24 พ.ย. 2018 เวลา 13:38 • ความคิดเห็น
#ปรีดาคิด 02 - ความผิดพลาดของ D&G กับคนใน “หมู่บ้านโลก” ที่ไม่รู้จักกัน
จากปรากฏการณ์โฆษณาของเสื้อผ้าแบรนด์ดัง D&G เรื่องตะเกียบ และทวิตเตอร์ของผู้บริหารที่ไม่เห็นด้วยกับการถอดโฆษณานี้ออกจากการเผยแพร่ จนส่งผลต่อความรู้สึกเชิงลบของคนจีนทั้งประเทศ งานเดินแฟชั่นโชว์ต้องยกเลิกกระทันหัน และทำให้เกิดกระแสการบอยคอตต์เบรนด์นี้ในเวลาอันรวดเร็ว
แม้ทาง D&G จะแถลงว่าทวิตเตอร์ของผู้บริหารถูกแฮ็กก็ดูจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น จนในที่สุดผู้บริหาร ทั้งคุณ D และคุณ G ต้องออกมาแถลงพร้อมกับกล่าว “ตุ้ยปู้ฉี่” หรือ “ขอโทษ” ในภาษาจีน
หากตัดประเด็นเรื่องทางธุรกิจออกไปแล้ว ปรากฏการณ์นี้สอนให้รู้ว่าแม้โลกของเราจะแคบลง อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคมสารพัดชนิด ไม่ว่าจะ 4G 5G อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เคเบิลใยแก้ว ดาวเทียม ฯลฯ ผ่านเครื่องมือสื่อสารสารพัดชนิด
เทคนโนโลยีเหล่านี้ทำให้เรา “ใกล้” กันแบบที่ มาร์แชล แม็คลูฮัน (Marshall McLuhan) เคยกล่าวไว้เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วว่าเรากำลังอาศัยอยู่ใน “หมู่บ้านโลก” (Global Village)
อันที่จริงแล้วในยุคของแม็คลูฮันนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือเทคโนโลยีล้ำๆ แบบ 4G หรือว่า 5G
สิ่งที่ทำให้เขาเชื่อว่าเรากำลังอยู่ในหมู่บ้านโลกนั้นเป็นเพียงแค่เทคโนโลยีที่ชื่อว่า “โทรทัศน์” เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตามคำว่า Global village ที่แม็คลูฮันกล่าวอ้าง ก็เป็นที่มาของคำว่า “โลกาภิวัตน์” หรือ Globalization ในเวลาต่อมา
เราอยู่ใน “หมู่บ้าน” เดียวกัน แต่เราก็ “ใส่ใจ” และ “รู้จัก” กันน้อยเต็มที
การนำเอาวัฒนธรรม หรือรายละเอียดเกี่ยวกับชาติกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ สีผิว ความเชื่อ การให้คุณค่า รวมไปถึงประวัติศาสตร์ ของผู้อื่นที่แตกต่างไปจากเรามากล่าวถึงในที่สาธารณะในเชิงล้อเลียน ทำให้สนุกสนาน ตลกขบขัน ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งพึงระวัง
หรือในทางกลับกัน การนำเอาสิ่งที่เป็นบาดแผลของผู้อื่นมายกย่องเชิดชู ก็เป็นสิ่งพึงระวังเช่นกัน
สำหรับบางคนอาจเห็นว่าการนำเอาเรื่องตะเกียบมาล้อเล่นไม่เห็นมีอะไรเลย
แต่กับบางคนเขาไม่คิดเช่นนั้น
ก็เหมือนกับที่บางคนทำท่า “ซีก “ไฮล์” (Sieg Heil) หรือ “ไฮล์ ฮิตเลอร์” (Heil Hitler) ก็ไม่เห็นมีอะไรเลย
แต่บางคนเขาไม่คิดเช่นนั้น
ก็เหมือนกับที่บางคนเอาเศียรพระพุทธรูปไปตกแต่งบ้านก็ไม่เห็นมีอะไรเลย
แต่บางคนเขาไม่คิดเช่นนั้น
ท่า sieg heil ที่คนชอบเอามาเล่นกัน ภาพจาก wikipedia
ปรากฏการณ์ตะเกียบทำพิษ อาจเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ตอกย้ำว่าแนวคิดเรื่อง “พหุนิยมทางวัฒนธรรม” (Multiculturalism) ที่เชื่อเรื่องการที่วัฒนธรรมจำนวนมากมาอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นหลักการที่ครอบงำโลกมาเกินกว่าครึ่งศตวรรษอาจต้องถูกนำมาทบทวนใหม่
แนวคิดพหุนิยมทางวัฒนธรรมนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำและผู้นำความคิดในโลกตะวันตกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
จนกระทั่งประเทศอย่างแคนาดาในสมัยของนายกรัฐมนตรีปิแอร์ ทรูโด (บิดาของจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน) ประกาศใช้นโยบายพหุนิยมทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
นโยบายนี้รับรองคุณค่าในศักดิ์ศรีของพลเมืองแคนาดาทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะมีเชื้อชาติศาสนาใดก็ตาม
กระนั้นแล้วแคนาดาก็ต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้ง และการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้คนที่แตกต่างกันภายในประเทศอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ในปี 2002 โดนัลด์ คูชิโอเล็ตตา ได้ศึกษานโยบายความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแคนาดา งานวิจัยนี้สรุปว่าผู้คนหลากเชื้อชาติในแคนาดาไม่ตระหนักว่าพวกเขาจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่ รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศร่วมทวีป ประเทศร่วมโลก
ปัญหาของแคนาดา (และรวมถึงประเทศอื่นในโลก) ก็คือ พวกเขาไม่ตระหนักว่าเขาเขาต้องเชื่อมโยง ตระหนักและเรียนรู้วัฒนธรรมอื่นในสังคม ไม่ว่าจะในระดับเมือง ประเทศ หรือภูมิภาคอื่นของโลก นอกเหนือไปจากการรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง
คูชิโอเล็ตตาชี้ให้เห็นว่านโยบายพหุนิยมทางวัฒนธรรมแม้จะมีข้อดีคือสนับสนุนความเท่าเทียมกันระหว่างวัฒนธรรม และสนับสนุนให้ผู้คนสามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนได้อย่างมีศักดิ์ศรีท่ามกลางการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
แต่ปัญหาที่ตามมาพร้อมกับการธำรงรักษาอัตลักษณ์ของตนก็คือ เรามีความพยายามน้อยเหลือเกินที่จะก้าวเข้าสู่วัฒนธรรมของผู้อื่น....
แม้จะยอมรับว่าวัฒนธรรมอื่นก็มีคุณค่าไม่ต่างจากวัฒนธรรมของเรา แต่เราก็ไม่อยากเข้าไปยุ่งหรือทำความเข้าใจวัฒนธรรมของผู้อื่น (เพราะลึกๆ แล้วเราก็เชื่อว่าวัฒนธรรมของเราเหนือกว่าวัฒนธรรมอื่น)
นอกจากนี้แล้ว ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาผู้นำประเทศในยุโรปอย่างเดวิด คาเมรอน แห่งสหราชอาณาจักรกล่าวว่านโยบายพหุนิยมทางวัฒนธรรมนั้นทำให้ผู้คนใช้ชีวิตแบบแยกกันอยู่และออกห่างจากกันและกัน
ส่วน อังเกลา แมร์เคล แห่งเยอรมันก็กล่าวว่าแนวคิดพหุนิยมทางวัฒนธรรมในเยอรมันนั้นล้มเหลวอย่างที่สุด
เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เห็นว่าพหุนิยมทางวัฒนธรรมเผชิญกับการท้าทายอย่างใหญ่หลวง
และปรากฏกการณ์โฆษณาของ D&G ก็ทำให้เราต้องหันมาใคร่ครวญว่าที่เรารู้จักเพื่อนบ้าน (คนจีนกับการใช้ตะเกียบ) นั้นแท้ที่จริงแล้วเรารู้จักเขาดีแค่ไหน (คนจีนใช้ตะเกียบกับอาหารทุกชนิดเช่นในโฆษณาจริงหรือ ควรหรือไม่กับการเอามาล้อ)
และนักการโฆษณาก็ควรได้เรียนรู้ว่าการนำเอาไอคอนบางอย่างมาใช้เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมนั้น ก็ควรต้องทำการบ้านมากกว่านี้
ไม่อย่างนั้นเราก็จะยังคงอยู่ในหมู่บ้านโลกที่เพียงแค่รู้จักกันอย่างผิวเผิน โดยมิได้ใส่ใจหรือพยายามจะทำความเข้าใจกันเลย​...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา