Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Preeda Akara
•
ติดตาม
23 พ.ย. 2018 เวลา 01:20 • บันเทิง
#ปรีดาดู 01 - เลือดข้นคนจาง : ส่วนผสมระหว่างละครชีวิตคนจีนกับเรื่องนักสืบ
หนึ่ง -
ในแง่ความเป็นละครชีวิตคนจีนในเมืองไทย ละครเรื่องนี้มี keyword อยู่ที่ความเป็น "กงสี" ของครอบครัวคนจีนที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาขงจื๊อ
"ครอบครัว" นั้นเป็นหน่วยทางสังคมขั้นพื้นฐาน เพียงแต่สำหรับทัศนะแบบขงจื๊อนั้น ครอบครัวไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงพ่อแม่ลูกเท่านั้น หากยังเลยไปถึงสิ่งที่เรียกว่า "จงจู๋" (宗族)หรือเครือญาติข้างพ่อ ซึ่งมีประธานของตระกูลเป็นผู้นำ (ซึ่งก็หมายถึงพี่ชายคนโตนั่นแหละ - นี่คือเหตุผลที่ภัสสรไม่ได้รับมรดกที่ตนคิดว่าควรจะได้ เพราะถ้าเธอได้มรดกไป ทรัพย์สมบัติก็จะออกไปนอกจงจู๋)
จงจู๋นั้นหมายถึงเครือญาติที่รวมถึงผู้อาวุโสกว่าเราขึ้นไป 4 รุ่น และลงมา 4 รุ่น (นี่เป็นเหตุดผลที่ว่าทำไมในหนังจีนถึงมีโทษประหาร 9 ชั่วโคตร) และเหนือไปกว่าจงจู๋นั่นก็คือ "แซ่" หรือสกุล
อย่างไรก็ตามละครโทรทัศน์ไทยที่เล่าถึงชีวิตคนจีนในเมืองไทยนั้นไม่เคยกล่าวถึงความสัมพันธ์ในวงศ์ตระกูลระดับ "จงจู๋" ขึ้นไปเลย มิพักต้องเอ่ยถึงความสัมพันธ์ในระดับ "ถงซิ่ง" หรือคนร่วมแซ่เดียวกัน
หากตัดเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนที่อาจมีจำกัดของผู้เขียนบทออกไป สาเหตุสำคัญน่าจะเป็นเพราะคนจีนในเมืองไทยที่ยังดำรงความเป็นจีนอยู่ได้ น่าจะเป็นกลุ่มคนจีนอพยพมาในช่วงราวๆ สงครามโลกครั้งที่สอง ถ้านับถึงปัจจุบันก็น่าจะนับได้ 4 รุ่น
เมื่อต้องเผชิญกับการปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทย ผ่านระบบการศึกษา การเปลี่ยนแซ่เป็นนามสกุล ฯลฯ จงจู๋ในละครไทยจึงถูกจำกัดอยู่แต่ "สาแหรก" อันมีผู้อพยพนั้นเป็นประธาน และโดยมากมักขาดการติดต่อเชื่อมโยงกับสาแหรกของเครือญาติรุ่นเหนือกว่านั้น ซึ่งยังคงใช้ชวิตอยู่ที่เมืองจีน
ละครไทยที่พูดถึงครอบครัวขยายของคนจีนที่ไม่ได้มีแค่พ่อแม่ลูก เห็นจะมีแค่ ลอดลายมังกร กับ เลือดข้นคนจาง เท่านั้นเอง
ขณะที่ลอดลายมังกร แสดงให้เห็นถึงการใช้จริยศาสตร์แบบขงจื๊อเป็นเครื่องนำทางชีวิต แต่เลือดข้นคนจางกลับแสดงให้เห็นถึงการท้าทายจริยศาสตร์แบบนี้
อย่าลืมว่าหลักจริยศาสตร์แบบขงจื๊อจะเข้มแข็งและทรงพลังก็ต่อเมื่อทำให้ผู้คน "เชื่องเชื่อ" และ "สยบยอม" ต่ออำนาจอัน "ชอบธรรม" ของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะบิดา พี่ชายคนโต สามี หลาน ก็ตาม
ลัทธิขงจื๊อสอนให้เรา "อดกลั้น" และดำรงตนตามบทบาทที่ตนเป็น เช่น ลูกต้องเชื่อฟังและกตัญญูต่อบิดา ภรรยาไม่มีสิทธิ์เถียงหรือแข็งข้อต่อสามี คนเป็นน้อง ลูก และลูกสาวก็เช่นกัน...
ในสภาวะเช่นนี้แหละที่ช่วยผลักดันสังคมให้สงบได้ สังคมแบบขงจื๊อจึงมิใช่สังคมที่ทุกคนมีความพึงพอใจหรือมี "ความสุข" แต่เป็นสังคมที่ทำให้เกิด "ความสงบ"
แต่สำหรับในสังคมหรือยุคสมัยที่ผู้คนไม่ได้เชื่องและเชื่ออีกแล้ว ปรัชญาขงจื๊อย่อมถูกสั่นคลอน ในละครเราจะเห็นความพยายามในการต่อสู้ท้าทายจากฝ่ายภรรยา (เช่น ส่งคนไปสืบเรื่องเมียน้อย) น้องสาว (ไม่พอใจที่ตนเองไม่ได้สมบัติอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่ทำงานหนักให้ครอบครัวมาตลอด) ในทางตรงกันข้าม เราก็พบความพยายามที่จะรักษากฎเกณฑ์จากฝ่ายผู้อยู่เหนือกว่าตามโครงสร้างสังคมแบบขงจื๊อ
สำหรับจงจู๋ของจีนที่มิได้ยึดโยงกันด้วยมิติทางเศรษฐกิจ การตายของผู้นำตระกูลดูจะไม่ส่งผลสะเทือนเท่าใด น้องชายคนรองหรือลูกชายคนโตอาจได้รับตำแหน่งประธานของตระกูลแล้วแต่สถานการณ์ แต่หากจงจู๋ที่ใช้ทรัพยากรร่วมกัน ใช้แรงงานของตนแสวงหาทรัพย์สินร่วมกัน อย่างที่เรียกว่า "กงสี" เหตุการณ์ที่ตามมาย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายดาย
เมื่อพ่อ (แสดงโดย นพพล โกมารชุน) เสียชีวิตลง ด้วยความเด็ดขาดและอำนาจในฐานะพี่ชายคนโต ประเสริฐ (แสดงโดย ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี) ยังคงสยบความไม่พอใจของตัวละครอื่นๆ ได้
เพราะอย่างน้อยตนเองก็ถือความเป็นประธานของตระกูลสืบต่อจากบิดา ประกอบกับความสามารถในการบริหารธุรกิจของตระกูลก็สร้างความยำเกรงต่อคนอื่นได้ (แม้จะมีคนแสดงความไม่พอใจออกมาก็ตาม)
แต่พลันที่เขาตาย ตระกูลจิระอนันต์ก็ตกอยู่ในสภาพปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นมาทันที สิ่งที่เคยเป็นคลื่นใต้น้ำก็พร้อมที่จะผุดขึ้นมาเหนือน้ำ และยิ่งเมื่อยังไม่มีความชัดเจนว่าใครคือผู้นำคนต่อไปของวงศ์ตระกูล ความปั่นป่วนก็ยิ่งทบทวี (เราจะเห็นโครงเรื่องแบบนี้ได้จากหนังหรือละครจีนว่าด้วยเรื่องในราชสำนักยามผลัดแผ่นดินต่างๆ) โดยยังไม่รวมถึงอิทธิพลของบริบททางสังคมแบบไทยและโลกสมัยใหม่ที่ตัวละครต่างต้องเผชิญ
สอง -
ในแง่ความเป็นเรื่องนักสืบ เลือดข้นคนจางจัดเป็นเรื่องประเภท Who-dun-it Detective Story (ซึ่งเป็นเรื่องนักสืบแนวคลาสสิค เนื้อหาอยู่ที่การลุ้นและสืบหาว่าใครคือฆาตกร เช่นเรื่องเชอร์ล็อค โฮล์ม ของเซอร์อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ หรือ เฮอร์คูล ปัวโรต์ ของอกาธา คริสตี้) โดยปกติแล้วเรื่องแนวนี้จะสืบหา "เหตุจูงใจ" และ "วิธีการ" เรื่องที่แนบเนียนก็คือเรื่องที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญทั้งหมดในจังหวะที่คนดูไม่ได้สังเกต
พูดง่ายๆ ก็คือละครต้องให้เบาะแสหรือข้อมูลที่สำคัญแก่คนดูมากพอที่คนดูจะเอามาปะติดปะต่อจนรู้ได้ว่าใครคือฆาตกร แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางกลบเกลื่อนเบาะแสนั้น หรือทำให้คนดูไขว้เขว จนไม่สามารถปะติดปะต่อข้อมูลได้สำเร็จ (ตัวอย่างชั้นเลิศของวิธีการแบบนี้คือหนังเรื่อง The Sixth Sense)
ดังนั้นแล้วละครหรือนิยายแนวนี้จะใช้วิธีการหลักๆ 2 แบบคือ แบบแรก ฆาตกรคือคนที่ไม่น่าสงสัยที่สุด เพราะดูทรงแล้ว (ไม่ว่าจะในแง่เหตุจูงใจหรือวิธีการ) เขาไม่น่าจะเป็นฆาตกรได้ พวกออกตัวแรงๆ ตอนต้นนี่เป็นตัวหลอกทั้งนั้น
ส่วนอีกวิธีคือบอกตรงๆ หรือทำให้คนเชื่อแต่แรกว่าใครคือฆาตกร ก่อนที่จะค่อยๆ สร้างความชอบธรรมให้ตัวละครนั้นในระหว่างเรื่อง จนคนดูคิดว่าไม่ใช่ฝีมือของตัวละครตัวนี้หรอก แล้วก็หันไปสงสัยตัวละครอื่นแทน แต่แล้วพอเฉลยออกมาก็หงายหลังตึงกันหมด พร้อมกับอุทานว่า "กูว่าแล้ว!!"
การวางบทให้เมษ (แสดงโดย ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง) ลูกชายคนรองของครอบครัวจิระอนันต์ เป็นฆาตกรฆ่าพี่ชายก็เข้าสูตรแบบแรก
อนึ่ง บทละครเรื่องนี้ฉลาดที่รีบเฉลยตัวฆาตกรตั้งแต่กลางเรื่อง (ตอนที่ดูก็สงสัยอยู่ว่าบทจะลากใครมาเป็นผู้ต้องสงสัยเพื่อทำให้คนดูไขว้เขวได้อีก)
การเฉลยตอนกลางเรื่องนี้เองทำให้แนวเรื่องเปลี่ยนจาก who-dun-it detective story มาเป็นแนว Why-dun-it detective story ในช่วงครึ่งหลังเรื่อง (บวกกับ drama นิดหน่อยในประเด็นของอี้)
เรื่องแนวนี้จะเน้นที่การสืบหาเหตุจูงใจของการฆ่า ดังนั้นโดยมากแล้วจึงใช้กับตัวละครฆาตกรที่มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ตาย (จนไม่น่าเชื่อว่าจะฆ่าได้) เช่น พี่น้องที่รักใคร่กัน สามีภรรยาที่ไม่เคยทะเลาะกันเลย หรือเพื่อนรักที่ตายแทนกันได้ เป็นต้น
นอกจากเรื่องนักสืบสองแนวที่กล่าวมานี้แล้ว ยังมีอีกแนวหนึ่งเรียกว่า How-dun-it detective story ซึ่งเป็นแนวสำคัญอีกอย่างของเรื่องนักสืบ ผู้ชมจะรู้ได้ตั้งแต่ต้นว่าใครคือฆาตกร แต่ประเด็นของเรื่องจะอยู่ตรงที่ตัวฆาตกรมีพยานหลักฐานยืนยันว่าเขาไม่ใช่ฆาตกร เพราะในเวลาเกิดเหตุนั้นเขาอยู่ที่อื่น นักสืบจึงต้องหาทางสืบรู้ให้ได้ว่าฆาตกรใช้วิธีใดในการฆ่า (ลักษณะแบบนี้พบได้ในหลายๆ ตอนของการ์ตูนโคนัน)
การทำละครโทรทัศน์แบบหลายตอนจบที่เป็นแนวนักสืบถือเป็นเรื่องยาก นอกจากจะต้องวางปมเรื่องให้คนสนใจติดตามและสร้างกระแสในโลกโซเชียลอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องวางตัวเองให้ "เหนือชั้น" กว่าคนดู ด้วยว่าถ้าคนดูเข้าใจเรื่องทั้งหมดตั้งแต่แรกก็จบกัน
แม้ว่าเลือข้นคนจางจะไม่ถึงขั้น "สมบูรณ์แบบ" แต่ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของวงการละครโทรทัศน์ไทย
บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ปรีดาดู
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย