27 ธ.ค. 2018 เวลา 22:40 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ภาษีเชื้อรา: ตอนจบ อวสานมนุษยชาติ?
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าความเป็นสัตว์เลือดอุ่นไม่ช่วยเราให้รอดจากเชื้อราอีกต่อไป
ต่อมน้ำเหลืองผู้ป่วยที่ติดเชื้อราคริปโตคอคคัสแบบแพร่กระจาย​ ภายใต้กล้องจุลทรรศน์​ พบยีสต์ตัวกลมหุ้มรอบด้วยแคปซูลที่เห็นเป็นวงสีขาวจำนวนมากอยู่ในเซลล์ยักษ์​ (giant cell) อันเกิดจากเม็ดเลือดขาวจำนวนมากมาหลอมรวมตัวกัน
ภาวะโลกร้อน​ global warming ทำให้อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมสูงขึ้นเข้าใกล้อุณหภูมิ​ร่างกาย เชื้อราทั่วโลกจึงถูกบังคับให้ปรับตัวทนความร้อนได้ดีขึ้น​ เมื่อถึงจุดหนึ่งอุณหภูมิร่างกายที่สูงของสัตว์เลือดอุ่นก็จะไม่สามารถขัดขวางเชื้อราได้อีก
ส่วนเชื้อราที่ปรับตัวอยู่ในที่ร้อนได้ดีอยู่แล้ว​ ก็จะขยายอาณาเขตถิ่นที่อยู่ออกไปได้กว้างขวางขึ้น​ ยกตัวอย่างเช่น​ เหล่าพืชพันธุ์ธัญญาหารที่เราเพาะปลูกก็ถูกเชื้อราบุกทำลาย​รุกคืบขยายอาณาเขตไปทางขั้วโลกปีละ​ 7​ กม.
พวกกบที่เป็นสัตว์เลือดเย็นก็สูญพันธุ์จากเชื้อราไปมากมาย​ (อ่านได้ในตอนที่​ 2) หรือต่อไปจะถึงคราวของสัตว์เลือดอุ่นอย่างเรา
ในช่วง​ 20 ปีที่ผ่านมา​ เชื้อราที่เก็บมาจากตัวอย่างต่าง​ ๆ​ ก็มีแนวโน้มทนความร้อนได้สูงขึ้นเรื่อย​ ๆ​
ในเขตร้อน​ (tropical area) มีอัตราการติดเชื้อรามากกว่าเขตอื่น​ น่าจะเป็นเพราะเชื้อราที่อยู่ในบริเวณนี้ทนความร้อนได้ดี​ จึงก่อโรคในมนุษย์ที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงได้​
เชื้อราคริปโตคอคคัส [Cryptococcus] เป็นเชื้อราที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม​ แต่มีความสามารถที่จะจู่โจมมนุษย์ได้​ โดยมีอาวุธ​ (virulence factor) ที่สำคัญคือ​ แคปซูล​ (capsule)​ หนาเตอะที่หุ้มตัวมันกันไม่ให้เม็ดเลือดขาวกินมันได้ง่าย​ ๆ​ และเม็ดสีคล้ายเมลานิน​ (อ่านได้ในตอนที่​ 4) ไว้ดึงความร้อนจากเราไปเป็นพลังงานของมัน
เชื้อราคริปโตคอคคัสจากเสมหะผู้ป่วยภายใต้กล้องจุลทรรศน์​ สังเกตเห็นวงแคปซูลสีขาวหนาล้อมรอบตัวยีสต์และมีเม็ดเลือดขาวสีชมพูแดงหลายเซลล์มาเกาะรอบ​ ๆ
เชื้อรากลุ่มนี้ที่ก่อโรคบ่อยมี​ 2 ตัว​ คือ​ คริปโตคอคคัส​ นีโอฟอร์แมน​ [Cryptococcus​ neoformans]​ ซึ่งมักก่อโรคในคนไข้เอดส์เต็มขั้น​ และ​ คริปโตคอคคัส​ แกตติอาย​ [Cryptococcus​ gattii]​ ซึ่งร้ายกาจสามารถก่อโรคในคนปกติหรือภูมิคุ้มกันบกพร่องเล็กน้อยได้
ความอันตรายของเชื้อกลุ่มนี้อยู่ที่มันชอบเยื่อหุ้มสมองของเรามาก​ ตัวมันหรือเศษแคปซูลของมันจะไปอุดทางระบายน้ำ​ (arachnoid granulation) ทำให้แรงดันในโพรงกระโหลก​ (intracranial pressure) สูงขึ้นเรื่อย​ ๆ​ จนเราตายในที่สุด
ทีนี้เชื้อราคริปโตคอคคัส​ แกตติอาย​ ปกติจะก่อโรคอยู่ในเขตร้อนอย่างเดียว​ แต่มันเริ่มไปอาละวาดในเขตอบอุ่น​ด้วย​ จึงเป็นที่สงสัยว่าเกิดจากภาวะโลกร้อนทำให้เขตอบอุ่นอุณหภูมิสูงขึ้น​ เชื้อรานี้จึงขยายอาณาเขตล่าเหยื่ิอออกไปได้
ยังมีเชื้อราคริปโตคอคคัสชนิดอื่น​ ๆ​ ในสิ่งแวดล้อม​ ที่มีแคปซูลกับเมลานิน​ แต่มันยังเติบโตที่อุณหภูมิสูง​ ๆ​ ไม่ได้​ ถ้ามันปรับตัวได้เมื่อไหร่​ เราคงไม่อยากนึกว่าจะเกิดอะไรขึ้น
เชื้อรามีอยู่กว่าล้านชนิด​ อาจมีอีกหลายชนิดที่มีศักยภาพจะฆ่าเราได้​ แต่ตอนนี้มันยังพอใจที่จะอยู่ในที่เย็น​ ๆ​ ชื้น​ ๆ​ ไม่ยุ่งกับเราตราบเท่าที่เรายังมีชีวิตอยู่
แต่ถ้าภาวะโลกร้อนเลวร้ายลงเรื่อย​ ๆ​ จนอุณหภูมิศพกับอุณหภูมิตอนมีชีวิตแทบไม่ต่าง​กันแล้ว​ เชื้อราที่ปรับตัวได้อาจเปลี่ยนเมนูอาหารของมันมาลองของแปลกคือมนุษย์เป็น​ ๆ
1
ถึงตอนนั้นเราก็มีแต่ภูมิคุ้มกันที่ช่วยปกป้องเรา​ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับกบที่สูญพันธ์ุไปกว่า​ 200​ ชนิดจากเชื้อรา​ (Chytrid fungus อ่านได้ในตอนที่​ 2)
ข่าวดีคือมีกบบางชนิดเริ่มฟื้นตัวจากการล่าสังหารของเชื้อรา​ กลับมาเพิ่มจำนวนในธรรมชาติ​ นักวิทยาศาสตร์พบว่าสารคัดหลั่งจากหนังของกบพวกนี้ต่อต้านเชื้อราได้ดีขึ้น
ข่าวร้ายคือเชื้อราพวกนี้ไม่มีเศษเสี้ยวของความเมตตาใด​ ๆ​ มันยังคงความร้ายกาจไม่เปลี่ยนแปลง​
เชื้อโรคกับเหยื่อก็เหมือนกับคู่สามีภรรยาที่ต้องปรับตัวเข้าหากัน​ ปกติเป็นที่ยอมรับกันว่า​ เมื่อเชื้อโรคพบเหยื่อรายใหม่​ หากตอนแรกมันก่อให้เกิดความรุนแรงเกินไป​ เชื้อนั้นจะปรับตัวลดความร้ายกาจลง​ เพื่อให้เหยื่อรายใหม่เหลือรอดในการแพร่กระจายเชื้อ​
จึงเป็นเหตุผลว่า​ พวกเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่กลายพันธุ์หรือมาจากสัตว์อาจจะฆ่าคนไปค่อนโลกแต่ไม่สามารถสังหารคนจนหมดโลกได้
แต่ดูเหมือนว่าเชื้อราจะไม่สนเหยื่อของมันเลย​ว่าจะเป็นหรือตาย ไม่คิดแม้แต่จะเลี้ยงไว้ดูเล่นซักตัวสองตัว​ แสดงว่าเหยื่อของมันในธรรมชาติมีมากมายจนไม่ต้องง้อเหยื่อชนิดใดชนิดหนึ่ง
ไม่มีความแตกต่างใด​ ๆ​ ในเชื้อราที่แยกได้จากตอนที่มันเริ่มทำลายล้างกบกับจากเชื้อราที่แยกได้จากกบที่เริ่มฟื้นกลับมาในธรรมชาติ​ เป็นกบฝ่ายเดียวที่พยายามปรับตัวต่อสู้
เราไม่มีวัคซีนสำหรับเชื้อรา​ และยาต้านเชื้อราก็มีจำนวนจำกัด​ ก็ได้แต่หวังว่าโลกเราจะไม่ร้อนขึ้นไปเรื่อย​ ๆ​ เพราะดูเหมือนว่าเชื้อราจะไม่อยู่ในความสนใจนัก​ จึงไม่ค่อยมีการเตรียมตัวรับมือ​ ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะมันยังไม่เคยก่อปัญหารุนแรงกับคน
ถ้ายุคเชื้อราล่าสังหารมนุษย์มาถึงจริง​ ๆ​ คงต้องภาวนาให้เราปรับตัว​ต่อต้านมันได้​ จะหนีไปไหนก็ไม่ได้ในเมื่อเชื้อรามีอยู่ทุกหนทุกแห่ง​ ไม่อย่างนั้นเราคงต้องอาศัยอยู่ในโดมปรับอากาศขนาดยักษ์เพื่อให้เชื้อราข้างในพอใจที่จะอยู่เย็น​ ๆ​ ชื้น​ ๆ​ ไม่มายุ่งกับเรา
จะออกไปโลกภายนอกอันร้อนระอุนอกโดม​ อาจต้องวิ่งตลอดเวลาเป็นหนูถีบจักร​ เพื่อเพิ่มอุณหภูมิร่างกายขึ้นอีกนิด​ หยุดวิ่งเมื่อไหร่อาจจะติดเชื้อเมื่อนั้น
หรือเราจะทำให้ตัวเองมีไข้สูงโดยการฉีดเชื้อมาเลเรีย (พลาสโมเดียม) ซึ่งในอดีตใช้บรรเทาอาการของซิฟิลิสขึ้นสมอง​ (neurosyphilis)​ ฟังดูน่าสยดสยอง​ แต่ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในสมัยนั้น​
เพราะในยุคที่ยังไม่มีเพนนิซิลิน (penicillin) เรารักษาซิฟิลิสด้วยการฉีดสารหนู​ (Salvarsan) หรือรมปรอท​ (mercury fumigation) ซึ่งโอกาสตายจากการรักษาพอ​ ๆ​ กับหรือสูงกว่าตัวโรคเองด้วยซ้ำ
เราอาจจะหนีไปดาวอังคารเพื่อรอให้โลกเย็นลง​ ส่วนมนุษย์ที่ถูกทิ้งไว้บนโลกอาจกลายพันธุ์เป็นสัตว์เลือดร้อน​ (ประชด) อุณหภูมิร่างกายอยู่ที่​ 45 องศาเซลเซียส​ หรือไม่ก็ปรับตัวอยู่ร่วมกับราอย่างมีความสุข​ กลายเป็น​ "มนุษย์เห็ด" ประดับประดาผิวหนังด้วยเห็ดหลากสีสัน
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาจสูญพันธุ์จากเชื้อราเป็นจำนวนมาก​ เปิดทางให้สัตว์ปีกที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า​ (เฉลี่ย​ 40 องศาเซลเซียส) ขึ้นมาครองโลก เหมือนที่เชื้อราเคยทำให้ไดโนเสาร์หลีกทางให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาแล้ว
สัตว์เลือดเย็นอย่างสัตว์เลื้อยคลานอาจได้กลับมาทวงบัลลังก์​ เพราะความได้เปรียบของสัตว์เลือดอุ่นในการต่อต้านเชื้อราจะหมดไป​ ในขณะที่พวกมันได้เปรียบในแง่ใช้พลังงานน้อยกว่า
ถ้าไม่อยากเผชิญหน้ากับเชื้อราสุดโหดในอนาคต​ เราคงต้องรีบช่วยกันลดภาวะโลกร้อน​ และหวังว่าเราจะเตรียมรับมือมันได้ทัน​ หากเชื้อราหันมาเล่นงานเราจริง​ ๆ​
จะว่าไปแล้ว​ ในอดีตอันไกลโพ้น​ เรามีปัญหาตรงกันข้าม​ พวกต้นไม้พัฒนาลิกนิน​ (lignin) เพิ่มความแข็งแกร่งกับไม้ซึ่งย่อยสลายยากมาก
เซลลูโลส​ (cellulose)​ ว่าย่อยยาก​ ก็ยังพอมีเชื้อโรคที่ย่อยมันด้วยเอนไซม์เซลลูเลส (cellulase) แต่ลิกนินแทบไม่มีพันธะส่วนไหนให้ย่อย​ (hydrolyze)​ ได้เลย
การที่ลิกนินถูกทำลายยากมาก​ ก่อปัญหาคือ​ ต้นไม้ดึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์์​ (CO2) ในอากาศ​มาสังเคราะห์สร้างส่วนประกอบต่าง​ ๆ​ เมื่อไม่มีใครย่อยสลายมัน​ ก็ไม่สามารถปลดปล่อย​ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศได้
เมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกร่อยหรอลง ก็จะเกิดปัญหาโลกเย็นแทน​ กลายเป็นมลภาวะจากต้นไม้
ถ้าตอนนั้นมีมนุษย์แล้ว​ ใครไปปลูกป่าคงโดนประณาม​ ถ้าอยากรักษาสิ่งแวดล้อมเราต้องถางป่า​ เผาป่า
โชคดีที่พวกเชื้อรากลุ่มหนึ่ง​ (white-rot fungi) พัฒนาความสามารถให้ทำลายลิกนินได้​ คืนคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศได้ โดยการถล่มลิกนินด้วยอนุมูลอิสระ​ (free radical)
หากเปรียบเทียบการย่อยด้วยเอ็นไซม์​ เหมือนเอากุญแจไปไขเปิดประตูอย่างนุ่มนวล​ การใช้อนุมูลอิสระก็คงเหมือนการใช้ปืนกลหรือขวานจามถล่มให้ประตูเปิด​ ถึงจะดูห่ามไปหน่อยแต่ก็ได้ผลดี
แต่มนุษย์เราห่ามยิ่งกว่าคือเผามันเลย​ ทั้ง ต้นไม้​ น้ำมัน​ ถ่านหิน​ คืนคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกักไว้เป็นล้าน​ ๆ​ ปี​ สู่บรรยากาศอย่างรวดเร็ว​ จนเกิดภาวะโลกร้อนอย่างทุกวันนี้
ดูเหมือนเชื้อราจะเป็นผู้คุมกฎ คอยนำสมดุลมาสู่พลัง​
ใคร​ "เก๋า" เกินหน้าเกินตา​ จะโดนไล่ล่า ที่ผ่านมามีทั้งต้นไม้​ และไดโนเสาร์​ (อ่านได้ในตอนที่​ 1)
และสิ่งมีชีวิตที่​ "เก๋า" ที่สุดในสายตาเชื้อราตอนนี้จะเป็นใครได้
ถ้าไม่ใช่มนุษย์เรา
เชื้อราก็คงเปรียบได้กับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก​ (disruptive technology) ทั้งหลาย​ ที่เปิดโอกาสให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่​ ตลาดใหม่​ ผู้ประกอบการใหม่​ อาชีพใหม่​ แต่ก็ทำลายผลิตภัณฑ์เก่า​ ตลาดเก่า​ ผู้ประกอบการเก่า​ อาชีพเก่า​ ใครปรับตัวไม่ได้​ ก็ล้มหายตายจากกันไป
บ่อยครั้งที่เทคโนโลยีเหล่านี้ใช้เวลานานมากกว่าจะออกจากห้องทดลองมาให้ใช้​ และก็ใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าผู้บริโภคจะยอมรับ​ หลังจากนั้นอีกไม่นานมันจะกลายเป็นสิ่งที่เราขาดไม่ได้และเขี่ยเทคโนโลยีเก่าออกไปอย่างสมบูรณ์
บางครั้งทั้งหมดนี้ใช้เวลากว่าครึ่งศตวรรษเลยทีเดียว​ เราไม่สามารถอ้างได้ว่าไม่มีเวลาปรับตัว​ แต่เป็นเราไม่สนใจหรือเราไม่อยากปรับตัวเองต่างหาก​ ผู้ที่เตรียมพร้อมปรับตัวไว้ก่อนย่อมได้เปรียบ
1
ก่อนหน้านี้เรา​ (สัตว์เลือดอุ่น) เป็นผู้เล่นใหม่ที่ได้ประโยชน์จากเชื้อรา​ ที่ช่วยกวาดล้างผู้เล่นเก่าคือไดโนเสาร์ออกไป​ เพราะเราปรับตัวให้มีอุณหภูมิสูง​คงที่
แต่ตอนนี้เรากำลังจะกลายเป็นผู้เล่นเก่า​ และเชื้อราก็ให้เวลาเรามาพอสมควรแล้ว​ เมื่อถึงวันที่เห็ดรางอกขึ้นมาบนศพของมนุษย์คนสุดท้าย​ มันคงอยากจะหันมาบอกเราว่า
"เราเตือนคุณแล้ว"
สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านแข็งแรงไม่มีเชื้อรามารังควาญ
โปรดติดตามเรื่องถัดไป
แบคทีเรียจรจัด: วิธีตายสุดฮิตของคนรุ่นใหม่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา