28 เม.ย. 2019 เวลา 13:29 • ธุรกิจ
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการทุจริตในองค์กร (ตอนที่ 2) - วิธีลดปัจจัยอื่น ๆ ในการกระทำทุจริต
ในตอนที่ 1 ผมได้แนะนำให้ท่านผู้อ่านรู้จักกับทฤษฎีสามเหลี่ยมการทุจริตซึ่งอธิบายถึงปัจจัย 3 อย่าง ที่สามารถเปลี่ยนสุจริตชน ให้เดินเข้าสู่ด้านมืดของการทุจริตได้ ซึ่งได้แก่
1. แรงกดดัน (Pressure)
2. โอกาส (Opportunity)
3. เหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization)
สามเหลี่ยมการทุจริต (Fraud Triangle)
ทฤษฎีสามเหลี่ยมการทุจริตกำลังบอกเราว่า ปัจจัยทั้งสามมันแสนจะธรรมดา และสามารถเกิดกับมนุษย์คนไหนก็ได้ ดังนั้นอย่าไปเหมารวมไปว่าคนในองค์กรจะสามารถเป็นคนสุจริตได้ตลอดไป
และหากองค์กรต้องการจะลดความเสี่ยงของการทุจริต ก็สามารถเน้นไปที่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งก็เพียงพอแล้ว ซึ่งการลด "โอกาส" เป็นแนวทางที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด เช่น การควบคุมภายใน การแบ่งแยกหน้าที่ หรือ การใช้ระบบ IT ทำงานแทนคนในบางจุด
แล้ววิธีสำหรับการลด "แรงกดดัน" และ ความสามารถใน "การให้เหตุผลเข้าข้างตนเองหล่ะ" พอจะมีหรือไม่ ? เดี๋ยวเราจะมาคุยกันต่อในตอนนี้ครับ
แรงกดดัน หรือ ปัญหาชีวิตของพนักงาน (ที่สุดท้ายไปสร้างความต้องการทางการเงิน) อันที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน องค์กรไปก้าวก่ายได้ยาก หรือบางเรื่องพนักงานเองก็ไม่อยากจะเปิดเผย
แต่ผมเคยได้ยินมาว่า องค์กรบางแห่งมีการสร้างช่องทางสื่อสารกับพนักงาน ถ้าจำไม่ผิดเรียกว่า "Help Line" เพื่อคอยรับฟังปัญหา หรือให้ความช่วยเหลือเรื่องทุกข์ร้อนใจต่าง ๆ อาทิ ...
... สมาชิกครอบครัวเจ็บป่วยหนัก ต้องการกู้เงินเพื่อนำไปเป็นค่ารักษา
... ภรรยาเพิ่งคลอดบุตร แต่หาพี่เลี้ยงไม่ได้ หรือ ไม่มีกำลังจ้าง จะขอ Work from home บ้างได้หรือไม่
... ถูกกลั่นแกล้งจากหัวหน้า ให้ย้ายไปทำงานสาขาไกลบ้าน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง
สิ่งเหล่านี้ อาจจะฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับผู้บริหาร แต่แรงกดดันทำนองนี้ สามารถทำให้พนักงานตัวเล็ก ๆ ที่หมดหนทางคิดสั้นทำอะไรผิด ๆ ได้ ดังนั้นหากมีกำลังพอที่จะทำได้ องค์กรก็ควรพิจารณานำแนวทางนี้ไปปรับใช้
ถ้าการลดปัจจัยประเภท "แรงกดดัน" ดูเหมือนจะทำได้ไม่เท่าไหร่นัก การลด "ความสามารถในการหาเหตุผลเข้าข้างต้นเอง" น่าจะยิ่งยากกว่านั้น
เพราะจริง ๆ แล้วมันคือระดับของหิริโอตัปปะ หรือความละอายเกรงกลัวต่อบาป มันคือมโนธรรม มันคือทัศนคติ
คุณจะปรับทัศนคติของพนักงานในองค์กรได้อย่างไร?
ในหนังสือชื่อ “The (Honest) truth about dishonesty” โดย Dan Ariely นักเศรษฐศาสตร์และอาจารย์มหาวิทยาลัย (ชื่อหนังสือฉบับแปลไทยว่า “อ่านทะลุความคิด ด้วยจิตวิทยาแห่งการโกง”) ได้กล่าวถึงผลการทดลองเพื่อศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์เกี่ยวกับการโกง (Cheating)
โดยอาจารย์ Dan ได้จัดให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทำข้อสอบคณิตศาสตร์ชุดหนึ่งจำนวน 20 ข้อหากตอบถูก 1 ข้อ ก็จะได้รางวัลไป 1 เหรียญสหรัฐ โดยจะมีเวลาทำแค่ 5 นาที ซึ่งแน่นอนว่าไม่พอสำหรับคนทั่วไป
"The (Honest) truth about dishonesty”
ช่วงแรกของการทดลอง เมื่อหมดเวลา ผู้เข้าร่วมการทดลองจะตรวจคำตอบ แล้วเอากระดาษคำตอบพร้อมผลคะแนนที่ได้มาส่งให้ที่ผู้คุมสอบ และรับรางวัลไป
ด้วยกติกาแบบนี้ ผู้เข้าร่วมก็คงโกงคะแนนกันไม่ได้ ซึ่งจากการทดลองหลาย ๆ รอบ โดยเฉลี่ยจะตอบถูกกัน 4 จาก 20 ข้อ
การทดลองรอบต่อมามีการปรับกติกาเล็กน้อย กล่าวคือเมื่อทำข้อสอบและตรวจคำตอบเสร็จแล้ว ให้ผู้ร่วมการทดลองจดจำคะแนนของตัวเองไว้ และฉีกกระดาษคำตอบให้เป็นผุยผง พร้อมทั้งเอาเศษกระดาษนั้นกลับไปด้วย จากนั้นจึงเดินมาบอกคะแนนของตนกับผู้คุมสอบที่หน้าห้อง พร้อมกับรับรางวัลกลับไป
อ้าวแบบนี้ก็เปิดช่องให้โกงคะแนนกันสิ
ท่านผู้อ่านลองเดาสิครับว่า พอเปิดช่องให้โกงแบบนี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะบอกว่าตัวเองตอบถูกกันกี่ข้อ?
20 ข้อ? 15 ข้อ?
หรือ 4 ข้อเหมือนค่าเฉลี่ย?
จากผลการทดลอง อาจารย์ Dan กลับพบว่า หากเปิดโอกาสให้โกงแล้ว โดยเฉลี่ยผู้ทำข้อสอบจะบอกว่าตัวเองตอบถูก 7 จาก 20 ข้อ
ซึ่งถ้ามองจากมุมของนักเศรษฐศาสตร์ ปรากฏการณ์นี้ไร้เหตุผลสิ้นดี เพราะในเมื่อคุณรู้ว่าไม่มีใครจับโกงคุณได้ ทำไมคุณไม่บอกว่าคุณถูก 20 ข้อไปเลย
อาจารย์ Dan อธิบายไว้ว่า นั่นอาจจะเป็นเพราะแต่ละคน มีสิ่งที่เรียกว่า "Personal Fudge Factor" ต่างกันออกไป ซึ่งถ้าแปลคำนี้เป็นภาษาไทย น่าจะใช้คำว่า "ระดับการโกงส่วนบุคคล" ที่แต่ละคนมี และยอมรับได้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่เท่ากัน
บางคนไม่โกงเลย บางคนแถมให้ตัวเอง 1 ข้อบ้าง 2 ข้อบ้าง หรือมากกว่านั้น แต่ที่คะแนนเฉลี่ยมันขึ้นจาก 4 เป็น 7 ข้อนั้นมันก็ไม่ใช่เพราะมีคนส่วนน้อยที่โกงเยอะจนดึงค่าเฉลี่ยหรอกนะครับ แต่เป็นเพราะคนส่วนใหญ่โกงกันคนละนิดละหน่อย เมื่อมีโอกาสต่างหาก
อันนี้น่าสนใจนะ เพราะถ้าท่านกลับไปอ่านเนื้อหาในตอนที่แล้ว เจ้าความเชื่อที่ว่า "คนส่วนใหญ่เป็นคนสุจริต แล้วไม่โกง" เนี่ยยิ่งผิดเต็ม ๆ
อีกอย่าง รู้สึกคุ้น ๆ ไหมครับว่า "Personal Fudge Factor" หรือ "ระดับการโกงส่วนบุคคล" มันเหมือนกับอะไรที่เราเคยคุยกันไปในตอนที่แล้ว?
ใช่แล้ว ผมว่ามันคือระดับของความสามารถใน "การให้เหตุผลเข้าข้างตัวเอง" ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ปัจจัยตามทฤษฎีสามเหลี่ยมการทุจริตนั่นเอง
บางคนโกงสักข้อก็ไม่สบายใจ ก็ไม่ทำเลย บางคนน่าจะคิดว่าโกงแค่ข้อสองข้อจะเป็นไรไป และก็มีบ้างที่ไปให้สุดทางโกง จนค่าเฉลี่ยการตอบถูกเพิ่มขึ้นจาก 4 เป็น 7 ข้อ
คำถามต่อไปที่อาจารย์ Dan สนใจคือ สิ่งที่เรียกว่า "ระดับการโกงส่วนบุคคล" หรือ "ความสามารถในการให้เหตุผลเข้าข้างตัวเอง" เนี่ย เราทำอะไรกับมันได้บ้าง?
วิธีทดลองของอาจารย์ท่านก็คือ แบ่งนักเรียนเป็นสองกลุ่ม และเปิดโอกาสให้โกงเหมือน ๆ กัน แต่ก่อนจะเริ่มทำข้อสอบ เราให้ทั้งสองกลุ่มทำอะไรอย่างหนึ่งเสียก่อน
กลุ่มแรก - ให้นึกถึงหนังสือที่เพิ่งอ่านมา 10 เล่ม
กลุ่มที่สอง - ให้นึกถึงบัญญัติ 10 ประการ (คล้าย ๆ ศีล 5 ของศาสนาพุทธ) ซึ่งแน่นอนว่ามีข้อหนึ่งบัญญัติไว้ประมาณว่า "สูเจ้าต้องไม่ขโมย" ...
แล้วผลการสอบของสองกลุ่มนี้เป็นอย่างไร?
เราจะกลับมาคุยกันต่อพร้อมกับบทสรุปในตอนหน้าครับ
ขอบคุณมากครับ
อ้างอิง
2. Ted talk ของ Dan Ariley ที่พูดเรื่องการทดลองข้างต้น (เริ่มนาทีที่ 4:53) แต่ผมขอแนะนำให้ไปอ่านหนังสือ จะได้อรรถรสครบถ้วนกว่า
3. ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการทุจริตในองค์กร (ตอนที่ 1)
โฆษณา