12 ธ.ค. 2018 เวลา 01:30 • บันเทิง
"ผจญภัยตามใจเลือก" : นิยายผสมเกมที่คุณเลือกเนื้อเรื่องเองได้
วรรณกรรมชุดผจญภัยตามใจเลือก (Choose Your Own Adventure / CYOA) เป็นชื่อชุดของวรรณกรรมลูกผสมระหว่างหนังสือกับเกม ที่เรียกว่าหนังสือเกม (Gamebook) หนังสือประเภทนี้แตกต่างจากหนังสือวรรณกรรมทั่วไปตรงที่ก่อนเข้าเรื่อง ผู้อ่านจะพบคำเตือนลักษณะนี้
“ห้ามอ่านจากหน้าแรกไปหน้าสุดท้าย ให้อ่านจากหน้าแรกไปจนถึงการเลือกครั้งแรกของคุณ นั่นคือจุดเริ่มต้นการผจญภัย...”
การอ่านแต่ละครั้งจะทำให้ผู้อ่านได้เรื่องราวไม่เหมือนเดิม ก็เพราะว่ามันมีลักษณะแบบเกมที่แต่ละครั้งที่เล่นย่อมได้เนื้อเรื่องไม่เหมือนเดิม
วรรณกรรมชุดนี้เล่าเรื่องโดยใช้มุมมองแบบบุรุษที่สอง (โดยใช้มุมมองของ “คุณ” หรือผู้อ่านในการเล่าเรื่อง) ซึ่งแตกต่างจากวรรณกรรมทั่วไปที่ใช้มุมมองแบบบุรุษที่หนึ่ง (มุมมองของตัวละครในเรื่อง เล่าเรื่องผ่านมุมมองของ “ฉัน” หรือ “ผม”) หรือไม่ก็มุมมองแบบบุรุษที่สาม (มุมมองแบบพระเจ้า)
การใช้มุมมองแบบบุรุษที่สอง ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังอยู่ในเหตุการณ์จริง
นอกจากนี้แล้วจะมีการผูกปมเรื่องให้เกิดสถานการณ์ที่ “คุณ” ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกการตัดสินใจแบบใด
เนื้อเรื่องในแต่ละเล่มนั้นผู้อ่านจะต้องเผชิญกับภารกิจหรือปัญหาที่แตกต่างกันไป เช่น ตื่นมาในวันที่น้ำมันหายไปจากโลก เมื่อเรื่องดำเนินไป ตัวละครเดินเรื่อง (ก็ “คุณ” นั่นแหละ) จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจบางอย่าง
หนังสือจะให้ทางเลือกแก่ผู้อ่าน 2-3 อย่าง เป็นต้นว่า เมื่อมีคนแปลกหน้าเข้ามา “คุณ” จะเลือกตอบโต้อย่างไร ระหว่างวิ่งหนีหรือทำใจดีสู้เสือเข้าไปหา
ถ้าเลือกวิ่งหนีก็ให้พลิกไปอ่านต่อหน้า 24
ถ้าเลือกเข้าไปหาก็พลิกไปอ่านต่อหน้า 59
เมื่อผู้อ่านเลือกและพลิกไปยังหน้าที่กำหนดแล้ว ก็จะได้พบเรื่องราวที่แตกต่างกันไป เช่น ถ้าเลือกวิ่งหนีไปก็อาจหนีเสือปะจระเข้ไปเจอเหตุการณ์ร้ายๆ ขณะที่ถ้าเลือกเข้าไปหาอาจได้พบว่าชายแปลกหน้านั้นไม่ได้เป็นคนร้ายอย่างที่เราคิด ฯลฯ จนกระทั่งถึงตอนจบซึ่งก็อาจมีทั้งจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง เช่น แก้ปัญหาได้สำเร็จ กลายเป็นเศรษฐี แต่บางทางก็เป็นการจบแบบเลวร้าย เช่น เสียชีวิต กลายเป็นทาส หลงทางในอวกาศ
นักเขียนผู้ริเริ่มแนวคิดหนังสือแบบนี้คือเอ็ดเวิร์ด แพ็คการ์ด เขาได้แนวความคิดของวรรณกรรมแบบนี้มาจากการเล่านิทานก่อนนอนให้ลูกสาวสองคนฟัง เขามักจะใช้ตัวละครพีทที่ต้องผจญภัยอยู่ในเกาะร้างแห่งหนึ่งมาเล่าให้ลูกสาวฟัง มีอยู่คืนหนึ่งที่แพ็คการ์ดหมดมุข เขาไม่รู้จะเล่าเรื่องอะไรดี จึงถามลูกสาวทั้งสองว่าจะให้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับพีทดี ลูกสาวทั้งสองก็แย่งกันบอกความต้องการของตนเอง
ซึ่งไม่เหมือนกัน...
แพ็คการ์ดจึงต้องเล่าเรื่องที่มีเรื่องราวไม่เหมือนกัน และมีตอนจบที่แตกต่างกันให้ลูกสาวทั้งสองฟัง
เอ็ดเวิร์ด แพ็คการ์ด
จากนั้นเขาก็คิดว่าตนเองน่าจะลองเอาแนวคิดนี้มาเขียนเป็นหนังสือ เขาจึงลองเขียนต้นฉบับเรื่อง The Adventures of You on Sugar Cane Island ในปี 1970 แต่ก็ถูกสำนักพิมพ์ 9 แห่งปฏิเสธ จนถึงปี 1975 เขาก็โน้มน้าว เรย์มอนด์ มอนต์โกเมอรี่ (หรือ อาร์ เอ มอนต์โกเมอรี่) นักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์เวอร์มอนต์ ครอสโรด เพรส ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ท้องถิ่นขนาดเล็กให้จัดพิมพ์ได้สำเร็จ
อาร์ เอ มอนต์โกเมอรี่
ภายหลังการจัดพิมพ์เรื่องชุด Adventure of You ของแพ็คการ์ดจำนวน 4 เล่ม มอนต์โกเมอรี่เห็นช่องทางว่าโครงการนวนิยายแบบใหม่นี้น่าจะไปได้ดีกว่านี้ หากได้ทำงานกับสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่กว่าสำนักพิมพ์ของเขา ในที่สุดเขาจึงไปเจรจากับสำนักพิมพ์แบนแทมบุคส์ โครงการนี้ผ่านการพิจารณาจากสำนักพิมพ์ ทั้งมอนต์โกเมอรี่และแพ็คการ์ดต่างก็เขียนหนังสือแนวนี้อีกหลายเล่ม และยังมีนักเขียนอื่นมาร่วม เช่น ดักลาส เทอร์แมน จูเลียส กู๊ดแมน ริชาร์ด ไบรท์ฟีลด์ เป็นต้น
หลังจากนั้นสำนักพิมพ์แบนแทมบุคส์ ยังได้ออกซีรี่ส์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น ซีรีส์สำหรับเด็กเล็กซึ่งเรื่องราวซับซ้อนน้อยลง และมีตอนจบแบบไม่ดีน้อยลง รวมถึงชุด Choose Your Own Super Adventure ที่เรื่องมีความยาวและซับซ้อนมากกว่าฉบับปกติ โดยที่ แพ็คการ์ดและมอนต์โกเมอรี่ยังร่วมเขียนให้กับงานทั้งสองชุดนี้ด้วย
นอกจากนี้แล้วรูปแบบงานวรรณกรรมแบบนี้ยังถูกนำไปดัดแปลงใช้กับงานอื่นๆ เช่นชุดอินเดียน่า โจนส์ (จำนวน 8 เล่ม เขียนโดย ริชาร์ด ไบรท์ฟีลด์) ชุดสตาร์วอรส์ (จำนวน 3 เล่ม เขียนโดยคริสโตเฟอร์ โกลเดน)
สำนักพิมพ์แบนแทมบุคส์พิมพ์งาน Choose Your Own Adventure จนถึงปี 1998 หลังจากนั้นก็ไม่มีงานแนวนี้มาอีก จนกระทั่งปี 2005 สำนักพิมพ์ชูสเซโก ได้รื้อฟื้นโครงการนี้มาเขียนใหม่จนถึงปัจจุบันอีกหลายชุดโดยมีมอนต์โกเมอรี่เป็นนักเขียนหลัก ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 2014
ส่วนคำว่า Choose Your Own Adventure มาจากขณะจัดพิมพ์หนังสือเล่มที่ 2 เรื่อง Deadwood City ซึ่งเป็นเรื่องแนวคาวบอยมุ่งตะวันตก ดิน่าห์ สตีเวนสัน ผู้เป็นบรรณาธิการ ต้องการคิดข้อความเพื่ออธิบายความเป็นวรรณกรรมรูปแบบใหม่แก่คนอ่าน เขาจึงใช้ข้อความว่า “Choose your own adventure in the Wild West” (ผจญภัยตามใจเลือกไปสู่ตะวันตก) ดังนั้นเมื่อพิมพ์เล่มต่อไปจึงใช้ชื่อเรื่องว่า The Third Planet from Altair: Choose your own adventure in outer space
สำหรับในเมืองไทย สำนักพิมพ์หิ่งห้อยจัดพิมพ์รวมทั้งสิ้นเกือบ 100 เล่มในช่วงราว พ.ศ. 2530-2540 ใช้ชื่อชุดว่า “ผจญภัยตามใจเลือก”
สำหรับในที่นี้จะแนะนำเรื่องที่น่าสนใจดังนี้
เชลย UFO 54-40 (Inside UFO 54-40) โดย เอ็ดเวิร์ด แพ็คการ์ด
คุณกำลังนั่งเครื่องบินคอนคอร์ดที่มีความเร็วเหนือเสียง แต่แล้วจู่ๆ ก็มีวัตถุทรงกระบอกขนาดใหญ่พุ่งออกมาจากหมู่เมฆ คุณรู้สึกตัวอีกทีก็พบว่าตนเองอยู่ในยานอวกาศ 54-40 ที่กำลังมุ่งหน้าไปดาวอันติมะ คุณจะต้องหาทางหนีรอดออกมาจากยานอวกาศนี้ให้ได้
ความแสบของเรื่องนี้อยู่ตรงที่มีตอนจบหลายแบบ และแต่ละแบบก็ล้วนไม่ใช่หนทางที่น่าพิสมัย ไม่ว่าจะเป็นร่างถูกแยกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเคลื่อนที่ไปตามเส้นเวลา แต่อีกส่วนกลับเคลื่อนย้อนเวลา , โลกมนุษย์ถูกทำลาย, กลายเป็นเหยื่อของสัตว์ประหลาด ฯลฯ
มีเพียงตอนจบแบบเดียวที่คุณได้ไปสู่ดวงดาวอันติมะที่ซึ่งเป็นดินแดนในอุดมคติ เพียงแต่ว่าคุณจะไม่มีวันไปสู่ตอนจบแบบนี้ได้หากอ่านด้วยวิธีตามปกติ เพราะเนื่องจากไม่มีทางเลือกใดที่จะนำมาสู่เหตุการณ์นี้ได้เลย คุณได้แต่ต้องขี้โกงโดยการดื้อแพ่งอ่านหน้านี้โดยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น!
มนุษย์เวหาหน (Space and Beyond) โดย อาร์ เอ มอนต์โกเมอรี่
เนื่องจากคุณเกิดบนยานอวกาศที่เดินทางระหว่างแกแล็กซี่ต่างๆ และเนื่องจากพ่อกับแม่ของคุณมาจากต่างแกแล็กซี่กัน ดังนั้นเมื่อคุณอายุ 18 คุณจึงต้องเลือกว่าตนเองจะสังกัดตนเองเข้ากับแกแล็กซี่ใด การเลือกครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยรูปแบบต่างๆ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ ความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ตรงที่มีตอนจบถึง 44 แบบ! นั่นหมายความว่าถ้าคุณต้องการอ่านเรื่องให้ครบทุกแบบ คุณก็ต้องอ่านเล่มนี้อย่างน้อย 44 รอบ!
ตะลุยอาณาจักรเทโนเปีย (Escape from Tenopia) โดยริชาร์ด ไบรท์ฟีลด์
ยานอวกาศของคุณตกลงบนเกาะร้างแห่งหนึ่งในดาวเทโนเปีย ดาวที่แสนเร้นลับ คุณต้องหาทางหนีกลับไปยังสถานีอวกาศให้ได้ แต่ความยากมันอยู่ตรงที่ว่าเรื่องนี้มีตอนจบเพียงแบบเดียว (ถึงแม้ว่าจะเป็นตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งก็ตาม) แต่นั่นหมายความว่าคุณจะหาทางไปสู่ตอนจบที่ว่านี้ได้หรือเปล่า หรือว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใด การอ่านเรื่องนี้จึงไม่ต่างอะไรจากการเดินหลงทางอยู่ในเขาวงกต มีเส้นทางเดียวเท่านั้นที่ทำให้คุณออกมาได้ (ตอนที่ผู้เขียนอ่านเรื่องนี้ใช้เวลาอยู่หลายวันทีเดียวกว่าจะออกมาได้)
เรื่องชุดเทโนเปียนี้ยังมีตอนอื่นอีก ได้แก่ผจญภัยนอกพิภพ (Star System Tenopia) และผ่าเกาะเทโนเปีย (Tenopia Island) ซึ่งแน่นอนว่าทุกเรื่องในชุดนี้ล้วนมีตอนจบแบบเดียว!
ไฮเปอร์สเปซ (Hyperspace) โดยเอ็ดเวิร์ด แพ็คการ์ด
ศาสตราจารย์ซินก้าย้ายมาเป็นเพื่อนบ้านคนใหม่ของคุณ เขาทำการทดลองเรื่องไฮเปอร์สเปซและได้เชิญให้คุณเข้าชมการทดลองของเขา นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเข้าสู่การผจญภัยอันน่าพิศวงและความซับซ้อนของกาล-อวกาศ มีประเด็นให้ครุ่นคิดและถกเถียงกันในมุมของวิทยาศาสตร์และปรัชญามากมาย ราวกับว่านี่ไม่ใช่นิยายผสมเกมแต่อย่างใด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา