14 ม.ค. 2019 เวลา 12:11 • ธุรกิจ
Bill Gates (Ep10) : ความขัดแย้งเริ่มก่อตัว
จากบทความตอนที่แล้ว ไอบีเอ็มต้องเสียตำแหน่งผู้นำตลาดด้านพีซีให้คอมแพค ดูเหมือนว่ามันจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับไมโครซอฟต์เลย บิลเกตส์ลอยตัวอยู่เหนือปัญหาดังกล่าว...ไม่ว่าอะไรจะเกิด MS-DOS ของเขาก็ยังขายได้
ยอดขายของไมโครซอฟต์พุ่งขึ้นจาก 16 ล้านเหรียญในปีแรกที่ร่วมงานกับไอบีเอ็ม กลายเป็น 97 ล้านเหรียญในปี 1984 ด้วยระยะเวลาเพียง 3 ปี และความสัมพันธ์อันดีกับไอบีเอ็มก็ยังหวานชื่นเหมือนเดิม
ในวันที่ไอบีเอ็มต้องการกลับมาทวงตำแหน่งผู้นำในวงการพีซีคอมพิวเตอร์คืนจากคอมแพค...แผนการของไอบีเอ็มคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ทั้งสองสิ่งต้องอาศัยซึ่งกันและกันอย่างที่ไม่อาจมีสิ่งใดมาทดแทนได้
หากใครที่ต้องการผลิตสินค้าเลียนแบบพวกเขาต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่แพงลิบลิ่ว ซึ่งจะช่วยตัดคู่แข่งออกไปจากตลาดได้อย่างง่ายดาย...
เพื่อการนี้ไอบีเอ็มต้องผลิตพีซีของตนเองที่ใช้งานได้ง่ายขึ้น ไม่ใช้โปรแกรมที่มีอยู่ทั่วไปในท้องตลาด ส่วนไหนที่จำเป็นต้องสร้างให้อยู่ในตัวเครื่อง แผนการดังกล่าวต้องเปลี่ยนโครงสร้างของฮาร์ดแวร์ใหม่ ซึ่งไอบีเอ็มจะไม่เปิดเผยรายละเอียดใดๆ ออกมาจนกว่าเครื่องรุ่นใหม่นี้จะออกวางตลาด
กลยุทธ์นี้จะทำให้ผู้ผลิตเครื่องพีซีรายอื่นๆ ต้องเดินตามหลังไอบีเอ็ม และเมื่อนั้นไอบีเอ็มจะกลับมาทวงบัลลังก์คืนโดยไม่ปล่อยให้ใครมาแย่งชิงไปได้อีก
ฟังๆ ดูก็น่าจะเป็นแผนการที่ดี...แต่ใครจะเชื่อว่ายักษ์ใหญ่สีฟ้าไปไม่ถึงฝั่งฝัน ในปี 1984 ปีที่ไอบีเอ็มกำลังจะหวนคืนบัลลังก์ บิ๊กบลูยังเชื่อมั่นในฝีมือของบิลเกตส์และทีมงานจากไมโครซอฟต์เป็นอย่างมาก
ไอบีเอ็มต้องการให้ไมโครซอฟต์ช่วยพัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับพีซีชุดใหม่ที่กำลังจะพัฒนาขึ้น
พวกเขาทำข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่ของไอบีเอ็มในกลางปี 1985 แต่ข้อตกลงครั้งนี้มีบางอย่างที่ต่างออกไปจากข้อตกลงที่เคยทำร่วมกันในครั้งแรก สมัยที่ไมโครซอฟต์พัฒนา MS-DOS ให้ไอบีเอ็ม
สิ่งที่เหมือนกันคือ ข้อตกลงใหม่นี้ไอบีเอ็มยังยอมให้ไมโครซอฟต์ขายสิทธิ์ในการใช้ระบบปฏิบัติการกับเครื่องพีซีรายอื่นๆ ได้ และทั้งไอบีเอ็มและไมโครซอฟต์มีสิทธิ์ที่จะขยายความสามารถของระบบปฏิบัติการใหม่นี้ภายใต้การพัฒนาร่วมกันของทั้งสองฝ่าย
จากจุดนี้ดูแล้วไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม สิ่งที่ต่างคือ ครั้งนี้ไอบีเอ็มต้องการเข้ามาควบคุมการพัฒนาระบบปฏิบัติการอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ต้นจนจบ จากครั้งที่แล้วที่ปล่อยให้ โอเรียร์ และทีมงานของไมโครซอฟต์นั่งทำเพียงลำพังในห้องร้อนๆ ที่สำนักงานของไมโครซอฟต์
(จากบทความตอนที่ 8 : ไมโครซอฟต์กับมาตรฐานการทำงานแบบ IBM ถ้าใครยังไม่ได้อ่านย้อนกลับไปอ่านได้นะคะ)
ซึ่งเกตส์เองก็ไม่ค่อยชอบใจในข้อตกลงนี้เท่าไรนัก แต่เนื่องจากเวลานั้นไมโครซอฟต์ยังไม่เข้มแข็งพอจะงัดข้อกับบริษัทที่ยิ่งใหญ่อย่างไอบีเอ็ม...เลยต้องเออออไปตามระเบียบ
ระบบปฏิบัติการใหม่นี้พวกเขาตั้งชื่อว่า OS/2 ซึ่งไอบีเอ็มตั้งใจจะพัฒนาให้เป็นหัวใจสำคัญของคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่เลยทีเดียว ถ้าทำสำเร็จคอมพิวเตอร์ทุกรุ่นของไอบีเอ็มตั้งแต่เมนเฟรมไปจนถึงพีซีรุ่นต่างๆ จะสามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด
การนำเทคโนโลยีเมนเฟรมมาใช้กับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ จะเป็นข้อเสนอที่ลูกค้าระดับองค์กรไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะไอบีเอ็มมีความเหนือกว่าคู่แข่งพีซีรายอื่นๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีระดับเมนเฟรมได้แบบไอบีเอ็ม...ทุกอย่างฟังแล้วสวยหรูดูดี
แต่ในความคิดของเกตส์การที่จะทำให้พีซีคอมพิวเตอร์มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย คนที่ไม่รู้เรื่องราวใดๆ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เลยก็ควรจะสามารถใช้มันได้ ระบบปฏิบัติการควรจะเข้าใจง่ายและอาศัยภาพกราฟิกเข้ามาช่วยในการสั่งการ ซึ่งไมโครซอฟต์กำลังพัฒนาให้เป็นไปในแนวทางนั้นอยู่ โดยตั้งทีมงานขึ้นมาศึกษาตั้งแต่ปี 1983 แล้ว แต่ยังทำไม่สำเร็จ
จนถึงปี 1984 ปีที่แอปเปิ้ลเปิดตัวแมคอินทอชรุ่นใหม่ที่ระบบปฏิบัติการเป็นภาพกราฟฟิกออกสู่ตลาด และได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของแอปเปิ้ลเลยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่จะใช้กับเครื่องแมคอินทอชมีอย่างจำกัด พวกเขาไม่ขายเทคโนโลยีให้ใคร
เกตส์ กับเครื่อง Macintosh ของแอปเปิ้ล
ด้วยราคาเครื่องที่สูงเกินกว่าที่หลายคนจะเอื้อมถึง ทำให้แอปเปิ้ลมีปัญหาเรื่องรายได้ ในที่สุด จ็อบส์ ก็ถูกบีบให้พ้นตำแหน่งในปี 1985 ปีที่บิล เกตส์ กำลังตกลงทำสัญญากับไอบีเอ็มนี่เอง…
จากปัญหาของแอปเปิ้ล เกตส์ต้องการให้ไอบีเอ็มพัฒนาสินค้าให้เป็นระบบเปิด เพื่อให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป
เกตส์พยายามโน้มน้าวใจให้ไอบีเอ็มเดินมาในเส้นทางนี้ แต่ไอบีเอ็มไม่สนใจ ในที่สุดเกตส์จึงต้องพัฒนาระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของเขาควบคู่ไปกับการพัฒนา OS/2 ร่วมกับไอบีเอ็ม โดยหวังว่าวันหนึ่งไอบีเอ็มจะยอมนำวินโดวส์ของเขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ OS/2
ที่จริงไอบีเอ็มควรจะฉวยโอกาสที่แอปเปิ้ลกำลังอ่อนแอนี้ทำตามคำแนะนำของเกตส์ แต่ทุกครั้งที่เกตส์พยายามอธิบาย พวกเขาก็ทำหูทวนลม บอกแต่เพียงว่าไอบีเอ็มยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ในเรื่องนี้
เกตส์รู้ดีว่าการพัฒนา OS/2 ร่วมกับไอบีเอ็มครั้งนี้เป็นงานที่ยุ่งยาก แต่เขาและทีมงานจากไมโครซอฟต์ก็ทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ โดยหวังว่าพวกเขาและไอบีเอ็มจะสร้างสิ่งที่ทำให้โลกต้องตกตะลึงอีกครั้ง เหมือนกับที่เคยร่วมมือกันสร้าง MS-DOS เมื่อหลายปีก่อน
แต่ยิ่งเวลาผ่านไปเกตส์ก็ยิ่งเห็นว่าเขากำลังมาผิดทาง เขาพยายามโน้มน้าวไอบีเอ็มอีกครั้งให้นำวินโดวส์ที่อีกทีมหนึ่งของเขากำลังพัฒนาใส่ไปใน OS/2 ด้วย
แต่ไอบีเอ็มกลัวว่าถ้าวินโดวส์ได้รับการพัฒนาเป็นระบบปฏิบัติการเต็มรูปแบบ พวกเขาจะสูญเสียผลประโยชน์หลายๆ อย่างไป จึงปฏิเสธความคิดของเกตส์มาตลอด
เพื่อผลักดันให้วินโดวส์ประสบความสำเร็จ ในปี 1986 ช่วงที่ไมโครซอฟต์กำลังเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เกตส์เสนอขายหุ้นให้ไอบีเอ็มถึง 30% โดยหวังว่าไอบีเอ็มจะรับข้อเสนอของเขา และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในอนาคตของไมโครซอฟต์ เพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น...
ประมาณว่าจับแต่งงานมาเป็นครอบครัวเดียวกันซะเลย จะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
แต่เขาคิดผิด ไอบีเอ็มปฏิเสธข้อเสนอนี้อย่างไม่มีเยื่อใย...ซึ่งนับว่าเป็นข้อผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของไอบีเอ็มอีกครั้งหนึ่ง...
ไอบีเอ็มเปิดโอกาสให้ไมโครซอฟต์เติบโตขึ้นโดยที่พวกเขาไม่มีโอกาสเข้ามาควบคุม จนไมโครซอฟต์กลายเป็นคู่แข่งที่พวกเขาโค่นไม่ลง
แต่การทำธุรกิจร่วมกับไอบีเอ็มก็ยังเป็นเรื่องสำคัญกับไมโครซอฟต์ เกตส์ยังคงพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีกับไอบีเอ็มไว้...จนในที่สุดก็มาถึงทางตัน ทั้งไมโครซอฟต์และไอบีเอ็มต้องแยกทางกัน....
ฝากติดตามเรื่องราวอันเป็นจุดจบของความสัมพันธ์ระหว่างยักษ์ใหญ่อย่างไอบีเอ็มและไมโครซอฟต์ของบิลเกตส์ในตอนต่อไปด้วยนะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา