26 พ.ย. 2018 เวลา 01:49 • บันเทิง
ซี เอส ลูอิส กับเมืองนาร์เนีย และเสียงวิจารณ์ของผู้เขียนลอร์ดออฟเดอะริง
รู้หรือไม่ว่าผู้เขียนเรื่องนาร์เนียเป็นเพื่อนร่วมงานกับ เจ อาร์ อาร์ โทลคีน ผู้เขียนลอร์ดออฟเดอะริง
มิหนำซ้ำต้นฉบับเรื่องนาร์เนียยังถูกโทลคีนวิจารณ์เสียหายมาแล้ว...
ซี.เอส.ลูอิส หรือชื่อจริงว่า ไคลฟ์ สเตเปิ้ลส์ ลูอิส (Clive Staples Lewis- แต่เขาอยากให้ใครๆ เรียกเขาว่า แจ็คมากกว่า)
แจ็คเกิดวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๙๘ ที่กรุงเบลฟาสต์ ในไอร์แลนด์เหนือ เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี มารดาของเขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง แจ็คและวอร์เรนผู้เป็นพี่ชายจึงถูกบิดาส่งไปเรียนหนังสือที่อังกฤษ
ระหว่างเรียนที่อังกฤษเขาหลงใหลในศิลปะของยุโรปเหนือ ก่อนจะขยายขอบเขตความสนใจไปสู่ศิลปศาสตร์และปรัชญาละติน กรีก ฝรั่งเศส เยอรมัน และอิตาเลียน
C. S. Lewis
ภายหลังจบการศึกษาสาขาอักษรศาสตร์ แจ็คก็เป็นอาจารย์สอนภาษาและวรรณคดีอังกฤษที่มักดาเลนคอลเลจ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เป็นเวลา ๒๙ ปี ตั้งแต่ปี ๑๙๒๕-๑๙๕๔ ก่อนจะย้ายไปที่มักดาลีนคอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในเวลาต่อมา
ในระหว่างทำงานที่อ๊อกซฟอร์ดนี่เองที่เขาได้รู้จักเพื่อนร่วมงานจำนวนมาก และได้ก่อตั้งกลุ่มอิงคลิ่ง (Inkling) สมาชิกคนสำคัญคนหนึ่งในกลุ่มก็คือ เจ อาร์ อาร์ โทลคีน (JRR. Tolkien) เจ้าของผลงานลอร์ดออฟเดอะริงอันโด่งดัง
สมาชิกอิงคลิ่งจะนัดพบกันที่ผับท้องถิ่นเพื่อดื่มเบียร์ พูดคุยและถกเถียงกันเรื่องเทพนิยาย ศีลธรรม และวรรณคดี
รวมถึงอ่านผลงานที่ตนเองเขียนและฟังคำวิจารณ์จากเพื่อนๆ ในกลุ่ม
ร่างแรกของลอร์ดออฟเดอะริงก็ถูกนำมาอ่านในวงสนทนาอิงคลิ่งนี่เอง...
ความคิดของกลุ่มอิงคลิ่งได้ชื่อว่าส่งอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อโลกแฟนตาซี พวกเขามีกิจวัตรเช่นนี้เป็นเวลา ๑๖ ปีจึงยุติการชุมนุมกัน
นอกจากเขียนงายวิชาการด้านภาษาศาสตร์แล้ว ซี.เอส.ลูอิส ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนเรื่องศาสนาคริสต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ ๒๐
แจ็คเริ่มต้นชีวิตนักเขียนนิยายด้วยนวนิยายวิทยาศาสตร์ไตรภาคเรื่อง Out of the Silent Plenet เป็นเรื่องราวการผจญภัยไปยังดาวอังคาร ดาวศุกร์ และการกลับสู่โลกของด็อกเตอร์แรนซัม
ลูอิสบอกว่าเขาเอาบุคลิกของพระเอกนิยายชุดนี้มาจากโทลคีนนั่นเอง
แม้จะมีชื่อเสียงในฐานะนักวิชาการและนักเขียนมายาวนาน แต่ผลงานที่ทำให้เขาได้รับการจดจำจากนักอ่านทั่วโลกคือนิยายแฟนตาซีสำหรับเด็กที่เขาเขียนเพียงแค่ชุดเดียว
ใช่แล้ว...มันคือ The Chronicles of Narnia หรือเรื่องเมืองนาร์เนียนั่นเอง
ลูอิสกล่าวว่าเรื่องนี้มีที่มาจากการที่เขาเห็นภาพฟอน (สัตว์ในเทพนิยาย ซึ่งมีท่อนบนเป็นมนุษย์ส่วนท่อนร่างเป็นแพะ) ถือร่มกลางหิมะโปรย และมืออีกข้างถือห่อของ ภาพนี้อยู่ในใจเขาตั้งแต่อายุ ๑๖
เขาเอาภาพนี้มาผสมกับความคิดจากเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีเด็กๆ ๔ คนมาอาศัยอยู่กับเขา และมีเด็กคนหนึ่งถามเขาว่ามีอะไรอยู่ข้างหลังตู้เสื้อผ้า
The Lion, The Witch, and the Wardrobe อันเป็นนิยายเล่มแรกในชุดนาร์เนีย เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กชายหญิงพี่น้องสี่คน ได้แก่ ปีเตอร์ ซูซาน เอ็ดมันด์ และลูซี่ ถูกพ่อแม่ส่งมาอยู่กับศาสตราจารย์ซึ่งเป็นญาติห่างๆ เพื่อหลบภัยการโจมตีทางอากาศของสงคราม
และที่บ้านของศาสตราจารย์นั่นเองที่พวกเขาได้ไปสู่เมืองนาร์เนียโดยผ่านทางตู้เสื้อผ้า ที่นั่นพวกเขาได้พบสัตว์ในเทพนิยาย สัตว์พูดได้ อัสลานราชสีห์ผู้น่าเกรงขาม (อัสลาน มีความหมายว่า “ราชสีห์” ในภาษาตุรกี) และได้ร่วมต่อสู้กับแม่มดขาวผู้ชั่วร้าย โดยเขาได้ชื่อนาร์เนียมาจากชื่อแม่น้ำนาร์ในอิตาลี (ปัจจุบันคือแม่น้ำเนรา)
เมื่อแรกที่เขียนหนังสือเรื่องนี้ เพื่อนฝูงในกลุ่มอิงคลิ่งต่างพากันทัดทาน เพราะกลัวว่าเขาจะเอาชื่อเสียงที่สั่งสมมาทิ้งเสียเปล่าๆ
โทลคีนผู้เขียนลอร์ดออฟเดอะริง ก็วิจารณ์ว่านี่เป็นผลงานที่อ่อนด้อย เนื่องจากเต็มไปด้วยองค์ประกอบที่ไม่เข้าท่าหลายอย่าง เช่น แม่มดชั่วร้ายกับซานตาคลอส เด็กๆ กับสัตว์พูดได้ และยังกล่าวว่านี่เป็นงานทำนองเทศนาสั่งสอนคริสตธรรมอย่างไม่แนบเนียน
แต่โชคดีที่ลูอิสไม่ได้ฟังคำวิจารณ์ดังกล่าวของโทลคีน ทำให้วรรณกรรมเด็กที่จะกลายเป็นหนังสือคลาสสิคเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ และเขียนเรื่องอื่นๆ ในชุดนาร์เนียอีก ๖ เล่มตามมาในเวลา ๖ ปีหลังจากนั้น
สำหรับโทลคีนซึ่งวิจารณ์งานของลูอิส แม้เขาจะผิดในแง่ที่ว่าเรื่องชุดนาร์เนียเป็นงานที่อ่อนด้อย แต่เราก็มิอาจปฏิเสธความเห็นของเขาได้ตรงที่วรรณกรรมแฟนตาซีชุดนี้สอดคล้องกับเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลอย่างแยกไม่ออก
ด็อกเตอร์ดอน ดับเบิลยู คิง แห่งภาควิชาภาษาอังกฤษ มอนทรีตคอลเลจ ได้วิเคราะห์ว่าแท้ที่จริงแล้วหนังสือทั้ง ๗ เล่มในชุดนาร์เนีย คือการเสนอความคิดเรื่องบาปมหันต์ ๗ ประการตามความเชื่อในศาสนาคริสต์ โดยที่หนังสือแต่ละเล่มก็จะกล่าวถึงบาปประเภทต่างๆ ดังนี้คือ
-ความโกรธ (ใน The Magician’s Nephew ลุงแอนดรูว์ใช้แหวนวิเศษส่งดิกอรี่กับพอลลี่ไปยังโลกอื่น)
-ความตะกละ (ใน The Lion, เอ็ดมันด์ถูกล่อลวงด้วยขนมรสเลิศอันเป็นที่มาของความยุ่งยาก)
-ความหยิ่งผยอง (ใน The Horse ราบาดาชต้องการแต่งงานกับซูซาน และภายหลังถูกอัสลานสาปเป็นลา)
-ความทะเยอทะยาน (ใน Prince Caspian พระเจ้ามิราซตั้งตนเป็นกษัตริย์ภายหลังพ่อของเจ้าชายแคสเปี้ยนตาย อีกทั้งกำจัดเหล่าขุนนางผู้ภักดีในรัชกาลก่อน)
-ความละโมบ (ใน The Voyage ยูสเทสหยิบสมบัติและต้องชดใช้ด้วยการเป็นมังกร),
-ความเกียจคร้านเฉื่อยชา (ใน The Silver Chair จิลลืมคำสั่งที่ได้รับจากอัสลานให้ตามหาเจ้าชายผู้สูญหายโดยสังเกตจากสัญญาณบอกเหตุ)
-ความริษยา (ใน The Last Battle ชิฟท์ปฏิเสธอำนาจของอัสลานและวางแผนสวมรอยเป็นราชสีห์ผู้ยิ่งใหญ่)
นอกจากนี้โครงของเรื่องนาร์เนียยังเป็นหนึ่งเดียวกับโครงเรื่องการสร้างโลกของพระเจ้า เราจึงได้อ่านเรื่องราวการสร้างเมืองนาร์เนียโดยที่มี “ความชั่วร้าย” เล็ดลอดเข้ามาสู่เมือง (ใน The Magician’s Nephew) ไปจนถึงอัสลานยอมสละชีวิตเพื่อช่วยเหลือเอ็ดมันด์ แล้วเขาก็ฟื้นคืนชีพขึ้น (ใน The Lion) จากนั้นก็เป็นเรื่องการฟื้นฟูศรัทธาที่มีต่ออัสลาน (Prince Caspian) ไปจนถึงการปรากฏตัวของผู้ต่อต้านอัสลาน เกิดวันพิพากษา นาร์เนียเสื่อมสูญ และนาร์เนียเกิดขึ้นใหม่ (The Last Battle)
โครงสร้างต่างๆ เหล่านี้ไม่ต่างอะไรจากตำนานการสร้างโลกไปจนถึงวันสิ้นโลก แน่นอนว่าราชสีห์อัสลานย่อมถูกนำไปโยงกับพระเยซูคริสต์ ซึ่งอัสลานพูดกับเด็กๆ ถึงโลกนอกเมืองนาร์เนียว่า
“ที่นั่นฉันมีชื่ออื่น เธอต้องเรียนรู้จักฉันในชื่ออื่น นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเธอจึงถูกนำมาที่นาร์เนีย ซึ่งพวกเธอได้รู้จักฉันเพียงน้อยนิด แต่เธอจะได้รู้จักฉันมากขึ้นที่นั่น”
เด็กๆ ผู้อ่านสงสัยเรื่องนี้กันมาก ถึงกับมีคนเขียนจดหมายไปถาม ซี เอส ลูอิสว่าเราจะพบอัสลานได้ในโลกของเราจริงหรือ ลูอิส จึงตอบจดหมายไปว่า
“สำหรับเรื่องชื่ออื่นของอัสลาน ฉันอยากให้เธอลองทายดูว่าในโลกนี้มีใครบ้างไหมที่ (๑) มาถึงในเวลาเดียวกับบิดาคริสต์มาส (๒) บอกว่าตัวเขาเป็นบุตรแห่งจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ (๓) สละตนเองเพื่อผู้อื่นโดยการถูกเยาะเย้ยและถูกสังหารโดยคนชั่ว (๔) ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง (๕) บางครั้งก็พูดในร่างของแกะ...เธอไม่รู้ชื่อในโลกนี้ของเขาจริงๆ หรือ ลองคิดให้ดีแล้วบอกให้ฉันรู้คำตอบด้วย”
ในด้านชีวิตส่วนตัวนั้น แจ็ค ลูอิสได้ติดต่อทางจดหมายกับ จอย เดวิดแมน กรีแชม หญิงอเมริกันเชื้อสายยิว ทั้งคู่แต่งงานกันในปี ๑๙๕๗ แต่สามปีต่อมาเธอก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกระดูก เรื่องราวความรักของแจ็คและจอยถูกถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มในเรื่อง Shadowlands (แสดงโดยแอนโธนี่ ฮ็อปกินส์ และ เดบราห์ วินเกอร์) อันมาจากชื่อบทสุดท้ายในหนังสือ The Last Battle ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายในเรื่องชุดนาร์เนีย
ภาพยนตร์เรื่อง Shadowlands
ภายหลังจอยเสียชีวิตในปี ๑๙๖๐ สุขภาพของเขาก็ย่ำแย่ลง ไม่ว่าจะโรคหัวใจและปัญหาที่ไต จนกระทั่งถึงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๑๙๖๓ ซี เอส ลูอิส ก็เสียชีวิตในวันเดียวกับที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี้ ถูกลอบสังหาร
ถึงแม้ว่าตลอดชีวิต ซี.เอส.ลูอิสจะเขียนหนังสือเด็กเพียงชุดเดียว แต่คุณค่าของงานก็มากพอที่จะทำให้งานของเขาได้รับความสนใจของเด็กทั้งโลก ขายได้มากกว่า ๑๐๐ ล้านเล่ม และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศเกิน ๓๐ ภาษา ได้รับรางวัลมากมาย นอกจากนี้ยังถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์หลายครั้งหลายคราวรวมถึงภาพยนตร์ด้วย
ตู้เสื้อผ้าซึ่งเป็นที่มาของเรื่องนาร์เนีย ภาพจาก www.pinterest.com
ที่เวดเซนเตอร์ในวิทยาลัยวีตันคอลเลจ ซึ่งเป็นสถาบันใกล้ชิดกับกลุ่มอิงคลิ่ง ได้เก็บรักษาตู้เสื้อผ้าของซี.เอส.ลูอิส ไว้เป็นอย่างดีโดยมีป้ายเตือนหน้าตู้ว่า
“การเข้าไปถือเป็นการเสี่ยงอันตรายของตัวท่านเอง ทางเวดเซนเตอร์จะไม่รับผิดชอบในกรณีที่บุคคลใดสูญหายหรือว่าหลงทางในตู้เสื้อผ้าใบนี้”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา