13 ม.ค. 2019 เวลา 11:14 • ธุรกิจ
Bill Gates (Ep9) : ที่มาของปัญหาระหว่างไมโครซอฟต์และยักษ์ใหญ่อย่างไอบีเอ็ม IBM
ในเมื่อทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ยอดขายพีซีคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของไอบีเอ็มทำรายได้ถล่มทลาย นักพัฒนาโปรแกรมพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เพื่อให้ใช้งานกับพีซีของไอบีเอ็มออกมาเป็นจำนวนมาก
โปรแกรมที่ได้รับการยอมรับสูงสุดคือ โลตัส 1-2-3 โปรแกรมในการคำนวนแบบตาราง จากค่ายโลตัสดีเวลลอปเม้นท์ ที่เขียนขึ้นมาเพื่อใช้งานร่วมกับ MS-DOS ของไมโครซอฟต์และพีซีของไอบีเอ็ม ซึ่งมันก็ทำให้พีซีของไอบีเอ็มมีความสามารถมากขึ้น
การที่มีโปรแกรมดีๆ ออกมาสู่ตลาดเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ช่วยให้ยอดขายพีซีของไอบีเอ็มมีมากขึ้นตามไปด้วย พีซีคอมพิวเตอร์มากกว่าครึ่งที่ใช้งานในท้องตลาดติดตราของไอบีเอ็ม ส่วนที่เหลือจะเป็นของบริษัทอื่น
แต่ไม่ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านั้นจะติดแบรนด์อะไร หรือผลิตจากที่ไหน ล้วนต้องมี MS-DOS ของไมโครซอฟต์อยู่ภายใน
ที่จริงเมื่อไอบีเอ็มนำพีซีเครื่องแรกออกสู่ตลาดในปี 1981 นั้น ไอบีเอ็มมีระบบปฏิบัติการเสนอให้ลูกค้าถึงสามตัว คือ MS-DOS ของไมโครซอฟต์ CP/M86 ของ ดิจิตอลรีเสิร์จ และ UCSDPASCAL P-SYSTEM ซึ่งเมื่อเทียบขนาดกันแล้ว ไมโครซอฟต์เป็นบริษัทที่เล็กที่สุด
แต่ด้วยกลยุทธ์อันเยี่ยมยอดของเกตส์และอัลเลนที่ต้องการให้ระบบปฏิบัติการของพวกเขากลายเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรม ซึ่งนั่นหมายความว่าลูกค้าทุกคนที่ซื้อพีซีของไอบีเอ็มจะต้องเลือก MS-DOS ของพวกเขา...นึกออกไหมว่าเกตส์ทำอย่างไร?
สิ่งแรกคือทำให้ MS-DOS เป็นระบบปฏิบัติการที่ดีที่สุด
สำหรับเกตส์แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะเขาเชื่อว่าทีมงานของไมโครซอฟต์เป็นทีมงานที่ยอดเยี่ยมที่สุด ทุกคนในทีมมีความสามารถและพร้อมที่จะทุ่มเท
แล้วจะทำอย่างไรล่ะที่จะทำให้ลูกค้าเลือก MS-DOS ของพวกเขา???....ราคาไง MS-DOS ต้องเป็นระบบปฏิบัติการที่ราคาถูกที่สุดเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ
ปกติผู้ผลิตหรือจำหน่ายพีซีคอมพิวเตอร์ ต้องจ่ายเงินให้ผู้พัฒนาเป็นรายเครื่อง แต่ครั้งนี้เกตส์ยื่นข้อเสนอที่จูงใจสุดๆ ให้ไอบีเอ็ม และข้อเสนอนี้ทำให้ไอบีเอ็มผลักดันระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟต์อย่างเต็มที่
เกตส์เสนอให้ไอบีเอ็มแค่จ่ายเงินให้ไมโครซอฟต์เพียงครั้งเดียว เพื่อแลกกับสิทธิที่จะใช้ระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟต์ในทุกๆ เครื่องที่ไอบีเอ็มขายได้...
ฟังดูช่างหอมหวานและเย้ายวนสำหรับไอบีเอ็มเป็นอย่างมาก มีหรือที่ไอบีเอ็มจะกล้าปฏิเสธ
จากข้อตกลงนี้ไอบีเอ็มตั้งราคาขายระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟต์ไว้เพียง 60 เหรียญต่อเครื่อง นับว่าถูกแสนถูกเมื่อเทียบกับคู่แข่งอีกสองราย อย่าง CP/M86 ซึ่งราคาขายอยู่ที่ 175 เหรียญ และ UCSDPASCAL P-SYSTEM เจ้าตัวนี้ราคาแพงสุดเลย ไอบีเอ็มตั้งราคาถึง 450 เหรียญ
ด้วยกลยุทธด้านราคาทำให้ MS-DOS ประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังไม่ได้ลงสนาม จนในที่สุดไอบีเอ็มต้องยกเลิกการใช้งานในระบบ CP/M86 และ UCSDPASCAL P-SYSTEM
จากวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกลของเกตส์ ที่เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่รายได้จากไอบีเอ็ม แต่ต้องการให้ไอบีเอ็มผลักดันสินค้าของเขา เพื่อที่ไมโครซอฟต์จะได้รับการยอมรับ และกลายเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมด้านนี้ได้เร็วขึ้น
...แล้วรายได้ของไมโครซอฟต์จะมาจากไหนล่ะ?...ง่ายๆ เลยก็บริษัทที่ผลิตเครื่องเลียนแบบไอบีเอ็มนั่นแหละ เกตส์เห็นวิธีการที่ไอบีเอ็มทำก็รู้แล้วว่า เดี๋ยวใครๆ ต้องผลิตสินค้าตามอย่างไอบีเอ็มได้แน่ๆ
เพราะไอบีเอ็มต้องการเข้ามาในตลาดไมโครคอมพิวเตอร์ให้เร็วที่สุดเพื่อช่วงชิงการเป็นผู้นำ จึงละเมิดกฏหลักของตัวเองคือ ไม่ได้วิจัยและพัฒนาสินค้าด้วยตัวเองเหมือนที่เคยทำทุกครั้ง แต่ใช้ชิ้นส่วนทั่วไปที่มีในท้องตลาด
ไอบีเอ็มเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในตลาดพีซี โดยการส่ง AT พีซีตัวใหม่ของพวกเขาออกสู่ตลาดในปี 1984 ซึ่งใช้ชิป 80286 ตัวใหม่ล่าสุดของอินเทล มันทำงานได้เร็วกว่าเครื่องที่มีอยู่ในท้องตลาดถึง 3 เท่า ทำให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนสามารถกลับมาครองส่วนแบ่งการตลาดได้มากถึง 70%
แต่ความยิ่งใหญ่ของไอบีเอ็ม ก็ต้องจบลงด้วยความผิดพลาดเล็กๆ ของพวกเขาเอง เมื่อฝ่ายบริหารลังเลที่จะบุกตลาดในด้านนี้ต่อไป...
ที่จริงทุกอย่างกำลังจะไปได้สวย แต่การประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ ทำให้สินค้าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีอิทธิพลเหนือคอมพิวเตอร์ระดับเมนเฟรมซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัทซึ่งทำกำไรมหาศาลต่อปี
โลกกำลังเปลี่ยนแปลงแต่ผู้บริหารกลับมองไม่ออก กลัวว่าการพัฒนาอย่างรวดเร็วของคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่มีความสามารถมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำลายตลาดเมนเฟรมที่พวกเขาครองอยู่เป็นเวลานาน...จึงตัดสินใจหยุดการพัฒนาพีซีคอมพิวเตอร์ไว้ชั่วคราว เพื่อหยุดยั้งการเติบโตดังกล่าวไม่ให้ลุกลามจนพวกเขาไม่สามารถควบคุมได้…
โอ้แม่เจ้า...ช็อคกันไปทั้งวงการ รู้ทั้งรู้ว่าไมโครโปรเซสเซอร์ที่ผลิตสำหรับไมโครคอมพิวเตอร์พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ช้าก็เร็วโลกต้องเปลี่ยนไปในทิศทางนี้ นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของไอบีเอ็ม
เหตุการณ์นี้ทำให้วิศวกร 3 คนที่รักและชื่นชอบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของไอบีเอ็มมองเห็นช่องทาง พวกเขาลาออกจากเท็กซัส อินสตรูเมนท์ มาผลิตพีซีคอมพิวเตอร์ของพวกเขาเองในชื่อ “คอมแพคคอมพิวเตอร์”
สิ่งที่ทำให้คอมพิวเตอร์จากคอมแพคมีลักษณะเด่นเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ คือ สามารถใช้งานร่วมกับพีซีคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มได้เป็นอย่างดี
และเหนือสิ่งอื่นใดพวกเขาซื้อสิทธิ์การติดตั้ง MS-DOS จากไมโครซอฟต์มาติดตั้งบนพีซีของพวกเขาด้วย ...
เรียกได้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวงการนี้ก็ไม่มีผลกับไมโครซอฟต์...ยังไงๆ เกตส์ก็ขายระบบปฏิบัติการของเขาได้อยู่ดี
ถึงแม้ว่าไอบีเอ็มจะได้ค่าลิขสิทธิ์จากคอมแพค แต่ก็ต้องสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดที่เคยครอบครองไปให้บริษัทที่เพิ่งเกิดใหม่นี้
พีซีของคอมแพคได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในปีแรกที่เปิดตัวสามารถทำรายได้ถึง 100 ล้านเหรียญเลยทีเดียว
ความสำเร็จของคอมแพค ทำให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ หันมาผลิตคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้งานร่วมกับพีซีคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มอีกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ไอบีเอ็มไม่สามารถผูกขาดตลาดพีซีคอมพิวเตอร์ได้อีกต่อไป...
จะไปโทษใครได้ ไอบีเอ็มติดกับดักทางความคิดของตัวเองแท้ๆ
เท่านี้ยังไม่พอ...ไอบีเอ็มยังไม่รู้ตัวว่าทำอะไรลงไป เมื่ออินเทลผลิตชิปรุ่น 80386 ขึ้นมา แทนที่ไอบีเอ็มจะรีบพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อให้เห็นว่าตัวเองยังยิ่งใหญ่เหมือนเดิมในตลาดนี้ กลับรีรออยู่นานจนคอมแพคสามารถเปิดตัวคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่ใช้ชิป 80386 ได้เป็นเครื่องแรกของโลก ภายใต้ชื่อทางการตลาดว่า Compaq Deskpro 386
นี่นับเป็นครั้งแรกที่ผู้ผลิตพีซีวางตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลโดยไม่รอเทคโนโลยีจากไอบีเอ็ม ซึ่งสร้างชื่อให้กับคอมแพคเป็นอย่างมาก
ไอบีเอ็มเริ่มรู้แล้วว่า การที่คอมแพคสามารถขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งได้เพราะความผิดพลาดของพวกเขาเอง แต่ในสายตาของยักษ์ใหญ่สีฟ้าอย่างไอบีเอ็ม ความผิดพลาดดังกล่าวถือเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ด้วยทีมงานจำนวนมากและเงินทุนมหาศาล พวกเขาจะกลับมาแย่งตำแหน่งนี้คืนเมื่อไหร่ก็ได้….แต่น่าเสียดายที่ไอบีเอ็มไม่เคยกลับมาเป็นผู้นำตลาดพีซีคอมพิวเตอร์ได้อีกเลย…
อ้าว...แล้วมันเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างไอบีเอ็มกับไมโครซอฟต์ของบิลเกตส์อย่างไรล่ะ...ติดตามตอนต่อไปนะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา