9 พ.ค. 2019 เวลา 13:00 • บันเทิง
ฟังไปแล้ว - ครั้งแรกที่รู้จักกับ Soul After Six ในอัลบัมแรกของพวกเขา
​หลังเปิดตัวด้วยผลงานของ Modern Dog, อัลบัมของบอย โกสิยพงษ์ ตามด้วยงานดนตรีในแนวทางใหม่ๆ อีกมากมาย อาทิ แร็ปของโจอี้ บอย, กรันจ์จากอรอรีย์ จุฬารัตน์, เพลงอินดีป็อปที่มีลักษณะเฉพาะตัวของ โยคีเพลย์บอย, ร็อคที่มาพร้อมกับซาวนด์เก๋าๆ จาก พอส
​ปี 2539 เบเกอรี มิวสิค ก็เติมอีกสีสันหนึ่งที่เป็นความจัดจ้านทางดนตรีให้วงการเพลงไทย ที่แค่เพลงแรกของอัลบัม "รักแล้ว" ก็ทำให้คอเพลงที่ต้องการมากกว่าเพลงป็อปธรรมดา หรือเพลงป็อป-ร็อคสามัญ รวมไปถึงอัลเทอร์เนถีฟ ที่มีให้ได้ยินในวงการเพลงยุคนั้นถึงกับ 'ตื่นหู!'
​ด้วยเพลงโซล ที่มีความเป็นป็อปในตัว ฟังสด ใหม่ ดนตรีที่ฟังอิ่มเต็มอารมณ์ แบบงานแสดงสด, มีเสน่ห์จากเสียงเครื่องเป่าที่ฟังหวือหวา, การเรียบเรียงที่มี 'ไส้' ของเพลงหลายชั้น, การเล่นดนตรีที่เต็มไปด้วยเทคนิคและความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นเสียงสับกีตาร์ตอดเล็กตอดน้อย ที่วางตัวอยู่ข้างหลัง เบสที่ไล่เป็นลูกๆ ได้อย่างมีชั้นเชิง และ เสียงร้องที่มีลักษณะเฉพาะตัว
​ ที่น่าชื่นชมก็คือ ผลลัพธ์ที่กลายเป็นมาเสียงเพลงทั้งหมด 10 เพลง (ในอัลบัมฉบับวางจำหน่ายครั้งแรก) ไม่ใช่งานที่ซับซ้อนหรืออัดแน่นไปด้วยศาสตร์ทางดนตรีจนฟังแข็งกระด้าง
​อัลบัมชุดนี้ชื่อ Soul After Six ผลงานชุดแรกของวงดนตรีชื่อเดียวกัน ที่สมาชิกประกอบด้วย ณรงค์ฤทธิ์ สุพรรณเภสัช (เปียโน, ร้องนำ, คอรัส), วิศรุตเทพ สุพรรณเภสัช (ร้องประสาน, เปียโน, กลอง) และ ศรุต วิจิตรานนท์ (เบส)
​จาก "รักแล้ว" ที่ไม่ต่างไปจากงานโซลมาตรฐาน ซึ่งเหมาะสมเหลือเกินกับการเปิดหัวของอัลบัม เมื่อสามารถแนะนำตัวเองและงานเพลงทุกเพลงต่อจากนี้ได้อย่างเหมาะสม
โซล อาฟเตอร์ ซิกส์ ตอกย้ำซ้ำด้วย "รู้", "คำเดียวว่า...” และ "คงรักต่อไป" ที่ซาวนด์ของเพลง มีความร่วมสมัยมากขึ้น มีทั้งความเก๋าและความทันสมัย ในแบบที่ทำให้เพลงของพวกเขา ไม่ใช่งานเรโทร แต่เป็นงานที่นำดนตรีโซลเก่าๆ ที่คุ้นเคยกัน มาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย ใส่ความเป็นป็อป ที่ไม่ได้หมายความถึงเฉพาะการเขียนเมโลดี สร้างท่วงทำนอง เพื่อที่จะสื่อสารและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งทำได้อย่างกลมกลืน มากพอที่จะทำให้มองเห็นทิศทาง และลักษณะเฉพาะตัวที่อยู่ในเพลงของ โซล อาฟเตอร์ ซิกส์
​แม้ท้ายที่สุดแล้ว ในแง่ของความสำเร็จทางการขาย Soul After Six อาจไม่ใช่งานที่ประสบความสำเร็จมากมาย กระทั่ง "ก้อนหินละเมอ" ที่กลายมาเป็นเพลงฮิตอมตะของพวกเขาและวงการเพลงไทยยุคใหม่ ก็ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้สถานภาพนั้นมาครอง
​การวางเพลง ซึ่งเน้นการขายในแบบคาสเส็ทท์ก็พลอยทำให้หลายๆ เพลงฟังอ่อนแรงหรืออ่อนแอ ทั้งๆ ที่โดยเนื้องานแล้วมีความแข็งแรงมากกว่าที่รู้สึก โดยเฉพาะเพลงในหน้าที่สอง ที่ความจัดจ้านเหมือนลดลงจากที่เพลงในหน้าแรกเป็น เนื่องจากโทน และอารมณ์ รวมไปถึงลีลาของเพลงที่ฟังใกล้เคียงกัน จนภาพรวมของงานดูนิ่ง แล้วหากฟังเป็นซีดีก็จะพบความต่างของงานทั้งสองครึ่งได้อย่างชัดเจน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า พวกเขาผ่อนคันเร่ง หรือทำเพลงได้ย่อหย่อนลง เพราะเมื่อสัมผัสกับแต่ละเพลงอย่างจริงจัง บรรดารายละเอียดของดนตรี, ลูกเล่นต่างๆ ที่น่าสนใจก็ยังอยู่ครบ แล้วอย่าลืมว่า เพลงปิดท้ายของอัลบัมและหน้าที่สองก็คือ เพลงของพวกเขาที่อยู่ยงคงกระพันและเป็นที่รู้จักมากที่สุดมาจนถึงทุกวันนี้
​ซึ่งไม่ใช่เพลงเดียวของโซล อาฟเตอร์ ซิกส์ ที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลามาได้
​กับการหยิบอัลบัม Soul After Six ขึ้นมาฟังในวันที่เวลาผ่านไปกว่าสองทศวรรษ บทเพลงของพวกเขายังคงเต็มไปด้วยพลัง ความสด ไม่เชยจนพ้นสมัย เช่นที่เคยฟังในวันแรก ไม่ผิดเพี้ยน…
(โซล อาฟเตอร์ ซิกส์ จะมี คอนเสิร์ต “Soul After Six.. ความทรงจำของก้อนหิน..!” ที่สมาชิกทุกคนกลับมาขึ้นเวทีร่วมกันอีกครั้ง พร้อมแขกรับเชิญ เบน ชลาทิศ, มาเรียม B5 และบุรินทร์ บุญวิสุทธิ์ พร้อมนักดนตรีระดับแนวหน้าของประเทศ ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ที่ รอยัลพารากอนฮอลล์ ซื้อบัตรที่ได้บูธไทยทิคเก็ทเมเจอร์ หรือที่ www.thaiticketmajor.com)
โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง ครั้งแรกที่รู้จักกับ Soul After Six ในอัลบัมแรกของพวกเขา คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ 7 พฤษภาคม 2562
อ่านเแล้วชอบ อย่าลืมกดติดตาม และยังมีเรื่องราวมากมายให้อ่านได้ที่ www.sadaos.com และทำความรู้จักกันได้มากกว่านี้ด่วยกดไลค์เพจ www.facebook.com/Sadaos
ดนตรีแนวไหนที่มีการเติบโตมากที่สุดในปี 2018 หาคำตอบได้ที่เรื่องนี้ >> https://www.blockdit.com/articles/5cd14b5411ccb33f19c2c672
โฆษณา