29 ธ.ค. 2018 เวลา 03:47
เมื่อลูกสาวมาแนะนำให้ผมเขียนเรื่องลงใน Blockdit เพื่อเป็นการแบ่งปันความรู้
ผมลองอ่านดูเองก่อนได้สัก 2 สัปดาห์ ก็คิดว่าเป็นแอปที่น่าสนใจและน่าลองเขียนดู เพราะใช้เทคโนโลยี่เพื่อสนองการหาความรู้
ยิ่งเป็นเรื่องในแนวที่ผมจะเขียนคงยิ่งน่าสนใจขึ้นอีก เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนยังไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ นั่นคือ “สุขภาพในมุมมองฟิสิกส์”
ฟังดูเป็นวิชาการจ๋า แต่กลับใช้อธิบายการเจ็บป่วยได้ ซึ่งทุกคนมักคิดว่าในตัวเรามีแต่สารชีวะเคมี จึงเป็นเรื่องของหมอเท่านั้น ต้องมีความรู้เรียนจบหมอก่อน แล้วค่อยกลับมาดูแลรักษาได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็แก้ด้วยการใช้ยา
credit https://www.pexels.com
ความจริงสุขภาพดีหรือการเจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่อยู่คนละฟากเท่านั้น
ฟากด้านเจ็บป่วย ถ้าถึงขั้นเป็นแล้วต้องแก้ไขด้วยการรักษา เป็นเรื่องของการแพทย์ ทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว
แต่ด้านสุขภาพดีกลับไม่ต้องแก้ แค่เพียงป้องกันก็พอ ทำไปเรื่อยๆเพื่อให้สุขภาพดีนี้คงอยู่ตลอดไปให้นานที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้ เพราะร่างกายเรามีระบบซ่อมที่ดีมาก แต่ไม่มีอะไหล่
ขอเพียงให้เราเข้าใจเท่านั้น เมื่อมีการใช้งานแล้ว ต้องสนับสนุนให้มีเวลาซ่อม(พัก)ควบคู่กันไป
เมื่อใดที่หมอต้องใส่อะไหล่ให้เรา เช่น ข้อเทียม หัวใจเทียม ฯลฯ แปลว่าการดูแลหรือป้องกันสุขภาพได้พังลงเรียบร้อยแล้ว
ความรู้ด้านป้องกันนี้จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนยังไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ เพราะเป็นเรื่องฟิสิกส์ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับการใช้ยาหรืออาหารเสริมใดๆทั้งสิ้น
การกินไม่ทำให้พฤติกรรมของเราเปลี่ยน
เราต้องออกแรงทำเอง เงินจึงซื้อสุขภาพไม่ได้
มีคำพูดที่ใช้เตือนสติคนป่วยเสมอว่า “ 50ปีแรกคุณใช้มัน (ร่างกาย) 50ปีหลังคุณรับใช้มัน “ เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่า ”ยิ่งแก่ยิ่งไม่ต้องทำอะไร นั่งๆนอนๆไปวันๆ”
4
แต่ความจริง ร่างกายที่ถูกใช้มานาน ยิ่งมีเรื่องอีกเยอะที่ต้องทำเพื่อรับใช้ร่างกาย(ที่จริงก็คือช่วย เพราะมันไม่ไหวแล้ว)
2
ทำไมคนจึงต้องป่วยเรื้อรัง ตอบง่ายมาก เพราะการป้องกันไม่ได้ผลนะสิ หลายคนจะเถียงทันทีว่างานหนักก็ไม่ได้ทำ แล้วก็ยังออกกำลังอยู่
ถ้าอย่างนั้น ขอถามว่าออกกำลังกายเพื่อสุขภาพทำอย่างไร? ส่วนใหญ่จะใช้วิธีวิ่งไง กำลังฮิต
แล้วทำไมบางคนถึงวิ่งแล้วปวดเข่าปวดส้นเท้า อย่าว่าแต่คนทั่วไปเลย แม้แต่หมอเองก็น็อคมาแล้ว
เมื่อไม่นานมานี้ มีกิจกรรม “หมอชวนวิ่ง” ปรากฏว่ามีหมอดมยา ศิริราชยังวูบไป โชคดีที่ช่วยได้ทัน
เช่นเดียวกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาที่วูบไปตอนเอี้ยวตัวตีเทนนิส ไปฟื้นที่ไอซียู
อ้าว...ถ้าอย่างนั้นการออกกำลังกายก็มีปัญหาซ่อนอยู่ซิ ? นี่คือสิ่งที่แม้แต่หมอก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้
การเรียนแพทย์ไม่ได้รู้ทุกๆเรื่องที่อยู่ในตัวเรา เราไม่เคยรู้เลยว่าในตัวเรายังมีเรื่อง “ฟิสิกส์” อยู่ด้วย ถ้าเราควบคุมไม่เป็นก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน
เริ่มสนใจเรื่อง“สุขภาพในมุมมองฟิสิกส์” หรือยังครับ? แต่เรื่องนี้ยังอีกยาว ต้องค่อยๆอธิบายไปทีละเรื่อง
แต่ทุกเรื่องเกี่ยวข้องกันหมด ตั้งแต่สุขภาพดี โรคเรื้อรัง การออกกำลังกาย การรักษาทางเลือก และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะในทุกๆเรื่องมีมุมมองสองด้านซ้อนทับกันเสมอ
แต่สิ่งที่คุณไม่รู้คือมุมมองด้านฟิสิกส์ ผมจึงลองอาศัยเพจนี้โพสต์เพื่อบอกให้รู้ว่าการดูแลสุขภาพยังมีเรื่องที่ไม่รู้ซ่อนอยู่
ถ้าเข้าใจทั้งสองด้านก็จะอธิบายได้หมดว่าทำไมเราถึงป้องกันโรคเรื้อรังไม่ได้
 
สิ่งแรกที่ต้องพูดก่อน คือ มีฟิสิกส์ในตัวเราจริงหรือ? มีอยู่ที่อวัยวะไหน?
คำตอบที่ดีที่สุดเท่าที่พอหาได้ มาจากQaura.com ได้อธิบายว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ร่างกายเรามีแต่สารชีวะเคมี โดยอธิบายวิธีทำงานของร่างกายเริ่มที่สารตัวนั้น เช่น อธิบายโรคเบาหวานก็เริ่มจากสาร “อินสุลิน” เลย
แต่แท้ที่จริงแล้วอินสุลินก็มาจากอะตอมหลายๆชนิดมารวมกัน จึงต้องใช้พลังงานซึ่งเป็นฟิสิกส์ เกิดเป็นบอนด์ทางเคมีเพื่อให้อะตอมจับตัวกันไว้
แต่สาเหตุที่อธิบายเริ่มจากสารเคมี เพื่อเป็นการตัดตอนไม่ให้เยิ่นเย้อ จึงข้ามขั้นการสร้างที่ใช้ฟิสิกส์ไป ฟิสิกส์จึงมีอยู่จริงและอยู่ทั่วไปทุกๆเซลล์ในร่างกาย
1
ในร่างกายยังมีฟิสิกส์แท้ๆอีกรูปแบบหนึ่ง คือ แรงทางกลศาสตร์ ที่เกิดจากน้ำหนักตัว
1
ถ้าใครป่วยไปหาหมอมา ไม่ว่าเป็นเข่าเสื่อม ปวดหลัง รองช้ำ เบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ กรดไหลย้อน ฯลฯ หมอมักต้องให้ลดน้ำหนักตัวเสมอ
น้ำหนักตัวหรือฟิสิกส์จึงต้องเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคแน่ๆ แต่กลับไม่มีใครรู้รายละเอียดเลยว่า น้ำหนักกับสารเคมีไปโยงกันเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างไร
ยกเว้นโรคกระดูกที่ใช้สามัญสำนึกคิดเองได้ เมื่อน้ำหนักเยอะ คนแบก (เข่า)ก็พังซิ
แต่เมื่อหมอแนะนำแล้ว ถึงไม่เข้าใจเหตุผล ก็ควรจะทำตามเพื่อให้โรคมันดีขึ้น (ส่วนบางคนทำแล้วไม่ดีขึ้นเพราะยังมีฟิสิกส์อีกหลายเรื่องที่หมอเองก็ยังไม่รู้ เลยไม่ได้บอก)
ความจริงแล้วโรคกระดูกสมควรใช้เป็นต้นแบบ ( model ) ในการอธิบายกลไกทางฟิสิกส์ที่ทำให้เกิดโรคได้ง่ายและดีที่สุด เพราะเป็นอวัยวะที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแรงโดยตรง และมีกลไกทำงานที่เราเข้าใจและรู้หมดครบถ้วนอยู่ในตำราแล้ว (ต่างจากอวัยวะภายในอื่นๆที่ทำงานด้วยระบบสารเคมี ในตำรายังไม่รู้กลไกที่ใช้สั่งการและสร้างสารเคมี รู้แต่ว่าอวัยวะนี้มีหน้าที่สร้างสารนี้เท่านั้น)
เวลาเราเคลื่อนไหวแขนขาหรือใช้ทำงาน ต้องเริ่มที่สมองสั่งการผ่านระบบประสาท เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อ กลายเป็นแรงที่ใช้ทำงานได้
ถ้าเสียจะกลายเป็นอัมพาต ทุกๆคนรู้จักดี แต่ทั้งๆที่เรามีความรู้เรื่องนี้ครบหมดแล้ว กลับไม่สามารถป้องกันโรคกระดูกเสื่อมได้ เพราะเรารู้เรื่องฟิสิกส์ภายในร่างกายไม่หมดนั่นเอง
การป้องกันโรคกระดูกเสื่อมให้ได้ผล ต้องรู้จักแรงในร่างกายให้ครบทุกแรงก่อน
แรงแรกที่เรารู้แล้ว คือแรงจากน้ำหนักตัว ถ้าคุณเริ่มปวดหลังปวดเข่าครั้งแรก ต้องถามตัวเองว่า น้ำหนักคุณเพิ่มและเกินมาตรฐานหรือยัง?
วิธีลดน้ำหนักนั้นไม่ควรใช้ยา ให้เพิ่มการเดินมากขึ้น จนได้วันละ 1 ชม หรือ หมื่นก้าว ต้องเดินช้าๆตัวตรงๆ แต่ไม่นับรวมการเดินตอนที่ทำงานไปด้วย
ไม่ต้องรีบ เพราะเอาเวลา ไม่เอาระยะทาง จะเดินอยู่กับที่ก็ได้ ต้องเดินไปยืดตัวไป ทำเหมือนว่าเรานัดเพื่อนแล้วไปสาย ต้องยืดตัวมองหาเพื่อน
เวลากินอาหารก็ให้ปริมาณแคลอรี่ลดลง ใช้ชามข้าวขนาดเล็กลง
กินแค่ให้หายหิว แต่ยังไม่รู้สึกอิ่ม ให้จิบน้ำรอสักพัก เพราะสมองจะรับรู้เรื่องอิ่มช้ากว่ากระเพาะ
ลองทำทุกวันติดต่อกัน 1-2สัปดาห์ ถ้ายังไม่หายปวดหรือ น้ำหนักยังไม่ลดให้ดูเรื่องต่อไป
เรื่องที่สอง แรงในคนผอมก็ทำให้ปวดหลังปวดเข่าได้ เพราะแรงในตัวเรา ถึงไม่มีตัวตน มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่ถ่ายเทหรือไหลได้เหมือนน้ำ
ถ้าร่างกายตั้งไม่ตรง ไม่ว่าก้ม แหงน หรือเอียง น้ำหนักตัวจะไหลไป2ด้านไม่เท่ากัน ทำให้ปวดข้อหรือเอ็นเพียงด้านเดียวได้ ทั้งๆที่เวลาใช้ก็ใช้พร้อมกันทั้ง2ข้าง
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทุกวันนานเป็นปี จนกลายเป็นเรื่องปกติ เวลาปวดเราจึงนึกไม่ถึงว่ามาจากท่าทาง
การเอียงหรือก้มตัวในช่วงแรกๆจะไม่ปวดเป็นเพราะกระดูกยังแข็งแรงมาก จึงรับผิด(รับแรง)แทน จนในที่สุด ผ่านไปหลายปี กระดูกก็เริ่มทนไม่ได้จึงเกิดอักเสบและบวมได้
 
ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนนิสัย ความปวดนั้นก็จะอยู่กับเราตลอดไป
แต่เราไม่มีทางบอกได้ว่าข้อไหนจะปวดก่อน เพราะแรงในตัวจะต้องผ่านข้อกระดูกที่มีอยู่เกือบ 200 กว่าข้อ จึงไม่มีทางติดตามได้
แล้วยังต้องไปแตกแกนเอ็กซ์แกนวายทุกข้อที่งอเพื่อคำนวณว่า แรงไหลไปทางข้อไหนต่อมากกว่ากัน
ท้ายสุด ถ้าข้อไหนปวดที่สุด ก็แปลว่าแรงไปลงที่ข้อนั้นมากที่สุด ซึ่งทุกๆสิ่งนี้ล้วนเกิดขึ้นเองเป็นไปตามกฎทางกลศาสตร์นั่นเอง
คนเรามักเข้าใจแต่เรื่องที่มองเห็นได้เท่านั้น
เวลาตำราบอกว่า ข้อเสื่อมเกิดจากทำงานหนักเกินไป คำว่า”งาน” ทุกคนจะมองไปที่งานประจำที่ทำอยู่ ต้องยกของหนักไหม? ต้องใช้แรงแบกเอกสารไหม? ปวดมือก็ดูว่าใช้มือมากไหม?
ไม่เคยมีใครนึกถึงงานภายในตัวที่ข้อนั้นต้องแบกรับเลย
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็ลองตอบคำถามนี่ก่อน “คุณรู้ไหม หัวคุณหนักเท่าไร? “ จะบ้าเหรอ ใครจะชั่งหัวตัวเองได้
แต่ไปหาในเน็ตได้ โดยเฉลี่ย 3.6ถึง5 กิโลกรัม (5-8เปอร์เซนต์ มวลกาย)
ถ้าเปรียบหัวที่หนักเสมือนก้อนหินก้อนหนึ่ง ที่คุณต้องแบกไปตลอดชีวิต วางไม่ได้ ถ้าวางก็คือคอขาด จะตายทันที คุณจะแบกก้อนหินนี้อย่างไรดี
ถ้าคุณยกก้อนหินห่างลำตัวมากๆ ไม่ถึงชั่วโมงคุณจะปวดเมื่อยจนทนไม่ได้
แล้วถ้าคุณแบกไว้ด้านข้าง ยิ่งคุณเอียงตัวมากเท่าไร ยิ่งปวดด้านที่เอียงเร็วขึ้น เพราะแรงจะเทไหลไปด้านนั้น
พออธิบายแล้วทุกคนก็จะร้องอ๋อเหมือนเข้าใจ
แต่ชีวิตจริงไม่ง่ายอย่างนั้น ไม่ว่าคุณจะเอียงหัวอย่างไรก็ไม่เมื่อย ไม่ปวด เพราะไม่มีประสาทความรู้สึกคอยรายงานอยู่ภายในตัว เราจึงไม่รู้ตัว
แต่แรงยังคงมีอยู่ มันจึงทำร้ายจนข้ออักเสบ แล้วปวดอย่างรุนแรง โดยที่เรายังงงๆอยู่
วิธีแบกหัวหรือก้อนหินตลอดชีวิตให้ดีที่สุด คือ ต้องยืดตัวให้ตั้งตรง(ยืดอกขึ้น ไม่ใช่แอ่นอก)
กระดูกสันหลังทั้งตัวจะกลายเป็นกระดูกท่อนเดียวติดกัน และเป็นทางผ่านของแรงเพื่อลงสู่พื้น โดยไม่ทำร้ายข้อกระดูกใดเลย
อธิบายได้อีกอย่างคือ เราไม่เคยรู้ว่ากระดูกจะพักหยุดทำงานเมื่อยืดตัวให้ตรง
แต่ถ้าเกิดงอข้อใดข้อหนึ่ง แรงส่วนใหญ่จะไปลงที่ข้อนั้น ทำให้งานที่ข้อนั้นต้องทำเพิ่มขึ้นหลายเท่า
เมื่อทำติดต่อนานเข้าก็กลายเป็นข้อเสื่อมได้
ที่น่าแปลกยิ่งกว่า และไม่มีใครเข้าใจมาก่อนเลย ยังมีแรงที่3 มาเพิ่มอีก
เรื่องนี้เป็นเรื่องฟิสิกส์ล้วนๆและสามารถอธิบายกลไกการเกิดด้วยความรู้ที่มีอยู่แล้ว
ถ้าใครเคยแข่งขันชักกะเย่อ คงจะรู้ว่าต้องเลือกคนที่มีน้ำหนักตัวเยอะๆ กับคนที่มีกำลัง มีแรงดึงเยอะๆ
แต่เคยมีใครสดุดคิดบ้างไหมว่า แรงเยอะๆมาจากไหน ?
ก็มาจากกล้ามเนื้อที่หดตัวตามสมองสั่งการนั่นเอง แสดงว่าในร่างกายเราสร้างแรงให้เกิดได้ตลอดเวลา
แล้วอะไรจะเกิดขึ้นถ้ามีแรงเกิดขึ้นเองโดยที่สมองไม่ได้สั่ง
หลายคนคงไม่เชื่อว่ากล้ามเนื้อจะหดตัวได้เอง
ถ้าอย่างนั้นลองถามคนที่เป็นตะคริวว่า ตอนที่ก้อนตรงน่องหดตัวเกร็งเป็นตะคริวนั้นสมองเขาสั่งการหรือเปล่า
หรือบางคนนั่งๆอยู่ กล้ามเนื้อที่แขนหรือขาก็เต้นเองได้ กระตุกเป็นคลื่นเลย
แรงพวกนี้เป็นแรงผิดปกติที่เกิดขึ้นเองเมื่อเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อนั้นถูกรบกวน เช่น ถูกหนีบ ถูกดึง ถูกกด
ใครเคยเรียนชีวะสายวิทย์ เคยผ่ากบที่ตายแล้ว แต่พอเอาคีมจับไปหนีบเส้นประสาทขาเบาๆ ขากบก็จะกระตุกได้เอง
แรงผิดปกตินี้เป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้ข้อและเอ็นที่อยู่ทั่วตัวต้องทำงานหนักขึ้นหลายเท่า มากกว่างานภายนอกที่เราเห็นเรารู้จักหลายสิบเท่า เพราะงานช้างนอกเราพักได้
แต่งานในตัวไม่เคยพัก จึงกลายเป็นโรคกระดูกเสื่อมได้
การอธิบายกลไกการเกิดแรงที่3
เมื่อเราก้มเอียงตัวติดต่อนานหลายปี ข้อกระดูกสันหลังจะเริ่มสึก
 
ข้อต่อที่เคยแข็งแรง ตอนนี้กลับหลวม เหมือนรถเก่าๆที่วิ่งแล้วมีเสียงดังเพราะเครื่องหลวม
ที่สำคัญคือเราไม่รู้ว่ากระดูกในร่างกายแบ่งเป็น 2 ชนิด คือกระดูกสันหลังที่เป็นแกนซึ่งมีเส้นประสาทอยู่ข้างใน กับกระดูกแขนขาเอาไว้ใช้งาน จึงไม่มีเส้นประสาทข้างใน
เมื่อข้อกระดูกสันหลังสึกและหลวม ตอนที่เราก้มหรือเอียงครั้งต่อไป
ข้อที่หลวมจะเขยื้อนไปถูกเส้นประสาทเหมือนเราเอาปากคีบไปจับเส้นประสาทในกบ
กล้ามเนื้อจะหดตัวโดยสมองไม่ได้สั่ง ทำให้เกิดแรงที่ข้อและเอ็นตลอดเวลาที่ข้อต่อหลังยังไปรบกวนเส้นประสาท
ปรากฏการณ์นี้เกิดก่อนข้อเสื่อมเป็นเวลานาน
คนป่วยจะรู้ได้จากมีตะคริวบ่อยมาก
คนเราไม่ว่ารวยหรือจน ทุกคนมี24ชั่วโมงเท่ากันหมด
 
โรคข้อเสื่อมนี้ขึ้นกับเวลาที่กระดูกสันหลังไม่ตรงในแต่ละวัน เพราะทำให้เกิดแรงที่3 นี่เอง
ถ้าคุณยิ่งงอหลังบ่อยมาก โรคข้อเสื่อมก็เกิดเร็วขึ้นตามไปด้วย
1
แล้วตอนไหนที่ตัวไม่ตรงมากที่สุด? ไม่น่าเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้
เราใช้เวลา1 ใน3 ของชีวิตไปกับการนอน ถ้าคุณนอนไม่ถูก คุณก็ทำผิดไปแล้ว6-8 ชั่วโมง
การนอนจึงเป็นจุดอ่อนของการดูแลสุขภาพ
ผมแน่ใจว่ามีคนรู้น้อยมากว่า “การนอนไม่ดีเกิดโรคได้” ที่ยิ่งแย่ไปอีกคือ ถึงรู้แล้วว่า “นอนไม่ถูกแต่ก็แก้ไม่เป็น”
ทุกคนมักจะตอบว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ต้องนอนหงายหลังจะได้ตรง” ตื่นมาทีไร ก็ยังนอนตะแคงอยู่
เพื่อให้กระชับขึ้น ผมจะสรุปเลยว่า การนอนที่ถูกช่วยป้องกันสุขภาพได้ ต้องนอนให้คอและหลังตรงเหมือนเราตอนที่เรายืนตรง ทั้งท่านอนหงายและนอนตะแคง (ห้ามนอนคว่ำ เพราะคอตรงไม่ได้ ต้องบิดเพื่อให้หายใจได้ หน้าไม่จิ้มที่นอน)
โดยต้องจำคำนี้ไว้ “นอนหงายหมอนเตี้ย หมอนตะแคงหมอนสูง” ซึ่งหลักการนี้ได้มาจากสรีระของหัวและคอนั่นเอง
เวลาเรายืนตรง ระดับท้ายทอยกับหลังอยู่ไม่ต่างกันมาก (ไม่ถึง1นิ้ว) แต่มีส่วนคอที่เว้าเข้าไป
ถ้านอนราบโดยไม่ใช้หมอน จะเกิดช่องว่างใต้คอสูงประมาณ2นิ้วฟุต หรือเท่ากับ 3นิ้วมือ
แต่ตอนนอนตะแคงข้าง ส่วนปลายหัวไหล่ที่ยื่นไปวางบนพื้น จะอยู่ห่างจากระดับของใบหู 4 ถึง 5 นิ้วฟุต นี่คือความสูงของหมอนตอนเรานอนตะแคง
แต่เวลาปฏิบัติจริง กลับหาหมอนที่พอดีไม่ได้
ถ้าไม่ลงทุนเย็บเอง ก็ต้องดัดแปลงแบบนี้
นอนตะแคงห้ามใช้หมอน2ใบซ้อนกัน เพราะ ปกติหมอนจะป่องตรงกลางอยู่แล้ว ถ้าซ้อนจะกลายเป็นลูกบอลที่ตรงกลางสูงที่สุด แต่ขอบล่างเรียวเตี้ยมาก โอกาสตกหมอนจึงมีสูง
ให้ใช้ผ้าห่มผืนใหญ่มาพับขนาดเท่าหมอน ส่วนความหนาก็เท่ากับส่วนที่ต้องการเติมให้หมอน เมื่อวางผ้าห่มไว้ใต้หมอน ความสูงของหมอนบวกผ้าห่ม จะเท่ากับหัวไหล่พอดี
แต่เวลานอนหงายต้องลงมาจากหมอนสูง นอนราบไม่ใช้หมอน ถ้านอนแป๊บเดียวก็ไม่ต้องหนุนเลย พอเมื่อยค่อยยกหัวขึ้นไปบนหมอนใหม่
โอโห้ ...ใครจะทำได้ หลับอยู่นะ เรื่องนี้ธรรมชาติเป็นคนกำหนด ถ้าวันนี้ทำไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ต้องสู้ใหม่ เรื่องในห้องนอนเป็นเรื่องของคุณคนเดียว ใครก็เข้าไปยุ่งไม่ได้
 
สำหรับคนนอนหงายทั้งคืน การหาหมอนเตี้ยกลับยากยิ่งกว่า
ให้ดัดแปลงโดยหาหมอนเด็กอ่อนมา3ใบ ใบแรกใช้รองหัว อีก2ใบใช้ซ้อนกันแล้วรองต้นคอ สังเกตดูความสูงของหมอนที่ซ้อนกัน ต้องไม่เกิน2นิ้วฟุต
ถ้าทำให้โค้งโอบคอได้จะยิ่งดีมาก
หลายคนพยายามเปลี่ยนที่นิสัยพฤติกรรมการนอน ถ้าทำได้ก็ดี แต่อย่าลืมปรับเปลี่ยนหมอนตามท่านอนด้วย
ขอย้ำว่า “นอนหงายหมอนเตี้ย หมอนตะแคงหมอนสูง”
ถ้าคุณทำกลับกัน จะยิ่งปวดมากกว่าเดิม
การโพสต์ครั้งแรกเพียงแค่นี้คงจะพอ ต้องรอดูเสียงตอบรับ
ผมมีเรื่องจะเขียนในมุมมองฟิสิกส์อีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการออกกำลังกายและโรคเรื้อรัง แล้วคนจะเข้าใจปัญหาต่างๆมากขึ้น
แต่ผมไม่ใช่มนุษย์ไซเบอร์ มีงานประจำและงานวิจัยส่วนตัว( งานวิจัยที่คนอื่นไม่เชื่อว่าทำได้) อาจไม่สามารถเขียนบ่อยนัก แต่จะพยายาม หรือคุณอาจถามบางเรื่องที่ไม่เข้าใจตามหัวข้อนี้ ผมพยายามตอบเท่าที่ทำได้
ท้ายสุดแต่สำคัญ สิ่งที่อ่านอย่าเพิ่งเชื่อ ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองก่อน โลกออนไลน์มีเฟกนิวส์ด้านสุขภาพจำนวนมาก
แต่สิ่งที่ผมเขียนนั้น เป็นการพัฒนาข้ามศาสตร์ (Interdiscipinary Knowledge) ที่รอวันพิสูจน์ครับ
โฆษณา