11 ม.ค. 2019 เวลา 12:09 • ธุรกิจ
ไมโครซอฟต์กับมาตรฐานการทำงานแบบ IBM : Bill Gates (Ep8)
เรื่องราวของ บิล เกตส์ เด็กหนุ่มผู้มีวิสัยทัศน์อันยอดเยี่ยม เป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในวงการคอมพิวเตอร์ จากคอมพิวเตอร์แบบเมนเฟรมขนาดใหญ่ สู่คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กแบบที่ทุกบ้านจะต้องมีไว้บนโต๊ะ หลายสิ่งที่เรารู้จักเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาจากน้ำพักน้ำแรงของเขาและไมโครซอฟต์
จากบทความตอนที่แล้ว...อย่างที่รู้กันอยู่ไอบีเอ็มเป็นบริษัทขนาดใหญ่ กระบวนการทำงานต่างๆ ย่อมมีระเบียบแบบแผนและเป็นมาตรฐาน การได้ร่วมงานกับไอบีเอ็มจึงได้สร้างมาตรฐานใหม่ๆ หลายอย่างให้กับไมโครซอฟต์
ไอบีเอ็มมีทีมตรวจสอบทางเทคนิคที่เข้มงวด พวกเขาตรวจพบบั๊กในโปรแกรมที่ไมโครซอฟต์พัฒนาขึ้นหลายจุด ซึ่งถ้าเป็นผู้ใช้ทั่วไปแล้วการค้นพบดังกล่าวอาจต้องให้เวลาหลายปีเลยทีเดียว
เกตส์รับเอามาตรฐานการทำงานของไอบีเอ็มมาใช้กับไมโครซอฟต์ทีละน้อย ซึ่งช่วยยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของเขาขึ้นเป็นอย่างมาก รวมถึงการวางแผนโครงการ ตลอดจนมาตรฐานด้านความมั่งคงและความปลอดภัย
เพื่อรักษาสิทธิ์การเป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ เกตส์ยืนยันว่ากระบวนการทุกอย่างสำหรับระบบปฏิบัติการครั้งนี้ ต้องดำเนินการที่ไมโครซอฟต์
แต่เนื่องจากไมโครซอฟต์มีเพียงสำนักงานเล็กๆ ทีมงานสำหรับปฏิบัติการนี้จึงต้องทำงานในห้องเล็กๆ ที่ไม่มีหน้าต่างและระบบระบายอากาศ ซึ่งไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งสำหรับงานแบบนี้...แต่เกตส์ไม่มีทางเลือกถ้าเขายังคงต้องการควบคุมการพัฒนาโครงการนี้
ทีมสำรวจจากไอบีเอ็มไม่ชอบใจสถานที่นี้สักเท่าไหร่ เพราะผนังห้องด้านหนึ่งยังติดกับสำนักงานค้าหุ้นแห่งหนึ่ง ซึ่งมันอาจทำให้ความลับรั่วไหลได้ง่าย...จึงออกกฎให้ไมโครซอฟต์ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
1. ห้องทำงานต้องปิดประตูเสมอ โอ้แม่เจ้า...ห้องไม่มีหน้าต่าง ไม่มีระบบระบายอากาศ แล้วต้องปิดประตูตลอดเวลา
2. เครื่องมือและเอกสารต่างๆ ต้องอยู่ในห้องนี้เท่านั้น และต้องมีตู้นิรภัยสำหรับเก็บเอกสารด้วยนะ...อันนี้พอเข้าใจได้
3. ต้องมีระบบตรวจสอบการแอบทำอะไรบางอย่างในห้อง ซึ่งเกตส์ไม่เห็นด้วยแต่แอบติดระบบตรวจสอบการมาของเจ้าหน้าที่จากไอบีเอ็มไว้แทน???...
555 ร้ายไม่เบาเลยนะเฮีย อยากรู้ว่าทำไมเกตส์ทำแบบนั้น อ่านไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็รู้
งานนี้เกตส์มอบหมายให้ บ็อบ โอเรียร์ และ ไมค์ คอร์ทนีย์ เป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งสองต้องนั่งทำงานในห้องแคบๆ กับเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่มีความร้อนสูงของไอบีเอ็ม
เนื่องจากปัญหาความร้อนที่สูงผิดปกติ ยิ่งทำให้เครื่องมีปัญหาบ่อย
ไมโครซอฟต์รายงานปัญหาต่างๆ ของเครื่องไปที่ไอบีเอ็ม ซึ่งได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันไอบีเอ็มก็พยายามตรวจสอบว่าปัญหาดังกล่าวมาจากโปรแกรมของไมโครซอฟต์ด้วยหรือเปล่า...เรียกได้ว่าไม่มีใครยอมใครเลยจริงๆ
ปัญหามีมากขึ้นเรื่อย จนเส้นตายต่างๆ ที่ทำไว้ต้องเลื่อนออกไป และปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้คือความร้อนของเครื่อง...ในที่สุดทีมของโอเรียร์ที่ต้องทำงานในห้องนี้ตัดสินใจเปิดประตูห้องไว้ตลอดเวลาเพื่อช่วยระบายความร้อน
เฮียเกตส์ของเราก็น่ารักจริงๆ รู้เห็นเป็นใจกับทีมงานเป็นอย่างดี ช่วยจัดให้มีระบบเตือนภัยขึ้น... เมื่อใดก็ตามที่มีคนของไอบีเอ็มโผล่หน้าเข้ามาที่สำนักงาน ต้องมีคนรีบวิ่งไปปิดประตูห้องทันที
วันหนึ่งระบบดังกล่าวไม่ทำงานเมื่อเจ้าหน้าที่ของไอบีเอ็มเข้ามาเห็นการทำงานที่เป็นความลับสุดยอดของพวกเขาในห้องที่เปิดประตูค้างไว้ พวกเขารายงานไปที่สำนักงานใหญ่ทันที...
เป็นเรื่องละสิ...ไอบีเอ็มส่งคำเตือนมาที่เกตส์โดยระบุว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ไอบีเอ็มพร้อมจะยกเลิกสัญญาทันที
เกตส์ไม่ยอมให้เรื่องแบบนั้นเกิดขึ้นแน่นอน ระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดจึงถูกกำหนดขึ้น...รวมถึงระบบตรวจสอบการมาของทีมงานจากไอบีเอ็มด้วย 555
อย่างที่บอกว่าปัญหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับความเครียดของทีมงานที่เพิ่มมากขึ้น แต่แล้วก็มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทีมงานทุกคนในไมโครซอฟต์ดีใจเป็นอย่างมาก เมื่อ มิเรียม ลูโบว์ เลขาคนสนิทที่รู้ใจเกตส์และทีมงานเป็นอย่างดี เก็บข้าวเก็บของจากอัลบูเคอร์กี้ในนิวแมกซิโก ตามมาช่วยงานเขาถึงซีแอตเติล
เพื่อเพิ่มอรรถรสใครยังไม่ได้อ่านเรื่องราวของ มิเรียม ลูโบว์ ย้อนกลับไปอ่านในตอน เรื่องเล่าคั่นเวลา Bill Gates (Special Edition) ได้นะคะ
และเพื่อลดเวลาในการสื่อสารระหว่างไมโครซอฟต์ในซีแอตเติล กับทีมงานของไอบีเอ็มในโบคาเรตัน ทีมงานของไอบีเอ็มจึงติดตั้งระบบอีเมล์ขึ้นทั้งสองฝ่าย
เวลาล่วงเลยมาถึงกลางปี 1981 ในที่สุด DOS เวอร์ชั่น 1.1 ที่เขียนด้วยภาษาแอสแซมบลีก็สำเร็จเรียบร้อย ด้วยจำนวนบรรทัดถึง 4,000 บรรทัด ในเนื้อที่หน่วยความจำทั้งหมด 12 กิโลไบต์
