22 ธ.ค. 2018 เวลา 17:18 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ภาษีเชื้อรา: ตอนที่​ 2 โศกนาฏกรรมเจ้าชายกบ
เจ้าชายกบหารู้ไม่ว่าจุมพิตสาวสวยไม่ได้แปลงให้มันกลายเป็นคน​ แต่กลายเป็นศพ
กบตายจากเชื้อรา​ เครดิตภาพ: Forrest Brem, https://doi.org/10.1371/journal.pbio.0060024
กบนานาชนิดในหลายพื้นที่พากันตายเป็นใบไม้ร่วง​ สูญพันธุํไปเป็นจำนวนมาก​ รวมไปถึงซาลามันเดอร์ที่เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเช่นเดียวกัน
สิ่งที่ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุกบคือการติดเชื้อราจำพวกหนึ่ง​ (Chytrid fungus) ซึ่งมีสปอร์ที่ว่ายน้ำได้คล้ายสเปิร์ม​ (zoospore) มันจะชอนไชและฝังตัวอยู่ในผิวหนังกบ​ เมื่อเชื้อราสะสมจนมีจำนวนมากพอ​ มันจะขัดขวางกระบวนการหายใจและการรักษาสมดุล จนกบถึงแก่ความตายได้​ ซึ่งเชื้อราเหล่านี้ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก​ นำพาหายนะไปสู่กบหลากหลายสายพันธุ์
นักวิทยาศาสตร์สามารถสืบค้นได้ว่าถิ่นกำเนิดของเชื้อราฆาตกรนี้น่าจะมาจากบริเวณคาบสมุทรเกาหลีหรือแถบเอเชีย
กบที่อยู่ในบริเวณนี้มีความคุ้นเคยกับเชื้อรานี้​ แม้ติดเชื้อก็ไม่ถึงกับเจ็บป่วยรุนแรง​ แถมกบตัวผู้ที่ติดเชื้อรานี้จะดูเซ็กซี่ขึ้นในสายตาของกบตัวเมีย​ (บางทีเจ้าชายกบที่ดึงดูดสาวให้มาจุ๊บด้วยอาจจะติดเชื้อรานี้ก็เป็นได้!)
กบหนุ่มที่ติดเชื้อจะส่งเสียงร้องถี่ขึ้น​และนานขึ้นเป็นที่ถูกอกถูกใจกบสาวให้มาผสมพันธุ์ด้วย​ ซึ่งเชื้อราก็จะถูกถ่ายทอดไปสู่กบสาวและลูก​ ๆ​ ของมันต่อไป
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าเชื้อรานี้ไปควบคุมการร้องของกบโดยตรง​หรือเป็นแค่สัญชาตญาณที่กบป่วย​พยายามเร่งสืบพันธุ์เพราะอายุขัยอาจสั้นกว่าปกติ
แต่สำหรับกบต่างถิ่นที่ไม่คุ้นชินกับราชนิดนี้​ เมื่อติดเชื้อก็จะตายอย่างรวดเร็ว และด้วยความหฤโหด​ เชื้อรานี้จะตามฆ่าล้างโคตรจนกบ​สายพันธุ์นั้น​ ๆ​ ตายหมดไม่เหลือแม้แต่ตัวเดียว
แล้วเชื้อรานี้มันข้ามน้ำข้ามทะเลไปทั่วโลกได้อย่างไร?​ มนุษย์คือคำตอบสุดท้าย​ การล่าอาณานิคม​ การเดินทาง​ การท่องเที่ยว​ การขนส่ง​ ช่วยพาให้ พวกยุง​ แมลง​ สัตว์​ วัชพืช​ รวมไปถึงเชื้อโรคและเชื้อราที่พร้อมจะรุกรานเจ้าบ้านใหม่ได้เดินทางไปด้วยกัน​ โดยมันอาจติดไปกับรองเท้า​ ​เสื้อผ้า​ ผิวหนัง​ หรือ​ติดไปกับสัตว์เลี้ยง​ ต้นไม้​ อาหาร​ สินค้าต่าง​ ๆ​
ถ้าเจ้าชายกบรู้ว่ามนุษย์จะนำเชื้อรามฤตยูมาฝาก มันคงจะเผ่นทันทีตั้งแต่รู้ว่ามีคนจากถิ่นอื่นมาเหยียบแผ่นดินที่มันอยู่​
ในอดีตมีการนำเข้ากบต่างถิ่นมาใช้ตรวจหาการตั้งครรภ์​ โดยการนำปัสสาวะของหญิงที่ต้องการทดสอบมาฉีดใส่กบ​ หากสามารถกระตุ้นให้กบวางไข่ได้​ แสดงว่าหญิงนั้นตั้งครรภ์​ ต่อมาเมื่อวิธีอื่นที่ง่ายกว่ามาแทนการตรวจนี้​ กบนำเข้าที่น่าจะมีเชื้อรามฤตยูนี้แฝงอยู่ก็ถูกปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม​ แพร่กระจายเชื้อราให้กับกบเจ้าถิ่น
กบไม่ใช่ผู้เคราะห์ร้ายจากเชื้อราข้ามถิ่นกลุ่มเดียว​ ยังมีค้างคาวที่จำศีลอยู่​ดี​ ๆ​ ก็มีสายราปุกปุยงอกขึ้นมาปกคลุมตามตัวและจมูก​ (White nose syndrome) แล้วก็พาตายกันเป็นเบือ​ เชื่อว่าเกิดจากนักท่องเที่ยวพาเอาเชื้อราต่างถิ่นเข้าไปในถ้ำของค้างคาว​ เช่นเชื้ออาจจะติดมากับรองเท้าหรือเสื้อผ้า
ค้างคาวจำศีลที่มีเชื้อราปกคลุมบริเวณจมูก​ ใบหู​ ปีก​ จนจมูกกลายเป็นสีขาว​ เครดิตภาพ: Marvin Moriarty/USFWS
ทั้งไดโนเสาร์​ กบ​ ซาลามันเดอร์​ ที่ถูกเชื้อราถล่ม​ต่างก็เป็นสัตว์เลือดเย็น​ หรือว่าเชื้อรามันชอบเขมือบสัตว์เลือดเย็น
ค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็ต้องเป็นสัตว์เลือดอุ่น​ แต่เวลามันจำศีล​ อุณหภูมิร่างกายจะลดลงเพื่อประหยัดพลังงาน​
วิธีรักษากบป่วยจากเชื้อราคือเอาไปเข้าตู้อบ​ เพิ่มอุณหภูมิให้ร่างกาย​ มันก็จะกำจัดเชื้อราได้เองถ้าอาการยังไม่รุนแรงมาก
ส่วนค้างคาว​ เพียงให้อาหารมันทาน​ เพื่อให้ออกจากภาวะจำศีล​ อุณหภูมิร่างกายก็จะสูงขึ้น​ ค้างคาวก็อาจจะกำจัดเชื้อราได้
ในกระต่ายที่เป็นสัตว์เลือดอุ่น​ ถึงจะฉีดเชื้อราเข้าเลือด​ ก็ไม่เกิดการติดเชื้อ​ ต้องให้สเตียรอยด์​ (พบได้บ่อย​ ในยาชุด​ ยาลูกกลอน​ ยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน)​ ร่วมด้วยเพื่อกดการทำงานของภูมิคุ้มกัน​ ถึงจะทำให้กระต่ายติดเชื้อราได้​
แต่ถ้าเราฉีดเชื้อราเข้าถุงอัณฑะกระต่ายจะทำให้เกิดการการติดเชื้อเฉพาะจุดที่ถุงอัณฑะ​ ไม่แพร่กระจาย​ นอกเสียจากว่าเราจะให้สเตียรอยด์ร่วมด้วย เชื้อราจึงจะกระจายออกนอกถุงอัณฑะได้
ถุงอัณฑะห้อยอยู่นอกลำตัว​ จึงเป็นบริเวณที่อุณหภูมิต่ำ​กว่าที่อื่น​ จึงเห็นได้ว่าเชื้อราส่วนมากชอบความเย็น​ (แต่ไม่ถึงกับเย็นจัดแบบตู้เย็น)​
สรุปได้ว่าสิ่งที่ปกป้องเราจากเชื้อราคือภูมิคุ้มกันกับอุณหภูมิร่างกายที่สูงอยู่ตลอดอันเป็นลักษณะของสัตว์เลือดอุ่นนั่นเอง
ระบบภูมิคุ้มกันเราไม่ต่างกับพวกสัตว์เลือดเย็นมากนัก​ แต่การควบคุมให้ร่างกายอุ่นอยู่ตลอดเวลาช่วยให้คนเรารวมถึงสัตว์เลือดอุ่นอย่างสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้เปรียบสัตว์เลื้อยคลานกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ​ในแง่ที่สามารถต้านทานการติดเชื้อราได้ดี
1
เราจึงเป็นหนี้บุญคุณเชื้อราที่ช่วยกวาดล้างพวกไดโนเสาร์สัตว์เลือดเย็นไปจนเกือบหมด​ ทำให้สัตว์เลือดอุ่นอย่างเราได้ขึ้นมาครองโลกนี้แทน
แล้วสิ่งที่เราต้องสูญเสียเพื่อให้ได้เป็นสัตว์เลือดอุ่นคืออะไร?
มีโอกาสที่เชื้อราจะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์หรือไม่?
เรามาติดตามกันในตอนถัดไป

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา