2 ม.ค. 2019 เวลา 18:00 • ประวัติศาสตร์
พระคัมภีร์วิเศษเผด็จรามเหียร โดยจันทรพิมพ์
เป็นตำราที่ใช้พยากรณ์เหตุการณ์บ้านเมือง ที่จันทรพิมพ์รวบรวมมาจากต้นฉบับสมุดข่อยของบิดาท่าน ซึ่งได้รับสืบทอดมาตั้งแต่สมัยปู่ช่วงที่ได้ศึกษาจากวัดสุวรรณาราม เพชรบุรีมีอายุราวมากกว่า 150 ปี ณ เวลานั้น (พ.ศ.2490) ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบันก็กว่า 220 ปีขึ้นไป
แม้ใช้ชื่อหนังสือว่าคัมภีร์วิเศษเผด็จรามเหียร แต่เนื้อหารวบรวมจากคัมภีร์ย่อยอีกหลายปกรณ์ด้วยกันประกอบด้วย
1. คัมภีร์เผด็จรามเหียร 3 สำนวน - พิจารณาคุณโทษต่อพระนครและชนบทประเทศจากเกณฑ์พระเคราะห์โคจรถึงกัน
2. เกณฑ์ไฟ ลม น้ำ แลเคราะห์โคจร
3. พระอภิธรรมอรรถสาลินี ของพระพุทธโฆษาจารย์ - พยากรณ์บ้านเมืองจากพระเคราะห์โคจรวิปริต
4. จุฬามณีกลีพัท - พยากรณ์บ้านเมืองจากเกณฑ์เลขศาสตร์ โดยใช้มหาศักราชมาคำนวณ
5. นครพังก์ - พยากรณ์บ้านเมืองโดยนำทั้งจุลศักราชและมหาศักราชมาคำนวณ ร่วมกับนามเมือง
6. โสฬศมหานคร - เลขศาสตร์ที่นำทั้งจุลศักราชและอักษรเมืองมาคำนวณ
7. ราชมัฏตัน- เลขศาสตร์ที่นำทั้งจุลศักราช และอักษรเมือง อักษรเดือน อักษรวันมาคำนวณ
8. ว่าด้วยพระเกตุ - พยากรณ์บ้านเมืองจากปรากฏการณ์ดาวหาง-ดาวตก
9. ว่าด้วยเกณฑ์สงกรานต์แลเถลิงศก
10. ว่าด้วยเกณฑ์พญาวัน - หาวันทั้ง 7 ที่จะเป็นพญาวันในปีประสงค์ เพื่อพยากรณ์ความเป็นอยู่ของประชาชน
11. ธาราธิคุณพิรุณสารทและสงกรานต์ - เลขศาสตร์ที่นำจุลศักราชมาคำนวณเพื่อพยากรณ์ปริมาณน้ำและฝน ตลอดจนข้าวกล้าในนา
12. ว่าด้วยอธิวาร ดาวเคราะห์แลฤกษ์
13. เกณฑ์ตั้งบ้านสร้างเมือง - เสี่ยงทายจากข้าวปั้น 3 กระทงให้กากิน
14. เกณฑ์ฝน เหตุที่น้ำขึ้นน้ำลงแลในตก - มีการใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ภูมิศาสตร์สมัยใหม่ ตัวอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงรัตนโกสินทร์9 ครั้ง ช่วงปีพ.ศ. 2328 ถึง 2485 จึงน่าเป็นบันทึกประสบการณ์ของจันทรพิมพ์
15. กาลชาตาปกรณ์ - ใช้พยากรณ์เหตุการณ์ดีร้าย ณ วันเวลาที่ถามคำถาม โดยผูกดวงตามหลักเลขศาสตร์ 2 วิธี และโหราศาสตร์ 1 วิธี
16. มหากาลจักรลัคนจร - ดูชาตาจรจากลัคนาที่จรไปแต่ละราศีตามจำนวนปีที่กำหนด
1
เล่มนี้มีหลักการทางโหราศาสตร์ปะปนกับเลขศาสตร์
สมัยศึกษาโหราศาสตร์ใหม่ๆ ข้าพเจ้าเคยได้ฟังได้อ่านข้อเขียนโหราจารย์รุ่นเก่าได้สันนิษฐานว่า โหราศาสตร์ไทยคงจะรับมาจากพราหมณ์อินเดียที่มาจากพม่า สังเกตจากการใช้จุลศักราช ซึ่งเป็นศักราชของพม่าในการคำนวณตำแหน่งพระเคราะห์ มีการทอนตัวเลขตามคัมภีร์สุริยยาตร์ให้ง่ายขึ้น และปรับคำแหน่งเลขเกณฑ์ให้ตรงตำแหน่งในเมืองในพม่า
ซึ่งเราน่าจะรับมาใช้ในราชสำนักสยามตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศ ที่เริ่มมีการจดบันทึกปีสุริยคติในจดหมายเหตุโหร ควบคู่ไปกับการบันทึกวันเดือนปีตามจันทรคติ ที่มีมาแต่ดั้งเดิมในไทย
ส่วนโหราศาสตร์ที่พม่ารับมาจากอินเดียกลับไม่เป็นที่นิยมเท่ากับทางไทย เนื่องจากฝั่งพม่ามีระบบพยากรณ์ที่เรียกว่าทักษาเป็นที่นิยมอยู่ก่อนแล้ว
ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา พราหมณ์อินเดียคงกระจัดกระจายลงมาทางเพชรบุรี กับนครศรีธรรมราช เป็นหลัก สันนิษฐานจากมีปกรณ์โหราศาสตร์จำนวนมากที่ปรากฏที่มาจาก 2 แหล่งนี้ แต่ไม่ได้ปรากฏในกรมโหรยุคกรุงรัตนโกสินทร์
เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ใช่นักค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ จึงมิกล้ายืนยันสิ่งที่ได้อ่านได้ฟังมา หากท่านผู้ใดได้ค้นคว้า หรือได้ยินได้ฟังเป็นอย่างอื่น นำมาช่วยแก้ความเข้าใจผิดของข้าพเจ้าได้ ก็จะเป็นการดี
โหราทาส
3 มกราคม 2562

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา