14 ธ.ค. 2018 เวลา 02:26 • บันเทิง
มิฆาเอ็ล เอ็นเด้ กับจินตนาการไม่รู้จบ
สิ่งสำคัญที่สุดของวรรณกรรมเด็กแนวแฟนตาซีก็คือการสร้าง “โลกแห่งจินตนาการ” สถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ สิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดพิศดาร การผจญภัยที่ตื่นเต้นอย่างที่เด็กๆ ไม่อาจพบได้ในโลกจริง
ในบรรดาดินแดนน่าพิศวงเหล่านี้ ยังมี “อาณาจักรจินตนาการ” (หรือ “แฟนตาเซีย”) จากเรื่อง The Neverending Story อีกแห่งหนึ่งด้วย
แม้อาณาจักรจินตนาการจะมหัศจรรย์ในระดับไม่ต่างจากเมืองนาร์เนีย โลกพ่อมด หรือเมืองมรกต ฯลฯ แต่สิ่งที่ต่างไปจากวรรณกรรมเยาวชนเรื่องอื่นๆ ก็คือ การอยู่ในดินแดนแห่งนี้นานเกินไปอาจนำมาซึ่งการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง!
ผู้สร้างอาณาจักรจินตนาการให้เป็นส่วนหนึ่งของ จินตนาการไม่รู้จบ (The Neverending Story) ก็คือนักเขียนชาวเยอรมันที่ชื่อ มิฆาเอ็ล เอ็นเด้ (Michael Ende) เขาเกิดเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๙ ที่เมืองการ์มิชพาเท็นเคียเชน ในแคว้นบาวาเรีย
มิฆาเอ็ล เอ็นเด้
เอ็ดการ์ เอ็นเด้ พ่อของเขาเป็นจิตรกรในแนวเหนือจริงที่มีชื่อเสียง แต่สภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวย่ำแย่ลงเมื่อเอ็ดการ์ปฏิเสธนโยบายทางวัฒนธรรมของนาซี จนถูกสั่งห้ามทำกิจกรรมทางศิลปะ
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้น เพื่อนหลายคนของเอ็นเด้ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพ พวกเขาถูกส่งไปแนวหน้าหลังจากเข้ารับการฝึกได้เพียงวันเดียว และสามคนในนั้นเสียชีวิตตั้งแต่วันแรก
เอ็นเด้โศกเศร้ากับเหตุการณ์นี้มาก ดังนั้นเมื่อถึงคราวเขาได้รับหมายเกณฑ์บ้าง เด็กหนุ่มในวัยสิบหกปีจึงตัดสินใจหลบหนีไปเข้าพวกกับองค์กรต่อต้านนาซีที่เมืองมิวนิค
หลังจากนั้นเขาเข้าศึกษาต่อด้านการละคร ได้ฝึกฝนการเขียนบทและการแสดง ครั้นเรียนจบเขาทำงานด้านการละครอยู่พักหนึ่งก่อนจะสิ้นหวังกับการเป็นนักเขียนบทละครตามแนวทฤษฎีของเบรคชท์ (นักการละครชื่อดังของเยอรมัน ผู้ให้กำเนิดละครแนว Epic theatre)เพื่อนคนหนึ่งจึงชักชวนให้เขามาร่วมทำหนังสือเด็กด้วยกัน
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงของเขา
เอ็นเด้ใช้เวลา ๑๐ เดือนในช่วงปลายทศวรรษที่ ๕๐ สำหรับเขียนวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง Jim Knopf and Lukas the Engine Driver (๑๙๖๐) (ชื่อไทยว่า "จิม กระดุมกับลูคัส คนขับหัวรถจักร" พิมพ์โดย สนพ. แพรวเยาวชน) แต่ต้องใช้เวลาอีก ๒ ปีกว่าผลงานจะได้รับการตีพิมพ์ ภายหลังถูกสำนักพิมพ์นับสิบแห่งปฏิเสธ
ระหว่างนั้นเอ็นเด้ถูกเจ้าของห้องพักฟ้องร้องเนื่องจากค้างค่าเช่านาน ๗ เดือน แต่การที่ผลงานเล่มแรกของเขาได้รับรางวัลวรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยมแห่งเยอรมันในปีต่อมาก็ทำให้เอ็นเด้รอดพ้นวิกฤตมาได้ เขาไม่เพียงมีเงินจ่ายค่าห้อง หากยังมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงพอที่จะดำรงชีพเป็นนักเขียนได้ตลอดไป
ในปี ๑๙๖๔ เอ็นเด้แต่งงานกับนักแสดงสาวชื่ออิงเงอร์บอร์ก โอฟมันน์ และทำงานเขียนอย่างต่อเนื่อง หลังจากเขียนการผจญภัยครั้งต่อมาของ จิม กระดุม ในเรื่อง Jim Knopf and the Wild 13 (๑๙๖๒) (ชื่อไทยว่า "จิม กระดุม กับ ๑๓ ป่าเถื่อน") เขาก็ยังมีงานเรื่อง Momo (๑๙๗๓) (ชื่อไทยว่า "โมโม่") ก่อนจะมาสู่งานชิ้นเอกนั่นก็คือ The Neverending Story (๑๙๗๙)
(หมายเหตุ - เอาไว้จะเขียนถึงเรื่อง จิม กระดุม กับ โมโม่ ในโอกาสต่อไป)
ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่เยอรมันต้องฟื้นฟูประเทศจากการเป็นผู้แพ้สงคราม กระแสวรรณกรรมเยอรมันคุกรุ่นอยู่กับแนวสมจริง (Realism)ด้วยเหตุนี้เรื่องแนวแฟนตาซีของเอ็นเด้จึงทำให้เขาถูกวิพากษ์ว่าเป็นพวกหลบหนีความจริง (Escapist) ทั้งที่งานวรรณกรรมของเขาแยกไม่ออกจากโลกแห่งความเป็นจริง งานเขียนแทบทุกชิ้นของเขาไม่เพียงเปี่ยมล้นจินตนาการ หากยังเต็มไปด้วยการเสียดสีและวิพากษ์สังคม – โดยเฉพาะสังคมอุตสาหกรรมของตะวันตก...
เมื่อเขียนเรื่อง The Neverending Story ความคิดของเอ็นเด้ก็ลุ่มลึกมากขึ้น งานของเขาไม่เพียงเป็นการวิพากษ์สังคม หากยังล่วงไปถึงแนวคิดปรัชญา โดยเฉพาะปรัชญาตะวันออก
โครงเรื่องแบบเรื่องซ้อนเรื่องในครึ่งเล่มแรกกล่าวถึงบาสเตียน เด็กชายอ้วนผู้อ่อนแอและขี้ขลาดได้อ่านหนังสือเรื่องจินตนาการไม่รู้จบ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับหายนะในอาณาจักรจินตนาการและอาการประชวรของยุวจักรพรรดินี ส่งผลให้ อัทเทรอู เด็กชายตัวเขียวต้องออกผจญภัยเพื่อไขปริศนาดังกล่าว
ส่วนครึ่งเล่มหลังเป็นการเดินทางมาสู่อาณาจักรจินตนาการของบาสเตียนเอง เขาคือผู้ให้ชีวิตใหม่แก่อาณาจักรจินตนาการ แต่ในขณะเดียวกัน อำนาจแห่งออรีนที่ได้รับมาจากยุวจักรพรรดินี (หรือชื่อใหม่ที่เขาตั้งให้พระองค์ว่าธิดาจันทรา) ก็สูบเอาความทรงจำในอดีตไปจากเขาทั้งหมด กว่าจะรู้ตัวก็เกือบสายเกินไป
เอ็นเด้พยายามชี้ให้เห็นถึงพลังแห่งจินตนาการ อันเป็นหนทางในการเยียวยาสังคม แต่หากเอ็นเด้หยุดบทบาทของจินตนาการไว้เพียงเท่านี้ The Neverending Story ก็จะมีปลายทางไม่ต่างจากวรรณกรรมแฟนตาซีอื่นๆ
แต่เอ็นเด้ไปไกลกว่านั้น
เขาสร้างให้เรื่องทั้งปวงของหนังสือเล่มนี้เป็น “ทวิลักษณ์” ของสิ่งสิ่งเดียว ดังจะเห็นได้จากสัญลักษณ์ของออรีนซึ่งเป็นรูปงูขาวและงูดำต่างงับหางของอีกฝ่ายไว้ (เมื่อเราลองลากเส้นไปตามรูปงูทั้งสองก็จะพบว่ามันไม่มีจุดจบ) งูทั้งสองเป็นตัวแทนของโลกจริงและโลกสมมติ (หรือเรียกอีกอย่างว่าจินตนาการ) ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมันคือโลกเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็เป็นคนละโลกที่ใกล้ชิดเชื่อมโยงกันอย่างมาก
ทั้งสองโลกต่างส่องสว่างและเกื้อกูลกัน ขณะเดียวกันก็เป็นภาพสะท้อนของกันและกัน เมื่อโลกจินตนาการประสบหายนะ (ยุวจักรพรรดินีป่วย อาณาจักรจินตนาการถูกความว่างเปล่าเข้าครอบงำ) โลกจริงก็อยู่ในสภาวะไร้สมดุล (ความสัมพันธ์ระหว่างบาสเตียนกับพ่อเปราะบางเพราะไม่เข้าใจกัน) การแก้ไขปัญหาจึงต้องทำพร้อมกันทั้งสองโลก (หมอพยายามรักษายุวจักรพรรดินี ขณะที่พ่อก็พยายามซื้อของขวัญให้บาสเตียน)
“...มีหนทางข้ามเส้นแบ่งระหว่างอาณาจักรจินตนาการกับโลกมนุษย์อยู่สองทาง ทางหนึ่งถูกและทางหนึ่งผิด เมื่อไรที่บุตรของมนุษย์ข้ามมาสู่โลกของเราด้วยความตั้งใจของเขาเอง นั่นเป็นทางที่ถูก”
การข้ามจากโลกจริงมาสู่โลกจินตนาการ (ซึ่งอยู่ห่างไกลหากวัดด้วยมิติของระยะทาง แต่ใกล้แสนใกล้หากวัดด้วยมิติของความปรารถนา) ก่อให้เกิดศรัทธาและความกล้าหาญ
เมื่อบาสเตียนเข้ามาสู่โลกจินตนาการ เขาก็กลายเป็น “วีรบุรุษ” ในทางตรงกันข้าม หากชาวจินตนาการหลุดรอดไปสู่โลกจริง อันเป็นการติดต่อกับโลกมนุษย์ด้วยหนทางที่ผิด จินตนาการเหล่านั้นก็มีค่าเสมอเป็นเพียง “ความเท็จ” หรือความเพ้อเจ้อเหลวไหลเท่านั้น
จินตนาการคือสิ่งสำคัญ แต่หากไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ มันก็คือความเท็จ
โดยนัยนี้ การยึดติดอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ย่อมทำให้มนุษย์แล้งจินตนาการ
ขณะเดียวกัน หากจมปลักอยู่กับจินตนาการ เขาก็จะสูญเสียสำนึกแห่งความเป็นจริงไป เช่นเดียวกับผู้คนในเมืองแห่งอดีตจักรพรรดิ
สมดุลของโลกถูกคานอำนาจกันระหว่างความจริงและจินตนาการ “...ความพินาศย่อยยับทั้งปวงได้รับการยับยั้งไว้ก็ด้วยการที่งูทั้งสองยังคงยึดหางของอีกฝ่ายหนึ่งไว้ ซึ่งหากเมื่อใดที่พวกมันปล่อย สรรพสิ่งย่อมถึงกาลล่มสลายอย่างแน่นอน...”
ตลอดเวลาที่ผ่านมา บาสเตียนปรารถนาจะเป็นคนอื่นมากกว่าตนเอง ทุกครั้งที่เขาใช้อำนาจแห่งออรีนเพื่อกระทำตามใจปรารถนา เขาก็ต้องสูญเสียความทรงจำบางอย่างในอดีตไป น่าแปลกตรงที่ในหลายๆ ครั้งเขาปรารถนาในสิ่งที่ตนมีอยู่แล้วแต่ไม่รู้ เขาต้องสูญเสียความทรงจำเกี่ยวกับสิ่งที่เขามีอยู่แล้ว เพื่อแลกกับสิ่งเดียวกันนั้นเอง
เพื่อที่จะเป็นคนกล้าหาญในอาณาจักรจินตนาการ เขาต้องแลกกับความทรงจำว่าครั้งหนึ่งเขาเป็นคนขี้ขลาดในโลกจริง (ทั้งที่พฤติกรรมบางอย่างบ่งชี้ว่าเขามีความกล้าหาญพอตัว ไม่ว่าจะการเถียงคุณโคเรแอนเดอร์เจ้าของร้านหนังสือผู้กล่าวหาว่าเด็กๆ ล้วนเป็นตัวร้ายกาจ หรือแม้แต่การต่อสู้กับจิตใจของตัวเองก่อนจะอาสาเป็นวีรบุรุษผู้ช่วยเหลืออาณาจักรจินตนาการ)
ในตอนท้ายเรื่อง ระหว่างการค้นหาทางกลับสู่โลกมนุษย์ เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เขาต้องแลกมันกับความทรงจำเกี่ยวกับบุคคลแวดล้อมในโลกที่เขาจากมาทั้งหมด
และเพื่อที่จะได้รับความรักจากผู้อื่น เขาต้องแลกมันกับความทรงจำที่มีต่อพ่อและแม่
มิฆาเอ็ล เอ็นเด้ ได้เห็นชีวิตและวัฒนธรรมหลากรูปแบบ ปี ๑๙๗๐ เขากับภรรยาย้ายไปอยู่ที่อิตาลีนาน ๑๕ ปี จึงกลับเยอรมันหลังจากภรรยาเสียชีวิต
เขาไปเยือนญี่ปุ่นหลายครั้ง และภายหลังได้แต่งงานกับมาริโกะ ซาโตะ ผู้แปลงานของเขาเป็นภาษาญี่ปุ่น เอ็นเด้จึงมีความเชื่อมั่นในเรื่องกระจกสะท้อนแก่กันระหว่างสองโลกที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่เพียงหมายถึงโลกจริงและโลกจินตนาการเท่านั้น หากยังรวมถึงดินแดนที่มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมอีกด้วย
แนวคิดเรื่อง “กระจกสะท้อนแก่กัน” นี้นอกจากแสดงผ่านสัญญะจำนวนมากมายในเรื่อง The Neverending Story แล้ว เขายังมีเขียนรวมเรื่องสั้นเล่มหนึ่งชื่อ Mirror in the Mirror (๑๙๘๖) เรื่อง Jim Knopf และนิทานหลายเรื่องก็สะท้อนความคิดนี้
ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมหวังว่าโลกตะวันออกกับยุโรปจะมีการพูดคุยกันอย่างแท้จริงในประเด็นทางศิลปะและวัฒนธรรม...ทั้งสองต่างล้วนมีประเพณีที่ยิ่งใหญ่เป็นของตัวเอง ในเมื่อยุโรปนั้นแตกต่างจากตะวันออก ดังนั้นการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกันจะทำให้เกิดความงอกเงยอุดมสมบูรณ์”
ความโด่งดังและยอดเยี่ยมของ The Neverending Story มีมากจนถึงขนาดมีผู้ซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ กำกับโดยโวล์ฟกัง ปีเตอร์เซน ซึ่งมีผลงานโด่งดังในเวลาต่อมาอย่างเช่น Air Force One (๑๙๙๗) Perfect Storm (๒๐๐๐) และ Troy (๒๐๐๔)
แต่น่าเสียดายที่ขณะที่หนังเรื่องนี้ได้ออกฉายในปี ๑๙๘๔ หนังกลับเต็มไปด้วยความอ่อนด้อย ไม่ว่าจะขาดความลุ่มลึกของตัวละคร หรือสร้างจากเนื้อหาเพียงครึ่งเล่มแรกเท่านั้น ทั้งที่สาระสำคัญของเรื่องขมวดปมและคลี่คลายในครึ่งเล่มหลัง
และที่ดูจะร้ายแรงที่สุดก็คือ The Neverending Storyฉบับภาพยนตร์นี้ปล่อยให้อัทเทรอูกับมังกรนำโชคฟูคัวร์ทะลุมาสู่โลกมนุษย์เพื่อสั่งสอนพวกเด็กเกเรที่กลั่นแกล้งบาสเตียน มันเท่ากับเป็นการรื้อทิ้งแก่นความคิดในฉบับหนังสือลงอย่างป่นปี้จนกลายเป็นเรื่องแฟนตาซีดาดๆ
เพราะการสรุปเรื่องแบบนี้เท่ากับยิ่งสนับสนุนการหลีกหนีความจริง ทั้งที่ในทัศนะของเอ็นเด้แล้ว จินตนาการต้องมีเพื่อให้คนเราเติบโตขึ้น และมองโลกความเป็นจริงด้วยมุมมองที่ต่างออกไป มิหนำซ้ำหากยึดตามที่เอ็นเด้อ้างไว้ในหนังสือ การทะลุมิติครั้งนี้ของอัทเทรอูก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากเป็นเพียง “ความเท็จ” เท่านั้น
ความไม่พอใจครั้งนี้ถึงกับทำให้เอ็นเด้ขอให้ผู้สร้างถอดชื่อเขาออกจากชื่อผู้ประพันธ์ รวมไปถึงฟ้องร้องบริษัทผู้ผลิต แต่เขาแพ้คดีในที่สุด
มิฆาเอ็ล เอ็นเด้ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๑๙๙๕ ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา ยังมีการนำเรื่อง The Neverending Story มาสร้างเป็นหนังภาคสองและสาม โดยที่ภาคสองหยิบเอาเหตุการณ์ย่อยๆ บางเหตุการณ์ในหนังสือครึ่งเล่มหลังของเขามาสร้างและร้อยเรียงใหม่จนต่างไปจากเรื่องเดิม ส่วนภาคสามนั้นคงอาศัยเพียงชื่อตัวละครเท่านั้น แต่เหตุการณ์ทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกับในหนังสือเลย
ตามรายงานไม่ได้แจ้งว่าเหตุใดเอ็นเด้ซึ่งผิดหวังจากการที่ผลงานของเขาถูกปู้ยี่ปู้ยำในหนังภาคแรก กลับยังคงยินยอมให้มีการสร้างภาคต่อได้อีก และเขาได้ดูมันหรือเปล่า ซึ่งหากเขาได้ดูก็คงกระอักเลือดมากเป็นสองเท่า เพราะ The Neverending Story ภาคแรกที่ว่าแย่แล้ว สำหรับสองภาคหลังนั้นกลับยิ่งแย่ไปกันใหญ่...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา