2 เม.ย. 2019 เวลา 01:09 • ธุรกิจ
ประวัติ Google ตอนที่ 2 : Learning to Count
เริ่มต้นเดือนมกราคม เข้าสู่ปีใหม่ของปี 1996 ลาร์รี่ และ เซอร์เกย์ รวมถึงเหล่านักศึกษาและคณาจารย์ทั้งหมดของภาควิชาคอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั้นก็คือที่มั่นใหม่เขาเหล่านักวิจัยอัจฉริยะเหล่านี้ โดย มันคืออาคารสี่ชั้นหลังงาม ซึ่งถูกเรียกตามผู้บริจาคให้สร้างซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหนเขาก็คือ บิลล์ เกตส์ มหาเศรษฐีดอทคอมยุคแรก ๆ ที่ตอนนั้นกำลังก้าวขึ้นไปเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ประวัติ Google ตอนที่ 2 : Learning to Count
แน่นอนว่าเหล่านักศึกษาเหล่านี้ รู้ดีว่า เกตส์ นั้นทำอะไรไว้ให้กับวงการเทคโนโลยีของอเมริกาบ้าง และพวกเขาซึ่งรวมถึง ลาร์รี่ และ เซอร์เกย์ ก็คิดเหมือนกันว่าอยากที่จะสร้าง ไอเดียอะไรที่เปลี่ยนโลกเหมือนที่เกตส์เคยทำได้บ้าง
ต้องเรียกได้ว่าหลังจากการ IPO ของ NetScape ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น มันทำให้เรื่องราวในด้านวิชาการของสแตนฟอร์ดเริ่มถูกท้าทาย จากเงินทุนที่กำลังไหลมาเทมา เพื่อหาบริษัทอินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ที่จะเปลี่ยนโลกได้แบบที่ NetScape ทำได้สำเร็จ
1
เหล่านักเรียนคอมพิวเตอร์ในสแตนฟอร์ด นั้น ได้รับการเสนองานให้มากมาย ซึ่งเป็นเงินที่ดึงดูดพวกเขาเหล่านี้แทบจะทั้งสิ้น มันเป็นทางเลือกเดินของใครหลาย ๆ คนว่าจะอยู่เรียนต่อ หรือจะก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจทันที ในเมื่อโอกาสมันมามอบให้ถึงหน้าประตูบ้านเช่นนี้แล้ว
แต่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ดูเหมือน คู่หู ลาร์รี่ และ เซอร์เกย์ ตอนนั้นยังไม่ได้สนใจจะเข้าสู่โลกของธุรกิจนัก พวกเขาต้องการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ก็จริง แต่อยากทำในด้านวิชาการมากกว่า ทั้งสองก็ยังถกเถียงกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คอมพิวเตอร์ ปรัชญา หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เพิ่งคิดได้ พวกเขาจะเถียงกันเอาเป็นเอาตาย แต่ใช้เหตุผลมาสู้กัน เพราะพวกเขานั้นถือเป็นยอดอัจฉริยะทั้งคู่ที่ดูเหมือนจะไม่มีใครยอมใครได้เลย
ถึงขนาดที่ว่า อาจารย์ที่ปรึกษาของเซอร์เกย์อย่าง ราจีฟ ม็อตวานี่ ที่เป็นอาจารย์หลักที่ให้คำปรึกษาตั้งแต่ที่เซอร์เกย์เข้าเรียนที่สแตนฟอร์ด ตั้งแต่ปี 1993 ซึ่งได้เฝ้ามองคู่หู เซอร์เกย์ และ ลาร์รี่ มาโดยตลอด และคิดว่าทั้งคู่เป็นคนที่เก่งที่สุดเท่าที่เขาได้เคยเจอมาเลยด้วยซ้ำ
ราจีฟ ม็อตวานี่ ผู้เป็นที่ปรึกษาให้สองคู่หู
ทั้งสองนั้นมีส่วนผสมที่ลงตัวเป็นอย่างมาก เซอร์เกย์ เป็นนักแก้ปัญหาที่ยอมรับความจริง เขาเป็นวิศวกร มีความแม่นยำเหมือนคณิตศาสตร์ และทำอะไรรวดเร็ว และมักจะเป็นจุดเด่นเมื่อมีการร่วมกลุ่มกันถกเถียงเรื่องใด ๆ อยู่เสมอ แต่ ลาร์รี่ นั้น เป็นคนที่เก็บตัวกว่า แต่มักจะเสนอไอเดียที่ไม่มีใครคาดคิดอยู่เสมอ
เซอร์เกย์ กับ ม็อตวานี่ ทำงานวิจัยร่วมกันในการดึงข้อมูลออกจากกองเอกสารและตัวเลข ซึ่งพวกเขาได้ตั้งชื่อกลุ่มขึ้นมาว่า MIDAS ที่ย่อมาจาก Mining Data at Stanford ซึ่งงานวิจัยเรื่องนี้ สามารถนำไปใช้เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่าง สิ่งที่ลูกค้าซื้อ กับ ปริมาณสินค้าในคงคลัง ทำให้เหล่าผู้ประกอบการสามารถบริหารสินค้าคงคลังได้ดีขึ้นได้
และจุดเปลี่ยนสำคัญคือการที่ ทั้งสองได้มาลองทดสอบกับข้อมูลใน อินเทอร์เน็ต ซึ่งขณะนั้น มันยังไร้ระเบียบ ไร้ระบบ ไม่สามารถควบคุมกระแสข้อมูลที่อยู่ใน อินเทอร์เน็ตได้ แม้มีความพยายามสร้างบริการอย่าง Lycos , WebCrawler , InfoSeek หรือ Exite แต่มันยังไม่ดีพอ ส่วนใหญ่แล้วเป็นการค้นหาสิ่งที่ไม่ได้เรื่อง ไม่ตรงใจความต้องการของผู้ค้นหาซะเป็นส่วนใหญ่
โปรแกรมค้นหาในสมัยนั้นยังได้ผลไม่ตรงใจผู้ใช้
แต่มีอีกฝั่งหนึ่งที่มีแนวคิดในการค้นหาที่แตกต่างออกไป เจอร์รี่ หยาง และ เดวิด ฟิโล นักศึกษาปริญญาเอกแห่ง สแตนฟอร์ด ที่มีแนวคิดไม่พึ่งพาเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวแต่เป็นการใช้การจ้าง บรรณาธิการ คณะหนึ่งมาทำการคัดเลือกเว๊บไซต์น่าสนใจ และสร้างเป็นรูปแบบของ ไดเรคทอรี่ โดยตั้งชื่อบริการนี้ว่า YAHOO
Yahoo ที่มองตัวเองเป็นเว๊บไดเรคทอรี่ เสียมากกว่า
และนี่เองที่เป็นสาเหตุให้ ม็อตวานี่ และ เซอร์เกย์ บริน จึงได้เริ่มคิดหาแนวทางในการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตที่ดีกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ส่วน ลาร์รี่ เพจนั้น สนใจในการทำงานของ AltaVista ซึ่งตอนนั้นถือว่าส่งผลการค้นหาได้รวดเร็วกว่าบริการอื่น ๆ แต่เขาได้สังเกตเห็นบางสิ่งที่น่าสนใจ มันคือ Link ที่คอยเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายระหว่างเว๊บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งทำให้ ลาร์รี่ เพจ เริ่มคิดถึงสิ่งที่จะสามารถรวบรวมได้จากการวิเคราะห์ Link
ในขณะนั้น ดูเหมือนเว๊บไซต์ทั้งหมดที่มียังคงไม่มากนัก เพจ ได้เสนอความคิดในการดาวน์โหลดข้อมูลทั้งหมดของทั้ง WWW ลงมาไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเขา เพื่อนำมาวิเคราะห์เรื่อง Link ที่เขากำลังสนใจอยู่
ในปี 1996 เพจ และ บริน ได้ร่วมมือกันในการช่วยกันดาวน์โหลด และ วิเคราะห์ Link ในเว๊บต่าง ๆ ทั่ว WWW โดยส่งโปรแกรมที่เรียกว่า Spyder ให้วิ่งวนเป็นเครือข่ายใยแมงมุงไปตาม Link ต่าง ๆ ทั่วทั้งระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งยุคแรก ๆ นั้นยังมีจำนวนเว๊บไซต์ไม่มากนัก
Web Spyder ที่เป็นเครือข่ายใยแมงมุมคอยเก็บข้อมูล
สำหรับเพจ นั้น เขามีทฤษฏีหนึ่งที่ว่า การนับจำนวน Link ที่โยงไปยังเว๊บไซต์เว๊บหนึ่งนั้น เป็นหนึ่งในการวัดความนิยมที่มีต่อเว๊บไซต์นั้นได้ แต่ปัญหาคือ ความนิยม กับคุณภาพของเว๊บนั้นไม่ได้มาพร้อมกัน ซึ่ง หน้าที่นี้ ต้องส่งต่อให้กับยอดอัจฉริยะอย่าง บริน จัดการนั่นเอง
ด้วยความที่ทังคู่นั้นเป็นนักวิจัยตัวยง ซึ่งงานวิจัยที่ตีพิมพ์ส่วนใหญ่นั้น จะมีส่วนของเอกสารอ้างอิง มันทำให้เพจนึกได้ว่า มันก็เปรียบเสมือน Link ที่ถูกอ้างอิงในเว๊บไซต์อื่นๆ มันก็มีความหมายเหมือนกับงานวิจัยที่ถูกอ้างอิงเยอะ ๆ แสดงว่าต้องเป็นงานที่สำคัญและมีคุณภาพ และ Link ของเว๊บไซต์ ก็น่าจะมีแนวคิดคล้าย ๆ กัน
และนี่เองเป็นหนทางสำคัญที่ทั้งสองต้องการนั่นคือ การนำไปสู่หัวข้อวิทยานิพันธ์ปริญญาเอก โดยใช้เพจแรงค์ กับ อินเตอร์เน็ต ซึ่งตอนแรกนั้น พวกเขาทั้งสองรวมถึง ม็อตวานี่ ที่ปรึกษาไม่ได้คิดถึงการสร้างโปรแกรมค้นหาเลยด้วยซ้ำ แต่เมื่อทำไประยะหนึ่ง กับพบกับความเป็นจริงที่ว่า สิ่งที่พวกเขาร่วมกันสร้าง มันได้ยิ่งใหญ่เกินกว่างานวิชาการเสียแล้ว
ตอนนี้ทั้งสามได้สร้างระบบการจัดอันดับให้แก่ อินเตอร์เน็ตโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งผ่านกระบวนการต่าง ๆ ที่ทำให้สามารถแก้ปัญหาที่ยิ่งใหญ่อย่างการค้นหาข้อมูลบนเว๊บโดยไม่ได้เจตนาเลยเสียด้วยซ้ำ แต่มันกำลังจะก้าวไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ เกินกว่าที่พวกเขาทั้งสามจะคาดคิด
ระบบ เพจแรงค์ ช่วยให้จัดอันดับได้อย่างตรงตามความต้องการผู้ใช้มากขึ้น
พวกเขาไม่ได้มีแนวคิดที่จะสร้างธุรกิจของตัวเองเลยด้วยซ้ำ พวกเขาต่างช่วยกันสร้างโปรแกรมค้นหาที่เป็นต้นแบบเพื่อใช้ในสแตนฟอร์ดเอง เสริมด้วยศักยภาพที่น่าทึ่งของเพจแรงค์ และนี่เป็นก้าวแรกที่สำคัญที่มีวิธีการค้นอินเทอร์เน็ตแล้วได้คำตอบที่เป็นประโยชน์อย่างรวดเร็วทันใจ เพราะมันไม่เคยมีมาก่อนบนโลกใบนี้
ชื่อแรกของโปรแกรมค้นหาตัวนี้คือ “แบ็ครับ” และเพจ คิดว่ามันต้องมีชื่อใหม่ที่เรียกง่าย ๆ พวกเขาและทีมวิจัย ได้คิดชื่อต่าง ๆ มากมายจนไอเดียสุดท้ายคือ กูเกิลเพล็กส์ ซึ่งคือจำนวนมาก ๆ สุดท้ายได้ตัดมาเหลือแค่ Google ซึ่งเพจ เห็นว่ามันยอมรับได้และได้รีบไปจดทะเบียนชื่อโดเมน google.com ทันที แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่เขาจดทะเบียนนั้น เป็นสิ่งที่สะกดผิด ที่จริงมันควรจะเป็น G-o-o-g-o-l แต่ทุกอย่างมันเสร็จสิ้นไปแล้ว และต้องเลยตามเลยในชื่อนี้ไปในที่สุด
และเนื่องจากช่วงเริ่มต้น ได้ปล่อยให้ใช้ ใน สแตนฟอร์ดก่อน และเพียงไม่นานมันก็กลายเป็นเว๊บไซต์ยอดฮิตทันทีของเหล่า Geek เทคโนโลยีใน สแตนฟอร์ด ซึ่งในช่วงแรกนั้น บรินออกแบบโฮมเพจแบบง่าย ๆ เนื่องจากไม่มีเงินทุนไปจ้างนักออกแบบเก่ง ๆ ได้
และมันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่หน้าตาของ Google เป็นหน้าตาที่เกลี้ยงสะอาด การใช้พื้นสีขาว และ logo แม่สีของมันจึงเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้ใช้งานหันมาใช้ google ในการหาข้อมูลกันอย่างกว้างขวาง
ในตอนนั้น AltaVista กำลังเป็นเจ้าตลาดของการค้นหาอยู่ แต่ เพจ และ บรินก็รู้ดีว่า google ของพวกเขานั้นเจ๋งกว่าเยอะ ทั้งสองมองว่า AltaVista นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ Google นั้นจะเป็นอนาคตของการค้นหาข้อมูลในระดับโลกได้
ทั้งคู่พยายามจะขายเทคโนโลยี เพจแรงค์ ให้กับ AltaVista เพื่อเงินเพียง 1 ล้านเหรียญ เพื่อไปพัฒนา AltaVista ให้กลายเป็นเจ้าตลาดการค้นหาให้ได้ เพราะพวกเขาทั้งสองไม่ได้มอง Google เป็นธุรกิจตั้งแต่แรก เขาต้องการสร้างสิ่งที่เปลี่ยนโลกขึ้นมาและส่งต่อให้บริษัทยักษ์ใหญ่ทำการตลาด แต่ดูเหมือน AltaVista ยังไม่สนใจ แม้ Google จะเป็นสิ่งที่เจ๋งมากในขณะนั้นก็ตาม
ความต้องการแรกคือต้องการขาย อัลกอริทึม ให้ AltaVista เพื่อยกระดับการค้นหาให้ดียิ่งขึ้น แต่ก็โดนปฏิเสธ
ซึ่งต้องยอมรับว่าตอนนั้น ไม่มีใครที่จะมาสนใจ ระบบการค้นหาข้อมูลแบบที่ Google ทำ ทั้งเพจและบริน ได้ไปพบนักลงทุนหลายราย แต่ไม่มีทีท่าว่าใครจะสนใจโปรแกรมค้นหาของทั้งสองคู่หูที่ได้สร้างขึ้น พวกเหล่านักลงทุนสนใจแต่การทำรายได้จากโฆษณาในเว๊บไซต์เท่านั้น ซึ่งดูจะไม่มีวี่แววว่าโปรแกรมการค้นหาจะทำรายได้ให้พวกเขาในเร็ววัน
ส่วน Yahoo ของ เจอร์รี่ หยาง นั้น ดูเหมือนจะเป็นผู้ที่เหมาะสมที่น่าจะสนใจ Google เพราะตอนนั้น Yahoo เป็นเพียงเว๊บ ไดเรคทอรี่ ที่จัดโดยบรรณาธิการ ซึ่งเว๊บไซต์กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และในท้ายที่สุด มนุษย์จะไม่สามารถคัดกรองเหล่าเว๊บไซต์หน้าใหม่ที่มีเข้ามาทุกวันได้อีกต่อไป
แต่ดูเหมือนแนวคิดของ Yahoo จะต่าง เพราะพวกเขาอยากให้ผู้ใช้อยู่กับ เว๊บไซต์ Yahoo นาน ๆ แต่การมีส่วนของการค้นหาแบบที่ Google ทำนั้น เป็นการส่งผู้ใช้งานไปยังเว๊บไซต์อื่นๆ โดยรวดเร็ว ซึ่งดูจะไม่เหมาะกับโมเดลธุรกิจของ Yahoo ในตอนนั้น
หลังจากถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าอยู่เป็นเวลาหลายเดือน บริน และ เพจ ก็เริ่มท้อแท้ผิดหวัง แต่พวกเขาก็ยังมีความมุ่งมั่น โดยเริ่มมาปรับปรุงหน้าเว๊บ Google ให้ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้งานก่อน และยังไม่ตัดสินใจเรื่องอนาคตว่าจะทำอย่างไรต่อกับ Google ดี
หลังจากพัฒนาปรับปรุง Google ให้ดีขึ้นกว่าเดิมอยู่หลายเดือน พวกเขาก็ต้องเริ่มตัดสินใจกับอนาคตของพวกเขา กับ google ซะที โดยมีการส่ง email ไปยังผู้ใช้งานเพื่อรับฟังความคิดเห็น คำวิจารณ์ หรือ ข้อบกพร่องที่ควรได้รับการแก้ไข
และมันก็มี email ส่งมาให้กำลังใจพวกเขาอย่างถล่มทลาย อย่างที่พวกเขาไม่เคยคิดมาก่อน ผู้ใช้ตกหลุมรักเจ้า google เป็นอย่างมาก ทุกอย่างมันดูดี perfect มาก ๆ และตอนนี้ เพื่อที่จะให้ google เติบโตขึ้นอย่างแท้จริงนั้น มันคงถึงเวลาแล้วทีทั้ง เพจและบริน จะต้องออกจากมหาวิทยาลัย กับการเดินทางครั้งใหม่ของพวกเขา กับ google ที่ทั้งสองเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าจะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน แต่ปัญหาคือ พวกเขาต้องใช้ทุนมหาศาลในการซื้อเซอร์เวอร์เพิ่มเติมเมื่อจำนวนเว๊บไซต์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เป็นบททดสอบที่สำคัญของทั้งสองเป็นอย่างมาก ตอนนี้มันยังมองไม่เห็นทางเลยว่าพวกเขาจะไปหาเงินได้จากไหน แต่ตอนนี้พวกเขาก็พร้อมที่จะเสี่ยงเดิมพันกับการเดินทางครั้งใหม่ในชีวิตของพวกเขาแล้ว แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับ สองคู่หู ที่กล้าแลกการเรียนในระดับปริญญาเอกเพื่อมาสานฝันของพวกเขาต่อในอนาคตที่ดูจะมืดมนเช่นนี้ โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม
อ่านตอนที่ 3 : The Secret Sauce
Credit แหล่งข้อมูลบทความ
หนังสือ The Google Story by David A.Vise , Mark Malseed
หนังสือ เรื่องราวของกูเกิล
ผู้เขียน Dvid A.Vise , Mark Malseed
ผู้แปล วิภาดา กิตติโกวิท
หนังสือ คิดอย่างผู้นำ ทำอย่าง Google
ผู้เขียน Eric Schmidt (เอริก ชมิดท์),Jonatha Rosenberg (โจนาธาน โรเซนเบิร์ก),Alan Eagle (อแลน อีเกิล)
ผู้แปล ณงลักษณ์ จารุวัฒน์,นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี,อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ
ช่องทางติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา