Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
บทเรียนจากเชื้อโรค
•
ติดตาม
27 ธ.ค. 2018 เวลา 01:34 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ภาษีเชื้ิอรา: ตอนที่ 4 การตอบโต้ของเชื้อรา
เมื่อเชื้อราอยากเขมือบมนุษย์ตัวเป็น ๆ
หนองจากต่อมหมวกไตผู้ป่วยที่ติดเชื้อราฮิสโตพลาสมาเมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เห็นสายราที่งอกออกมารอบ ๆ เมื่อตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง
The Fungi Strike Back
ในขณะที่สัตว์วิวัฒนาการเพิ่มอุณหภูมิร่างกายและการเกิดไข้ เพื่อหลีกหนีจากเชื้อรา ทางฟากเชื้อราก็มีวิวัฒนาการให้เกิดการติดเชื้อในสัตว์เลือดอุ่นได้
แต่ก่อนอื่นขออธิบายลักษณะพื้นฐาน 2 อย่าง ของเชื้อราก่อน ได้แก่ ราสาย (mold) ซึ่งมีสายรา (hyphae) เป็นเส้นยาวแตกกิ่งก้านและสร้างสปอร์ (spore) ได้ กับยีสต์ (yeast) ซึ่งเป็นเซลล์เดี่ยว ๆ เพิ่มจำนวนโดยการแตกหน่อ (budding) หรือแบ่งเซลล์แบบอื่น ๆ
ราสายขนาดค่อนข้างใหญ่มากเมื่อเทียบกับเซลล์ มันจึงแพร่กระจายไปอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ยาก แต่มันสามารถชอนไชทะลุทะลวง (local invasion) ได้ดี ในขณะที่ยีสต์มีขนาดเล็กจึงแพร่กระจายได้ง่ายกว่า
การติดเชื้อรามักเริ่มจากเราหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราเข้าไป หลังจากนั้นสปอร์จึงงอกเป็นราสายหรือกลายเป็นยีสต์ ขึ้นกับชนิดของราหรือสภาพแวดล้อม
เชื้อราเพิ่มความสามารถในการก่อโรคในสัตว์เลือดอุ่นโดย
1. ทนความร้อน (thermotolerance) เป็นความต้องการพื้นฐาน เชื้อราทุกชนิดที่จะรุกรานเข้าไปในร่างกาย อย่างน้อยต้องเติบโตที่อุณหภูมิร่างกายของเราได้ ตัวอย่างที่น่าสนใจคือเชื้อรา แอสเปอร์จิลลัส ฟูมิกาตัส [Aspergillus fumigatus] ซึ่งเป็นราสายที่ก่อโรคในคนบ่อยที่สุด เชื้อนี้ทนความร้อนได้สูงมาก และมีสปอร์ขนาดเล็กเข้าสู่ปอดได้ง่าย
เชื้อราบนจานเพาะเชื้อที่ได้จากเสมหะของผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อราแอสเปอร์จิลลัส 3 ชนิดพร้อมกันที่ปอด (สีเทา [A. fumigatus], สีเหลือง [A. flavus], สีดำ [A. niger], เมือกสีขาว bacteria)
เชื้อราแอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส [A. flavus] ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เป็นเชื้อราที่สร้าง อะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งตับได้
2. แปลงร่างด้วยความร้อน เชื้อราสองสัณฐาน (dimorphic fungi) ยกตัวอย่างเช่น ฮิสโตพลาสมา [Histoplasma] ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 25 องศาเซลเซียส เชื้อนี้มีสภาพเป็นราสายเพิ่มจำนวนโดยสร้างสปอร์เหมือนราทั่วไป แต่ถ้าสปอร์มันเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ที่ 37 องศาเซลเซียส มันจะกลายร่างเป็นยีสต์ และก่อโรคในคนได้
เชื้อราฮิสโตพลาสมาจากจานเพาะเลี้ยงที่อุณหภูมิห้องเป็นราสายสร้างสปอร์ได้ (กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายต่ำ)
เชื้อราฮิสโตพลาสมานับล้านในหนองที่พึ่งได้จากต่อมหมวกไต ย้อมสีพิเศษเห็นยีสต์เป็นจุดสีดำเล็ก ๆ จำนวนมหาศาล (กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายต่ำ) ซึ่งหากตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง มันจะงอกสายราออกมากลายร่างเป็นราสายตามที่เห็นในรูปแรก
ที่กำลังขยายสูง เห็นยีสต์ของฮิสโตพลาสมาลักษณะเป็นวงกลมหรือรีคล้ายรูปใบไม้หรือหยดน้ำ
ราบางชนิดอาจเป็นได้ทั้งยีสต์และสายราพร้อม ๆ กัน ทำให้แพร่กระจายและบุกทะลวงได้ดีทั้งคู่ เช่นเชื้อราแคนดิดา [Candida] เป็นยีสต์แต่สามารถสร้างสายราเทียม (pseudohyphae) และสายราแท้ (hyphae) ได้ด้วย
3. ใช้ความร้อนเป็นพลังงาน ในขณะที่มนุษย์เรามีเมลานินในชั้นผิวหนัง ยิ่งมีมากผิวก็ยิ่งเข้ม ซึ่งช่วยปกป้องร่างกายเราจากรังสียูวีจากแสงอาทิตยํ เชื้อราบางชนิด เช่น คริปโตคอคคัส [Cryptococcus] ก็มีเม็ดสีคล้ายเมลานิน (melanin-like pigment) อยูในผนังเซลล์ ซึ่งสามารถดูดซับความร้อนที่เราแผ่ออกในรูปของรังสีอินฟราเรด (infrared) เอาไปใช้เป็นแหล่งพลังงานของในการบุกรุกร่างกายเราได้
แต่โชคดีที่เชื้อราก่อโรคที่ปรับตัวกับอุณหภูมิสูง ๆได้ มีจำนวนชนิดไม่มากนัก และมักก่อโรครุนแรงไม่มาก ยกเว้นในผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
จากราทั้งหมดกว่า 1.5 ล้านชนิด มีแค่ประมาณ 300 ชนิดที่มีรายงานว่าก่อโรคในคนได้ แต่ที่เจอบ่อยหน่อยระดับหมอทั่วไปพอรู้จักยิ่งมีน้อยชนิดจนแทบจะนับนิ้วได้
แต่เราอาจไม่ได้โชคดีอย่างนั้นตลอดไป
ภาวะโลกร้อน (global warming) จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของสิ่งแวดล้อมขยับเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ เชื้อราก็จะเคยชินกับความร้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
อุณหภูมิสูง ๆ ของร่างกายมนุษย์อาจไม่ช่วยปกป้องเราจากการฆ่าล้างโคตรของเชื้อราอีกต่อไป แล้วเราจะตายกันหมดหรือไม่
เรามาติดตามกันในตอนถัดไป ซึ่งเป็นตอนจบ
3 บันทึก
59
2
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ภาษีเชื้อรา
3
59
2
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย