19 พ.ย. 2018 เวลา 10:09 • บันเทิง
#ปรีดาคิด 01 - ทฤษฎีรูปเงาะ-หอยสังข์
1...
ละครที่ติดตามเป็นประจำช่วงนี้ (และอันที่จริงติดตามมาหลายเดือนหรืออาจจะข้ามปีแล้วด้วยซ้ำ) คือ "สังข์ทอง" ที่ฉายช่วงเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ ทางช่อง 7 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะดูกับลูก แต่อีกส่วนก็เป็นเพราะเรื่องสังข์ทองเป็นวรรณคดีเรื่องโปรด
บอกไม่ถูกว่าชอบอะไรของเรื่อง รู้แต่ว่าเป็นวรรณคดีเรื่องแรกที่รู้จักและท่องบทตอนที่พระอินทร์ส่องกล้องลงมาเมืองมนุษย์ที่ขึ้นต้นบทว่า "มาจะกล่าวบทไป ถึงท้าวสหัสนัยน์ไตรตรึงษา ทิพย์อาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา กระด้างดังศิลาประหลาดใจ..." และตอนที่พระอินทร์แปลงยกทัพมาล้อมเมืองของท้าวสามลโดยส่งสาส์นท้าตีคลีที่ขึ้นต้นว่า "ในสาส์นว่าองค์พระทรงเดช มงกุฎเกศกษัตริย์เป็นใหญ่ ยกทัพมาประชิดติดเวียงชัย มิใช่จะมาณรงค์สงคราม..." ได้จนจบบทตั้งแต่สี่ขวบ
พอโตมาแล้วเวลาอ่านวรรณคดีหรือดูละครเรื่องนี้ทีไร ก็มักจะขบคิดถึงประเด็นต่างๆ เช่น ทำไมนางยักษ์ถึงต้องตาย อำนาจของพระอินทร์ ความแฟนตาซีของมนตร์หาเนื้อหาปลา ฯลฯ ซึ่งหลายประเด็นก็ได้อ่านความคิดที่มีผู้อธิบายไว้มากมาย แต่มีประเด็นที่ไม่เคยขบคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังมาก่อนเลยก็คือประเด็น "รูปเงาะ-หอยสังข์"
2...
วันก่อนได้ดูรายการ The Mask Singer ที่ evo. รายการในรูปลักษณ์ใหม่ชื่อว่า "ลายไทย" (Line Thai) ผสมกับที่ได้ติดตามรายการนี้มาโดยตลอด (แม้ว่าจะหมดความตื่นตาตื่นใจไปนานแล้วก็ตาม) ก็นึกถึงว่าเมื่อผู้เข้าแข่งขันหลายๆ คนพอถอดหน้ากากออกมาแล้วก็ได้รับปฏิกิริยาในเชิงประหลาดใจจากคณะกรรมการ ด้วยเหตุที่ไม่คิดว่าผู้เข้าแข่งขันรายนั้นจะมีความสามารถและบุคลิกแบบที่เห็นตอนสวมหน้ากาก
(กล่าวอีกอย่างก็คือแทบไม่เชื่อว่าอัตลักษณ์ขณะสวมหน้ากาก กับอัตลักษณ์/ตัวตนของผู้เข้าแข่งขันที่กรรมการรู้จัก จะเป็นคนคนเดียวกัน) จากคำพูดคุยภายหลังถอดหน้ากากแล้วก็พบว่ามีสาเหตุหลักๆ อยู่ 2 อย่างอันได้แก่
-ผู้เข้าแข่งขันต้องการปกปิดตัวตนเพื่อไม่ให้กรรมการจับได้ว่าเป็นใคร อันนี้ถือเป็นโหมดเอาตัวรอด
-สิ่งที่เห็นตอนเป็นหน้ากากนั้นคืออัตลักษณ์แท้ของผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งเขาจะไม่เปิดเผยอัตลักษณ์ดังกล่าวนี้กับคนทั่วไป อันนี้ถือเป็นโหมดเผยธาตุแท้
3....
ในแวดวงวิชาการด้านสังคมวิทยา จิตวิทยา และนิเทศศาสตร์ ในต่างประเทศนั้นสนใจศึกษาบุคลิกภาพแบบสวมหน้ากาก จนพัฒนาเป็นทฤษฎีหน้ากาก (Mask Theory) โดยหลักการนั้นอธิบายว่ามนุษย์เลือกที่จะ "สวมหน้ากาก" เพื่อกลบความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย (Insecurity) ของตนเองในขณะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
โดยที่ "ความไม่มั่นคงปลอดภัย" นี้อาจเกิดจากการถูกกลั่นแกล้ง เยาะเย้ยถากถาง ข่มขู่ เลือกปฏิบัติ ล้อเลียน แสดงประทุษวาจา ฯลฯ ส่วนหน้ากากที่มนุษย์สวมใส่นั้นอาจอยู่ในรูปของการทำตัวตลกไปวันๆ การแอ๊บแมน ไปจนถึงการแสดงพฤติกรรมเป็นเกรียนคีย์บอร์ด ฯลฯ
พอย้อนกลับมานึกถึงเรื่องสังข์ทองและรายการ The Mask Singer ก็นึกถึงประเด็นที่พระสังข์ต้องใช้ชีวิตอยู่ในหอยสังข์มาเนิ่นนานจนถูกพระนางจันเทวีผู้เป็นแม่ต่อยหอยแตก
ในวรรณคดีนั้นพระสังข์ร้องไห้เสียใจน้อยใจที่แม่ทำเช่นนั้น แต่แม่กลับดีใจที่ได้ลูกกลับคืน ไม่ต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในหอยให้ผู้คนนินทากันอีกต่อไป พระสังข์นั้นคงมีปมอยู่มากในชีวิตของตน ตั้งแต่เกิดมาพร้อมหอยก็ถูกหาว่าเป็นกาลีบ้านกาลีเมือง กลายเป็นเหยื่อของเกมการเมืองในวัง เป็นต้นเหตุทำให้ตนเองและแม่ถูกขับออกจากวัง และภายหลังก็ถูกจับถ่วงน้ำ ต้องใช้ชีวิตระหกระเหินแยกห่างจากครอบครัว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหอยสังข์จะปกปิดความเป็นพระสังข์ และทำให้ต้องสูญเสียสถานภาพความเป็นเจ้าชาย แต่พระสังข์ก็ยังปลอดภัยตราบเท่าที่ยังอยู่ในหอยสังข์ (คือไม่มีใครรู้ตัวตนที่แท้จริง)
วันที่พระนางจันเทวีทำลายหอยสังข์ ก็เหมือนพระสังข์ถูกถอดและทำลายหน้ากากพระสังข์คงมีความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยนี้อยู่ตลอด หลังจากนั้นชีวิตของพระสังข์ก็ระหกระเหิน ไปอยู่กับพญานาค ไปอยู่กับนางพันธุรัต จนได้สกิลเรียกเนื้อเรียกปลา รวมถึงได้ไอเท็มชุบทอง หน้ากากเงาะและเกือกวิเศษมา
สำหรับคนที่เกิดมาซวยระดับพระสังข์ และความซวยนั้นยิ่งหนักขึ้นเมื่อเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกไป (ก่อนหน้านี้ การที่หอยสังข์ถูกทำลาย ข่าวก็ไปเข้าหูทางราชสำนัก เป็นเหตุให้พระสังข์ถูกถ่วงน้ำ และต้องแยกจากแม่)
ดังนั้นแล้วพระสังข์ที่ไร้เปลือกหอย เมื่อได้ชุดเงาะก็เหมือนได้หน้ากากอันใหม่แทนอันเดิมที่ถูกทำลายไป
และทางอยู่รอดเห็นจะไม่มีอะไรดีไปกว่าการใช้ชีวิตภายใต้หน้ากากเงาะป่า
เงาะป่าตัวดำหัวหยิกหย็องแตกต่างจากพระสังข์รูปงามแล้วยังชุบทองอีก
เงาะป่าบ้าใบ้มีท่าทางน่าตลกขบขันขัดแย้งกับพระสังข์แสนมีเสน่ห์
แม้รูปลักษณ์แบบเงาะป่าจะไม่มีสิ่งใดน่าอภิรมย์ แต่มันทำให้ผู้อยู่ภายใต้หน้ากากนั้นรู้สึกปลอดภัยกว่าการดำรงอยู่ในรูปพระสังข์ทอง (แม้จะยังไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่ก็น่าคิดต่อว่าเหตุใดผู้หญิงที่อยู่ในฐานะแม่และเมียอย่างพระนางจันเทวีและรจนาถึงได้ใส่ใจกับการ "ถอดหน้ากาก" ของบุรุษกันนักหนา?)
4...
ด้วยเหตุนี้แล้วจึงอยากเสนอ "ทฤษฎีรูปเงาะ-หอยสังข์" เป็นทฤษฎี Mask Theory แบบไทยๆ ไว้ตรงนี้ (เดี๋ยวมีเวลาจะค้นคว้าและหาคำอธิบายเพิ่มเติมอีกที) ว่าบางทีที่เรา ("เรา" ในที่นี้ไม่ได้บ่งชัดเจนนักว่าหมายถึงระดับใด จะเหมารวมถึงคนไทยได้ไหม หรือหมายถึงทั่วๆ ไปก็ตามที) สวมหน้ากากนั้นเป็นไปเพื่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย
และอีกอย่างหนึ่งนั้นภายใต้หน้ากากนี้เราก็ได้ปลดปล่อยอะไรบางอย่างออกมา ไม่ว่าจะเป็นตัวตนที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ สิ่งที่เราอยากทำแต่ไม่มีโอกาส เพราะผู้คนยึดติดกับภาพลักษณ์ปกติของเรา (ลองให้พระสังข์ทำท่าบ้าๆ บอๆ และเต้นท่าตลกๆ แบบเจ้าเงาะ โดยที่ยังอยู่ในรูปพระสังข์ ดูซิว่าจะกล้ามั้ย!)
ขณะเดียวกัน แม้ว่าเราจะปลอดภัยภายใต้หน้ากากแล้วก็ตาม แต่จิตใต้สำนึกของมนุษย์ เราก็มิได้ต้องการ "สวมหน้ากาก" อยู่ตลอดเวลา เรายังคงต้องการแสดงตัวตนที่เป็นส่วนตัวของเราอยู่ - ในกาละและเทศะที่เหมาะสม - เช่นเดียวกับพระสังข์
นอกจากนี้แล้ว ดังที่กล่าวไปว่าหน้ากากทำให้มนุษย์รู้สึกปลอดภัย แต่มันคือการเอาตัวรอดด้วยการหลบซ่อนตัวจากสิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของฝ่ายตรงข้าม บริบททางสังคม ค่านิยม ฯลฯ ก็ตาม แต่มนุษย์ก็ไม่ต้องการอยู่ในสภาวะจำยอมเช่นนั้นตลอดไป
หากมีโอกาสมนุษย์ก็ประสงค์ที่จะแสดง "อำนาจ" ของตัวเองบ้าง หรือแม้แต่ "ตอบโต้" อำนาจที่ทำให้เขาต้องหลบซ่อนตัวอยู่ใต้หน้ากาก ดังจะเห็นได้จากพระสังข์ใช้ข้ออ้างตัดจมูกตัดหูหกเขยเพื่อแลกกับเนื้อและปลาเพื่อไปมอบให้ท้าวสามล
พวกเกรียนคีย์บอร์ด และอื่นๆ ก็คงไม่ต่างกัน...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา