Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วรรณกรรมเด็ก
•
ติดตาม
25 ธ.ค. 2018 เวลา 23:00 • บันเทิง
โดราเอมอน (2) สิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับโดราเอมอน
1. ที่มาของเรื่องโดราเอมอน
ปี 1970 เมื่อฟูจิโกะ ฟูจิโอะ จบงานเรื่องเจ้าชายจอมเปิ่น ในนิตยสารมังงะสำหรับเด็กชั้น ป. 4 ก็มีการประกาศถึงผลงานเรื่องใหม่ที่จะมาแทน โดยมีภาพโฆษณาตัวละครเอกออกมาจากลิ้นชักโต๊ะ แต่อาจารย์ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะก็ยังไม่รู้จะวาดเรื่องเกี่ยวกับอะไรดี
จนกระทั่งกำหนดส่งงานก็ใกล้เข้ามาทุกที...
ระหว่างทางกลับบ้านวันหนึ่ง เขาก็นึกถึงแมวจรจัดตัวหนึ่งที่มักเข้ามาเล่นกับเขา อาจารย์ฟูจิโกะกลับมาถึงบ้านก็ยังคงคิดวนเวียนเกี่ยวกับเจ้าแมวตัวนั้น แต่ก็ยังคิดงานอะไรไม่ออก แล้วเขาก็เผลองีบหลับไปบนเก้าอี้ยาว
พอตื่นขึ้นมา เมื่อรีบผลุนผลันลุกขึ้นเขาก็พลันสะดุดกับตุ๊กตาล้มลุกของเล่นของลูก...
เขาคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับเรื่องนี้
แมว เด็กขี้เกียจที่เอาแต่นอน และของเล่น....
เมื่อผสมผสานกับจินตนาการอันบรรเจิด ก็รวมกันกลายเป็นตัวละครหลัก 2 ตัวที่เป็นแกนกลางของเรื่องโดราเอมอนที่ทุกคนรู้จักกันดี
ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ เขียนเรื่องโดราเอมอนรวมทั้งสิ้น 1,344 ตอน เมื่อรวมเล่มแล้วนับได้ 45 เล่ม
โดราเอมอนฉบับรวมเล่มของญี่ปุ่น ภาพจาก wikipedia
เรื่องโดราเอมอนตีพิมพ์ในนิตยสารมังงะรายเดือนสำหรับเด็ก ชื่อ โยกิโอะ และโยชิเอ็น ซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับเด็กอนุบาล โชงะคุ อิชิเน็นเซย์ (สำหรับเด็ก ป. 1) โชงะคุ ยนเน็นเซย์ (สำหรับเด็ก ป.4) และตั้งแต่ปี 1973 เป็นต้นไปก็ยังตีพิมพ์ในนิตยสารโชงะคุ โกเกนเซย์ (สำหรับเด็ก ป.5) และโชงะคุ โรคุเน็นเซย์ (สำหรับเด็ก ป.6) รวมทั้งสิ้น 6 ฉบับ
ในเมื่อผู้อ่านเป็นคนละวัยกัน ดังนั้นเนื้อหาของเรื่องในนิตยสารแต่ละฉบับจึงมีความยากง่ายแตกต่างกันตามวัยของผู้อ่าน
2. ที่มาของชื่อ “โดราเอมอน”
ชื่อ “โดราเอมอน” นั้นเป็นส่วนผสมของคำว่า “โดรา” ที่มาจากคำว่า “โดราเนโกะ” ซึ่งแปลว่าแมวจรจัด (ตามที่มาของเรื่อง) และ ”เอมอน” ซึ่งคนญี่ปุ่นสมัยก่อนมักนำมาใช้ตั้งชื่อเด็กผู้ชาย (ซึ่งดูขัดแย้งกันมากกับเจ้าหุ่นยนต์แมวที่มาจากโลกอนาคต!)
3. รหัสการผลิต
ข้อนี้ไม่รู้ว่าจะรู้ไปทำไม แต่ว่ารหัสการผลิตของโดราเอมอนคือ MS-903
4. วันเกิดของโดราเอมอน
3 กันยายน ค.ศ. 2112....ใครที่มีชีวิตอยู่ได้อีก 94 ปีก็จะได้อยู่ฉลองวันเกิดของโดราเอมอน ขอแสดงความยินดีล่วงหน้าด้วย
5. คุณสมบัติของอวัยวะส่วนต่างๆ
เนื่องจากโดราเอมอนเป็นหุ่นยนต์ ดังนั้นอวัยวะ (ที่จริงน่าจะเรียกว่า “ชิ้นส่วน” มากกว่า) จึงมีคุณสมบัติพิเศษมากกว่าอวัยวะของมนุษย์ปกติ อาทิเช่น
ดวงตาอินฟราเรดสามารถมองเห็นได้ในที่มืด
หนวดเป็นเรดาร์ สามารถชี้ไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้ แต่น่าเสียดายที่มันพัง!
จมูกมีความไวในการดมกลิ่นมากกว่ามนุษย์ถึง 20 เท่า แต่ก็พัง
ปากมีขนาดใหญ่ สามารถกินทุกสิ่งทุกอย่างได้ ซึ่งไม่รู้ว่านี่จะเรียกว่าเป็นความพิเศษได้หรือเปล่า
กระพรวนมีไว้เรียกแมวที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง แต่ก็อีกนั่นแหละ....พัง!
กระเป๋าหน้าท้อง อันนี้ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเป็นกระเป๋า 4 มิติซึ่งเป็นที่เก็บอุปกรณ์ทั้งหมด 1,963 ชิ้น
มือกลมๆ ที่ไม่มีนิ้วไว้หยิบฉวย แต่ก็ไม่เคยประสบปัญหาเพราะมันทำงานด้วยระบบสูญญากาศ ดังนั้นจึงสามารถดูดสิ่งของต่างๆ ให้ติดมือได้
หางกลมๆ เป็นสวิตช์เปิดปิดการทำงานของเจ้าหุ่นยนต์แมวตัวนี้
6. รูปร่างและสัดส่วน
โดราเอมอนช่างเป็นหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างสุดมหัศจรรย์ ด้วยสัดส่วนรอบหัว อก เอว เท่ากันคือ 129.3 เซนติเมตร หนัก 129.3 กิโลกรัม นอกจากนี้ตัวเลข 129.3 ยังเป็นความสามารถพิเศษของโดราเอมอนที่อาจดูเหลือเชื่อว่าเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ทำได้จริงหรือ นั่นคือ ความสูงที่กระโดดได้ (หน่วยเป็นเซนติเมตร) และความเร็วที่วิ่งได้ (หน่วยเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งอันที่จริงแล้วความสามารถพิเศษทั้งสองอย่างนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อเจอหนูเท่านั้น
7. รักแรกพบของโดราเอมอน
นั่นคือหุ่นยนต์แมวสุดเซ็กซี่ในโลกอนาคตที่ชื่อว่า โนราเมียโกะ นอกจากนี้เธอยังเป็นคนที่ทำให้โดราเอมอนเลิฟในการกินโดรายากิ
8. ชื่อของคุณครู
ตัวละครสำคัญที่มักจะเป็นสาเหตุของการที่ทำให้โนบิตะต้องไปขอความช่วยเหลือโดราเอมอน ไม่ว่าจะถูกทำโทษหรือสอบได้ศูนย์คะแนนก็ตาม ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจำเป็นต้องรู้ชื่อครูหรือเปล่า เพราะในเรื่องก็มักเอ่ยถึงแค่ “คุณครู” แต่ในฉบับอะนิเมะทางโทรทัศน์มีอยู่ตอนหนึ่งที่เอ่ยชื่อคุณครูว่า คุณครูกานาริ
9. ตอนจบของโดราเอมอน
เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับตอนจบของโดราเอมอนมาหลากหลายเนื้อเรื่อง ที่ดราม่าสุดๆ ก็น่าจะเป็นพล็อตที่บอกว่าที่จริงแล้วโนบิตะเป็นเด็กนอนป่วยอยู่บนเตียง (บ้างก็ว่าอยู่ในโรงพยาบาล บ้างก็ว่าเป็นเด็กออทิสติก) และเรื่องราวเกี่ยวกับหุ่นยนต์จากโลกอนาคตนั้นเป็นเพียงจินตนาการของเขาที่ช่วยให้เด็กชายผ่านคืนวันอันเจ็บปวดไปได้
แต่ตอนจบพวกนี้ก็เป็นเพียงคำเล่าลือที่ทางบริษัทได้ปฏิเสธว่าไม่เป็นเรื่องจริง
อย่างไรก็ตาม เรื่องโดราเอมอนเคยมีตอนจบจริงๆ ดังที่ปรากฏในฉบับรวมเล่ม เล่มที่ 6 ที่มีเนื้อเรื่องกล่าวถึงโดราเอมอนจำเป็นต้องกลับไปยังโลกอนาคตเพื่อซ่อมร่างของตัวเอง แต่ก็ไม่วายเป็นห่วงโนบิตะจนไม่อยากกลับไป
วันหนึ่งโนบิตะถูกไจแอนท์รังแกเหมือนทุกครั้ง แต่ครั้งนี้โนบิตะไม่ยอมแพ้แม้จะถูกอัดจนน่วม และเป็นครั้งแรกที่เขาไม่ยอมวิ่งแจ้นไปขอความช่วยเหลือจากโดราเอมอน เขาพยายามตื๊อสู้ จนในที่สุดไจแอนท์ต้องยอมแพ้และเป็นฝ่ายวิ่งหนีไปเอง
เมื่อโดราเอมอนมาพบสภาพยับเยินของโนบิตะก็ประคองกลับบ้าน โนบิตะพยายามโน้มน้าวให้โดราเอมอนเห็นว่าเขาสามารถยืนหยัดได้ตามลำพังโดยไม่ต้องมีหุ่นยนต์ผู้ช่วยเหลืออีกแล้ว พร้อมกับขอให้โดราเอมอนกลับไปรักษาตัวที่โลกอนาคต
คืนนั้นโนบิตะหลับไป เมื่อตื่นขึ้นก็ไม่พบโดราเอมอนอีกแล้ว...
ตอนจบแบบนี้นับเป็นตอนจบของเรื่องแนว coming-of-age อย่างแท้จริง ซึ่งตัวละครเอก (โนบิตะ) จะเติบโตขึ้นทั้งกายและใจ เมื่อผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องจนกระทั่งดำเนินมาถึงตอนจบ
เนื้อหาในตอนนี้ อาจารย์ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ ตั้งใจเขียนให้เป็นตอนจบของเรื่องโดราเอมอนจริงๆ เนื่องจากมีภารกิจอื่นที่วุ่นวายจนไม่สามารถจดจ่อกับงานเขียนโดราเอมอนได้ จึงได้เขียนตอนจบนี้ขณะที่ลงพิมพ์ในนิตยสาร แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจกลับมาเขียนต่อในฉบับต่อไป
ที่มาของข้อมูล
http://arieeoke.blogspot.com/2012/01/history-and-origin-doraemon.html
http://biographies.wikia.com/wiki/Fujiko_F._Fujio
https://th.wikipedia.org/wiki/โดราเอมอน
http://arieeoke.blogspot.com/2012/07/12-secrets-about-cartoon-doraemon.html
4 บันทึก
54
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
การ์ตูน แอนิเมชั่น
4
54
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย