18 ธ.ค. 2018 เวลา 16:18 • ประวัติศาสตร์
พาหุงบทที่ 2
ตอน อาฬาวกยักษ์
ในสมัยพุทธกาล มียักษ์ตนหนึ่ง ชื่ออาฬวกยักษ์ มีวิมานอยู่ที่ต้นไทรใกล้เมืองอาฬวี ยักษ์นี้มีฤทธิ์มาก สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ และมีนิสัยที่ดุร้าย มักจะชอบจับคนและสัตว์กินเป็นอาหาร
โดยอาฬวกยักษ์นั้นได้รับพรจากท้าวเวสสุวรรณให้สามารถจับมนุษย์และสัตว์ที่เข้าไปสู่ร่มไทรของตนกินเป็นอาหารได้
ในครั้งนั้น นครอาฬวี มีกษัตริย์ชื่อ พระเจ้าอาฬวกะ
ท่านเป็นพระราชาที่โปรดการล่าเนื้อมาก พระองค์เสด็จออกล่าเนื้อเป็นประจำ ระหว่างการล่าเนื้อพระองค์ได้ตั้งกติกาว่าถ้าเนื้อหนีออกไปทางผู้ใด ผู้นั้นจะต้องรับผิดชอบติดตามเนื้อนั้นกลับมาให้ได้
วันหนึ่ง ระหว่างการออกล่าเนื้อ เนื้อตัวหนึ่งได้หลบหนีไปทางที่พระเจ้า อาฬวกะประทับอยู่ ดังนั้น พระองค์จึงทรงธนูเสด็จติดตามเนื้อนั้นไปเป็นระยะทางถึง ๓ โยชน์ ในที่สุด พระองค์ก็สามารถฆ่าเนื้อนั้นได้
พระเจ้าอาฬวกะทรงตัดเนื้อออกเป็น ๒ ท่อน แล้วหาบกลับมา ระหว่างที่เสด็จกลับมานั้นเป็นเวลาเที่ยง เมื่อพระองค์เห็นต้นไทรใบหนาร่มเย็นจึงได้เสด็จเข้าไปประทับพักเหนื่อย โดยไม่รู้ว่าเป็นที่อยู่ของอาฬวกยักษ์
พระองค์จึงถูกอาฬวกยักษ์จับตัวไว้กินเป็นอาหาร แต่พระเจ้าอาฬวกะทรงขอชีวิตและสัญญาว่าจะส่งคนและสำรับอาหารมาให้เป็นประจำ วันใดพระองค์ไม่ส่งคนมาให้ ก็ขอให้อาฬวกยักษ์ไปจับพระองค์กินได้
อาฬวกยักษ์จึงปล่อยพระองค์ไปเมื่อพระเจ้าอาฬวกะเสด็จกลับพระนครแล้ว พระองค์ก็ทรงปฏิบัติตามสัญญาโดยจัดส่งนักโทษไปให้อาฬวกยักษ์กินเป็นอาหารทุกวัน
อาฬวกะยักษ์นี้มีกำลังมาก เคี้ยวกินนักโทษเหมือนกินเผือกกินมัน คนที่ไปส่งนักโทษเห็นเข้าก็หวาดกลัว นำมา บอกเล่าสู่กันฟังจนชาวเมืองอาฬวีไม่มีผู้ใดกล้าทำความผิด ในไม่ช้าจึงไม่มีนักโทษส่งไปให้ยักษ์อีก
ถึงแม้พระเจ้าอฬวกะจะแกล้ง เอาทรัพย์ไปทิ้งล่อไว้กลางทาง ก็ยังไม่มีใครกล้าหยิบฉวยเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเพราะกลัวจะถูกจับเอาไปเป็นอาหารยักษ์ เสนาอำมาตย์จึงแนะนำให้นำเด็กบ้านละ ๑ คน
ส่งไปเป็นอาหารยักษ์ ทำให้บ้านที่มีบุตรหรือบ้านที่มารดากำลังมีครรภ์อยู่ พากันอพยพหนีไปอยู่เมืองอื่น  เมืองอฬวีนั้นต้องจัดส่งคนไปเป็น อาหารแก่อาฬวกะยักษ์นานอยู่ถึง ๑๒ ปี ในที่สุดก็ไม่มีเด็กจะให้ยักษ์กิน
คงเหลือเด็กเพียงคนเดียว ก็คือ อาฬวกกุมาร พระโอรสของพระเจ้าอาฬวกะนั่นเอง ซึ่งพระเจ้าอาฬวกะก็ตัดสินใจส่งราชโอรสของตนให้ไปเป็นอาหารของยักษ์เพื่อทรงปฏิบัติตามสัญญา
เช้าตรู่วันนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสรรพสัตว์ด้วยสัพพัญญุตาญาน ได้ทรงเห็นว่าอาฬวกยักษ์นี้มีอุปนิสัยพอจะบรรลุโสดาปัตติผลได้ ครั้นทรงกระทำภัตตกิจเช้าเสร็จแล้ว จึงเสด็จจากเมืองสาวัตถีไปยังที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ เป็นระยะทาง ๓๐ โยชน์
1
พระพุทธเจ้าทรงเสด็จถึงหน้าวิมานของอาฬวกยักษ์ในเวลาค่ำ ยักษ์รักษาประตูชื่อ คัทรภะ เห็นจึงเข้าไปถวายบังคมแล้วกราบทูลถาม พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า พระองค์มีพระประสงค์จะพักแรมในที่นี้สักคืนหนึ่ง คัทรภยักษ์ จึงกราบทูลว่า
3
เจ้าของวิมานนี้คือ อาฬวกยักษ์ เป็นยักษ์ที่โหดร้ายหยาบคายมาก ไม่ยอมไหว้ใครๆ แม้แต่บิดามารดาของตน ไม่รู้จักสมณะชีพราหมณ์ และไม่เคารพพระรัตนตรัย พระพุทธองค์อาจจะมีอันตรายได้
แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงออกพระโอษฐ์ขอพักอาศัยถึง ๓ ครั้ง ในที่สุดคัทรภยักษ์ก็อนุญาตให้พระพุทธองค์เข้าพักได้ แต่ขอให้ตนไปแจ้งให้อาฬวกยักษ์ทราบเสียก่อน แล้วคัทรภยักษ์ก็ออกจากวิมานมุ่งตรงไปป่าหิมพานต์ เพื่อแจ้งให้อาฬวกยักษ์ซึ่งกำลังประชุมอยู่ที่สมาคมยักษ์ได้ทราบ
ขณะนั้น ประตูวิมานของอาฬวกยักษ์ก็เปิดออกเอง พระพุทธเจ้าจึงเสด็จเข้าไปประทับนั่ง เปล่งพระรัศมีเป็นสีทองอยู่บนบัลลังก์ทิพย์ของอาฬวกยักษ์ พวกนางสนมของอาฬวกยักษ์เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปก็มีความยินดี พากันมาถวายบังคมแล้วมานั่งฟังธรรม
ทางด้าน คัทรภยักษ์ เมื่อไปถึงป่าหิมพานต์ก็นำความไปแจ้งอาฬวกยักษ์ให้ทราบ อาฬวกยักษ์ก็นิ่งไว้ไม่ได้แสดงอาการเพราะอาย กลัวว่ายักษ์อื่นจะรู้ว่ามีพระสมณะเข้าไปในที่อยู่ของตน
ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดนางสนมยักษ์อยู่นั้น มียักษ์อีก ๒ ตน คือ สาตาคิรยักษ์ และเหมวตยักษ์ พร้อมด้วยบริวาร พากันเหาะไปประชุมที่ป่าหิมพานต์ แต่เมื่อมาถึงวิมานของอาฬวกยักษ์ก็ไม่สามารถจะเหาะผ่านไปได้ พอทราบว่าพระพุทธองค์ประทับอยู่จึงพากันแวะลงไปเฝ้าฟังธรรมก่อนจะเดินทางต่อ เมื่อไปถึงสมาคมยักษ์แล้ว สาตาคิรยักษ์และเหมวตยักษ์ จึงแจ้งให้อาฬวกยักษ์ทราบว่าพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่วิมานของเขา และแนะนำให้เขาไปเฝ้าพระพุทธองค์
เมื่อได้ทราบเช่นนั้นแล้ว อาฬวกยักษ์ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แม้สาตาคิรยักษ์และเหมวตยักษ์ จะอธิบายว่าพระบรมศาสดาคือพระโพธิสัตว์ที่จุติจากดุสิตสวรรค์มาตรัสรู้เพื่อสั่งสอนสรรพสัตว์ อันเทวดาทั้งหลายรู้ดี แต่อฬวกยักษ์ก็ไม่ยอมเชื่อฟัง จึงลุกขึ้นเอาเท้าซ้ายเหยียบพื้นศิลา เท้าขวาเหยียบยอดเขาไกรลาส แล้วส่งเสียงร้องประกาศกร้าว ชื่อของตนดังก้องไปทั่วชมพูทวีป
อิทธิฤทธิ์ของอาฬวกยักษ์นั้น แม้แต่เสียงร้องประกาศก็ดังก้องไปทั่วชมพูทวีป ซึ่งนับเป็นเสียงหนึ่งในบรรดาเสียงดังพิเศษ ๔ อย่าง ที่ได้ยินกันทั่วชมพูทวีป
คือ
๑. เสียงปุณณกยักษ์ส่งเสียงไชโย ในคราวชนะพนันพระเจ้าธนัญชัย
โกรพยะ
๒. เสียงท้าวสักกะร้องประกาศขู่จะกินพุทธบริษัทผู้ใจบาป ไม่ถือศีลถือธรรมครั้งปลายพุทธกาลของพระกัสสปะพุทธเจ้า
๓. เสียงพระเจ้ากุสราชร้องประกาศพระนามของพระองค์ ในคราวที่พระองค์ทรงพาพระนางปภาวดีเสด็จขึ้นช้างออกจากพระนคร เมื่อนครกุสาวดีถูกกษัตริย์ทั้ง ๗ ปิดล้อม
๔. เสียงอาฬวกยักษ์ในครั้งนี้
จากนั้นอาฬาวกยักษ์ก็บันดาลลมพายุใหญ่ ให้พัดตรงเข้าทำลายพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าทรงอธิษฐานปิดภัยพิบัตินั้นเสีย
จากนั้นอาฬาวกยักษ์ก็บันดาลห่าฝนขนาดใหญ่ให้ตกลงมา หวังที่จะใช้น้ำท่วมพระพุทธเจ้าให้ตาย แต่แม้ว่าฝนจะตกรุนแรงจนแผ่นดินแตกเป็นช่องๆ แต่ฝนนั้น ก็ไม่อาจทำให้จีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เปียกได้แม้แต่น้อย
จากนั้นอาฬาวกยักษ์ก็บันดาลฝนแผ่นหินให้ตกลงมาจากยอดเขาใหญ่ๆ พ่นควันลุกโพลงลงมาทางอากาศ แต่พอถึงพระพุทธเจ้า บรรดาฝนหินนั้นก็กลับกลายเป็นดอกไม้ทิพย์ไปในทันที
1
ท้ายที่สุดอาฬาวกยักษ์ก็พยายาม
ทำฝนเครื่องประหาร ฝนถ่านเพลิง
ฝนเถ้ารึง ฝนทราย ให้ตกลงมา แต่ฝนเหล่านั้นก็กลายเป็นของหอมอันเป็นทิพย์มาบูชาพระพุทธองค์ไปจนหมดสิ้น
อาฬวกยักษ์นั้น เมื่อไม่อาจทำอันตรายพระพุทธเจ้าได้ด้วยการบันดาลฝนต่างๆ จึงพาพลยักษ์และภูตเข้าไปหา แต่ภูตเหล่านั้นก็ไม่อาจเข้าใกล้พระพุทธเจ้าได้ ดุจดังแมลงวันไม่อาจตอมก้อนเหล็กที่ลุกโพลงได้ฉันนั้น
1
ผ่านไปครึ่งคืน อาฬวกยักษ์คิดว่าจำเป็นต้องใช้อาวุธที่ร้ายแรงที่สุดของตน ก็คือ “ทุสสาวุธ” ซึ่งมีอานุภาพร้ายแรงดุจวชิราวุธของพระอินทร์ คฑาวุธของท้าวเวสสุวรรณ และนัยนาวุธของพระยายมราช
“ทุสสาวุธนี้มีลักษณะเป็นผืนผ้า หากโยนขึ้นไปในอากาศ ก็จะทำให้ฝนแล้งถึง ๑๒ ปี ถ้าทิ้งลงพื้นดิน ต้นไม้ต่างๆ ก็จะไหม้ทำลายถึง ๑๒ ปี ถ้าทิ้งลงมหาสมุทร น้ำก็จะแห้งขอด ถ้าทิ้งบนภูเขา แม้เขาสิเนรุมาศก็จะระเบิดกระจัดกระจายเป็นผุยผง”
เมื่ออาฬวกยักษ์จะใช้ทุสสาวุธ บรรดาเทวดาทั่วหมื่นโลกธาตุต่างก็มาชุมนุมกันเต็มไปหมด เพื่อรอดูพระบารมีของพระพุทธองค์ในการปราบอาฬวกยักษ์
อาฬวกยักษ์เหาะวนรอบพระพุทธเจ้า แล้วปล่อยทุสสาวุธไปในอากาศ
ทุสสาวุธก็ส่งเสียงดังน่าสะพรึงกลัวประดุจสายฟ้าผ่า แต่สุดท้ายก็ลอยตกลงมากลายเป็นผ้าเช็ดพระบาทที่แทบเท้าพระพุทธองค์
1
อาฬวกยักษ์เห็นดังนั้น คิดว่าอาวุธทั้งหมดไม่อาจทำอันตรายพระพุทธองค์ได้ จึงออกคำสั่งแก่พระพุทธองค์ว่า “สมณะ ท่านจงออกไปเดี๋ยวนี้”
พระพุทธเจ้าทรงตรองในใจว่าอาฬวกยักษ์เป็นผู้มีจิตใจแข็งกระด้าง หากตอบโต้ด้วยความแข็งกระด้างก็จะกลับมีจิตใจกระด้างขึ้นกว่าเก่า ดำริแล้วก็ทรงลุกขึ้นและเสด็จออกจากวิมานยักษ์
อาฬวกยักษ์เห็นดังนั้นจิตใจก็อ่อนลง คิดว่าพระพุทธเจ้านี้ว่าง่าย แล้วออกคำสั่งต่อว่า “สมณะ ท่านจงเข้าไป” พระพุทธเจ้าก็ทรงเสด็จเข้าไปในวิมานยักษ์ อาฬวกยักษ์ได้ใจ ออกคำสั่งให้พระพุทธเจ้าเข้าๆ ออกๆ อยู่ ถึง ๓ ครั้ง
ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงทำตาม ประดุจการตามใจบุตรเมื่อร้องไห้ แต่เมื่อถึงครั้งที่ ๔ อาฬวกยักษ์สั่งว่า “สมณะ ท่านจงออกไป” ครั้งนี้พระพุทธเจ้าทรงดำรัสตอบว่า “เราไม่ออกไป ท่านจะทำอะไรก็ทำเถิด”
เมื่ออาฬวกยักษ์ถามเหตุผล
พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า :
“เมื่อเราเข้ามานั้นเราไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบ้าน เมื่อเจ้าให้ออกเราจึงออก แต่เมื่อเจ้าผู้เป็นเจ้าของบ้านอนุญาตให้เราเข้ามาแล้ว เหตุใดเราต้องออกไปอีก ดูก่อน อาฬวกยักษ์ เจ้าอนุญาตให้ใครเขาเข้ามาแล้วออกปากไล่เขานั้น ไม่มีมารยาท ไม่มีใครนับถือ”
อาฬวกยักษ์แปลกใจในพุทธปัญญา จึงเปลี่ยนเป็นทูลถามปัญหา โดยขู่ว่าหากพระองค์แก้ไม่ได้ เขาก็จะฉีกหัวใจ และจับร่างพระองค์เหวี่ยงข้ามแม่น้ำคงคา
แล้วอาฬวกยักษ์ก็ไปนำคำถามมาถามพระพุทธเจ้า โดยคำถามนี้มีที่มาจากในอดีตกาลในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน คือ พระกัสสปะพุทธเจ้า บิดามารดาของอาฬวกยักษ์ได้เคยถามปัญหาจากพระพุทธกัสสปะ และได้นำมาสั่งสอนอาฬวกยักษ์ แต่พอนานวันเข้าอฬวกยักษ์ก็จำได้แต่คำถาม แต่ลืมคำตอบ ถามใครๆ ก็ไม่มีใครตอบได้ เพราะเป็นปัญหาที่ตอบได้เฉพาะพระพุทธเจ้า อาฬวกยักษ์จึงเขียนคำถามเก็บไว้ในวิมาน พระพุทธเจ้าก็ทรงแก้ปัญหาให้อาฬวกยักษ์เหมือนที่พระพุทธกัสสปะเคยแก้ไว้ ดังนี้
อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า :
อะไรเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย และผู้เป็นอยู่อย่างไรที่นักปราชญ์ยกย่องว่าประเสริฐสุด
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า :
ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของคนในโลก ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ความสัตย์เป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย และผู้อยู่ด้วยปัญญานักปราชญ์ทั้งหลายสรรเสริญว่าประเสริฐสุด
อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า :
- คนข้าม*โอฆะได้อย่างไร
- ข้าม*อรรณพได้อย่างไร
- ล่วงทุกข์ได้อย่างไร
- บริสุทธิ์ได้อย่างไร
*โอฆะ คือ กระแสน้ำกิเลสที่ท่วมทับใจสัตว์โลกให้จมอยู่ในความต่ำทราม
*อรรณพ​ คือ ห้วงน้ำที่ลึก กว้างใหญ่ ไม่มีที่สิ้นสุด​ ทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลาย
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า :
- คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา
- ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท -​ ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร
- บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา(ทำทุกอย่างด้วยความ​ซื่อสัตย์​สุจริต)
อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า :
- คนมีปัญญาได้อย่างไร
- หาทรัพย์ได้อย่างไร
- หาชื่อเสียงได้อย่างไร
- ผูกมิตรได้อย่างไร
- ทำอย่างไรจึงจะไม่เศร้าโศกเมื่อไปสู่ภพหน้า
2
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า :
- บุคคลเชื่อฟังธรรมย่อมได้ปัญญา
-​ บุคคลไม่ประมาท ฉลาด ไม่ทอดธุระ มีความเพียร ย่อมหาทรัพย์ได้
- บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์
- ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้
- บุคคลผู้มีธรรม ๔ ประการ คือ
1
๑. สัจจะ คือ ความจริง ซื่อตรง​ ซื่อสัตย์​ จริงใจ พูดจริง ทำจริง
1
๒. ทมะ คือ การฝึกฝน การข่มใจ ฝึกนิสัย ปรับตัว คุมจิตใจฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุง​ตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา
1
๓. จาคะ คือ ความเสียสละ​ ละกิเลส สละความสุขสบาย และผลประโยชน์ส่วนตนให้ได้ใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น ของผู้อื่น ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตนเอง​
1
๔. ขันติ คือ ความอดทน ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความ ขยันหมั่นเพียร​ เข้มแข็ง​ ทนทาน ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมาย ไม่ท้อแท้
1
บุคคลนั้นละโลกนี้ไปแล้วย่อม
ไม่เศร้าโศก
1
ในที่สุดแห่งการทูลถามปัญหานี้ อาฬวกยักษ์ ผู้ส่งจิตใจไปตามพระธรรมเทศนา ก็สำเร็จเป็นพระโสดาบันในรุ่งแจ้งนั้นเองเมื่ออาฬวกยักษ์สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้วก็เปล่งเสียงสาธุการ เป็นเวลาเดียวกับที่คนจากเมืองอาฬวีนำอาฬวกกุมารมามอบให้
อาฬวกยักษ์รับพระราชกุมารนั้นแล้วก็ประคองราชกุมารน้อมถวายแด่พระพุทธองค์ด้วยความเคารพ พระพุทธองค์ทรงรับพระราชกุมารนั้นมา ทรงประทานพรแล้วทรงมอบคืนให้คนของกษัตริย์เมืองอาฬวี พระราชกุมารนั้นจึงมีพระนามว่า หัตถกอาฬวกะ
แล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองอาฬวี มีอาฬวกยักษ์เดินถือบาตรและสังฆาฏิตามมาส่งถึงครึ่งทางแล้วจึงกลับ หลังจากนั้นอาฬวกยักษ์ก็อยู่ในศีลธรรม เลิกกินเนื้อมนุษย์ตั้งแต่บัดนั้น
ฝ่ายพระเจ้าอาฬวกะพร้อมด้วยข้าราชบริพารและประชาชน ได้ตามไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่งใกล้ประตูเมืองอาฬวี และทูลถามเหตุว่าพระพุทธองค์ทรงโปรดยักษ์ร้ายได้อย่างไร
1
พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงอาฬวกสูตร กษัตริย์และประชาชนเหล่านั้นได้ฟังธรรมแล้วก็บรรลุมรรคผลถึง ๘๔,๐๐๐ คน ส่วนหัตถกอาฬวกกุมาร ต่อมาก็ได้บวชเรียนและได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี
...ชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่มีต่ออาฬวกยักษ์ ซึ่งเป็นยักษ์ที่ดุร้าย ใจคอเหี้ยมโหด เต็มไปด้วยโทสะ และโมหะ แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงเอาชนะได้ด้วยขันติบารมี คาถาบทนี้นิยมใช้สำหรับการเอาชนะศัตรูผู้กระด้างกระเดื่อง ศัตรูผู้เป็นอันธพาล เป็นต้น...
เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ขอดวงตาเห็นธรรมจงบังเกิดแก่ท่านสาธุชนทั้งหลาย สาธุ
อ้างอิง
หนังสือ พาหุง ชัยชนะแห่งพุทธะ
ภาพประกอบโดย แอดมินต้นธรรมเพจ ธรรม STORY
โฆษณา