10 ม.ค. 2019 เวลา 13:11 • ธุรกิจ
โปรเจค Chess ที่อ่อนละมุนภาคต่อ : Bill Gates (Ep7)
ถ้าคุณอยากสำเร็จให้ศึกษาจากวิธีการจากคนที่สำเร็จ ใช้ได้ในทุกสถานการณ์จริงๆ เมื่อไอบีเอ็มเห็นความสำเร็จของแอปเปิ้ล วิธีการเดียวที่จะสำเร็จให้ไวที่สุดคือ ลอกเลียนแบบวิธีการของแอปเปิ้ล
อย่างที่รู้ๆ กันอยู่การเปลี่ยนแปลงในตลาดคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นเร็วมาก เครื่องอัลแตร์ใกล้จะสูญพันธุ์ บริษัทคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่กำลังทุ่มทุนอย่างหนัก เพื่อผลิตมินิคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพและความเร็วที่สูงกว่า
เกตส์ และ อัลเลน รู้ดีว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในธุรกิจนี้ ในเมื่อไมโครโปรเซสเซอร์จะมีกำลังเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุกๆ 2 ปี เท่ากับว่ากำลังของคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่ได้มาเกือบจะเรียกว่าฟรีๆ เรื่องอะไรที่เขาจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจนี้
สำหรับเกตส์แล้ว ไม่ว่าบริษัทเล็กหรือใหญ่จะผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ออกมาก็ไม่มีอะไรแตกต่าง ในความคิดของเขาเครื่องแต่ละเครื่องต้องการชุดภาษาคอมพิวเตอร์หรือระบบปฏิบัติการ ที่จะทำหน้าที่เสมือนเป็นสมองของคอมพิวเตอร์อยู่ดี
นี่คือวิสัยทัศน์ที่เกตส์มองเห็นตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของเครื่อง PC และเขาก็เตรียมพร้อมสำหรับธุรกิจนี้มาเป็นอย่างดี
ระหว่างที่ทีมงาน Chess ของไอบีเอ็มศึกษาเรื่องราวต่างๆ ของแอปเปิ้ลและผู้ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์รายอื่นๆ พวกเขาพบชื่อของไมโครซอฟต์อยู่ในเอกสารหลายชิ้น
ดูเหมือนไมโครซอฟต์จะเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่รู้เรื่องของไมโครคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี โปรแกรม Basic ของไมโครซอฟท์ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐาน ยิ่งไปกว่านั้นรายได้ของไมโครซอฟต์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมงานของไอบีเอ็มประทับใจ
ปกติแล้วเกตส์จะเป็นคนแต่งตัวสบายๆ แต่ในเดือนกรกฎาคมปี 1980 เกตส์เด็กหนุ่มวัย 25 ปี ประธานบริษัทเล็กๆ อย่างไมโครซอฟต์พร้อมด้วยคู่หูคนสนิทของเขา อัลเลน และ บอลล์เมอร์ แต่งตัวด้วยชุดสูทเต็มยศเพื่อรอต้อนรับทีมงานของยักษ์ใหญ่จากไอบีเอ็ม
พวกเขาถามเกตส์ว่าทำไมไมโครซอฟต์ถึงสามารถพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว?...แล้วก็ลากลับ!!!...พร้อมกับบอกว่านี่เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ทางการตลาดเท่านั้น อย่าโทรไปหาเราถ้ามีอะไรเราจะติดต่อมาหาคุณเอง…(แหมบริษัทใหญ่ก็แบบนี้แหละ...วางท่าน่าดู)
เกตส์และอัลเลนยังคงไม่เอะใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพียงแต่รู้สึกถึงท่าทีแปลกๆ ของไอบีเอ็ม นี่ถ้าพวกเขาสามารถรู้เรื่องราวล่วงหน้าได้ คงนอนไม่หลับไปหลายคืน เพราะอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมาทีมงานของไอบีเอ็มก็โทรมาบอกว่ากำลังจะไปพบเกตส์อีกครั้งภายใน 2 ชั่วโมงข้างหน้า...เล่นเอาเกตส์และทีมงานปั่นป่วนต้องเคลียคิวกันจ้าละหวั่น
เกตส์ต้องยกเลิกนัดหมายทั้งหมดในวันนั้นทันที รวมทั้งการนัดกับประธานของอตาริผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรายใหญ่ เพราะเทียบไม่ได้เลยกับยักษ์สีฟ้าอย่างไอบีเอ็มที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว
ก่อนการพูดคุยแซมส์คนของไอบีเอ็มขอให้เกตส์ อัลเลน และบอลล์เมอร์ เซ็นสัญญาว่าจะไม่เปิดเผยเรื่องราวใดๆที่มีขึ้นระหว่างการประชุมนี้ และยังมีข้อความระบุไม่ให้ไมโครซอฟต์ฟ้องร้องไอบีเอ็มในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการประชุมในอนาคตอีกด้วย (แหมๆ มีลับลมคมในน่าดูนะ)
แต่เด็กหนุ่มทั้ง 3 เซ็นชื่อในข้อตกลงดังกล่าวอย่างไม่ลังเล เพราะดูๆ แล้วมันก็ไม่มีอะไรเสียหายนี่นาในสายตาของเกตส์เด็กหนุ่มนักกฎหมายจากฮาร์วาร์ด
คนของไอบีเอ็มเปิดเผยว่านี่เป็นเรื่องที่ผิดปกติมากที่บริษัทเคยทำมา ในขณะที่เกตส์ก็บอกว่านี่เป็นเรื่องที่แปลกที่สุดที่ ไมโครซอฟต์เคยเจอ
ทีมงานจากไอบีเอ็มอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับโปรเจค Chess ให้พวกเขาฟัง พร้อมกับถามว่าถ้าไอบีเอ็มส่งมอบสเปคไมโครคอมพิวเตอร์แบบ 8 บิตให้ไมโครซอฟต์ พวกเขาจะเขียนภาษา Basic สำหรับรอมได้ไหม และจะเสร็จภายในเมษายน 1981 หรือเปล่า...
เฮ่อๆ ถามแบบนี้แสดงว่าไม่รู้จัก บิล เกตส์ ซะแล้ว แบบนี้ก็เข้าทางละซิ
เกตส์ และ อัลเลน พยายามโน้มน้าวให้ทีมจากไอบีเอ็มเห็นว่าอนาคตของไมโครคอมพิวเตอร์ควรอยู่ที่ชิป แบบ 16 บิต รุ่น 8086 ของอินเทลมากกว่า เพราะมันมีคุณสมบัติหลายอย่างที่ดีกว่าชิปรุ่น 8080 แบบ 8 บิต มันมีความจุถึง 1 เมกะไบต์ในขณะที่ชิปแบบ 8 บิตนี้มีความจุแค่ 64 กิโลไบต์
เมื่อไอบีเอ็มจะบุกเข้ามาในธุรกิจนี้ ชิปแบบ 8086 จึงเหมาะสมมากกว่า และไมโครซอฟต์ได้เตรียมตัวสำหรับอนาคตดังกล่าวไว้แล้ว พวกเขาพัฒนา Basic สำหรับเครื่องที่ใช้ชิปรุ่นดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว…(ขี้โม้อีกตามเคยนะเฮีย)
แซมส์และทีมงานของไอบีเอ็มมีความรู้น้อยกว่าเกตส์และอัลเลนมาก ความตั้งใจเดิมของพวกเขาคือการสร้างเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์โดยใช้ชิปแบบ 8 บิต ซึ่งกำลังครองตลาดในตอนนั้น และคิดว่าชิปแบบ 16 บิตมีราคาที่สูงมากเกินไป
แต่เกตส์ก็อธิบายให้คนของไอบีเอ็มเห็นถึงประสิทธิภาพที่สูงขึ้นของชิปตัวนี้ ซึ่งจะทำให้โปรแกรมเมอร์สร้างโปรแกรมที่เป็นประโยชน์ได้มากขึ้น และทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถสูงขึ้นและน่าใช้งานมากกว่าเดิม
การที่ไอบีเอ็มจะเข้ามาในตลาดไมโครคอมพิวเตอร์จึงควรเป็นผู้นำในด้านนี้ ...ซึ่งมันก็เป็นจริงตามนั้น...ในที่สุดโปรเจค Chess ของไอบีเอ็มก็ได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารให้ทำตามสิ่งที่เกตส์แนะนำ
นอกจากนี้ทีมงานจากไอบีเอ็มยังต้องการให้ไมโครซอฟต์พัฒนาฟอร์แทรน ปาสคาล และโคบอลด้วย โดยเฉพาะเบสิกอยากให้เกตส์ทำให้เสร็จภายใน เมษายน 1981
ที่จริงไมโครซอฟต์ก็มีงานล้นมืออยู่แล้วเพราะมีโปรเจคต่างๆ อีกมากมายที่กำลังทำค้างอยู่ แต่ไม่อยากให้โอกาสนี้หลุดมือไป
ความเสี่ยงอีกอย่างคือไอบีเอ็มมีกำหนดเวลาที่เข้มงวด และสงวนสิทธิ์ที่จะยกเลิกสัญญาเมื่อไหร่ก็ได้...
แต่โอกาสก็มักจะเข้าข้างเกตส์เสมอ...เวลานั้นหน้าของแพตเตอร์สันลอยเด่นอยู่ในความคิดของเกตส์
แพตเตอร์สันคนที่มาหาเกตส์คนแรกๆ เมื่อเขาย้ายสำนักงานมาอยู่ที่ซีแอตเติล แพตเตอร์สันคนที่กำลังผลิตเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์โดยใช้ชิป 8086 แล้วนำมันมาขอทดลองกับโปรแกรมที่ไมโครซอฟต์กำลังพัฒนา จากที่เคยพูดถึงไปแล้วครั้งหนึ่งใน Bill Gates (Ep5)
ที่จริงแพตเตอร์สันกำลังรอระบบปฏิบัติการจากค่ายดิจิตอลรีเสิร์ชบริษัทที่ทำธุรกิจคล้ายๆ กับไมโครซอฟต์ ด้วยการรอคอยที่ยาวนานในที่สุดแพตเตอร์สันจึงตัดสินใจพัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับเครื่องของเขาขึ้นมาเอง โดยตั้งชื่อว่า QDOS ซึ่งเขาคิดว่ามันยังไม่ค่อยดีนัก
เกตส์รู้ดีว่า QDOS สามารถพัฒนาไปใช้กับเครื่องของไอบีเอ็มได้ และวิธีการนี้จะย่นเวลาเป็นอย่างมาก อัลเลนเป็นคนติดต่อไปที่แพตเตอร์สันและขอซื้อมัน การเจรจาเป็นไปด้วยดีแพตเตอร์สันขายเจ้า Quick and Dirty Operating System หรือที่เขาเรียกมันสั้น ๆ ว่า QDOS เพียง 50,000 เหรียญสหรัฐซึ่งเป็นราคาถูกแสนถูกสำหรับมูลค่าจริงที่ไมโครซอฟต์ได้จากมัน ภายหลังทีมของแพตเตอร์สันก็ยื่นฟ้องขอค่าชดเชยเพิ่มขึ้น และได้รับเงินไปเกือบล้านดอลลาร์จากการเจรจานอกศาล
ตอนนี้ไมโครซอฟต์พร้อมแล้วที่จะเซ็นสัญญากับไอบีเอ็ม...
ที่สำนักงานของไอบีเอ็ม เกตส์ อัลเลน และบอลเมอร์ เด็กหนุ่มวัย 20 ต้นๆ ต้องประชุมกับทีมงานของไอบีเอ็มถึง 14 คน การเจรจาครั้งนี้เกตส์ขอควบคุมการพัฒนาซอฟแวร์ต่างๆ ด้วยตนเอง ทีมงานไอบีเอ็มมีคำถามต่างๆ ออกมามากมายและเกตส์ก็อธิบายได้อย่างชัดเจนและเยือกเย็น…(เยือกเย็น คำนี้ฟังดูน่ากลัวนะ...ว่าไหม)
การเจรจาเป็นไปอย่างยาวนาน...จนในที่สุดก็จบลงด้วยกำหนดเวลาในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้ไอบีเอ็ม โดยที่การดำเนินการทุกอย่างจะต้องเป็นความลับ และเป็นไปตามมาตรฐานที่ไอบีเอ็มกำหนด
…เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก บริษัทขนาดใหญ่ที่ทำรายได้ปีละ 3,000 พันล้านเหรียญกำลังทำสัญญาความร่วมมือกับบริษัทเล็กๆ ที่มีรายได้ปีละไม่กี่ล้านเหรียญ และมีประธานบริษัทที่อายุเพียง 25 ปี ความร่วมมือนี้ส่งผลกระทบต่ออนาคตของบริษัททั้งสอง และอุตสาหกรรมนี้ทั้งระบบ
แต่บิลเกตส์ก็คือบิลเกตส์ บอกแล้วว่าเขาไม่เคยเป็นรองใครในการเจรจาทางธุรกิจ แม้กระทั่งยักษ์ใหญ่อย่างไอบีเอ็ม...เพราะการเซ็นสัญญาครั้งนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายอำนาจครั้งใหญ่... อำนาจที่เคยอยู่ในมือของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์กลับตกไปสู่มือของผู้ผลิตซอฟต์แวร์
เหมือนที่ทำกับเครื่องอัลแตร์ 8800 เกตส์ไม่ได้ขายระบบปฏิบัติการให้ไอบีเอ็มแต่ขายสิทธิ์การใช้งานให้เท่านั้น
ในที่สุดไอบีเอ็มเปิดตัวไมโครคอมพิวเตอร์อย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 1981 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และในเมื่อทุกเครื่องทำงานบนระบบปฏิบัติการ MS-DOS ของไมโครซอฟต์ จึงทำให้ไมโครซอฟต์ประสบความสำเร็จตามไปด้วย...แต่สำหรับไอบีเอ็มแล้ว...หายนะะกำลังคืบคลานเข้ามา…
เนื่องจากไอบีเอ็มต้องการเข้ามาในตลาดให้เร็วที่สุดเพื่อรักษาพื้นที่ของตัวเอง จึงเลือกใช้ชิ้นส่วนประกอบจากผู้ผลิตรายอื่นๆ แทนที่จะออกแบบฮาร์ดแวร์ของตัวเอง ในไม่ช้าบริษัทอื่นๆ ก็พากันเลียนแบบฮาร์ดแวร์ของไอบีเอ็มอย่างง่ายดาย
IBM 5150 พีซีเครื่องแรกของ IBM
Hard disk Seagate รุ่น ST-225 ขนาด 20 MB พร้อมการ์ดควบคุมของ Western Digital
Diskette drive Tandon ขนาด 5.25 นิ้ว ความจุ 2 เท่าพร้อม DOS 1.1
ระบบปฏิบัติ IBM DOS (Disk Operating System) รุ่น 1.1 โดยไมโครซอฟต์
ไอบีเอ็มเดินเกมแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ในขณะที่เกตส์วางหมากไว้อย่างชาญฉลาด และก็เป็นไปตามคาดไอบีเอ็มต้องผลิตสินค้าที่กำไรต่ำลงเรื่อยๆ ขณะที่ไมโครซอฟต์มีตลาดขนาดใหญ่รองรับระบบปฏิบัติการของเขาทันที….
หมากเกมนี้ของไอบีเอ็มกลับทำให้ไมโครซอฟต์ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าแห่งธุรกิจคอมพิวเตอร์ ที่ครั้งหนึ่งยักษ์ใหญ่สีฟ้าอย่างไอบีเอ็มเคยครอบครอง...ด้วยวิสัยทัศน์จากการมองเกมของเด็กหนุ่มที่มีอายุเพียง 25 ปี อย่าง บิล เกตส์
โปรเจค Chess ของไอบีเอ็มครั้งนี้ช่างอ่อนละมุนและหอมหวานสำหรับไมโครซอฟต์ยิ่งนัก...นอกจากนี้แล้ว...ไมโครซอฟต์ยังได้อะไรตามมาอีกมากมาย จากโปรคเจค Chess ของไอบีเอ็มครั้งนี้...ซึ่งต้องขอยกยอดไปเล่าในครั้งต่อไปนะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา