10 ธ.ค. 2018 เวลา 01:24 • บันเทิง
มิตรภาพ (ที่ขาดสะบั้น) ของสองนักเขียนแฟนตาซีผู้ยิ่งใหญ่ (ภาคจบ)
มิตรภาพของแจ็คหรือลูอิสกับโทลคีนนั้นดำเนินไปราว 2 ทศวรรษ กระทั่งราวๆ ปี 1946 โทลคีนก็เริ่มห่างเหินจากการเข้าร่วมการชุมนุมอิงคลิงส์ แม้ว่าจะยังมีการชุมนุมอยู่ แต่การชุมนุมมักจะย้ายไปที่ผับเดอะโรบัก (ซึ่งโทลคีนเห็นว่ารสนิยมของร้านสู้ร้านเบิร์ดแอนด์เบบี้ไม่ได้)
โทลคีนนั้นให้คุณค่าแก่ลูอิสอย่างมาก หลังจากขัดเกลาต้นฉบับลอร์ดออฟเดอะริงจนเสร็จ บุคคลแรกที่เขาส่งต้นฉบับให้อ่านก็คือลูอิส เขาให้เครดิตต่อลูอิสว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานเขียนเรื่องนี้ โดยกล่าวกับนักเขียนคนหนึ่งว่า “ถ้าไม่เป็นเพราะ ซี เอส ลูอิส ให้กำลังใจ ผมก็ไม่คิดว่าตัวเองจะเขียนเรื่องเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์จนจบได้”
แม้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ลูอิสได้รับรู้มาก่อนหน้านี้แล้ว ในคราวที่โทลคีนอ่านให้เพื่อนๆ ในกลุ่มอิงคลิงส์ฟัง และเขาได้วิพากษ์วิจารณ์ต่อหน้าโทลคีนไปแล้ว
แต่เมื่ออ่านต้นฉบับเวอร์ชั่นสมบูรณ์ ลูอิสก็ได้เขียนบทวิจารณ์เชิงบวกต่องานชิ้นนี้ และยกย่องว่าเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ของโทลคีน
ในหนังสือชีวประวัติของโทลคีนนั้น ไมเคิล ไวท์ ผู้เขียนซึ่งเป็นแฟนตัวยงของโทลคีนประเมินว่า ในบรรดาเพื่อนทั้งหมดนั้น โทลคีนเห็นว่าลูอิสเป็นคนที่มีสติปัญญาทัดเทียมกับเขาที่สุด (ขณะที่คนอื่นที่เหลือเป็นคนละชั้นกัน)
ทั้งคู่มีความคิดความอ่านคล้ายกัน ชื่นชอบตำนานเทพนิยายของยุโรปเหนือเหมือนกัน และฉลาดทัดเทียมกัน
แต่ขณะเดียวกันไวท์ก็เห็นว่าโทลคีนเป็นคนหวงและขี้อิจฉาเพื่อน ซึ่งอย่างน้อยเราต้องไม่ปฏิเสธว่าแม้ทั้งคู่จะเป็นเพื่อนกัน แต่ในระหว่างมิตรภาพนั้นก็มีการแข่งขันกันอยู่ในที
ทั้งคู่เป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาผู้มีชื่อเสียงของออกซฟอร์ดเหมือนกัน
ทั้งคู่มีทัศนะที่แรงกล้าด้านศาสนาเหมือนกัน
และทั้งคู่ก็ยังเขียนงานแฟนตาซีชื่อดังก้องโลกเหมือนกัน
แน่นอนว่าลูอิสให้ความเคารพและยกย่องโทลคีน แต่ในเวลาต่อมาเขาก็เริ่มจับสัญญาณอาการบางอย่างของโทลคีนได้ และได้พูดถึงเรื่องนี้ในคราวเขียนจดหมายหาวอร์เรนผู้เป็นพี่ชาย
เมื่อประกอบกับการที่ลูอิสเข้านับถือนิกายไอริชโปรเตสแตนท์ (หลังจากที่เคยไม่ศรัทธาในพระเจ้ามานาน) แทนที่จะเป็นคาทอลิกตามที่โทลคีนพยายามโน้มน้าว
มิตรภาพของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองก็เริ่มจืดจาง
การหันกลับมานับถือพระเจ้าของลูอิส ทำให้เขาเริ่มต้นเขียนงานเกี่ยวกับศาสนาจำนวนมาก และงานเหล่านี้ได้รับการยกย่องจากผู้อ่านอย่างสูง (ถึงกับลูอิสได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสนาคริสต์คนสำคัญที่สุดของโลกในยุคศตวรรษที่ 20) รวมไปถึงการประสบความสำเร็จในแง่การขาย ก็ยิ่งทำให้โทลคีนไม่พอใจ เขาเห็นว่าความคิดของลูอิสยังไม่สุกงอมพอที่จะมาเขียนงานด้านศาสนาได้
ลูอิสใช้ประเด็นทางศาสนาเป็นแกนกลางในงานเขียนหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นแฟนตาซีสำหรับเด็ก (เรื่องชุดนาร์เนีย) หรือนิยายวิทยาศาสตร์ (Out of the Silent Planet - ซึ่งลูอิสเอาบุคลิกของโทลคีนมาสร้างเป็นตัวละครพระเอกของเรื่อง)
หนังสือ The Screwtape Letters งานเขียนด้านศาสนาชื่อดังที่สุดของลูอิส ได้เขียนคำอุทิศแด่โทลคีน แต่แน่นอนว่าโทคีนไม่เคยไยดีหนังสือเล่มนี้เลย
แม้แต่งานแฟนตาซีอย่างนาร์เนียนั้นทีแรก ซี เอส ลูอิส ตั้งใจจะเขียนเพียงเรื่องเดียว แต่ภายใน 6 ปีต่อมา เขากลับเขียนอีก 6 เล่ม ทั้งที่ดูเหมือนว่าทุกอย่างไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า แต่เรื่องเมืองนาร์เนียทั้ง 7 เล่มกลับประสบความสำเร็จในแง่การขาย ยิ่งไปกว่านั้นเรื่อง The Last Battle อันเป็นเรื่องสุดท้ายในชุดนี้ก็ได้รับการยกย่องอย่างสูง และได้รับรางวัลเหรียญคาร์เนกี้ จากสมาคมห้องสมุดบริติช
ขณะที่ลอร์ดออฟเดอะริงนั้น เป็นงานที่โทลคีนวางแผนการเขียนมาอย่างยาวนาน เนื้อหามีขนาดยาวกว่าเรื่องชุดนาร์เนียอย่างเทียบกันไม่ได้ กระนั้นแล้วเรื่องชุดนี้ก็ประสบปัญหาด้านการจัดพิมพ์ เนื่องจากโทลคีนไม่ต้องการตัดทอนเนื้อหาตามที่สำนักพิมพ์ต้องการ ในที่สุดแล้วต้องใช้เวลา 5 ปีกว่าที่จะหาสำนักพิมพ์และจัดพิมพ์ได้สำเร็จ
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เส้นทางของลูอิสดูจะโรยด้วยกลีบกุหลาบมากกว่า และเผชิญอุปสรรคน้อยกว่าที่โทลคีนต้องเผชิญ
ซี เอส ลูอิส ได้รู้จักกับ ชาร์ลส์ วิลเลียมส์ รู้สึกทึ่งในความคิดของเขา และชักชวนวิลเลียมส์เข้าร่วมกลุ่มสนทนาอิงคลิงส์บ่อยครั้ง (นอกจากการพบปะกันเป็นส่วนตัวทุกสัปดาห์ในห้องทำงานของลูอิส เป็นเวลานานกว่าสิบปี) มิหนำซ้ำยังช่วยวิ่งเต้นจนวิลเลียมส์ได้งานที่ออกซฟอร์ด
นี่ย่อมทำให้โทลคีนไม่พอใจ เขารู้สึกว่าวิลเลียมส์เป็นคนที่จะมาแย่งชิงลูอิสไป และไม่ละเว้นที่จะแสดงความคิดเห็นเชิงลบต่อวิลเลียมส์ในที่สาธารณะเสมอ
แต่ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโทลคีนกับลูอิสต้องขาดสะบั้นลงเห็นจะเป็นการมาของ “ผู้เล่นรายใหม่” อย่าง จอย กรีแชม นักเขียนหญิงจากอเมริกา...
ภายหลังจากเจนี่ มัวร์ สตรีผู้เป็นกึ่งมารดากึ่งคู่รักของลูอิสเสียชีวิตลง ลูอิสได้รู้จักกับจอยที่อังกฤษ ทั้งคู่ตกหลุมรักกัน จอยกลับไปหย่าขาดจากสามีก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับลูอิสที่อังกฤษ
โทลคีนทั้งไม่พอใจที่ลูอิสแต่งงานโดยไม่แจ้งข่าวให้เขารู้ และไม่พอใจบุคลิกรวมถึงภูมิหลังของจอย (แต่เรื่องตลกก็คือ อีดิธ ภรรยาของเขากลับสนิทสนมกับจอย!)
ภายหลังลูอิสรับตำแหน่งศาสตราจารย์วิชาภาษาอังกฤษสมัยกลางและเรอเนสซองส์ที่เคมบริดจ์ ทำให้เขายิ่งไม่ค่อยอยู่ที่อ๊อกซฟอร์ด ความสัมพันธ์กับโทลคีนก็ยิ่งเหินห่างมากขึ้น
เมื่อลูอิสเสียชีวิตในปี 1963 โทลคีนปฏิเสธที่จะเขียนข้อความไว้อาลัยถึงเพื่อนในหนังสืองานศพ
หลังจากลูอิสเสียชีวิตไม่นาน โทลคีนเขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงเพื่อนคนหนึ่ง เนื้อความกล่าวถึงลูอิสว่า “ทีแรกเราห่างกันไปเพราะมีชาร์ลส์ วิลเลียมส์ และหลังจากนั้นก็เพราะเขาแต่งงาน”
นี่ถือเป็นการปิดฉากของมิตรภาพระหว่างนักเขียนวรรณกรรมแฟนตาซีสุดคลาสสิคสองคนซึ่งแม้ว่าจะนับถือซึ่งกันและกัน แต่ก็จบลงอย่างไม่สวยนัก...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา