7 ม.ค. 2019 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
คนที่ใช่ในสถานการณ์ที่ต้องการ : Bill Gates (Ep5)
กลางปี 1978 ขณะที่สำนักงานใหญ่ของไมโครซอฟต์ยังตั้งอยู่ที่อัลบูเคอร์กี้ในนิวเม็กซิโก Intel กำลังพัฒนาชิปตัวใหม่ แบบ 16 bit ซึ่งมีความสามารถมากกว่าชิปแบบ 8 Bit เป็นอันมาก
เดิมที Intel ตั้งเป้าในการผลิตชิปเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน แต่เนื่องจากมันประสบความสำเร็จในการนำมาใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ ฝ่ายบริหารของ Intel จึงหันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาชิป เพื่อให้สามารถทำงานด้านการประมวลผลข้อมูลได้อย่างจริงจัง
Intel นำชิปตัวใหม่มาแนะนำที่ไมโครซอฟต์ ในที่สุดเกตส์จึงตัดสินใจพัฒนาโปรแกรมสำหรับเครื่อง PC ที่ใช้ชิปแบบ 16 บิตทันที
เขาเชื่อว่าหากไมโครซอฟต์สามารถพัฒนาโปรแกรมต่างๆ สำหรับเครื่องพีซีที่ใช้ชิปแบบ 16 bit ได้เป็นรายแรกๆ จะทำให้ไมโครซอฟต์ได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกสำคัญสำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ
เมื่อวิศวกรของ Intel ถามเขาว่าไมโครซอฟต์จะใช้เวลานานแค่ไหนในการ เขียนโปรแกรมภาษา Basic ที่ใช้ชิป 16 บิตรุ่น 8086 นี้
“3 สัปดาห์” เกตส์ตอบอย่างไม่ลังเล
เอาอีกแล้วนะเฮีย คราวที่เขียนภาษา Basic สำหรับเครื่อง อัลแตร์ 8800 เฮียยังใช้เวลาเกือบ 2 เดือน คราวนี้จะลดให้เหลือ 3 สัปดาห์ จะเป็นไปได้หรือ เฮียถามพี่ๆ ในสำนักงานหรือยัง
ที่จริงคนของ Intel ประเมินว่าไมโครซอฟต์น่าจะใช้เวลาถึง 9 เดือนเลยทีเดียวนะ แต่ทีมพัฒนาของไมโครซอฟต์ก็เก่งสุดยอด เพราะใช้เวลาเพียง 6 เดือนในการพัฒนาโปรแกรมดังกล่าว แม้มันจะเกินเวลาที่เกตส์โม้เอาไว้ 555
นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พวกเขาเขียนโปรแกรมโดยไม่ได้ใช้ชิปตัวจริง
พวกเขาใช้วิธีเดิมในการพัฒนาโปรแกรมภาษา Basic สำหรับเครื่องอัลแตร์ 8800 เดาออกใช่ไหม ว่าพวกเขาทำยังไง ถ้าใครที่ตามอ่านมาตั้งแต่ Episode แรกๆ น่าจะเดาออก ครั้งนั้นถึงกับทำให้เฮียอัลเลนถึงกับเหงื่อซึมเลยทีเดียวตอนที่นำโปรแกรมไปพรีเซนต์ให้ MITS ดู
ระหว่างที่เกตส์และทีมงานกำลังพัฒนาโปรแกรมสำหรับชิปของ Intel รุ่น 8086 อยู่นี้ อีกซีกหนึ่งของอเมริกา ทิม แพตเตอร์สัน วิศวกรหนุ่มที่เพิ่งเรียนจบ ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ก็กำลังสร้างการ์ด ที่ใช้งานร่วมกับชิปตัวนี้อยู่ที่ซีแอตเติล
ช่างประจวบเหมาะกันเหลือเกิน...หลังจากไมโครซอฟต์ย้ายมาอยู่ที่ซีแอตเติลในปี 1979 แพตเตอร์สันซึ่งได้ข่าวว่าไมโครซอฟต์กำลังพัฒนาโปรแกรมสำหรับชิปรุ่นนี้อยู่ จึงรีบเข้ามา ที่ไมโครซอฟต์เพื่อขอทดลองโปรแกรมนั้นกับการ์ดตัวใหม่ของเขาพร้อมกับชิป 8086
ทีมพัฒนาของไมโครซอฟต์ตื่นเต้นมากเพราะพวกเขายังไม่เคย ทดสอบโปรแกรมของเขา กับชิป รุ่น 8086 ของจริงเลย
แพตเตอร์สันรีบนำเครื่องของเขามาที่ไมโครซอฟต์ และทีมงานไมโครซอฟต์ก็ติดตั้งโปรแกรมภาษา Basic ลงไป
คิดว่ามันจะเป็นยังไง มันจะง่ายเหมือนที่อัลเลนนำไปทดทดสอบให้ MITS ดูไหม....ไม่เลย
...คราวนี้เครื่องไม่ทำงาน...อ้าว!!!!.... เหงื่อตกกันเลยล่ะสิ
แต่อุปสรรคแค่นี้ไม่ใช่ปัญหา พวกเขาช่วยกันปรับแต่งรายละเอียดต่างๆ เพียง 1 สัปดาห์ โปรแกรมของ ไมโครซอฟต์และเครื่องของแพตเตอร์สัน ก็ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี
หลังจากนั้นไม่นานไมโครซอฟต์ ก็นำโปรแกรมภาษา Basic สำหรับชิปรุ่น 8086 พร้อมกับเครื่องของแพตเตอร์สันไปออกงาน National Computer Conference (NCC) ในนิวยอร์ค ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
คราวนี้งานของไมโครซอฟต์เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยพนักงานเพียง 30 คน ทำให้เกตส์ต้องดึง สตีฟ บอลล์เมอร์ เพื่อนรักจากฮาร์วาร์ดเข้ามาช่วยอีกแรง
คุณจำบอลล์เมอร์ได้ใช่ไหม เพื่อนจากเอกคณิตศาสตร์ที่มักเล่นไพ่โต้รุ่งกับเขาเสมอ
เกตส์ไปชวนบอลล์เมอร์ให้มาร่วมงานในขณะที่เขากำลังเรียน MBA อยู่ที่แสตนฟอร์ด
หลังจากเขาเข้ามาในไมโครซอฟต์เพียงแค่ 3 สัปดาห์ ก็ขอให้เกตส์เพิ่มพนักงานอีก 50 คนทันทีเพื่อรองรับกับงานที่กำลังเติบโต แต่เกตส์ไม่เห็นด้วย
เขาโต้เถียงกันอย่างรุนแรง เกตส์บอกว่าเขาให้บอลล์เมอร์เข้ามาช่วยเขาทำงานไม่ได้ให้มาทำให้ไมโครซอฟต์ล้มละลาย
เกตส์เห็นบทเรียนจากบริษัทอื่นที่องค์กรใหญ่เกินไป ทำให้การบริหารงานยากลำบาก เขาไม่อยากให้ไมโครซอฟต์เป็นแบบนั้น คืออยากให้กระฉับกระเฉงและคล่องตัว...(แต่พนักงานจะตายกันหมดนะเฮีย)
บอลล์เมอร์ให้เหตุผลว่าถ้าเกตส์ต้องการให้เขาช่วย นี่เป็นงานที่เขาต้องทำ ในที่สุดเกตส์ยอมตกลงตามคำแนะนำของเขาโดยมีข้อแม้ว่า บอลล์เมอร์ต้องหาคนที่เก่งที่สุด และหาให้เร็วที่สุด เพราะรายได้ของไมโครซอฟต์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว พอๆ กับปริมาณงานที่กำลังเพิ่มมากขึ้น
เรื่องการตัดสินใจที่รวดเร็วและหาคนที่มีความสามารถและทุ่มเทให้กับงานนี่เฮียเกตส์แกมองได้ขาดจริงๆ เพราะดูเหมือนว่าทุกคนจะทุ่มเททำงานให้แกแบบสุดชีวิต
(อ้อลืมบอกไปเฮียเกตส์กับเฮียอัลเลนยอมลดหุ้นตัวเองลงนิดหน่อย เพื่อแบ่งให้คุณพี่บอลล์เมอร์ถือ 8% ด้วยนะ)
ในปี 1980 ปีที่บอลล์เมอร์เข้ามาเป็นกำลังสำคัญให้ไมโครซอฟต์นั้น เป็นปีที่เกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในธุรกิจคอมพิวเตอร์
เนื่องจากการประสบความสำเร็จอย่างสูงของแอปเปิ้ลที่ออกมาพร้อมกับโปรแกรมสำเร็จรูปอย่าง VisiCalc โปรแกรมในการคำนวณแบบตาราง โปรแกรมนี้ช่วยลดภาระการทำงานทางธุรกิจให้กับผู้ใช้เป็นอย่างมาก
และในปีนี้อีกเช่นกันที่ยักษ์ใหญ่สีฟ้าเจ้าแห่งตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับเมนเฟรมอย่างไอบีเอ็ม ที่ทำรายได้ระดับ สามหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี เห็นโอกาสในการเติบโตของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะจึงกระโดดเข้ามาร่วมชิงส่วนแบ่งนี้ด้วย
ในเมื่อแอปเปิ้ลกำลังมาแรงจนทำท่าจะล้ำหน้าไมโครซอฟต์ไปแล้วด้วยซ้ำ บวกกับเจ้าตลาดในธุรกิจคอมพิวเตอร์ที่มีเงินทุนมหาศาลอย่าง IBM เริ่มเข้ามารักษาพื้นที่ของตัวเอง
คุณว่าบิลเกตส์จะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร...ขอยกยอดเอาไปเล่าในครั้งต่อไปนะคะ...จะมีใครรออ่านไหมน้าาาาา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา