้ข้าวเป็นจุดแข็งด้านความมั่นคงทางอาหารของไทยและของโลก แต่นอกจากการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในตลาดโลกแล้ว การทำให้ “ชาวนา” ทั้งความหมายแบบเดิม และ “ชาวนา” ที่หมายถึงผู้ประกอบการและแรงงานในแปลงนารุ่นใหม่ ได้ใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี “นโยบายภาคการเกษตรของไทย” ควรเดินต่อไปในทิศทางไหน
The Active พยายามอธิบายความซับซ้อนของปัญหาข้าวและชาวนาไทย และรวบรวมข้อเสนอจากหลายแหล่ง เพื่อประมวลให้ประชาชนร่วมทำความเข้าใจว่าหากภาคการเกษตรของไทยจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืนนั้น มีทางเลือกแบบไหนบ้าง