26 ธ.ค. 2018 เวลา 22:08 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ภาษีเชื้อรา: ตอนที่​ 3 บรรณาการแด่​ "รา" ชันย์
เพื่อให้รอดจากการล่าสังหารของเหล่าเชื้อรา​ เราต้องสละอะไรไปบ้าง
ราขนมปัง​ (Rhizopus)​ เพาะได้จากผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ดี​ ซึ่งเสียชีวิตจากเชื้อราลุกลามเข้าสมอง​ เป็นเชื้อราที่กระจายอยู่ทั่วไปรอบตัวเรา​ รวมถึงขนมปังหมดอายุ
จากตอนที่แล้ว​ เราทราบแล้วว่ามนุษย์เราต้านทานการติดเชื้อราได้ดีมาก​ เพราะเชื้อราไม่ชอบอุณหภูมิร่างกายที่สูงคงที่ของสัตว์เลือดอุ่น​ แต่ของดีคงไม่มีิทางได้มาฟรี​ ๆ​ แน่​
คนที่จ่ายค่าไฟ คงรู้ดีว่าตัวดูดเงินจากกระเป๋าเราหลัก​ ๆ​ คือ​ เครื่องปรับอากาศ (air conditioner) ถ้าเป็นเมืองหนาวก็คงเป็น​ เครื่องทำความร้อน (heater)
การที่เราพยายามคุมอุณหภูมิให้สวนทางกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา​ เป็นอะไรที่สิ้นเปลืองพลังงานมาก​ ๆ
ภาษีพลังงานที่สัตว์เลือดอุ่นอย่างเราต้องเผาทิ้งไปเพื่อควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้อุ่นคงที่​ ก็ไม่มากมายอะไร​ (ประชด)​ แค่​ 80-90% ของพลังงานทั้งหมดที่เราใช้เท่านั้นเอง
ในน้ำมีออกซิเจนไม่พอให้มาใช้เผาผลาญพลังงานจำนวนมหาศาลตลอดเวลา​ สัตว์ที่หายใจในน้ำได้​ เช่น​ ปลาที่ใช้เหงือกหายใจ​ จึงเป็นสัตว์เลือดเย็นทั้งหมด​ ในขณะที่สัตว์ที่ใช้ปอดหายใจเอาออกซิเจนปริมาณมหาศาลบนบก​ เป็นได้ทั้งเลือดเย็นและอุ่น
​พลังงานก็มาจากอาหารที่เราทาน​ นั่นหมายความว่าถ้าเรากลายเป็นสัตว์เลือดเย็นไม่ต้องคอยคุมอุณหภูมิร่างกายให้คงที่​ พลังงานจากอาหาร​ 1 มื้อจะพอให้เราอยู่ได้ 3 วัน​ แทนที่จะต้องทาน​ 3 มื้อ​ทุกวัน
การมีร่างกายที่อุ่นคงที่ช่วยให้เรากระฉับกระเฉงอยู่ตลอด​ ไม่งั้นกิจวัตรประจำวันตอนเช้า​ แทนที่เราจะจิบกาแฟหรือทำอย่างอื่น​ เราคงต้องไปอ้าปากนอนตากแดดเพื่อเร่งอุณหภูมิให้สูงขึ้นแบบจระเข้​ เพื่อให้เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว​ สมองแล่น
แล้วอุณหภูมิร่างกายที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าใด​​ ยิ่งสูงก็ยิ่งติดเชื้อรายาก​ แต่ก็ยิ่งสิ้นเปลืองพลังงาน
การเพิ่มอุณหภูมิร่างกายทุก 1 องศาเซลเซียส​ จะเพิ่มอัตราการใช้พลังงานของร่างกาย 10-20% แต่จะลดจำนวนชนิดของเชื้อราที่เจริญเติบโตได้​ 6% ทุก​ 1 องศาที่เพิ่มขึ้น​เช่นกัน (ในช่วงอุณหภูมิ​ 30-40 องศาเซลเซียส)
นักวิทยาศาสตร์คำนวณจุดคุ้มทุนระหว่างการลดโอกาสติดเชื้อรากับพลังงานที่ต้องใช้​ พบว่าสำหรับมนุษย์อยู่ที่​ 36-37 องศาเซลเซียส​ ซึ่งก็เป็นอุณหภูมิร่างกายคนปกติพอดี แต่สำหรับสัตว์เลือดอุ่นอื่น​ ๆ​ จะมีค่าอุณหภูมิร่างกายสูงหรือต่ำกว่านี้ได้
เวลาเจ็บป่วยจากการติดเชื้อทั้งจากเชื้อราและเชื้ออื่น​ สัตว์เลือดอุ่นจะมีไข้​ (fever) ในขณะที่สัตว์เลือดเย็นจะย้ายตัวเองไปอยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูงขึ้น​ (behavioral fever) ซึ่งช่วยยับยั้งเชื้อโรคและเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน​ ทำให้มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น
จะเห็นได้ว่ามนุษย์เราต้องจ่ายอะไรไปมากมายเพื่อให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้น​
ภาษีสูง​ ๆ​ แลกกับสวัสดิการดี ๆ
เงินกินเปล่าหรือค่าเล่าเรียนแพง​ ๆ​ แลกกับสังคมในโรงเรียนที่ดีของลูก
ค่าครองชีพสูง​ มลภาวะ​ รถติด​ แลกกับความเจริญ​ โอกาสในการเล่าเรียน​ ทำงาน​ ในเมืองใหญ่
ฯลฯ
ระหว่างที่คุณทานอาหารพึงระลึกไว้ว่ามีแค่ไม่กี่คำสุดท้ายที่คุณเอาไปใช้ในการทำงานหรือกิจวัตรประจำวัน​ ที่เหลือเกือบทั้งจานเป็นค่าคุ้มครองไม่ให้สารพัดแก๊งมาเฟียเชื้อรามารุมกระทืบเอา
ถ้าคุณเจ็บใจก็กินเห็ด​ (เป็นเชื้อราขนาดใหญ่)​ ไปพลาง​ ๆ​ แล้วก็อุทิศส่วนกุศล​ ขอให้เชื้อรากว่า​ 1.5​ ล้านชนิดจงเป็น​สุขเป็นสุขเถิด​ อย่าได้มาเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
แต่มนุษย์ตัวเป็น ๆ​ ก็น่าสนใจไม่น้อย​ เวลาเชื้อราชนิดหนึ่งพยายามย่อยศพเรา​ มันต้องแก่งแย่งกับเชื้อราอื่น​ ๆ​ รวมไปถึงศัตรูคู่อาฆาตอย่างแบคทีเรียที่ทำสงครามกันมาตั้งแต่ไดโนเสาร์ยังไม่เกิด
ถ้าเชื้อราฝ่าด่านภูมิคุ้มกันตอนเรายังมีชีวิตได้​ มันก็จะได้ผูกขาดร่างกายของเรา​ เก็บไว้กินเองแต่เพียงผู้เดียว
ปัจจุบันเราแทบจะใช้ยาปฏิชีวนะแทนยาลดไข้​ คนไข้ก็อยากได้​ หมอก็อยากให้​ แบคทีเรียที่เป็นคู่แข่งของเชื้อราก็ตายกันระเนระนาด​ ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องก็มีมากขึ้น​ เช่น​ เอดส์​ ได้ยาคีโม​ ได้ยากดภูมิสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะ​ เป็นต้น
การติดเชื้อราจึงมีมากขึ้นเรื่อย​ ๆ
ตอนหน้าเรามาดูกันว่าเชื้อราที่ก่อโรคมันปรับตัวอย่างไร​ เพื่อตอบโต้อุณหภูมิร่างกายที่สูงของสัตว์เลือดอุ่น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา