8 เม.ย. 2019 เวลา 10:43 • ปรัชญา
Agalico เหนือกาลเวลา EP.4️⃣ : พระพุทธเจ้า(ตอนจบ)
ความเดิมตอนที่แล้ว
หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะออกบวช ท่านก็เริ่มแสวงหาหนทางดับทุกข์จากลัทธิต่างๆ
บางลัทธิ สอนวิธีฝึกจิต จนรู้สึกสงบมากๆ ราวกับว่าไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ แล้วก็เสพความพอใจ อยู่ในความสงบนั้น
แต่นั่น ก็ยังไม่ใช่ความสงบที่ยั่งยืน ถาวร ไม่ใช่หนทางที่ทำให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดไปได้
พระสิทธัตถะจึงตัดสินใจ ลองทำวิธีที่ตรงกันข้ามดู
นั้นคือการ ”ทรมานตน” ให้ถึงที่สุด
🔘 6 ปีต่อมา
วันหนึ่ง ในขณะที่พระสิทธัตถะกำลังทรมานตนอย่างหนัก (ฉันพุทราแค่วันละลูก บางตำราหนักกว่านั้น บอกว่าท่านฉันเพียงข้าววันละเม็ด)
พระองค์ได้เกิดอาการช็อค! ล้มลง นอนแน่นิ่งสลบอยู่กับพื้น เพราะร่างกายเกินจะทนไหว กับการอดอาหารและทรมานตนอื่นๆ มาอย่างยาวนาน
แต่ด้วยอะไรก็แล้วแต่ พระองค์กลับได้สติ พยายามประคองร่างกาย ลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง
*นี่ก็นับว่าพระองค์ และพวกเรายังมีบุญ ไม่งั้น เรื่องราวทั้งหมดคงจบลงเพียงเท่านี้
🔘 ความล้มเหลวที่ล้ำค่า
หลังจากพระองค์ได้นั่งพักแล้ว ความคิดนี้ก็เกิดกับพระองค์ว่า..
“เกือบไปแล้ว! ทำไมเราถึงได้หลงผิดขนาดนี้ เราออกบวช เพื่อแสวงหาหนทางดับทุกข์ การที่จะค้นพบความรู้ที่ลึกซึ้ง และยากจะพบเจอได้นั้น เราควรจะมีร่างกายและจิตใจที่ดีไม่ใช่หรอ”
“แต่ที่เราทำตอนนี้ คือการทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ก็คนเรามันจะไปมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีสมองที่ปลอดโปร่ง ในร่างกายที่อ่อนเพลียแบบนี้ได้อย่างไรกัน!”
ถึงจะล้มเหลว และเสียเวลาไปกับวิธีที่ผิด แต่ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะมาเศร้า และท้อใจ ในที่สุด พระองค์ก็ได้สรุปความรู้ จากการลองทำตามลัทธิต่างๆว่า..
ที่สุดทั้ง 2 ทางนั้น ”ไม่ควรทำ” คือ
1. การมัวเมาในความสุข
2. การทรมานตัวเองให้ลำบาก
คนเราควรใช้ชีวิตให้ “สมดุล” ไม่ตึงเครียดเกินไป ไม่บันเทิงเกินไป เพื่อจะได้เอาร่างกายและจิตใจที่เป็นปกติ ไปทำ “สิ่งที่ควรต้องทำ”
เช่น การพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาตัวเอง จนสามารถช่วยเหลือตนเอง หรือผู้อื่น จากความทุกข์ได้
และนี่คือที่มาของ “ทางสายกลาง”
🔘 ไม่มีถอยหลัง
หลังจากพระองค์กำหนดทางสายกลาง พระองค์ก็กลับมาฉันอาหารตามเดิม จนมีร่างกายแข็งแรง เป็นปกติ
แล้วความทรงจำนึงของพระองค์ ก็ผุดขึ้นมาว่า “ครั้งหนึ่ง ตอนเด็ก เราได้เคยนั่งกำหนดลมหายใจ จนเกิดสมาธิ จิตสงบ ปราศจากความคิดฟุ้งซ่านทั้งหลาย”
เซนส์ของพระองค์บอกว่า “วิธีนี้ อาจจะทำให้เราค้นพบทางดับทุกข์ก็เป็นได้”
ด้วยความมั่นใจอย่างบอกไม่ถูก ในที่สุด พระองค์ก็ได้นั่งลงใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง (ทุกวันนี้เรียกว่าต้นโพธิ์ แปลว่า ต้นไม้แห่งการตรัสรู้) และตั้งความเพียร คือการไม่ถอยหลังกลับว่า..
“แม้เลือดเนื้อ ร่างกาย จะเหือดแห้งไป จนเหลือเพียง หนัง เอ็น กระดูก ก็ตาม ถ้ายังไม่พบหนทางดับทุกข์ เราจะไม่มีวันลุกขึ้นจากที่ตรงนี้”
ติดตามต่อใน Agalico เหนือกาลเวลา EP.4️⃣ : พระพุทธเจ้า(ตอนจบ) part 2
- Agalico เหนือกาลเวลา
พระพุทธเจ้าทรงประทับพิจารณาดอกบัว โดย อาจารย์จักรพันธ์ุ โปษยกฤต

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา