1 พ.ค. 2019 เวลา 07:41 • ธุรกิจ
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการทุจริตในองค์กร (ตอนที่ 3) - การเพิ่มหิริโอตัปปะในใจพนักงาน
ตอนที่แล้ว ผมเล่าให้ฟังถึงการทดลองของ Dan Ariely ที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีโอกาส คนส่วนใหญ่จะโกงกันเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็จะอยู่ในระดับที่ตัวเองยอมรับได้ โดยอาจารย์ Dan บอกว่านั่นเป็นเพราะแต่ละคนมี "ระดับการโกงส่วนบุคคล" ที่แตกต่างกันออกไป
ซึ่ง "ระดับการโกงส่วนบุคคล" ที่ว่านี้ ผมคิดว่ามันเหมือนกับ ความสามารถในการ "ให้เหตุผลเข้าข้างตัวเอง" ตามทฤษฎีสามเหลี่ยมการทุจริตนั่นแหละครับ เพราะใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็นคนไม่ดี จนกระทั่งหาเหตุผล ซึ่งอาจจะไม่ "เข้าท่า" แต่ว่าใช้ "เข้าข้าง" ตัวเองได้ ถึงจะกระทำผิด
Dan Ariely (ภาพจาก www.udemy.com)
ต่อมาอาจารย์ Dan ได้ทำการทดลองเพิ่มเติม เพื่อจะทดสอบว่าเรามีวิธีที่จะลด "ระดับการโกงส่วนบุคคล" หรือ ลดความสามารถในการ "ให้เหตุผลเข้าข้างตัวเอง" หรือไม่
ซึ่งในตอนสุดท้ายของเรื่องนี้ เราจะมาดูผลการทดลองกัน ...
ขอฟื้นความจำกันเล็กน้อยว่าวิธีการทดลองของอาจารย์ Dan คือ การเปิดโอกาสให้มีการโกงกันได้ในการทำข้อสอบ ซึ่งคะแนนสอบจะมีผลกับเงินรางวัลที่ผู้เข้าสอบจะได้รับ
และเพื่อจะหาวิธีลด "ระดับการโกงส่วนบุคคล" ก่อนเริ่มทำข้อสอบ อาจารย์ Dan จึงได้แบ่งผู้เข้าสอบออกเป็นสองกลุ่ม
... กลุ่มแรกให้นึกถึงหนังสือที่เพิ่งอ่านไป 10 เล่ม
... อีกกลุ่ม ให้นึกถึงบัญญัติ 10 ประการ (เทียบได้กับศีล 5 ของศาสนาพุทธ) ซึ่งมีอยู่หนึ่งข้อเป็นการห้ามไม่ให้ขโมยของผู้อื่น (ถ้าตามภาพข้างล่างนี้คือข้อ 8 ครับ)
ภาพจาก www.ucg.org
แล้วผลที่ได้เป็นอย่างไร ?
ผลปรากฏว่า กลุ่มแรกที่นึกถึงหนังสือ 10 เล่ม พอเปิดช่องให้โกง ก็จะโกงในปริมาณที่เหมือนกับการทดลองที่ผ่านมาคือโดยเฉลี่ยจะบอกว่าตัวเองทำข้อสอบได้ 7 ข้อ ทั้ง ๆ ที่คนปกติทั่วไปจะทำได้แค่ 4 ข้อโดยเฉลี่ยเท่านั้น
สรุปก็คือ การโกง 3 ข้อ เป็นค่าเฉลี่ยของ "ระดับการโกงส่วนบุคคล" ของผู้เข้าร่วมการทดลอง
แต่กลุ่มที่สอง ที่เราให้เขานึกถึงบัญญัติ 10 ประการเสียก่อน ผลปรากฏว่าแม้จะเปิดโอกาสให้โกงกลับไม่โกงเลย ...
ขอย้ำครับว่า ไม่โกงเลย ...
ปรากฏการณ์นี้น่าสนใจ เพราะผลการทดลองกำลังบอกเราว่า นี่คือวิธีหนึ่งในการลด "ระดับการโกงส่วนบุคคล" หรือ ความสามารถในการ "ให้เหตุผลเข้าข้างตัวเอง" ที่ดูจะได้ผลดีทีเดียว
โดยอาจารย์ Dan ได้ทดลองในแบบอื่น ๆ อีกสองสามครั้ง และสรุปว่า การสร้าง "สิ่งเตือนใจเล็ก ๆ น้อย ๆ" (ดังเช่นการให้นึกถึงบัญญัติ 10 ประการ) นั้น สามารถช่วยให้ "ระดับการโกงส่วนบุคคล" ของคนเรานั้นลงลงได้ ตัวอย่างเช่น
... เพื่อจะแก้ปัญหานักศึกษาขโมยกระดาษชำระจากห้องน้ำในหอพักเพื่อเอาไปใช้เองในห้องนอน เจ้าหน้าที่จึงพิมพ์ข้อความเตือนใจแปะไว้ที่ประตูห้องน้ำทุกห้อง และผลคือการขโมยลดลง
... ในการกรอกประเมินภาษีด้วยตนเอง ถ้าผู้จ่ายภาษีลงชื่อรับรองที่หัวแบบฟอร์ม ข้อมูลจะเป็นจริงมากกว่าการลงนามที่ท้ายแบบฟอร์ม
ผมเองก็ไม่ใช่พุทธศาสนิกชนที่ดีนัก แต่ถ้าลองเปรียบเทียบกับศาสนาพุทธเรา ตัวอย่างนี้ทำให้ผมนึกถึงการอาราธนาศีล ซึ่งเป็นการให้คำมั่นว่าจะไม่ผิดศีล (ถ้าคุณเข้าใจความหมายของคำอาราธนากันนะ) หรือก็คือการเพิ่มระดับหิริโอตัปปะในจิตใจคนนั่นเอง
การสร้าง "สิ่งเตือนใจเล็ก ๆ น้อย ๆ" เหล่านี้ ผมเชื่อว่าแต่ก่อนเราอาจจะมองว่ามันไร้สาระ ไม่น่าจะได้ผล ซึ่งผมเองก็เคยคิดแบบนั้นเช่นกัน แต่การทดลองของอาจารย์ Dan กำลังบอกเราว่า ที่จริงแล้วเรื่องเล็ก ๆ แบบนี้มันมีผลอย่างมีนัยยะสำคัญเลยทีเดียว
ถ้าผลสรุปจากการทดลองนี้เป็นจริงในบริบทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่การโกงข้อสอบ แต่รวมถึงการทุจริตในระดับที่สูงขึ้น เช่น การทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ด้วย องค์กรจะนำการค้นพบนี้ไปใช้อย่างไร เพื่อลดปัจจัยในการเกิดทุจริต?
ผมไม่ได้คาดหวังว่าทุกออฟฟิศจะแปะบัญญัติ 10 ประการไว้หน้าทางเข้า หรือให้พนักงานทุกคนอาราธนาศีล 5 กันทุกเช้าหรอกนะครับ แต่อยากให้ลองนึกถึงวิธีการเหล่านี้ดู
... การจัดอบรมเพื่อสร้างความตระหนัก (Awareness) หรือให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการทุจริต
... การสื่อสารจากผู้บริหารระดับสูง หรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับนโยบายการต่อต้านการทุจริตขององค์กร และความใส่ใจของผู้บริหาร
... การจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์และต่อต้านการทุจริตในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การแสดงละครสั้น การประกวดภาพวาด ภาพถ่าย การจัดกิจกรรมการกุศล ฯลฯ
... หรือแม้กระทั่ง ... จ่าเฉย ?!?!?
ตัวอย่างง่าย ๆ ข้างบนนี้ เป็นสิ่งที่เราก็เห็นหน่วยงานต่าง ๆ ทำอยู่เสมอ ๆ ซึ่งผมเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยมองว่ามันค่อนข้างน่าเบื่อและไม่น่าจะเกิดประโยชน์ แต่ความจริงแล้วมันคือการสร้าง "สิ่งเตือนใจเล็ก ๆ น้อย ๆ" ของจริงในทางปฏิบัติ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการลงทุนลงแรงอะไรมากนัก แต่สามารถช่วยชะลอความ "คิดสั้น" ในบุคคลที่กำลังหมดหนทางได้
เพราะมันคือการทำให้เขาหรือเธอฉุกคิดได้ว่า สิ่งที่ตัวเองกำลังจะทำนั้น มันถูกต้องหรือไม่ มันคือการปรับทัศนคตินั่นแหละครับ
แม้ว่ามันอาจจะดูวัดผล และจับต้องยาก แต่ผมว่ามันก็ไม่ได้ลงทุนอะไรมากมายเลย
ในสามตอนที่ผ่านมา ผมได้แนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการทุจริตในองค์กร ที่กล่าวว่า คนส่วนใหญ่เป็นคนสุจริตและไม่มีวันโกง ...
ต่อมาเราก็ได้รู้จักกับ "ทฤษฎีสามเหลี่ยมการทุจริต" ซึ่งทำให้เราตระหนักถึงความจริงที่ว่า สุจริตชน สามารถเปลี่ยนเป็นคนทุจริตเมื่อไหร่ก็ได้ เพียงแค่มีปัจจัยธรรมดา ๆ 3 อย่างเกิดขึ้นครบ ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นได้แก่ แรงกดดันทางการเงิน, โอกาสในการทำผิด และการให้เหตุผลเข้าข้างตนเอง ...
จากความเชื่อและความจริงข้างต้น ทำให้เราทราบว่าองค์กรต่าง ๆ สามารถลดความเสี่ยงของการทุจริตได้โดยการลดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งก็พอ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นที่การลด "โอกาส" ผ่านกลไกการควบคุมภายในต่าง ๆ ...
และในตอนสุดท้ายนี้ ทุกท่านก็ได้รู้จักกับวิธีอื่น ๆ ในการลดแรงกดดันทางการเงิน และ ความสามารถในการให้เหตุผลเข้าข้างต้นเอง เพิ่มเติมอีก ซึ่งองค์กรต่าง ๆ สามารถพิจารณาปรับใช้ให้มากขึ้น เพื่อให้ปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการทุจริตทั้งสามนั้นเบาบางลง
สาม Post ที่ผ่านมาในหัวข้อนี้ ขออภัยที่อาจจะหนักวิชาการไปสักนิด เนื่องจากทฤษฎีสามเหลี่ยมการทุจริตนั้นเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญใน Page ของเรา
สำหรับ Post ต่อ ๆ ไป เราจะคุยกันถึงความหมายและรูปแบบต่าง ๆ ของการทุจริต ผ่านกรณีศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งวิธีการสืบสวนสอบสวน ซึ่งจะไม่เน้นหลักวิชาการมากนัก แต่อาจจะอ้างถึงทฤษฎีนี้บ้าง เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจที่มาที่ไปของเรื่องนั้น ๆ มากขึ้นครับ
ขอบคุณมากครับ
อ้างอิง
1. ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการทุจริตในองค์กร (ตอนที่ 1)
2. ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการทุจริตในองค์กร (ตอนที่ 2)
โฆษณา