จากโปรเจคนี้ ไอบีเอ็ม ใช้พนักงานในการพัฒนาเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์เครื่องแรกไปทั้งสิ้น 450 คน จากพนักงานหลายพันคนที่มี
ในขณะที่ ไมโครซอฟต์ ใช้พนักงานราว 35 คนจากพนักงานทั้งหมดประมาณ 100 คน เห็นได้ชัดเลยว่าทีมงานของเกตส์ มีประสิทธิภาพและทุ่มเทเพียงใด
การประสบความสำเร็จของไอบีเอ็มในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรก ทำให้ไมโครซอฟต์ประสบความสำเร็จตามไปด้วย ทำให้รายได้ของไมโครซอฟต์พุ่งขึ้นเป็น 16 ล้านดอลลาร์ในปี 1981 นี้เอง
นิตยสารด้านการเงินและการลงทุน ตีพิมพ์ภาพของเกตส์บนปกตอนต้นปี 1982 พร้อมข้อความว่า...ให้จับตาดูชายที่ใส่แว่นตาหนาเตอะคนนี้ไว้... เขาจะก้าวมาเป็นผู้นำของโลกด้านเทคโนโลยี
ตอนนี้เกตส์ยังคงทำงานอย่างหนักเช่นเคย และดูเหมือนว่ามันจะหนักกว่าที่ผ่านมาด้วยซ้ำ...เมื่อมองจากบริษัทที่เข้ามาทำธุรกิจด้วย การทำงานของไมโครซอฟต์ยังไม่ค่อยเป็นมืออาชีพมากนักในส่วนของการบริหารงาน
เกตส์ไม่มีแม้กระทั่งที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งมันทำให้เขาต้องเสียเงินอย่างมหาศาล...พอเดาออกไหมเขาเสียเงินจากอะไร?
ในปี 1981 นั้นเอง เกตส์มีรายได้ส่วนตัวถึง 1 ล้านเหรียญ แต่เงินจำนวนมากกว่าครึ่งต้องจ่ายเป็นภาษีให้รัฐบาล การจ่ายภาษีจำนวนมากเช่นนี้ถึงกับทำให้เขาได้รับจดหมายขอบคุณ จากประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน เลยทีเดียว...คุณว่ามันน่าภูมิใจไหมล่ะ? 😂😂😂
เกตส์มองว่ามันเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินไปที่รายได้มากกว่า 50% ต้องจ่ายเป็นค่าภาษี เขาถึงกับบ่นอุบเลยว่า งานในไมโครซอฟต์ยุ่งมากจนเขาไม่มีเวลาจัดการเรื่องรายได้และการชำระภาษีที่เหมาะสม...เป็นใครก็บ่นกันทั้งนั้นแหละ ถ้าต้องจ่ายภาษีถึง 50% ของรายได้แบบนี้
นับตั้งแต่ไมโครซอฟต์ได้ร่วมมือกับไอบีเอ็มในการพัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับเครื่องพีซีภายใต้ชื่อ MS-DOS ความสัมพันธ์ของทั้งสองบริษัทก็ดีขึ้นตามลำดับ ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากไอบีเอ็มทำให้ไมโครซอฟต์ประสบความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง
ตั้งแต่ปี 1980 ที่ไมโครซอฟต์ได้ร่วมงานกับไอบีเอ็มจนสามารถพัฒนา MS-DOS ได้สำเร็จในปี 1981 ทั้งสองฝ่ายยังคงร่วมมือกันสร้างระบบปฏิบัติการตัวใหม่ให้ดียิ่งขึ้นเพื่อที่จะเข้ามาแทนที่ DOS แต่ในโลกของธุรกิจทุกสิ่งพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเสมอไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูที่ถาวร
ในที่สุดความสัมพันธ์ของบริษัททั้งสองก็เดินมาถึงจุดจบ...เรื่องราวทั้งหมดมีที่มาที่ไปอย่างไร และเหตุการณ์นั้นส่งผลต่อไมโครซอฟต์อย่างไรบ้าง?...ขออนุญาตยกไปเล่าในตอนต่อไปนะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา